เฉลิม ม่วงแพรศรี
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เฉลิม ม่วงแพรศรี (2 สิงหาคม พ.ศ. 2481 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2556, ผู้เชี่ยวชาญการสีซอสามสายของไทย, อดีตอาจารย์วิชาภาษาไทย วิทยาลัยนาฏศิลป และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เกิด | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2481 กรุงเทพมหานคร |
---|---|
เสียชีวิต | 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 (75 ปี) กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2556 |
บิดามารดา |
|
หมวดหมู่:ศิลปินแห่งชาติ |
ประวัติ
แก้เฉลิม ม่วงแพรศรี เป็นบุตรชายคนเดียวของนายช่วง ม่วงแพรศรี และนางพร้อม ม่วงแพรศรี เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล รัตนโกสินทร์ศก 157 ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2481 ที่วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร
การศึกษาวิชาสามัญ
แก้- พ.ศ. 2494 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนสมอราย จังหวัดนครราชสีมา
- พ.ศ. 2500 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมัธยมวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2500 เข้าศึกษาที่โรงเรียนบพิตรพิมุข แต่ลาออกมาศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2503
- พ.ศ. 2507 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การศึกษาดนตรีไทย
แก้นายเฉลิม ม่วงแพรศรี มีความสนใจดนตรีไทยมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ท่านเริ่มหัดดนตรีครั้งแรกด้วยการซื้อซออู้จีนมาหัดเอง โดยอาศัยโน้ตเพลงที่ซื้อมาจากร้านดุริยบรรณ หลังจากนั้นนายเฉลิมได้รู้จักกับนายประเสริฐ มณีธร นายประเสริฐจึงพาไปฝากเรียนซอด้วงกับนายจำลอง อิศรางกูร ณ อยุธยา โดยได้หัดตั้งแต่เพลงพื้นฐานจนถึงเพลงที่ยากขึ้นตามลำดับ เช่น เพลงแป๊ะสามชั้น เพลงสาลิกาชมเดือนเถา เพลงสารถีสามชั้น เพลงแขกไทรสองชั้น และเพลงขอมใหญ่สองชั้น เป็นต้น
ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 2 นายเฉลิม ม่วงแพรศรี มีโอกาสได้รู้จักกับหม่อมเจ้าหญิงศรีอัปสร วรวุฒิ (นักดนตรีในวงเตชะเสนีย์ และวงของนายโองการ กลีบชื่น) ท่านหญิงศรีอัปสรได้พานายเฉลิมมาพบและฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับนายโองการ กลีบชื่น ได้ให้ความเมตตาต่อเพลงให้มากมายทุกประเภท และนอกจากการต่อเพลงตามปกติแล้ว นายเฉลิมยังมีโอกาสร่วมบรรเลงกับวงดนตรีคณะกลีบชื่น และอาทรศิลป์อยู่เสมอ รวมทั้งได้บรรเลงซอด้วงออกอากาศทางสถานีวิทยุกับวงดนตรีดังกล่าวเป็นประจำ
ใน พ.ศ. 2503 ขณะที่เข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเฉลิมได้รู้จักกับนางสาวดวงใจ เลขะกุล (บุตรสาวนางเจริญใจ สุนทรวาทิน) และนางมาลิทัศน์ พรหมทัศน์เวที ซึ่งเป็นเพื่อนกับบุตรชายพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ทั้งสองจึงได้พามาพบและขอเรียนซอสามสายจากท่านและนับเป็นก้าวแรกของนายเฉลิม ม่วงแพรศรี ที่เริ่มฝึกหัดซอสามสายอย่างจริงจัง โดยเริ่มเรียนตั้งแต่พื้นฐานการใช้นิ้ว การใช้คันชัก ตามแบบราชสำนักที่พระยาภูมีเสวินได้รับการถ่ายทอดมาจากเจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ ทั้งนี้ การสืบสานวิธีการบรรเลงซอสามสายในสายของพระยาภูมีเสวินนั้น เป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีไทยว่าถูกต้องตามแบบแผนและงดงามลงตัวตามแบบฉบับซอสามสายในราชสำนักโดยแท้ นายเฉลิมได้หัดซอสามสายกับพระยาภูมีเสวินตั้งแต่เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เพลงตับต้นเพลงฉิ่ง เพลงทะแย ไปจนถึงเพลงที่สูงขึ้นตามลำดับ เช่น เพลงสุรินทราหู และเพลงแขกมอญ เป็นต้น ระหว่างที่เรียนซอสามสายกับพระยาภูมีเสวินอยู่นี้ นายเฉลิมจะไปร่วมบรรเลงออกอากาศรายการวิทยุคลื่นสั้นของกรมประชาสัมพันธ์กับท่านอยู่เสมอ ทุก ๆ วันอังคารและวันพฤหัสบดี
ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2508 นายเฉลิมสอบเข้ารับราชการได้ที่โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยนาฏศิลป) ในตำแหน่งอาจารย์วิชาภาษาไทย แต่ด้วยความรักในดนตรีไทยจึงทำให้ท่านได้รู้จักกับครูดนตรีอาวุโสอีกหลายคน ประกอบกับการที่มีโอกาสไปบรรเลงดนตรีไทยตามงานต่าง ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้ท่านคุ้นเคยกับนักดนตรีที่มีฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก เช่น หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน) นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นางสนิทบรรเลงการ (ละเมียด จิตตะเสวี) และนายประเวช กุมุท เป็นต้น ทำให้นายเฉลิมได้มีโอกาสศึกษาความรู้จากท่านเหล่านั้นมากมาย ในลักษณะครูพักลักจำบ้าง จากการสอบถามเทคนิคและแนวทางการบรรเลงบ้าง ถึงแม้จะไม่ใช่ลูกศิษย์โดยตรงแต่ก็ได้รับความเมตตาอยู่เป็นเนืองนิตย์ โดยเฉพาะหลวงไพเราะเสียงซอนั้น มักจะปรารภกับผู้อื่นเสมอว่าท่านสีซออย่างไรนายเฉลิมก็จะจำไปหมด สีซอได้ฉลาดเฉลียว
ด้วยเหตุที่นายเฉลิมมีประสบการณ์ด้านดนตรีไทย โดยเฉพาะได้เรียนรู้เทคนิคและแนวทางการบรรเลงซอชนิดต่าง ๆ ที่หลากหลาย ประกอบกับยอมรับและเห็นคุณค่าในความงามที่แตกต่างกันไปของครูแต่ละท่าน ทำให้นายเฉลิมได้พยายามนำแนวทางต่าง ๆ มาฝึกฝน หลอมรวม และปรับปรุงให้เป็นแนวทางของตนเองในการสร้างสรรค์ศิลปะการบรรเลงซอด้วง ซออู้ และซอสามสายได้อย่างกลมกลืนลงตัว โดยอยู่ในขนบของการบรรเลงดนตรีไทยที่เป็นแบบแผน และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงการดนตรีไทยว่าแนวทางการบรรเลงซอด้วง ซออู้ และซอสามสายของท่านมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความวิจิตรไพเราะเป็นอย่างยิ่งอีกแนวทางหนึ่ง
ประวัติการทำงาน
แก้- พ.ศ. 2508 – 2510 เข้ารับราชการที่โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร ในตำแหน่งอาจารย์วิชาภาษาไทย
- พ.ศ. 2510 – 2512 ปฏิบัติงานที่กองทัพอากาศออสเตรเลีย โดยทำหน้าที่สอนภาษาไทยในฐานทัพอากาศ พอยน์ทคุก กรุงเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย
- พ.ศ. 2513 – 2544 กลับเข้ารับราชการอีกครั้งที่วิทยาลัยนาฏศิลป จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอาจารย์วิชาภาษาไทย แต่ด้วยท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทย นายประสิทธิ์ ถาวร จึงขอให้ท่านช่วยสอนซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย ให้แก่นักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปอีกด้วย
- พ.ศ. 2544 – 2554 เข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทำหน้าที่สอนซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย ให้แก่นิสิตสาขาวิชาดุริยางค์ไทยตั้งแต่ทักษะและเพลงพื้นฐานจนถึงทักษะการเดี่ยวเพลงชั้นสูง
เสียชีวิต
แก้นายเฉลิม ม่วงแพรศรี ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ที่บ้านพักย่านอ่อนนุช เมื่อคืนวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 สิริรวมอายุ 75 ปี 11 เดือน[1][2][3][4]
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายเฉลิม ม่วงแพรศรี ณ เมรุดุสิตาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 17.15 น.[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[6]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[7]
- พ.ศ. 2537 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[8]
- พ.ศ. 2535 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 5 (ภ.ป.ร.5)[9]
อ้างอิง
แก้- ส่งเสริมวัฒนธรรม,กรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2556. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2557.
- ส่งเสริมวัฒนธรรม, กรม. ประวัตินายเฉลิม ม่วงแพรศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2556.[10]
- ↑ ไทยรัฐออนไลน์, ข่าว'ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี' มือหนึ่งซอสามสายไทยเสียชีวิตแล้ว, 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ข่าววงการดนตรีไทยสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้ง นายเฉลิม ม่วงแพรศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2556[ลิงก์เสีย], 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ เรื่องเล่าเช้านี้, ข่าว อ.เฉลิม ม่วงแพรศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย เสียชีวิตแล้ว[ลิงก์เสีย], 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ ไทยพีบีเอส, ข่าวสิ้นศิลปินแห่งชาติ "เฉลิม ม่วงแพรศรี" บรมครูซอ เก็บถาวร 2014-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ ช่อง 7, ข่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายเฉลิม ม่วงแพรศรี[ลิงก์เสีย], 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2021-12-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๑๔๔, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๑๓๒, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๔๓๙, ๒๘ เมษายน ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๕๒๓๓, ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕
- ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ประวัติและผลงาน นายเฉลิม ม่วงแพรศรี เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2557.