ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย

(เปลี่ยนทางจาก เฮนรีเดอะไลออน)

ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย หรือ ไฮน์ริชสิงห์ (เยอรมัน: Heinrich der Löwe; ราว ค.ศ. 1129 – 6 สิงหาคม ค.ศ. 1195) สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเกลฟ ผู้มีตำแหน่งเป็นปกครองเป็นดยุกแห่งซัคเซินในนามว่า "ไฮน์ริชที่ 3" ตั้งแต่ ค.ศ. 1142 และดยุกแห่งบาวาเรียในนามว่า "ไฮน์ริชที่ 12" ตั้งแต่ ค.ศ. 1156 และปกครองทั้งสองอาณาจักรมาจนถึงปี ค.ศ. 1180

ไฮน์ริชที่ 3 ดยุกแห่งซัคเซิน
ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย
Henry the Lion
เกิดค.ศ. 1129
ถึงแก่กรรม6 สิงหาคม ค.ศ. 1195
บุตรจักรพรรดิออตโตที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และอื่น ๆ
บิดามารดา

ไฮน์ริชเป็นดยุกผู้มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของเยอรมนีในสมัยนั้นจนกระทั่งราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินขึ้นมามีอำนาจและเริ่มริดอำนาจของไฮน์ริชจนกระทั่งยึดอำนาจทั้งหมดของทั้งสองอาณาจักรได้ในรัชสมัยของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และไฮน์ริชที่ 6 พระราชโอรส

ในจุดที่รุ่งเรืองที่สุดในสมัยการปกครองไฮน์ริชปกครองดินแดนตั้งแต่ฝั่งทะเลของทะเลเหนือและทะเลบอลติกไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ และจากเวสต์ฟาเลียไปจนถึงพอเมอเรเนีย รากฐานบางส่วนของความมีอำนาจของไฮน์ริชมาจากความสามารถทางการเมืองและทางการทหาร และจากงานที่วางรากฐานไว้โดยบรรพบุรุษก่อนหน้านั้น

ต้นชีวิต

แก้

ไฮน์ริชสิงห์เป็นบุตรชายคนเดียวของไฮน์ริชผู้หยิ่งทะนง ดยุคแห่งซัคเซินและบาวาเรีย[1] กับแกร์ทรูเดอ[1] พระธิดาของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โลทาร์ที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1142 เขาได้กอบกู้ซัคเซิน หนึ่งในสองดัชชีของบิดาที่ถูกพระเจ้าค็อนราทที่ 3 กษัตริย์เยอรมันคนแรกของราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินริบไปกลับคืนมาได้ ในปี ค.ศ. 1147 ไฮน์ริชอ้างสิทธิ์ในบาวาเรียที่พระเจ้าค็อนราทที่ 3 มอบให้ไฮน์ริชที่ 2 ยาโซเมียร์ก็อท มาร์เกรฟแห่งออสเตรีย และในปี ค.ศ. 1151 เขาได้พยายามอย่างไร้ผลที่จะเอาสิทธิ์ในการครอบครองดัชชีกลับคืนมา ในปี ค.ศ. 1147 หรือไม่ก็ 1148 เขาได้แต่งงานกับเคลเม็นท์ซีอา บุตรสาวของค็อนราท ดยุคแห่งเซริงเงิน แต่การแต่งงานถูกยุติในปี ค.ศ. 1162

เมื่อฟรีดริชที่ 1 บาร์บาร็อสซาแห่งราชวงศ์โฮเฮินชเตาเฟิน ลูกพี่ลูกน้องของเขา ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนีในปี ค.ศ. 1152 ชาวโฮเฮินชเตาเฟินสงบศึกกับศัตรูคู่อริ ตระกูลเวล์ฟ ที่ไฮน์ริชเป็นสมาชิกคนหนึ่งของตระกูล ในปี ค.ศ. 1154 ฟรีดริชให้สิทธิ์ไฮน์ริชแต่งตั้งบิชอปกลุ่มใหม่และยังยอมรับการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตบาวาเรียของเขา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1156 ไฮน์ริชได้สิทธิ์ในการครอบครองดัชชีบาวาเรียกลับคืนมา ภายหลังออสเตรียถูกแยกตัวออกจากบาวาเรียและถูกยกให้ไฮน์ริช ยาซอมมิร์กอตต์ และได้รับการยกระดับเป็นดัชชี

สัมพันธไมตรีกับจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซา

แก้
 
ภาพวาดร่วมยุคของไฮน์ริชสิงห์จาก ฮิสตอริอาเว็ลฟอรูง

แลกกับสิ่งที่ได้มา ไฮน์ริชให้การสนับสนุนพระเจ้าฟรีดริช บาร์บาร็อสซาเป็นเวลา 20 ปี เขาติดตามพระองค์ไปพร้อมกับกองทัพใหญ่เพื่อไปทำสงครามอิตาลีครั้งแรกในปี ค.ศ. 1154/55 และหลังการราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิของฟรีดริช เขาได้ปราบปรามการลุกฮือของชาวโรมัน ในปี ค.ศ. 1157 เขามีส่วนร่วมในการเดินทางไปทำศึกกับชาวโปลของจักรพรรดิฟรีดริช ในช่วงการทำสงครามอิตาลีครั้งที่สอง ไฮน์ริชให้ความช่วยเหลืออันล้ำค่าแก่จักรพรรดิในการปิดล้อมโจมตีเครมาในปี ค.ศ. 1160 และในการทำสงครามกับชาวเมืองมิลานในปี ค.ศ. 1161

หนึ่งปีหลังได้บาวาเรียกลับคืนมา ไฮน์ริชวางรากฐานให้นครมิวนิกด้วยการสร้างตลาดแห่งใหม่ขึ้นมาริมแม่น้ำอีซาร์ แต่เป้าหมายหลักของเขาคือการขยายดัชชีซัคเซินออกไปนอกแม่น้ำเอ็ลเบอ ในปี ค.ศ. 1159 เขาสร้างนครลือเบ็คขึ้นมาใหม่ในอาณาเขตที่ได้มาจากอาด็อล์ฟที่ 2 เคานต์แห่งฮ็อลชไตน์ ซึ่งเป็นคนแรกที่ก่อตั้งลือเบ็คขึ้นมาในปี ค.ศ. 1143 สนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ทำกับพ่อค้าในกอตลันด์และเจ้าชายแห่งสวีเดนกับเจ้าชายแห่งนอฟโกรอดทำให้เขาผลักดันให้ลือเบ็คเป็นศูนย์กลางทางการค้า ในปี ค.ศ. 1160 ตำแหน่งบิชอปแห่งอ็อลเดินบวร์คก็ถูกย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1158 เป็นต้นมาไฮน์ริชออกไปปราบโอโบไดร์ตของชาวสลาฟได้หลายครั้ง ขยายอำนาจไปทั่วเมคเลินบวร์ค เปิดทางให้ดินแดนดังกล่าวถูกเปลี่ยนให้นับถือศาสนาคริสต์และกลายเป็นอาณานิคม

ในปี ค.ศ. 1160 ชเวรีนกลายเป็นที่ตั้งของตำแหน่งบิชอปแห่งเมคเลินบวร์คและได้รับอภิสิทธิ์ในฐานะนคร แม้แต่เจ้าชายของพอเมอเรเนียตะวันตกก็ยอมรับอำนาจอธิปไตยตามระบอบศักดินาของไฮน์ริชอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพระเจ้าแวลเดอมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์กพิชิตเกาะรือเกินในทะเลบอลติกได้ การต่อสู้แย่งชิงที่ลากยาวระหว่างพระองค์กับไฮน์ริชก็อุบัติขึ้นและดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1171 เมื่อความขัดแย้งได้รับการแก้ไขและบุตรสาวของไฮน์ริชได้แต่งงานกับพระโอรสของพระเจ้าแวลเดอมาร์

ในช่วงเวลาดังกล่าวไฮน์ริชยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของตนในซัคเซินด้วยการแย่งชิงเอาทรัพย์สินที่ดินของหลายราชวงศ์ที่สิ้นสุดไปแล้วมาโดยไม่สนใจการอ้างสิทธิ์ตามสายเลือดจากตระกูลอื่น เขาตั้งเบราน์ชไวค์เป็นเมืองหลวงในการปกครองและตั้งรูปปั้นสิงโตหน้าปราสาทที่เขาสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลและเครื่องหมายแห่งอำนาจอธิปไตย แต่นิสัยหยิ่งผยองและชอบที่จะมุ่งแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ให้ตัวเองปลุกปั่นให้เกิดศัตรู ช่วงแรกของกลางคริสต์ทศวรรษ 1150 เจ้าชายแซ็กซันหลายคนเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเขา สิบปีต่อมากลุ่มพันธมิตรที่นำโดยอัลเบร็ชท์ที่ 1 หมี มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์คและอาร์ชบิชอปแห่งโคโลญกลายเป็นภัยคุกคามครั้งร้ายแรง แต่หลังจากจักรพรรดิเข้ามาแทรกแซงในปี ค.ศ. 1168 ซัคเซินก็กลับมาสงบสุขอีกครั้ง

 
พิธีแต่งงานของไฮน์ริชสิงห์กับมาทิลดาแห่งอังกฤษ ค.ศ. 1188

ในตอนนั้นเองที่ไฮน์ริชขึ้นสู่จุดสูงสดทางอำนาจ ต้นปี ค.ศ. 1168 เขาแต่งงานกับมาทิลดา พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ[1] และหลังจากนั้นไม่นานก็ถูกส่งตัวไปฝรั่งเศสและอังกฤษในฐานะราชทูตของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 เพื่อปฏิบัติภารกิจหาทางสงบศึกระหว่างสองชาติ ในปี ค.ศ. 1172 เขาจาริกแสวงบุญไปเยรูซาเลมพร้อมกับผู้ติดตามกลุ่มใหญ่และจักรพรรดิไบเซนไทน์มานูเอลที่ 1 คอมเนนุสจัดงานเลี้ยงใหญ่ให้ที่คอนสแตนติโนเปิล

ในปี ค.ศ. 1176 เมื่อจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซาขอการสนับสนุนในการต่อกรกับนครลอมบาร์ดในอิตาลีเหนือ รางวัลที่ไฮน์ริชต้องการแลกกับการช่วยเหลือจักรพรรดิคือนครกอสลาร์อันสำคัญของจักรวรรดิพร้อมกับเหมืองเงิน แต่จักรพรรดิฟรีดริชปฏิเสธที่จะยกให้ จึงเป็นต้นเหตุให้สัมพันธไมตรีอันยาวนานกับไฮน์ริชถึงคราวสิ้นสุดลง

การตกต่ำลงของไฮน์ริช

แก้

เมื่อการต่อสู้ในซัคเซินอุบัติขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1177 ฟรีดริชที่เพิ่งกลับมาเยอรมนีในปี ค.ศ. 1178 ดำเนินการพิจารณาคดีตามที่ขุนนางแซ็กซันได้กล่าวหาว่าไฮน์ริชได้สร้างรอยร้าวให้กับความสันติสุขของกษัตริย์ ไฮน์ริชที่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในการพิจารณาคดีในศาลของกษัตริย์ถูกริบดัชชีทั้งสองและที่ดินศักดินาของจักรวรรดิทั้งหมดที่มี ในปี ค.ศ. 1180 จักรพรรดิได้แยกดินแดนที่เคยเป็นของไฮน์ริชออกจากกัน ในปีเดียวกันนั้นดัชชีของชาวซัคเซินถูกแยกออกเป็นสองส่วน ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของตำแหน่งบิชอปโคโลญและพาเดอร์บอร์นถูกยกให้อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญในชื่อใหม่คือดัชชีเวสต์ฟาเลีย พื้นที่ส่วนตะวันออกของซัคเซินถูกยกให้เป็นที่ดินศักดินาของบุตรชายของอัลเบร็ชท์หมีแห่งบรันเดินบวร์ค ดัชชีบาวาเรียถูกยกให้พันธมิตรของฟรีดริช อ็อทโท ฟ็อน วิทเทิลบัค

 
โบสถ์ของนักบุญปีเตอร์ที่ปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาแล้วที่ป้อมปีทาร์สแบร์กในแอร์ฟวร์ต ซึ่งเป็นที่ที่ไฮน์ริชสิงห์ยอมจำนนต่อบาร์บาร็อสซาในปี ค.ศ. 1181

ไฮน์ริชในตอนแรกสามารถยืนหยัดต่อกรกับบาร์บาร็อสซาได้ในซัคเซินเหนือ แต่ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1181 เขาจำต้องยอมจำนน เขาได้รับอนุญาตให้รักษาดินแดนเบราน์ชไวค์และลืนบวร์กที่สืบทอดทางสายเลือดไว้ได้ แต่ก็ถูกขับไล่ออกจากประเทศไปอยู่ที่ราชสำนักของพ่อตา พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ เป็นเวลาหลายปี เมื่อกลับมาในปี ค.ศ. 1185 เขาพยายามที่จะเอาอิทธิพลในซัคเซินกลับคืนมา การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่สามหรือไม่ก็การปฏิเสธที่จะล้มเลิกการอ้างสิทธิ์ในซัคเซินทำให้เขาถูกเนรเทศอีกครั้งในปี ค.ศ. 1189 กลับไปอยู่กับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในนอร์ม็องดี

หลังการสิ้นพระชนม์ของฟรีดริช บาร์บาร็อสซาในปี ค.ศ. 1190 ไฮน์ริชกลับมาซัคเซินอีกครั้ง พระเจ้าไฮน์ริชที่ 6 แห่งเยอรมนีเตรียมจะทำสมรภูมิกับเขาแต่ก็สงบศึกกันได้ที่ฟุลดาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1190 หลังไฮน์ริชสิงห์ทำการต่อสู้ใหม่อีกครั้งในช่วงที่จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6 ไปสู้รบในอิตาลี จักรพรรดิกับไฮน์ริชคืนดีกันในการพบปะกันในปี ค.ศ. 1194 ปีต่อมาไฮน์ริชสิงห์เสียชีวิตในเบราน์ชไวค์ เขาถูกฝังไว้ในอาสนวิหารที่เขาสร้างขึ้นที่นั้น เคียงข้างภรรยา

ครอบครัว

แก้

ไฮน์ริชมีบุตรธิดา ดังนี้ กับภรรยาคนแรก เคลเม็นท์ซีอาแห่งเซริงเงิน (หย่าขาดปี ค.ศ. 1162[2]) บุตรสาวของค็อนราทที่ 1 ดยุคแห่งสเวเบียกับเคลเมนซ์แห่งนามูร์

  • แกร์ทรูเดอแห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1155–1197) แต่งงานครั้งแรกกับฟรีดริชที่ 1 ดยุคแห่งสเวเบีย ครั้งที่สองกับพระเจ้าคานุตที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
  • ริชเช็นท์ซาแห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1157–1167)
  • ไฮน์ริชแห่งบาวาเรีย เสียชีวิตในวัยเด็ก

กับภรรยาคนที่สอง มาทิลดาแห่งอังกฤษ (แต่งงานปี ค.ศ. 1168) พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับเอเลนอร์แห่งอากีแตน[3]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 Emmerson 2013, p. 320.
  2. C. W. Previte Orton, The Early History of the House of Savoy: 1000-1233, (Cambridge University Press, 1912), 329 note3.
  3. 3.0 3.1 3.2 Helen Nicholson, Love, War, and the Grail, (Brill, 2001), 129.
  4. John W. Baldwin, Aristocratic Life in Medieval France, (Johns Hopkins University, 2002), 46.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย