เภสัชกรรมอาหรับสมัยกลาง

เภสัชกรรมอาหรับยุคกลาง เป็นยุคในประวัติเภสัชกรรมที่กล่าวถึงพัฒนาการทางเภสัชกรรมอาหรับในช่วงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณอ่าวเปอร์เซีย

เภสัชกรรมในสมัยอาหรับ

ประวัติ แก้

ชาวเนสตอเรีย ซึ่งเดิมเป็นผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล ได้ย้ายไปตั้งเมืองในดินแดนเปอร์เซีย ซีเรีย และอินเดีย และได้เปิดสถาบันทางการศึกษาทั่วไป และนิยมแปลบทความจากอารยธรรมกรีก-โรมัน การแปลบทความของชาวอาหรับมิได้เป็นเพียงแปลวรรณคดีและบทประพันธ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิทยาการทั้งศาสตร์ต่างๆอีกด้วย อารยธรรมกรีก-โรมันจึงเป็นรากฐานความรู้ของอารยธรรมอาหรับด้วย ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์อาหรับค้นคว้าสิ่งใหม่ๆเพิ่มเติมด้วยตนเอง Theodoq แพทย์ชาวอาหรับได้เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับยา, ผลิตภัณฑ์ยา และการเรียกชื่อยา ต่อมา Ibn Masawaih แพทย์ชาวอาหรับผู้เป็นบุตรของเภสัชกรได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพืชสมุนไพรอะโรมาติก และได้กล่าวถึงสมุนไพรสำคัญ 5 ชนิดได้แก่สารที่มีกลิ่นฉุน (musk), ไขลำไส้ปลาวาฬ (ambergis), ยาดำหรือว่านหางจระเข้ (aloe), การบูร (camphor) และหญ้าฝรั่น (saffron) ความนิยมในการเขียนและแปลบทความของชาวอาหรับทำให้เกิดองค์ความรู้จำนวนมาก Sami K. Hamarneh จึงได้นำมาจัดแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ สูตรตำรับ ซึ่งเป็นการรวบรวมสูตรตำรับตามลำดับอักษรอย่างเป็นระบบ และวิธีการปรุงเรียงรวมถึงวิธีการใช้, สมุนไพรและวัตถุทางการแพทย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีก-โรมันของ Dioscorides อย่างมาก, พิษวิทยา เกี่ยวกับความเสี่ยงของความเป็นพิษโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ และ การบำบัดด้วยความสัมพันธ์อาหารและยากับนิเวศวิทยาของมนุษย์

การเติบโตและฝึกปฏิบัติเภสัชกรรม แก้

ในสมัยอาหรับซึ่งมีความรู้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมมากขึ้น ประกอบกับนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมด้านสุขภาพแก่ประชากรชาวอาหรับ ทำให้เกิดการสร้างระบบสาธารณสุขขึ้นซึ่งส่งผลให้เภสัชกรมีลักษณะวิชาชีพที่จำเพาะของตนเอง เดิมการแพทย์ของอาหรับเป็นลักษณะการแพทย์โดยนักบวช แต่ภายหลังคริสต์ศตวรรษที่ 8 ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลในเมืองดามัสกัสซึ่งเชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของชาวอิสลาม ทำให้เกิดระบบสุขภาพที่ชัดเจนทำให้เภสัชกรรมได้รับการยกระดับขึ้นเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์[1] โรงพยาบาลที่สนับสนุนโดยรัฐก็มีแผนกเภสัชกรรมเป็นของตนเอง โดยมีห้องปฏิบัติการเพื่อผสมยาและการจ่ายยาในเบื้องต้น เช่น ในรูปแบบไซรัป, อิลิกเซอร์ และยาขี้ผึ้ง และในสมัยกาหลีบ Al-Mansur นครแบกแดดได้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการบริหาร การพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและองค์ความรู้ทำให้ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีการเปิดร้านยามากมายในนครแบกแดดและเมืองใกล้เคียง[2][1][3] เภสัชกรในสมัยนั้นอาศัยการฝึกปฏิบัติในร้านยาจนเกิดความชำนาญทั้งด้านการผสมยา, การเก็บรักษาและบรรจุภัณฑ์ และ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบโดยผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น (Muhtasib) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานของร้านยาถึงมาตรฐานด้านการตวงวัดและความบริสุทธิ์ของตัวยา[3] แต่ทว่าเป็นการประกอบการโดยผู้ที่ปราศจากความรู้ด้านเภสัชกรรม จึงทำให้เกิดการสอนเภสัชกรรมแก่กลุ่มพลเมืองชั้นสูงในสังคมโดยเรียกกลุ่มผู้ฝึกหัดว่า "sayadilah" ซึ่งยังคงเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ฝึกหัดเภสัชกรรมในอาหรับจนกระทั่งปัจจุบัน

Al-Biruni ได้กล่าวว่าเภสัชกรรมเป็น "ศิลปะของความรู้เกี่ยวกับวัตถุทางการแพทย์ในชนิด, ประเภท และรูปร่างที่หลากหลาย จากสิ่งเหล่านี้ เภสัชกรจึงทำหน้าที่ผสมยาและจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์" แนวคิดเหล่านี้ส่งผลให้สังคมสามารถพบผู้เชี่ยวชาญจากทั้งด้านเคมีและด้านการแพทย์ได้ในร้านยา และได้ขยายขอบเขตของเภสัชกรรมไปรวมถึงด้านเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ชาวอาหรับยังมีการรวบรวมตำรับยาสำหรับเภสัชกรทั่วประเทศเรียกว่า Antidorium หมายถึง "การแก้ไขความเจ็บป่วยโดยใช้ยา" ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นแบบของการทำเภสัชตำรับ (pharmacopoeia)

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 NCBI เรียกข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553
  2. วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เก็บถาวร 2012-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ร้านยาแห่งแรก เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  3. 3.0 3.1 islamset.com เก็บถาวร 2020-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติเภสัชกรรมอาหรับ เรียกข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553