เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เกิดเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2450 เป็นบุตรคนใหญ่ของจางวางทั่ว พาทยโกศลและนางปลั่ง นามเดิมว่านก ต่อมาเมื่ออายุ 10 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตรฯประทานนามให้ว่า "เทวาประสิทธิ์" ตามชื่อเพลงเพลงหนึ่ง เทวาประสิทธิ์ได้สมรสกับนางสาวยุพา โอชกะ เมื่อ พ.ศ. 2474 มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือนายอุทัย พาทยโกศล

เทวาประสิทธิ์ได้หัดเรียนดนตรีไทยจากหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) ผู้เป็นปู่และจากจางวางทั่วผู้บิดานับตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนกระทั่งท่านสามารถบรรเลงเครื่องปี่พาทย์ได้ดีตั้งแต่อายุ ได้ 8 ปี จากนั้นท่านได้ไปเรียนดนตรีกับ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ตั้งแต่ยังเด็ก ได้ไปเรียนเป่าปี่ในกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนกระทั่งเชี่ยวชาญในการเป่าปี่

ในปี พ.ศ. 2466 เทวาประสิทธิ์ขณะที่มีอายุ 15 ปี ได้เข้าร่วมประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม และเดี่ยวปี่ได้รางวัลชนะเลิศ ส่วนในทางซอสามสายนั้นท่านได้รับประทานซอคู่พระหัตถ์ซึ่งเสียงดีมากมาคันหนึ่ง เรียกกันว่า ซอทวนนาค และยังได้เรียนกับพระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล) เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้เข้ารับราชการทหาร อยู่ในกองแตรวงมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่เขียนโน้ตสากล หลังจากนั้นเป็นนักดนตรีอยู่กับวงพิณพาทย์วังบางขุนพรหมของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ และวงพิณพาทย์ของจางวางทั่ว ท่านได้ควบคุมวงปี่พาทย์ต่อจากบิดาของท่าน ซึ่งรู้จักกันในนามว่า วงพาทยโกศล หรือวงฝั่งขะโน้น

เทวาประสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีให้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น โรงเรียนการช่างสตรีโชติเวช โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนศึกษานารี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยช่วยราชการในด้านการบรรยายพิเศษ และปรับวงดนตรีให้แก่กองทัพบกและกรมตำรวจ นอกจากนั้น ท่านได้เคยถวายสอนซอสามสายแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ได้ถวายสอนซอด้วงและซออู้แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ

ผลงาน แก้

เพลงที่เทวาประสิทธิ์แต่งไว้มีไม่มากนัก เช่น

  • เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ทำเป็นทางโหมโรงและทางธรรมดา
  • โหมโรงเพลงอาทิตย์อุทัย
  • เพลงเต่าเห่
  • เพลงนาคบริพัตรเถา
  • เพลงช้างประสานงาเถา
  • เพลงมุล่งเถา
  • เพลงนั่งช้างชั้นเดียว
  • เพลงขึ้นพลับพลา
  • เพลงเทวาประสิทธิ์เถา

ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2516

อ้างอิง แก้