หมดสติชั่วคราว
หมดสติชั่วคราว (อังกฤษ: syncope, คำอ่าน: /ซิง-เคอะ-พี/) คือการที่ผู้ป่วยมีทั้งอาการหมดสติและกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วตัว พร้อมกัน มีลักษณะเฉพาะคือ เป็นเร็ว เป็นอยู่ไม่นาน และหายได้เอง[1] ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงจากสาเหตุต่าง ๆ ที่พบบ่อยคือภาวะความดันเลือดต่ำ[1] บางครั้งอาจพบมีอาการนำมาก่อน เช่น เวียนศีรษะ เหงื่อแตก ตัวซีด ตาลาย คลื่นไส้ อาเจียน หรือร้อนวูบวาบ ฯลฯ[3][1] ขณะมีอาการอาจมีกล้ามเนื้อกระตุกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ได้[1][3] กรณีที่ไม่ได้หมดสติโดยสิ้นเชิงและกล้ามเนื้อยังมีความตึงตัวอยู่บ้างอาจเรียกว่า วิงเวียน หรือ presyncope/lightheadedness[1] ในทางการแพทย์แนะนำให้ตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียนแบบเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติชั่วคราว[1]
หมดสติชั่วคราว (Syncope) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Fainting, blacking out, passing out, swooning |
ภาพสีน้ำมัน Fainting ("คนเป็นลม") วาดโดย Pietro Longhi เมื่อ ค.ศ. 1744 | |
การออกเสียง |
|
สาขาวิชา | ประสาทวิทยา, หทัยวิทยา |
อาการ | หมดสติและกล้ามเนื้ออ่อนแรงชั่วคราว[1] |
ภาวะแทรกซ้อน | การบาดเจ็บ[1] |
การตั้งต้น | รวดเร็ว[1] |
ระยะดำเนินโรค | ไม่นาน[1] |
ประเภท | หัวใจ, รีเฟล็กซ์, การเปลี่ยนท่า[1] |
สาเหตุ | การไหลของเลือดไปยังสมองลดลง[1] |
วิธีวินิจฉัย | การซักประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ[1] |
การรักษา | แตกต่างกันไปตามสาเหตุ[2] |
พยากรณ์โรค | แตกต่างกันไปตามสาเหตุ[2] |
ความชุก | ~5 - 1,000 ครั้ง ต่อปี[1] |
สาเหตุของอาการนี้มีหลากหลาย มีตั้งแต่สาเหตุที่ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ไปจนถึงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต[1] แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ จากระบบหัวใจหลอดเลือด จากระบบประสาท และจากการเปลี่ยนท่าทาง[1][3] สาเหตุจากระบบหัวใจหลอดเลือดคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของทั้งหมด และมักเป็นกลุ่มที่อาจมีอันตรายได้มากที่สุด ส่วนจากระบบประสาทนั้นพบบ่อยที่สุด สาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจที่สำคัญ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ และการอุดกั้นหลอดเลือดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอด หรือการฉีกเซาะของหลอดเลือดเอออร์ตา ฯลฯ[1] การหมดสติชั่วคราวที่มีสาเหตุจากระบบประสาทเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดขยายและหัวใจเต้นช้าลงอย่างไม่สัมพันธ์กัน[1] อาจเกิดจากมีสิ่งกระตุ้น เช่น การเห็นเลือด ความเจ็บปวด ความรู้สึกรุนแรง หรือกิจกรรมบางอย่าง เช่น การปัสสาวะ การอาเจียน หรือการไอ[1] การถูกกระตุ้นที่บริเวณคารอทิดไซนัสซึ่งอยู่บริเวณคอก็สามารถทำให้เกิดการหมดสติชั่วคราวจากระบบประสาทได้อีกทางหนึ่ง[1] สาเหตุกลุ่มสุดท้ายคือเกิดจากการลดลงอย่างรวดเร็วของความดันเลือดเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนอนอยู่เปลี่ยนเป็นยืนขึ้น เป็นต้น เรียกว่าภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า[1] พบได้ในคนที่กินยาบางชนิด และยังสัมพันธ์กับภาวะขาดน้ำ การเสียเลือด หรือการติดเชื้อ ได้ด้วย[1] นอกจากนี้ยังพบว่าการเกิดภาวะหมดสติชั่วคราวส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย[4]
การหาสาเหตุที่ดีที่สุดทำได้โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ[1] โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยให้สามารถตรวจพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจ และความผิดปกติทางไฟฟ้าอื่น ๆ ของหัวใจ เช่น กลุ่มอาการระยะคิวทียาว และกลุ่มอาการบรูกาด้า ฯลฯ[1] ผู้ป่วยหมดสติชั่วคราวที่มีสาเหตุมาจากหัวใจมักมีประวัติอาการนำมาก่อนด้วย[1] การตรวจพบความดันเลือดต่ำและชีพจรเร็วหลังการหมดสติมักบ่งบอกว่ามีการสูญเสียน้ำหรือเลือด ในขณะที่การตรวจพบออกซิเจนในเลือดต่ำมักพบร่วมกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดปอด[1] ในผู้ป่วยบางรายที่สาเหตุยังไม่ชัดเจน อาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เช่น การฝังอุปกรณ์บันทึกสัญญาณ การตรวจด้วยเตียงแบบหมุนได้ หรือการตรวจด้วยการนวดคารอทิดไซนัส ฯลฯ[1] โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องทำซีทีสแกนยกเว้นจะมีข้อบ่งชี้[1] ภาวะอื่นที่ใกล้เคียงกันที่อาจต้องนึกถึงและตรวจ ได้แก่ อาการชัก โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สมองกระทบกระเทือน ออกซิเจนต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ การเป็นพิษจากยา และโรคทางจิตเวชบางอย่าง[1] การรักษาจะขึ้นกับสาเหตุ[1][3] ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงจากการตรวจเบื้องต้นอาจต้องเข้ารับการรักษาหรือสังเกตอาการในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการและการเต้นของหัวใจ[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 1.27 1.28 1.29 1.30 Peeters, SY; Hoek, AE; Mollink, SM; Huff, JS (April 2014). "Syncope: risk stratification and clinical decision making". Emergency Medicine Practice. 16 (4): 1–22, quiz 22–23. PMID 25105200.
- ↑ 2.0 2.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อRu2013
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อNIH2020
- ↑ Hadji-Turdeghal, Katra (2019). "Genome-wide association study identifies locus at chromosome 2q32. 1 associated with syncope and collapse". Cardiovascular Research. 116: 138–48. doi:10.1093/cvr/cvz106. PMC 6918066. PMID 31049583.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |