เบนาซีร์ บุตโต
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
เบนาซีร์ บุตโต หรือถอดอักษรตามอักษรอินเดีย เพนาชีร ภูตโต(อูรดู: بینظیر بھٹو, อังกฤษ: Benazir Bhutto; IPA: [beːnəziːr bɦʊʈːoː]) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศปากีสถาน และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอิสลาม โดยดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ในปี พ.ศ. 2531 - 2533 และ พ.ศ. 2536 - 2539
เบนาซีร์ บุตโต | |
---|---|
![]() | |
นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนที่ 11 | |
ดำรงตำแหน่ง 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | |
ประธานาธิบดี | วาซิม ซัยยาด และฟารูก เลฆารี |
ก่อนหน้า | มุฮัมมัด คาน ชูเนโช |
ถัดไป | ฆุลาม มุตาฟา ชโทอี |
ดำรงตำแหน่ง 2 ธันวาคม พ.ศ. 2531 – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2533 | |
ประธานาธิบดี | ฆุลาม อิสฮัค คาน |
ก่อนหน้า | มุฮัมมัด คาน ชูเนโช |
ถัดไป | ฆุลาม มุตาฟา ชโทอี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2496 การาจี ประเทศปากีสถาน |
เสียชีวิต | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (54 ปี) ราวัลปินดี ประเทศปากีสถาน |
พรรค | พรรคประชาชนปากีสถาน |
คู่สมรส | อาซีฟ อะลี ซาร์ดารี |
ศาสนา | อิสลาม-ชีอะฮ์ |
ลายมือชื่อ | ![]() |
ประวัติแก้ไข
นางเบนาซีร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1953 เป็นบุตรสาวของซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) อดีตประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ช่วง ค.ศ. 1971 ถึง ค.ศ. 1977 ที่ถูกรัฐประหารและประหารชีวิตโดยนายพลโมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก
เธอลี้ภัยไปยังสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1984 และได้ตั้งที่ทำการพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan's People's Party – PPP) และขึ้นทำหน้าที่ผู้นำพรรคแทนนางเบกุม นุสรัต บุตโต แม่ของเธอ
บุตโตเดินทางกลับสู่ปากีสถานใน ค.ศ. 1986 และชนะการเลือกตั้งและเพียงสองปีหลังจากนั้น เธอก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ด้วยวัย 35 ปี
นางเบนาซีร์ สำเร็จการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สมรสกับอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี
การเมืองแก้ไข
บุตโตกลับเข้าปากีสถานในปี ค.ศ. 1977 และกลายเป็นผู้นำพรรคพีพีพี หลังจากบิดาถูกประหารชีวิตในปี 1979 เธอเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1988 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1990 ก็ถูกสั่งถอดถอนด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น แต่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยสองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1993 หลังจากนาวาซ ชารีฟ ถูกบังคับให้ลาออกภายหลังทะเลาะกับประธานาธิบดี ปี ค.ศ. 1999 บุตโตและอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี และปรับเงินจำนวน 8 ล้าน 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ ด้วยข้อหารับเงินจากบริษัทสัญชาติสวิสเพื่อติดสินบนในการหลบเลี่ยงภาษี ศาลสูงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเวลาต่อมา และตัวเธอเองยืนยันว่าข้อกล่าวหาต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นโดยฝ่ายตรงข้าม ภาพลักษณ์ของเธอในฐานะผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยถูกโจมตีด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นและฟอกเงิน แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีก็มีส่วนผลักดันเธอไปสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการขาดธรรมาภิบาลและเล่นการเมืองเพื่อตอบสนองตัวเอง
บุตโตลี้ภัยการเมืองอยู่ในดูไบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และเดินทางกลับสู่ปากีสถานเพื่อรณรงค์หาเสียงเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2007 เพื่อลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า โดยหวังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3
ก่อนที่บุตโตจะเดินทางกลับสู่ปากีสถาน เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ประธานาธิบดีได้ลงนามนิรโทษกรรมบรรดานักการเมือง เพื่อเปิดทางให้กับการเจรจาจัดสรรอำนาจกับนางบุตโต เมื่อมูชาร์ราฟประกาศภาวะฉุกเฉิน แรงกดดันก็ตกอยู่แก่ฝ่ายนางบุตโต และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนางในฐานะผู้นำฝ่ายค้านและมูชาร์ราฟตกอยู่ภายใต้ภาวะตึงเครียด
ภายใต้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เธอประณามการปราบปรามสื่ออย่างรุนแรงของมูชาร์ราฟ ทั้งประกาศด้วยว่า จะไม่มีทางทำงานร่วมกับนายมูชาร์ราฟเด็ดขาด อีกทั้งประกาศว่าต้องการโค่นอำนาจของนายมูชาร์ราฟลงจากตำแหน่งผู้นำกองทัพ และประธานาธิบดีตามลำดับ
หลังยืนยันว่าจะไม่ทำข้อตกลงร่วมกับมูชาร์ราฟ เธอหันมาจับมือกับศัตรูทางการเมืองอันยาวนานกับนาวาซ ชาร์รีฟ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจลงโดยมูชาร์ราฟ
หลังลี้ภัยในต่างประเทศถึง 8 ปี ในวันที่ 18 ตุลาคม เมื่อเบนาซีร์ บุตโต เดินทางกลับสู่มาตุภูมิเพื่อจะรณรงค์หาเสียงเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 เธอได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากประชาชนเรือนแสนกลางกรุงการาจี ซึ่งสนับสนุนพรรคประชาชนปากีสถาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่มันก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 139 คน เธอไม่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนั้น แต่ 27 ธันวาคม คือวันปฏิบัติการที่มีชีวิตของเธอเป็นเป้าหมาย บรรลุผล และเธอต้องจบชีวิตลง หลังเกิดเหตุมือระเบิดพลีชีพ ระหว่างการหาเสียงที่เมืองราวัลพินดี และเธอถูกยิงเข้าที่ลำคอ [1]
ทายาททางการเมืองแก้ไข
หลังการเสียชีวิตของนางเบนาซีร์ พรรคพีพีพีได้เลือกนายอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี สามีของนางเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่นายซาร์ดารีปฏิเสธ และเสนอให้นายบิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี บุตรชายเป็นผู้รับตำแหน่งแทน โดยเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานแทนหัวหน้าพรรค จนกระทั่งนายบิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2553
อ้างอิงแก้ไข
ดูเพิ่มแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: เบนาซีร์ บุตโต |
บทความเกี่ยวกับชีวประวัตินี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |