เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5

(เปลี่ยนทางจาก เจ้าจอมมารดาเลื่อน)

เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม นิยะวานนท์; 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระชนนีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลวาดวรองค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ท่านมีหน้าที่อ่านหนังสือถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนเข้าบรรทม เพราะมีเสียงไพเราะ แม้อ่านมายาวนานก็ยังเพราะไม่แหบแห้ง จึงได้รับพระกรุณาอยู่เสมอ

เจ้าจอมมารดา

เลื่อน ในรัชกาลที่ 5
เกิดเลื่อน นิยะวานนท์
8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418
เสียชีวิต12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 (72 ปี)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร
บุพการีพระนรินทราภรณ์ (ลอย นิยะวานนท์)
ปริก นิยะวานนท์

ประวัติ แก้

เจ้าจอมมารดาเลื่อน เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 ที่บ้านบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีของพระนรินทราภรณ์ (ลอย นิยะวานนท์) กับปริก โดยปู่ของท่านคือพระอินท์อากร (มุ่ย ไกรฤกษ์) เป็นน้องชายของเจ้าจอมมารดาอำพา ในรัชกาลที่ 2 (พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ต้นราชสกุลกปิตถา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นราชสกุลปราโมช)

เมื่อท่านอายุได้ 9 ปี ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กับ เจ้าจอมมิ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นลูกของป้าท่าน แล้วจึงถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วได้เป็นละครหลวง ต่อมาทรงพระกรุณาให้เป็นเป็นเจ้าจอม ประสูติพระเจ้าลูกเธอรวม 2 พระองค์ คือ

ในส่วนของเจ้าจอมมารดาเลื่อนนั้น ท่านจะมีหน้าที่ประจำ คือ การอ่านหนังสือถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเข้าที่บรรทมเป็นนิจ เพราะพระองค์ทรงพระบรรทมยาก ท่านเจ้าจอมมารดาท่านมีเสียงที่ไพเราะ อ่านได้นาน ๆ ไม่แหบแห้ง ทั้งเป็นผู้ถูกอัธยาศัย ทรงพระกรุณามาก เมื่อต่อมาพระราชโอรสทรงได้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ก็เป็นเหตุให้ทรงยกย่องเจ้าจอมมารดาเลื่อนยิ่งขึ้น ถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญรัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2 ครั้นพระองค์เจ้าอุรุพงษ์สิ้นพระชนม์แล้ว ปลายรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาเลื่อนจึงถวายคืนพระมรดกของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ ทั้งหมด

ถึงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชเงินปีเลี้ยงชีพเป็นพิเศษอีกปีละ 30,000 บาท นอกเหนือไปจากอัตราปกติของเจ้าจอมมารดาพระสนมเอก และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 อีกด้วย

ในเวลาต่อมา เจ้าจอมมารดาเลื่อน ได้กราบถวายบังคมทูลลาออกไปอยู่นอกวัง ที่บ้านถนนพระราม 5 ( ปัจจุบันกำลังปรับปรุงอาคารให้เป็นหอประวัติราชบัณฑิตยสภา เพื่อเป็นหอประวัติศาสตร์พร้อมสำหรับการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองควบคู่ไปกับการจัดประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี ) และดำรงชีพอยู่โดยสัมมาปฏิบัติ ต่อมาท่านได้ย้ายไปสร้างบ้านใหม่ที่ถนนเพชรบุรี ใกล้ประตูน้ำปทุมวัน แต่มีโรคเบียดเบียนในวัยชราอยู่หลายปี จนในที่สุดก็ถึงแก่อสัญกรรมลงที่บ้านถนนเพชรบุรีนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เจ้าจอมมารดาเลื่อน เป็นบุคคลที่มีใจเป็นบุญ ทำการบริจาคทานอยู่เสมอ ๆ เช่น สร้างศาลาอุรุพงษ์ เป็นการเปรียญใหม่ ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร และปฏิสังขรณ์ พระประธานองค์ใหญ่ ประดิษฐานไว้ในศาลานั้น สิ้นเงินในการนี่ 25,000 บาท และตั้งทุนช่วยวัด ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ได้บริจาคเงิน 800 บาท ซ่อมศาลาที่บรรจุพระอังคารพระองค์อุรุพงษ์ฯ เปลี่ยนเป็นศาลาจตุรมุข ผูกเหล็กหล่อคอนกรีตทั้งหลังบริจาคสมทบทุนพยาบาลภิกษุสามเณรอาพาธในวัดเบญจมบพิตรอีกถึง 2,000 บาท และบริจาคทรัพย์อีก 2,500 บาท สำหรับเขียนภาพบรรจุช่องว่างในพระอุโบสถช่อง 1 เป็นภาพพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย ด้วยกันกับเจ้านายและบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 และบริจาคเงินบำรุงพระภิกษุในวัดนั้นตลอดมา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๖๑๖, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๒
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๕, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๓๑, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓