เป็ดน้อย เป็นภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2511 แนวรักชวนหัว เสียดสีสังคมชนชั้น ประกอบเพลง ระบบ 35 มม.อัศวินซูเปอร์ซีเนสโคป สีอัศวินอีสต์แมน เสียง(พากย์)ในฟิล์ม ของ อัศวินภาพยนตร์ เรื่องและบทภาพยนตร์โดย เวตาล กำกับโดย ภาณุพันธุ์ (ทั้งสองชื่อเป็นพระนามแฝงของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล) ฉายที่ศาลาเฉลิมไทย พ.ศ. 2511 เป็นครั้งแรกของหนังไทยจำนวนน้อยเรื่องในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ที่เสนอภาพชีวิตชนบท , เพลงลูกทุ่ง, การละเล่นพื้นบ้าน "ลำตัด" และ ควาย[2]

เป็ดน้อย
กำกับภาณุพันธุ์
เขียนบทเวตาล
อำนวยการสร้างปริม บุนนาค
นักแสดงนำไชยา สุริยัน
สุทิศา พัฒนุช
จินฟง
ธานินทร์ อินทรเทพ
เมตตา รุ่งรัตน์
จุรี โอศิริ
มาลี เวชประเสริฐ
สาหัส บุญหลง
มนัส บุณยเกียรติ
หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร
สมพงษ์ พงษ์มิตร
คณะสามศักดิ์ ฯลฯ
กำกับภาพโชน บุนนาค
พูนสวัสดิ์ ธีมากร
ตัดต่อมนัส โตเพาะญาติ
ดนตรีประกอบภาณุพันธุ์
พระยาโกมารกุล
หม่อมหลวงพวงร้อย อภัยวงศ์ (ร้อยพัน)
เกษม มิลินทจินดา
สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
สง่า อารัมภีร์
สุรพล แสงเอก
สมาน กาญจนะผลิน
วิม อิทธิกุล
สังเวียน ดุละลัมพะ
นิรันดร์ นวมารค
คณะสามศักดิ์
วงจุลดุริยางค์กรมศิลปากรและชลหมู่ ชลานุเคราะห์ (ผู้อำนวยเพลง)
วงดนตรีสมาน กาญจนะผลิน
บริษัทผู้สร้าง
อัศวินภาพยนตร์
วันฉาย19 มิถุนายน พ.ศ. 2511[1]
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย

เดิมเสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7 ขาวดำ (ททบ.5) สนามเป้า นำแสดงโดย ทม วิศวชาติ, บุศรา นฤมิตร, จันตรี สาริกบุตร ไม่นานก่อนสร้างเป็นภาพยนตร์ และเป็นเรื่องที่เสด็จฯ โปรดมากที่สุด[3] เคยผลิตเป็นแถบวีดิทัศน์ตลับ (Video Cassette) ในสภาพปานกลาง

ต่อมา แฮบปี้ไทม์ มาร์เก็ตติ้ง ผู้ได้ลิขสิทธิ์ เผยแพร่ในรูปแบบดีวีดี เมื่อ พ.ศ. 2550 คุณภาพด้อยกว่าปานกลาง ต้นฉบับบางส่วนขาดหายไปรวมทั้งช่วงหลังที่ต้องใช้ภาพจากแถบวีดิทัศน์ตลับแทน

เรื่องย่อ

แก้

ศักดิ์ชัย (ไชยา สุริยัน) และสหายชาวคณะสามศักดิ์ (สักรินทร์ - ทนงศักดิ์ - มีศักดิ์) เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ทำทางหลวง เข้ามาขอพักชั่วคราวในบ้านสุดชายทุ่งของเป็ดน้อย (สุทิศา พัฒนุช) และเกิดชอบพอกัน เขาสัญญาว่าจะมารับเธอไปอยู่กรุงเทพที่แม่และพี่น้องของเขาต่างรังเกียจเมื่อทราบว่าจะได้สะใภ้ชาวนาเข้ามาอยู่ร่วมด้วย ขณะที่ตระกูลนี้กำลังอยู่ในฐานะลำบาก ทางเดียวที่จะกู้สถานการณ์ได้คือ มรดกของเจ้าคุณปู่ (ม.ล.รุจิรา) ที่มีเงื่อนไขว่าศักดิ์ชัย ต้องหาเจ้าสาวที่ท่านพอใจเท่านั้น

ในงานเลี้ยงต้อนรับ ศักดิ์ศรี (จินฟง) น้องชายคนสุดท้องที่เพิ่งเรียนจบจากเมืองนอก เป้ดน้อยในชื่อใหม่ว่า วรรณวิไล ต้องขายหน้าโดยไม่รู้ตัวที่ทำกิริยาเปิ่นๆจากแผนของหญิงเล็ก (เมตตา รุ่งรัตน์) ผู้ตั้งชื่อให้และแสร้งทำดีเพื่อหาโอกาสกำจัดเธอ

บุญ (ธานินทร์ อินทรเทพ) หนุ่มบ้านเดียวกันและศักดิ์ศรี จึงช่วยกันวางแผนให้เป็ดน้อยปรากฏตัวใหม่เป็นที่ประทับใจของทุกคนรวมทั้งเจ้าคุณ ด้วยความร่วมมือของครูฝึกมารยาท (พูนสวสดิ์ ธีมากร) และพวกสามศักดิ์

เพลงเด่น

แก้

แผ่นเสียงลองเพลย์ตราอัศวิน มีเพลงต้นฉบับ เช่น

  1. ตะวันรุ่น (ภาณุพันธ์ คำร้อง - สุรพล แสงเอก ทำนอง) - จินตนา สุขสถิตย์
  2. สามคำจากใจ (ภาณุพันธ์ คำร้อง - สมาน กาญจนะผลิน ทำนอง) - ธานินทร์ อินทรเทพ
  3. ต้อนกระบือ (พระยาโกมารกุล คำร้อง - ม.ล.พวงร้อย อภัยวงศ์ ทำนอง) - ธานินทร์ อินทรเทพ
  4. เป็ด (ภาณุพันธ์ คำร้อง - เกษม มิลินทจินดา ทำนอง) - จินตนา สุขสถิตย์
  5. รักฉันสักนิด (ภาณุพันธ์ คำร้อง - สง่า อารัมภีร ทำนอง) - จินตนา สุขสถิตย์
  6. วีรกรรมเสือเฒ่า (ภาณุพันธ์ คำร้อง - เกษม มิลินทจินดา ทำนอง) - มีศักดิ์ นาครัตน์
  7. ริน ริน ริน (พระยาโกมารกุล คำร้อง - ม.ล.พวงร้อย อภัยวงศ์ ทำนอง) - คณะสามศักดิ์

ฯลฯ

แผ่นซิงเกิลสปีด 45 ตราเมโทรแผ่นเสียง หน้าแรก สามคำจากใจ โดย สุเทพ วงศ์กำแหง หน้าหลัง ตะวันรุ่น โดย นภา หวังในธรรม

งานสร้าง

แก้

เสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงทดลองสร้างเป็นละครทีวี ระหว่างปี พ.ศ. 2508-2509[4] และนับเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยมีในหนังไทยเรื่องใดมาก่อน ได้แก่ การอัญเชิญทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ "ใกล้รุ่ง" (คลอการประสานเสียง) ประกอบไตเติ้ล ,ภาพหมู่เมฆเคลื่อนตัวเร็วกว่าปกติซึ่งต้องใช้ฟิล์มมากขึ้นและเลนส์ถ่ายทำพิเศษสั่งจากต่างประเทศโดยเฉพาะ [5] รวมทั้งบันทึกเสียงด้วยระบบเวสเทร็กซ์ที่ใช้ตามสตูดิโอใหญ่ของฮอลลีวูดสมัยนั้นซึ่งในเมืองไทยมีที่อัศวินแห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีงานเพลงบอกเล่าถึงวีรกรรมของกองร้อยทหารสยามในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่แนวชายแดนฝรั่งเศส (มีศักดิ์ นาครัตน์ ร้องแทนเสียง ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร)

การตอบรับ

แก้

แม้จะมีความโดดเด่นในงานสร้างโดยเฉพาะช่วง 20 นาทีแรก หลังจากนั้นการลำดับเหตุการณ์ขาดความกระชับเท่าที่ควร บทสนทนาเกี่ยวกับนกยูงกินข้าวโพดมีความสับสนที่การพิมพ์บทหรือการพากย์ลงฟิล์ม หลายฉากและเพลงเกินความจำเป็น ผิดกับฉบับละครทีวีที่ไม่ยาวมากแต่ดูดีกว่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉบับภาพยนตร์มีกระแสแรงเพียงระยะแรกๆ เท่านั้น

อ้างอิง

แก้
  1. เป็ดน้อย (2511) ที่เว็บไซต์ ThaiFilmDb.
  2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็ดน้อย อัศวินภาพยนตร์ และ แฮบปี้มาร์เก็ตติ้ง 2511 และ 2550 ตามลำดับ
  3. รายการ "แกะกล่องหนังไทย" ตอน เป็ดน้อย. ไทยพีบีเอส. 28 กุมภาพันธ์ 2552.
  4. ผังรายการโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 ขาวดำ
  5. ข่าวบันเทิงหน้า 13 เบื้องหลังการถ่ายทำ เป็ดน้อย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 2510