เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

คำขวัญประจำชาติของประเทศฝรั่งเศสและเฮติ

เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (ฝรั่งเศส: Liberté, Égalité, Fraternité [libɛʁˈte eɡaliˈte fʁatɛʁniˈte]) เป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศฝรั่งเศส

โลโก้ทางการของสาธารณรัฐฝรั่งเศส พร้อมกับมีคำขวัญว่า "เสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ"

ประวัติ

แก้

ในยุคสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสได้เกิดคำขวัญขึ้นมาว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" (Liberté, Égalité, Fraternité, ou la Mort!) แต่หลังจากนั้นในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสและการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง คำขวัญดังกล่าวก็ได้ถูกลืมหายไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2391 ปีแอร์ เลอรูซ์ได้นำคำขวัญกลับคืนมาใช้อีกครั้งหนึ่ง และนายกเทศมนตรีนครปารีสได้เขียนคำขวัญดังกล่าวบนกำแพงเมือง จนกระทั่งสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ที่คำขวัญนี้ได้กลายเป็นคำขวัญอย่างเป็นทางการ

ในระหว่างการบุกประเทศฝรั่งเศสของเยอรมนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คำขวัญได้ถูกแทนโดย "งาน ครอบครัว ปิตุภูมิ" (Travail, famille, patrie) โดยฟิลิป เปแตง หัวหน้ารัฐบาลวิชีฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนของนาซีเยอรมนี อย่างไรก็ตามคำขวัญใหม่นี้ได้ถูกล้อเลียนเป็น "แสวงโชค อดอยาก ลาดตระเวน" (Trouvailles, famine, patrouilles) ซึ่งเป็นการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยวิชีฝรั่งเศสที่มีความขาดแคลนและความยากลำบากในการดำรงชีวิต

ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสได้ใช้คำขวัญว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" (Liberté, Égalité, Fraternité) เป็นคำขวัญประจำชาติซึ่งก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 2489 และ 2501

 
ช่องกลางของคานประตูโบสถ์มีคำขวัญประจำชาติ ซึ่งได้ใส่ไว้ในปี พ.ศ. 2448 ตามกฎหมายแยกรัฐออกจากศาสนาของประเทศฝรั่งเศส

เสรีภาพ

แก้

เสรีภาพ (Liberté) คือการเน้นในเสรีภาพของบุคคล หรือ ปัจเจกชนนิยม และได้ขยายไปในเรื่องเสรีภาพในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ การพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเสรีภาพในทางการเมือง

เสมอภาค

แก้

เสมอภาค (Égalité) คือความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของปัจเจกชน ความเสมอภาคขึ้นอยู่กับหลักความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและหน้าที่ เช่น ความเท่าเทียมในด้านการเสียภาษี และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง

ภราดรภาพ

แก้

ภราดรภาพ (Fraternité) คือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์

อ้างอิง

แก้