เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา หรือ ตราวชิรมาลา เรียกโดยย่อว่า ว.ม.ล. (อังกฤษ: The Vajira Mala order) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์ ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เพื่อพระราชทานให้แก่ผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระองค์ รัชทายาท และราชตระกูล โดยความจงรักภักดี ที่จะให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นพระเกียรติยศในพระองค์ และราชตระกูล โดยจะพระราชทานให้เฉพาะฝ่ายหน้า เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลาจัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 36 ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[1] ปัจจุบัน พ้นสมัยพระราชทานแล้ว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ วชิรมาลา | |
---|---|
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา ฝ่ายหน้า | |
มอบโดย พระมหากษัตริย์สยาม | |
อักษรย่อ | ว.ม.ล |
ประเภท | ดวงตราห้อยแพรแถบ |
วันสถาปนา | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรสยาม |
จำนวนสำรับ | ไม่จำกัดจำนวน |
แพรแถบ | |
ผู้สมควรได้รับ | ข้าราชการฝ่ายหน้า (พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย) |
มอบเพื่อ | เชิดชูเกียรติคุณแก่ข้าราชการผู้ที่ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดีและมีความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา |
สถานะ | พ้นสมัยพระราชทาน |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ล้มเลิก | พ.ศ. 2468 |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 |
รายล่าสุด | พระยาดำรงแพทยาคุณ 15 กันยายน พ.ศ. 2468 |
ทั้งหมด | 100 ราย |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ |
รองมา | ไม่มี (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับต่ำสุด) |
ลักษณะของตราวชิรมาลา
แก้ตราวชิรมาลา เป็นรูปวชิราวุธ คมเงิน ด้ามทอง กลางด้ามลงยาราชาวดีสีขาบ มีรัศมีเป็นทองโปร่ง รอบขอบเป็นรูปปทุมลงยาราชาวดี ขอบในสีขาบ มีกลีบขาว กนกรอบนอกสีชมพู ข้างบนเป็นเข็มทองคำ จารึกอักษรว่า “ราชการในพระองค์" ห้อยแพรแถบริ้วสีเหลืองกับสีดำ ใช้ประดับแนบเสื้อที่อกเบื้องซ้าย[2]
ผู้ได้รับตราวชิรมาลา
แก้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ตามพระราชประสงค์ และจะพระราชทานสำหรับผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระองค์ รัชทายาท และราชตระกูล โดยความจงรักภักดี ที่จะให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นพระเกียรติยศในพระองค์ และราชตระกูล โดยห้ามมิให้ผู้ใดกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อตนเองหรือกราบบังคมทูลแนะนำเพื่อพระราชทานแก่ผู้อื่นเป็นอันขาด
ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ จะได้รับการประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าผู้ได้รับตรานี้มีความผิดต้องพระราชอาญาใด ๆ ต้องคืนตรานี้ เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษ จึงจะสามารถประดับตรานี้ต่อไปได้[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติตราวชิรมาลา รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐, เล่ม ๒๘, ตอน ๐ก, ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๗๔
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2007-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน