แพน ทิพโยสถ[2] หรือเป็นที่รู้จักในนามเดิมคือ แพน เรืองนนท์ (พ.ศ. 2457—2522) เป็นนางละครชาวไทย ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดงละครชาตรีในห้วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และโด่งดังจากการเข้ารับราชการเป็น เจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ หรือ บุปผาสวรรค์ ศรีสวัสดิ์ อำไพวงศ์ บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ โดยมีข่าวลือว่าเธอเป็น "ว่าที่พระราชินีกัมพูชา" จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ซินเดอเรลลาสยาม"[3] แต่ท้ายที่สุดเธอก็ถูกส่งกลับประเทศไทยและมิได้รับราชการฝ่ายในของกัมพูชาอีกเลย

แพน ทิพโยสถ
แพน เรืองนนท์ ในวัย 65 ปี (พ.ศ. 2522)
เกิดแพน
พ.ศ. 2457
บ้านหลานหลวง ตำบลสนามกระบือ กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรสยาม
เสียชีวิตพ.ศ. 2522 (ราว 65 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ชื่ออื่นแพน เรืองนนท์
เจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์
อาชีพนักแสดง
คู่สมรส
บุตร9 คน[1]
รวม กัญญา ทิพโยสถ
บุพการีพูน เรืองนนท์ (บิดา)
แป้น เรืองนนท์ (มารดา)

ประวัติ แก้

ชีวิตตอนต้น แก้

แพน เรืองนนท์ เกิดในครอบครัวนักแสดงละครชาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2457 ที่บ้านหลานหลวง ตำบลสนามกระบือ กรุงเทพพระมหานคร (ปัจจุบันอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรสาวของพูน และแป้น เรืองนนท์[4] มารดาเป็นภรรยาคนแรก เธอมีพี่น้องร่วมบิดา 3 คน[5] และต่างมารดาอีก 14 คนหนึ่งในนั้นคือ ทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครชาตรี)[6]

ครอบครัวของเธอดำเนินกิจการแสดงละครชาตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นเพเป็นไพร่แถบนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ติดตามกองทัพของพระยาพระคลัง (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)) เข้าไปตั้งถิ่นฐานในพระนคร[2] มีบรรพบุรุษชื่อ พระศรีชุมพล (ฉิม) บ้างว่าชื่อ เรือง[5] ชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยรับราชการในราชสำนักนครศรีธรรมราช จนรับสมญาว่า "ละครเรือเร่หรือละครเรือลอย" ที่ถ่ายทอดการแสดงละครชาตรีสู่ผู้สืบสันดาน[6][7] ด้วยเหตุนี้แพนบุตรสาวของพูนผู้มีหน้าตาสะสวยจึงซึมซับการเล่นละครชาตรีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อจำเริญวัยเธอก็รับบทเป็นนางเอก[8]

ในเวลาต่อมาพูนซึ่งขณะนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ ได้ผูกชื่อบิดาของตัวคือ นนท์ และชื่อปู่คือ เรือง มาตั้งเป็นนามสกุลเรืองนนท์[1] และตั้งคณะของตนเองขึ้นใช้ชื่อว่า ละครชาตรีคณะนายพูน เรืองนนท์[5] ลูกหลานของสกุลเรืองนนท์ยังคงประกอบกิจเป็นนักแสดงละครชาตรี และอื่น ๆ ได้แก่ คณะครูทองใบ เรืองนนท์ ของบัวสาย เรืองนนท์ คณะกัญญาลูกแม่แพน ของกัญญา ทิพโยสถ คณะวันดีนาฏศิลป์ ของวันดี เรืองนนท์ คณะครูพูน เรืองนนท์ ของสุภาภรณ์ ฤกษ์สะสาร และ คณะละครรำกนกพร ทิพโยสถ ของกนกพร ทิพโยสถ[9]

ตำแหน่งบาทบริจาริกาและชื่อเสียง แก้

 
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์

พูนรับเล่นละครกับคุณหญิงลิ้นจี่ ครั้นไปเปิดวิกที่อื่นก็ทำให้การแสดงคณะของพูนจึงขาดช่วงไป กอปรกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจนคนไม่อยากจ่ายเงินมาดูละคร พูนจึงเสนอให้คุณหญิงลิ้นจี่เลือกตัวละครที่ชอบไปแสดง คุณหญิงลิ้นจี่จึงเลือกแพนและชื้น (สมญา ชื้นตาหวาน) นำคณะไปเล่นละครแถบอรัญประเทศ และเข้าไปยังแถบเมืองพระตะบอง[10] ชื่อเสียงของคณะละครดังไปถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ทรงเรียกให้ไปเล่นละครในพนมเปญ ชื้นตาหวานผู้เป็นตัวพระเอกไม่กล้ารับแต่แพนตัวนางเอกรับปากและเข้าไปยังราชสำนักเขมร พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์จึงให้แพนร่วมแสดงกับเหล่าพระสนม โดยแพนรับบทเป็น "บุษบา" ตอนไหว้พระ ต่อหน้าพระพักตร์ ผลก็คือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่ง[4][8] ทรงรับนางสาวแพนเข้าเป็น เจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น "หลวง" แก่นายพูนผู้บิดา[11]

เรื่องราวดั่งนิยายของเธอได้รับเปิดเผยครั้งแรก จากการสืบเสาะของนักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ที่ชื่อว่าประสุต (ไม่ปรากฏนามสกุล) ที่บังเอิญได้ยินบบทสนทนาจากกลุ่มสตรีที่ลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ที่กำลังสนทนาว่าด้วยเรื่องมารดาของแพนเล่าให้ฟังระหว่างโดยสารรถไฟกลับมาจากแดนกัมพูชาโดยอ้างว่าบุตรสาวของนางจะได้รับการแต่งตั้งเป็นราชินีแห่งกัมพูชาซึ่งตอนนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมแล้ว หลังสัมภาษณ์นางแป้น ประสุตได้รายงานแก่แอนดริว เอ. ฟรีแมน (อังกฤษ: Andrew A. Freeman) ผู้เป็นบรรณาธิการ นายฟรีแมนจึงตัดสินใจพาดหัวข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ว่า "SIAMESE DANCER MAY BE CAMBODIA'S QUEEN" (นางละครชาวสยามอาจได้เป็นราชินีแห่งกัมพูชา) ทำให้เรื่องส่วนตัวของแพนโด่งดังมากในปี พ.ศ. 2470[12][13]

หลังข่าวแพร่สะพัด ชีวิตรักของหญิงสามัญกับกษัตริย์กัมพูชาก็เป็นที่โจษขานในสังคมพระนคร นายฟรีแมนระบุไว้ว่า "บ้านของบิดามารดานางสาวแพนกลายเป็นศาลเจ้าสำหรับคนที่เชื่อในความมหัศจรรย์ พวกเขาถูกถ่ายรูป ถูกสัมภาษณ์ และได้รับการว่าจ้างให้ไปปรากฏตัวในงานแสดงต่าง ๆ"[3] นางแป้นผู้มารดาได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่า "ก่อนฉันเดินทางกลับมา [จากกัมพูชา] ทั้งสองคนกำลังมีความสุขมาก แพนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นภรรยาที่ดีได้เท่า ๆ กับเป็นนางรำ" ทรงโปรดปรานเจ้าจอมแพนมากถึงขั้นมอบหมายให้เธอถือกุญแจหีบทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดูแลเครื่องทรงเครื่องเสวย ทั้งยังดูแลกิจการฝ่ายใน และการที่เจ้าจอมแพนสามารถขัดพระทัยพระเจ้าอยู่หัวโดยการไว้ผมยาวจนกว่าจะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดาซึ่งต้องโกนผมไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมกัมพูชา[3]

คืนสู่สามัญ แก้

  ตามข่าวที่สถานกงสุลฝรั่งเศสได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในกรุงพนมเปญ ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการสมรสของพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชากับนางละครชาวสยามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง จริง ๆ แล้วนางละครคนนี้ได้รับการว่าจ้างให้อยู่ในคณะนาฏศิลป์หลวงที่กรุงพนมเปญและมีสถานภาพเช่นเดียวกับนางละครคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวกัมพูชา เรา [กรุงเทพเดลิเมล์] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้
แถลงการณ์ที่กงสุลฝรั่งเศสส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์[14]

ขณะที่เรื่องราวของแพน เรืองนนท์ กำลังเป็นที่พูดถึงนั้น มงซิเออร์ ชาล็อง (ฝรั่งเศส: Monsieur Chalant) กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงสยามได้โทรศัพท์ไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และชี้แจงแก่นายฟรีแมนว่า "เรื่องที่คุณลงตีพิมพ์เกี่ยวกับกษัตริย์มุนีวงศ์มันผิดทั้งหมด" และ "ผมกำลังจะส่งแถลงการณ์ที่เราร่างไปให้คุณ และมงซิเออร์เรโย (Monsieur Réau) ต้องการให้คุณตีพิมพ์แถลงการณ์นี้ตามที่เราเขียน นับจากนี้เราต้องขอร้องให้คุณหยุดเขียนเรื่องพระองค์กับเด็กสาวคนนี้" เมื่อบรรณาธิการถามถึงเหตุผล กงสุลก็ตอบว่า "เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องไร้สาระ" ทั้งนี้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ดังกล่าว แต่ตัดถ้อยคำที่ว่า "เรา [กรุงเทพเดลิเมล์] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้" ออก และยังส่งนักข่าวคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบิดาเจ้าจอมแพน[14]

"ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่"
"I AM THE CAMBODIAN KING'S WIFE."
SAYS NANGSAO BAEN
State She Is Going
Back to Pnom-Penh
หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์[14]

แต่สถานกงสุลฝรั่งเศสในพระนครก็ไม่สิ้นความลดละ โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง ความว่า "กษัตริย์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระทัยและปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดานางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพฯ โดยทันที" ซึ่งกัมพูชาได้บอกกับพูนและแพนว่า "หากอยู่ไปจะเกิดอันตรายได้"[4] แต่เมื่อแพนกลับถึงพระนครในวันรุ่งขึ้น เธอปฏิเสธเรื่องที่ว่ากษัตริย์กัมพูชาส่งเธอกลับ โดยอ้างว่าเธอเพียงมาเยี่ยมน้องชายที่ป่วยเท่านั้น "พระองค์ไม่ต้องการให้ฉันออกมา พระองค์ทรงยินยอมก็ต่อเมื่อฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วันและจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่" ซึ่งกรุงเทพเดลิเมล์ได้นำคำพูดดังกล่าวมาเป็นพาดหัว[14]

ทางกงสุลฝรั่งเศสก็ทำการโต้ตอบหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ทันที ด้วยการส่งแถลงการณ์ไปยังหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษอีกสองฉบับคือ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ (Siam Observer) และเดอะบางกอกไทมส์ (The Bangkok Times) แต่ไม่ส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์ โดยเนื้อหาที่ตีพิมพ์ระบุว่า "เราได้รับแจ้งจากสถานกงสุลฝรั่งเศสว่านางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก"[14]

ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเหตุผลกลใดฝรั่งเศสจึงเดือดร้อนที่เจ้านายกัมพูชาจะมีนักนางสนมเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่นางสาวแพนก็เป็นเพียงหญิงสามัญนางหนึ่ง และไม่มีบทบาททางการเมืองอย่างใด นอกจากนี้ทางสถานกงสุลฝรั่งเศสได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลสยามช่วยปิดข่าวอีกด้วย ก่อนข่าวนางสาวแพนจะจางหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มีประชาชนกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายไปยังบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์ แสดงความขุ่นเคืองฝรั่งเศส ว่าควรขอโทษนางสาวแพน ที่กล่าวหาว่าเธอ "ไม่เป็นที่พึงประสงค์" ของราชสำนักกัมพูชา[14]

กลับสู่โลกแห่งละคร แก้

 
แพนใน พ.ศ. 2486

นับแต่นั้น แพนก็เก็บตัวอยู่ในบ้านของบิดา แม้นมีวิกต่าง ๆ มาเสนอค่าตัวสูงถึง 300 บาทให้เธอไปปรากฏตัว ซึ่งขณะนั้น 300 บาทถือว่าเทียบเท่ารายได้ต่อปีของเธอ แม้แต่คณะละครต่างชาติที่จัดแสดงอยู่ในมะนิลาได้ชี้ชวนให้เธอไปแสดงที่สหรัฐอเมริกาแต่เธอก็ปฏิเสธไปทั้งหมด เธอให้เหตุผลว่า "ฉันไม่ใช่นางละครอีกต่อไปแล้ว ฉันเป็นชายาพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา" และเธอมิอาจเข้าใจได้เลยว่าพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์นั้นมิได้กุมอำนาจสูงสุดในกัมพูชา หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระดับสูงที่ทางการส่งมาประจำที่พนมเปญ[15]

สุดท้ายเธอก็กลับไปเป็นนางละครในคณะของมารดาตามเดิม[15] และรับงานเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์ชวนหัวเรื่อง ใครเปนบ้า (2471) ร่วมกับพูน เรืองนนท์ หลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ) จรวย วีระเวีย ลีละชาติ และอบ บุญติด[16] หลังจากนั้นอีกสองปีเธอก็สมรสใหม่กับสัมชัย ทิพโยสถ[1] ซึ่งเป็นนักแสดงลิเก[2] มีบุตรด้วยกัน 9 คน[1] โดยบุตรสาวคนหนึ่งชื่อกัญญา ทิพโยสถ หรือ แมว สืบทอดอาชีพนางละครเช่นแพน[12][17] และพยายามฟื้นฟูการแสดงละครชาตรีให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง[18]

แพน เรืองนนท์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2522 สิริอายุได้ 65 ปี[12]

ผลงานภาพยนตร์ แก้

ปี เรื่อง บทบาท
2471 ใครเปนบ้า นางเอก

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 จันทรา เนินนอก (กรกฎาคม–ธันวาคม 2562). การขับร้องละครชาตรีคณะกัญญาลูกแม่แพน. p. 24.
  2. 2.0 2.1 2.2 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (19 พฤษภาคม 2559). ""อีกฝั่งหนึ่งของถนนพะเนียง" (๓)". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 106.
  4. 4.0 4.1 4.2 สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 100.
  5. 5.0 5.1 5.2 จันทรา เนินนอก (กรกฎาคม–ธันวาคม 2562). การขับร้องละครชาตรีคณะกัญญาลูกแม่แพน. p. 23.
  6. 6.0 6.1 ""ครูทองใบ" ศิลปินแห่งชาติปี 40 เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 3 กรกฎาคม 2550. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. "บัวสาย เรืองนนท์ แห่งคณะเรืองนนท์นาฏศิลป์". Art Bangkok. 20 ธันวาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 บาราย (13 เมษายน 2557). "นางฟ้ารัตนโกสินทร์". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ (2553). พัฒนาการย่านนางเลิ้ง (PDF). วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย 30 (2). p. 112.
  10. สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 103.
  11. สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 103-104.
  12. 12.0 12.1 12.2 "อดีตนางเอกวอนรีบอนุรักษ์ หวั่น "ละครชาตรี" วัดแคสูญ". มติชนออนไลน์. 24 กุมภาพันธ์ 2554. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 102-103.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 107-108.
  15. 15.0 15.1 สุภัตรา ภูมิประภาส (2552). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 109.
  16. "ใครเป็นบ้า (2471)". ภาพยนตร์ไทย. 2 พฤษภาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-30. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. ""กัญญา ทิพโยสถ" สืบสานละครชาตรี สไตล์โบราณ". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 4 มีนาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. "ยล วิถีผู้คน "นางเลิ้ง"". คมชัดลึก. 2 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้