เฉลิม สุจริต
รองศาสตราจารย์ เฉลิม สุจริต (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 - 3 กันยายน พ.ศ. 2533) สถาปนิก อาจารย์มหาวิทยาลัย หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชีวประวัติ การศึกษาและการทำงาน
แก้รองศาสตราจารย์ เฉลิม สุจริต เกิดที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรคนแรกของร้อยโทสุวรรณและนางฟื้น สุจริต มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน เมื่อวัยเด็กได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประถมและมัธยมที่จังหวัดปราจีนบุรีบ้านเกิด เมื่อจบมัธยมศึกษาแล้วจึงเข้ามาศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย จบแล้วได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบการศึกษาปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 เมื่อ พ.ศ. 2498
หลังจากเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรีในสถาบันที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นเองแล้ว ต่อมา หลังสอนมาเป็นเวลา 10 ปี รองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริตจึงขอลาศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง (DIPL.ICPB with Distinction) จากสถาบันบาวเซนตรุม นครร็อตเตอร์ดัมเมื่อ พ.ศ. 2511 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ระดับปริญญาโท (M. Arch.) ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในด้านการทำงาน รองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริตได้รับราชการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต โดยเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรีเมื่อ พ.ศ. 2499 ดังกล่าว และได้เลื่อนตำแหน่งถึงข้าราชการชั้นพิเศษ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นระบบ “ซี” และได้ตำแหน่งทางวิชาการถึงระดับรองศาสตราจารย์เมื่อ พ.ศ. 2516 ในปี พ.ศ. 2522 ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและในปี พ.ศ. 2525 ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นคนที่ 6 สืบแทนรองศาสตราจารย์ หม่อมหลวง ประทีป มาลากุล และพ้นวาระคณบดีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
นอกจากวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว รองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริตยังมีความเชี่ยวชาญการสอนด้านการก่อสร้างและการจัดการงานก่อสร้างอีกด้วย นอกเหนือจากการสอนแล้ว รองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริตได้ดำรงตำแหน่งกรรมการที่สำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ กรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (กส.) กรรมการการเคหะแห่งชาติ กรรมการร่างมาตรฐานวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งกรรมการกำหนดมาตรฐานวัสดุก่อสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรมอีกหลายชุด
ชีวิตครอบตรัวและบั้นปลายชีวิต
แก้รองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริตสมรสกับนางสาวปรีมล กัลยาณมิตร แต่ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล และได้ดำเนินชีวิตครอบครัวและการงานอย่างเรียบง่าย ชอบการสอนและการเขียนบทความทางวิชาการ และศึกษาพระธรรมทางพุทธศาสนาพอสมควร รองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริตเป็นผู้มีโรคประจำตัวคือโรคหอบหืดที่เป็นมานาน และเมื่อเช้ามืดของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2533 ได้เกิดอาการโรคหืดกำเริบมากตามแพทย์ไม่ทันหัวใจจึงล้มเหลวเสียชีวิตเมื่อเวลา 3.40 น. รวมสิริอายุได้ 58 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[1]
- พ.ศ. 2526 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2524 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๒๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๑, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๒๓๐, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
- หนังสือพระราชทานเพลิงศพรองศาสตราจารย์เฉลิม สุจริต ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 11 กันยายน 2533
- เอกสารประวัติคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย