พระโพสาทธรรมิราชาไชยจักรพรรดิภูมินทราธิราช หรือเจ้าอุปราช (นอง) แห่งเวียงจันทน์ หรืออีกนามหนึ่งเรียกว่า เจ้านอง หรือ เจ้าปางคำ หรือ เจ้าสุวรรณปางคำ ปฐมบรรพบุรุษของเจ้าเมืองผู้ก่อตั้งเวียงใหม่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) (พ.ศ. ไม่ระบุ-2294) ถือเป็นปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว และปฐมวงศ์แห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช เมืองยศสุนทรประเทศราช เมืองเขมราษฎร์ธานี เมืองหนองคาย เมืองอำนาจเจริญ เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล เมืองมหาชนะชัย เมืองเสลภูมินิคม เมืองวารินทร์ชำราบ เมืองไชยบุรี ฯลฯ พระองค์มีศักดิ์เป็นพระโอรสของแสนทิพย์นาบัวผู้มีเชื้อสายสามัญชนทางไทพวนจากบิดาและไทดำทางมารดา เดิมเป็นขุนนางล้านช้าง ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯจากกษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราชในสมัยพระเจ้าไชยองค์เว้จนถึงสมัยเจ้าองค์ลองแห่งกรุงเวียงจันทน์ และภายหลังได้รับการโปรดเกล้าจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 หรือพระเจ้าไชยองค์เว้ ให้ลงไปตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานขึ้นกับนครหลวงเวียงจันทน์ จึงมีการตั้งราชวงศ์เป็นของตนเองขึ้นโดยใช้นามมาจากพระบิดาของท่าน คือ แสนทิพย์นาบัว ภายหลังอุปราชนองยึดอำนาจจากเจ้าองค์ลอง พระราชโอรสของเจ้าไชยองเว้ พี่น้องต่างบิดา จนได้ปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ แต่ได้ยอมรับเป็นเพียงเจ้าอุปราชครองเมือง ไม่อาจได้รับการยอมรับหรือรับรองจากขุนนางให้ขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใดเนื่องจากเจ้านองไม่มีเชื้อสายทางกษัตริย์ล้านช้างแต่เป็นเพียงเชื้อสายสามัญชน ภายหลังได้ครองนครเวียงจันทน์จึงมอบให้พระตาบุตรชายไปปกครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแทน ภายหลังบุตรชายทั้ง 2 คือ พระวอและพระตาร่วมมือกับเจ้าศิริบุญสาร พระราชโอรสของเจ้าลอง เข้ายึดอำนาจจากเจ้าอุปราชนอง พระบิดาของตน

พระราชประวัติ แก้

เจ้าอุปราชนองหรือเจ้านองเป็นเชื้อสามัญชนชาวไทพวน ได้รับโปรดเกล้าจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 หรือ พระเจ้าไชยองค์เว้ พระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ลงไปตั้งเมืองขึ้นใหม่นามว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ขึ้นใหม่แทนเมืองเก่าที่รกร้างและให้ขึ้นตรงกับนครหลวงเวียงจันทน์

ต่อมาเจ้านองเสกสมรสกับหญิงชาวลาวเวียงจันทน์ และมีพระโอรส 2 พระองค์ คือ

  1. เจ้าพระตา
  2. เจ้าพระวอ

เมื่อพระโอรสทั้งสองพระองค์เจริญชนม์ เจ้านองทรงโปรดให้เข้ารับราชการสนองพระคุณพระเจ้าไชยองค์เว้ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างบิดาของตน

ต่อมา หลังจากสถาปนา อาณาจักร์ล้านช้างเวียงจันทน์ได้ไม่นาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและป้อมปราการให้แก่อาณาจักร์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านองทรงนำกำลังไพร่พลครัวลาวที่ติดตามไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองหนองบัวลุ่มภู ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงนำไพร่พลหลวงพระบางและเวียงจันทน์มาก่อสร้างขึ้นครั้ง พ.ศ. 2106 ให้เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีสัตตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ยันกับอยุธยาและอาณาจักร์ล้านช้างหลวงพระบาง เมื่อเจ้านองได้มาถึงเมืองหนองบัวลุ่มภู ทรงเลือกหน้าทำเลที่ตั้งบ้านเมืองใหม่ บริเวณริมหนองบัวอันมีปราการทางธรรมชาติคือ เทือกเขาภูพานสูงตระหง่าน สามารถป้องกันข้าศึกศัตรู พร้อมก่อสร้างค่ายคูประตูหอรบ กำแพงคูเมืองล้อมรอบพร้อมประตูเวียงอย่างแน่นหนา สถาปนาเวียงแห่งใหม่นี้ว่า "เวียงใหม่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า "หนองบัวลุ่มภู" ซึ่งแรกเริ่มเป็นเมืองตรงต่ออาณาจักรล้านช้าง ทรงให้ตั้งกฏบัญญัติบ้านเมืองหนองบัวลุ่มภู มีลำพระเนียงเป็นแม่น้ำสายหลักไหลหล่อเลี้ยงชาวเมือง มีพญาช้างเผือกคู่เวียง และมีเมืองขึ้นของนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ได้แก่ เมืองนาด้วง เมืองภูเวียง เมืองผ้าขาว เมืองพันนา[1]

เมื่อเจ้านองนำครัวชาวลาวมาอยู่ที่หนองบัวลุ่มภูแล้ว ก็ให้มีการนำขนบธรรมเนียม และประเพณีของล้านนาโบราณ เช่น ธรรมเนียมการเผาศพเจ้านายบนเมรุนกหัสดีลิงค์ และธรรมเนียมประเพณีดังกล่าวนั้น ภายหลังเมื่อชาวหนองบัวลุ่มภูได้ย้ายลงไปตั้งเมืองใหม่ที่อุบลราชธานีและยโสธรก็ยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมของล้านนานี้ไว้ด้วย [2]

ต่อมาเจ้าอุปราชนองมีความพยายามที่จะแย่งชิงอำนาจจากเจ้าองค์ลอง กษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์องค์ที่ 2 และสามารถยึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2283 แม้จะสามารถยึดอำนาจได้และสามารถครองนครหลวงเวียงจันทน์ได้แต่เนื่องจากเจ้านองไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์แต่เป็นเพียงสามัญชน เหล่าบรรดาขุนนางจึงยอมรับท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้านครเพียงแค่เป็น เจ้าอุปราชนองตามเดิม ภายหลังพระโอรสทั้งสอง คือ พระวอและพระตาร่วมมือกับเจ้าศิริบุญสาร พระราชโอรสของเจ้าองค์ลอง ยึดอำนาจคืนได้สำเร็จ หลังจากพ่ายแพ้ เจ้าอุปราชนองจึงถูกพระเจ้าศิริบุญสารซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระโอรสทั้งสองของท่านนี้เองสำเร็จโทษจนถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. 2294

พิราลัย แก้

เจ้านองหรือเจ้าปางคำ ทรงพิราลัยเมื่อปี พ.ศ. 2294 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์ที่ 31 ทรงปกครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน 33 ปี และนครหลวงเวียงจันทน์ 11 ปี

รายพระนามเจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน แก้

เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
ลำดับ รายพระนาม เริ่มต้นรัชกาล สิ้นสุดรัชกาล รวมระยะเวลา หมายเหตุ
1 เจ้าอุปราชนอง พ.ศ. ไม่ระบุ พ.ศ. 2283

ถูกสถาปนาเมืองขึ้นและได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่พระเจ้าไชยองค์เว้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ องค์ที่ 1

2 พระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) พ.ศ. 2283 พ.ศ. 2314 31 ปี
3 พระวรราชภักดี (เจ้าพระวอ) - - - อยู่ในภาวะสงครามกับเวียงจันทน์ และได้อพยพหนีลงมายังบ้านสิงห์ท่า (ยโสธร) ก่อนขึ้นครองเมือง

พงศาวลี แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. "ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-17. สืบค้นเมื่อ 2013-02-22.
  2. "ตำนานนกหัสดีลิงค์กับพิธีเผาศพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-18. สืบค้นเมื่อ 2013-02-22.