เจ้าพระยาจักรี (หมุด)

(เปลี่ยนทางจาก เจ้าพระยาจักรี(หมุด))

เจ้าพระยาจักรี หรือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ เป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า "เจ้าพระยาจักรีแขก" มีชื่อจริงว่า "หมุด" หรือ "มะห์มู๊ด" เป็นมุสลิมเชื้อสายสุลต่านสุลัยมานเป็นบิดาของพระยายมราชเกษตราธิบดี หมัดหรือจุ้ย และพระยาราชวังสัน (หวัง) เป็นทหารเอกคนสำคัญคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เจ้าพระยาจักรี
(หมุด)
สมุหนายก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2310 – 2317
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก่อนหน้าพระยาพระคลัง
ถัดไปสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
หมุด

พ.ศ. 2270
อาณาจักรอยุธยา
เสียชีวิตพ.ศ. 2317 (47 ปี)
กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี
ที่ไว้ศพกุโบร์ มัสยิดต้นสน
บุตรพระยายมราช
พระยาราชวังสัน
บุพการี
  • ขุนลักษมณา (บิดา)
  • หม่อมดาว (มารดา)
ญาติสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ (ทวด)

กำเนิด แก้

เจ้าพระยาจักรี เป็นบุตร ขุนลักษมณา (บุญยัง) บุตร พระยาราชวังสัน (หะซัน) บุตร สุลต่านสุลัยมาน เจ้าพระยาจักรี มีมารดาคือ หม่อมดาว

เกิดเมื่อ พ.ศ. 2270 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์ ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงศักดิ์นายเวร" หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "หลวงนายศักดิ์"

ร่วมกู้เอกราช แก้

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาไม่นาน ท่านได้รับพระบรมราชโองการให้เดินทางไปเก็บเงินค่าส่วยสาอากรที่หัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก หลวงนายศักดิ์ได้เก็บเงินจากพระยาจันทบุรีได้เงิน 300 ชั่ง เมื่อได้รับข่าวกรุงแตกจึงเอาเงินไปฝังไว้ที่วัดจันทร์ ตกค่ำจึงวางแผนให้พรรคพวกชาวจีนมาโห่ร้องทำทีปล้นแล้วบอกพระยาจันทบุรีว่า โจรปล้นเงินไปหมด พระยาจันทบุรีไม่เชื่อสั่งให้จับหลวงนายศักดิ์ประจวบกับพระยาตากซึ่งตั้งตนเป็น เจ้าตาก ยกกองทัพถึงจันทบุรี หลวงนายศักดิ์จึงหนีออกไปสมทบเพราะเจ้าตากเคยทำราชการภายใต้บังคับบัญชาของตนจึงรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน หลวงนายศักดิ์ได้มอบจีนพรรคพวกให้ 500 คน กับเงินส่วยสาอากร 300 ชั่งที่เก็บไว้นั้นร่วมกันกับเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีแตก

เจ้าตากใช้เงินที่หลวงนายศักดิ์มอบให้จำนวน 300 ชั่ง เป็นเงินทุนจัดสร้างเรือรบขึ้นที่จันทบุรี ประกอบกับหลวงนายศักดิ์เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือและต่อเรือ จึงทำให้สามารถสร้างเรือประมาณร้อยลำ

กองทัพของเจ้าตากสามารถตีเมืองธนบุรีซึ่งพม่ามอบให้นายทองอินปกครองดูแล เมื่อยึดเมืองได้แล้วก็ยกกองทัพไปตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยากองทัพได้รับชัยชนะโดยสามารถฆ่าสุกี้แม่ทัพของพม่าตายในสนามรบทำให้กรุงศรีอยุธยากลับคืนสู่อิสรภาพภายในระยะเวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาซึ่งหนึ่งในบรรดาผู้กอบกู้อิสรภาพก็คือหลวงนายศักดิ์

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2311 โปรดเกล้าฯ หลวงนายศักดิ์เป็นอัครมหาเสนาบดีมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ดำรงตำแหน่ง สมุหนายก ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลหัวเมืองตั้งแต่เหนือสุดของประเทศจดดินแดนภาคกลางของประเทศ นับเป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า "เจ้าพระจักรีแขก"

แม่ทัพคู่พระทัย แก้

ศึกนครศรีธรรมราช แก้

ในปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาจักรีฯเป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าเป็นชุมนุมที่เข้มแข็งและมีความสามารถสูง ในการตีเมืองนครศรีธรรมราชนี้ ข้าราชการชั้นสูงที่ร่วมเดินทางในกองทัพได้เสียชีวิตในสนามรบ ซึ่งได้แก่พระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ กองทัพของเจ้าพระยาจักรีฯไม่สามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ เนื่องจากเมืองนครศรีธรรมราชมีกองกำลังที่เหนือกว่า จึงถอยไปตั้งหลักที่เมืองไชยา กองทัพหลวงซึ่งมีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพมาปราบ เมื่อเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทราบว่ามีกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมา จึงนำกำลังพลหนีออกจากเมือง แล้วไปหลบซ่อนอยู่ที่ปัตตานี เมื่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาถึงนครศรีธรรมราชก็สามารถตีกองทัพซึ่งรักษาเมืองนครศรีธรรมราชได้ พระองค์ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยาจักรีออกติดตามหาตัวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งท่านก็สามารถติดตามนำตัวมาถวายได้เป็นผลสำเร็จ

โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งแต่งโดยนายสวน มหาดเล็ก เมื่อปี พ.ศ. 2414 ได้กล่าวถึงเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ไว้ตอนหนึ่งว่า

ฝ่ายหมู่มุขมาตย์เฝ้า บริบาล
ชาญกิจชาญรงค์ชาญ เลิศล้วน
สมุหกลาโหมหาญ หาญยิ่ง
นายกยกพจน์ถ้อย ถี่ถ้อยขบวนความ

สงครามกัมพูชา แก้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบกัมพูชาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2314 โดยมีเจ้าพระยาจักรี (หมุดหรือแขก) เป็นแม่ทัพเรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาจักรีและพระยาทิพโกษาทำค่ายน้ำสองฝากของเมืองพุทไธมาศ ต่อมาโปรดเกล้าฯให้กองทัพเข้าปล้นเอาเมืองพุทไธมาศในเวลากลางคืนตอนเที่ยงคืน กองทัพไทยทั้งทัพบกและทัพเรือโหมตีเอาเมืองพุทไธมาศ ฝ่ายกองทัพพระยาราชาเศรษฐีเมืองพุทไธมาศไม่สามารถสู้ได้จึงหนีเอาตัวรอด ส่วนพระยาราชาเศรษฐีก็หนีออกจากเมืองไปทางทะเล

หลังจากนั้น กองทัพบกของพระยายมราชยกเข้าตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์และเมืองบริบูรณ์ได้เป็นผลสำเร็จ จากนั้นก็ได้ยกเข้าไปจะตีเมืองพุทไธเพชร แต่เจ้าพระยาจักรีตีได้เมืองพุทไธเพชรก่อนแล้ว องค์พระอุไทยราชานำทัพออกสู้รบด้วยแต่ไม่สามารถต้านทานได้ จึงนำไพร่พลบริวารหนีไปตั้งทัพที่บาพนม หลังจากนั้นเจ้าพระยาจักรีนำกองกำลังตั้งอยู่ที่เมืองพุทไธเพชร มอบให้องค์พระรามาธิบดีอยู่รักษาเมืองพุทไธเพชร ส่วนเจ้าพระยาจักรีได้เดินทางลงมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เกาะพนมเพญ แล้วเลยไปเมืองบาพนมเพื่อติดตามจับองค์พระอุไทยราชา แต่ไม่อาจจับตัวได้ เพราะพวกญวนเมืองลูกหน่ายมาจับตัวองค์พระอุไทยราชาหนีไปเมืองญวน ชาวเมืองบาพนมเข้าสวามิภักดิ์โดยดีไม่มีการสู้รบกัน ต่อจากนั้นเจ้าพระยาจักรีก็ยกทัพกลับมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เกาะพนมเพญ ต่อมาองค์พระรามาธิบดีได้ลงมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ได้โปรดให้องค์พระรามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชร และมีพระดำรัสให้พระยายมราช (ทองด้วง) และพระยาโกษาไปช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าจะสงบราบคาบ หลังจากเสร็จศึกที่กัมพูชาแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ พระราชทานญวนข้างในซึ่งเป็นบุตรสาวของพระยาราชเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศแก่แม่ทัพที่ร่วมในสงครามครั้งนี้ ซึ่งเจ้าพระยาจักรีก็ได้รับพระราชทานด้วย โดยให้โขลนนำไปพระราชทานถึงเรือน

ชีวิตครอบครัว แก้

เจ้าพระยาจักรี (หมุดหรือแขก) มีบุตร 3 คน คือ พระยายมราชเกษตราธิบดี (หมัดหรือจุ้ย), พระยาราชวังสัน (หวัง) ซึ่งเป็นคุณตาของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และคนที่ 3 คือ ลักษมณา ผู้ถูกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชจับตัวไปในคราวที่เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2312

สายสกุลของเจ้าพระยาจักรีนี้ เป็นสายสกุลใหญ่ฝ่ายอิสลาม ที่สืบเชื้อเป็นสายสกุลที่มีความสัมพันธ์กับราชินีกูลทาง กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) พระราชชนนีใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สายสกุลนี้ประกอบด้วย : ชลายนเดชะ สมุทรานนท์ สมุทรโคจร สุเทพากร ณรงค์ภักดี ชื่นภักดี โยธาสมุทร แสงวณิชย์ สิทธิวณิชย์ มหฤดีวรรณ มุขตารี มานะจิตต์ กลัดไวยเนตร กัลยาณสุต เกสพานิช ภู่มาลี ท้วมประถม ทองคำวงศ์ ศรีวรรณยศ ศิริสัมพันธ์ ฯลฯ

บั้นปลายชีวิต แก้

เจ้าพระยาจักรี (หมุดหรือแขก) ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2317 โดยในวันฝังศพของท่านที่สุสานมัสยิดต้นสน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จฯมาร่วมพิธีฝังศพ ทรงปลูกต้นลั่นทมและโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินเพิ่มเติมให้แก่มัสยิดต้นสนเพื่อขยายขอบเขตของสุสาน หรือ กุโบร์

พวกญาติพี่น้องสายเจ้าพระยาจักรี (หมุด) อยู่ใกล้กับวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เรียกกันว่า "แพ" หรือ "แขกแพ" ไม่ห่างไกลจากวัดหนัง อันเป็นเขตที่อยู่อาศัยของ พวกญาติพี่น้องพระยาพัทลุง (ขุน) ผู้เป็นญาติสนิท

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  • ภัทระ คาน. สุสานประวัติศาสตร์ 3 สมัย. ใน . กทม. จิรรัชการพิมพ์. 2544