เกมล่าชีวิต
เกมล่าชีวิต (อังกฤษ: The Hunger Games) เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย เขียนโดยซูซาน คอลลินส์ นักเขียนชาวอเมริกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2008 เนื้อเรื่องถูกเล่าผ่านมุมมองของแคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาววัย 16 ปีที่อาศัยอยู่ที่ประเทศพาเน็ม ซึ่งเป็นประเทศในโลกอนาคตภายหลังการล่มสลาย ตั้งอยู่ที่ทวีปอเมริกาเหนือในปัจจุบัน มีแคปิตอลเป็นเมืองหลวงที่มีความเจริญเป็นอย่างสูง ใช้การเมืองเป็นอำนาจปกครองเหนือทุกสิ่ง โดยได้มีการจัดเกมล่าชีวิต ซึ่งเป็นการแข่งขันประจำปีที่เขตปกครองภายใต้อำนาจของแคปิตอลทั้ง 12 เขตจะต้องคัดเลือกบรรณาการเด็กชายและเด็กหญิงที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี เพศละคน จากการจับฉลาก เพื่อเข้าต่อสู้ในการแข่งขันที่เสี่ยงตายออกรายการโทรทัศน์
เกมล่าชีวิต | |
---|---|
หน้าปกฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ออกแบบปกโดย ทิม โอ'ไบรอัน | |
ผู้ประพันธ์ | ซูซาน คอลลินส์ |
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | The Hunger Games |
ผู้แปล | นรา สุภัค |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ชุด | ไตรภาคเกมล่าชีวิต |
ประเภท | ผจญภัย ดิสโทเปีย บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์[1] |
พิมพ์ | 14 กันยายน ค.ศ. 2008 |
สำนักพิมพ์ | สำนักพิมพ์สกอแลสติก สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ |
หน้า | 374 หน้า 384 หน้า |
ISBN | 978-0-439-02352-8 |
เรื่องถัดไป | ปีกแห่งไฟ |
หนังสือเล่มนี้ได้ผลตอบรับในแง่บวกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากนักวิจารณ์และนักเขียนชื่อดัง โดยได้รับคำชื่นชมในเรื่องของเนื้อเรื่องและการพัฒนาตัวละคร ในการเขียนเกมล่าชีวิต นั้น คอลลินส์ได้นำแนวคิดมาจากเนื้อหาของเทพปกรณัมกรีก การต่อสู้ของนักรบกลาดิอาตอร์โรมันและรายการเรียลลิตีโชว์สมัยใหม่ นำมารวมกันจนได้เป็นเนื้อหาหลัก ตัวนวนิยายเองได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งรางวัล California Young Reader Medal และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับการระบุชื่อให้เป็นหนังสือแห่งปีโดยนิตยสาร พับลิชเชอร์วีกลี ประจำปี ค.ศ. 2008
เกมล่าชีวิต วางจำหน่ายในรูปแบบปกแข็งครั้งแรกในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2008 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สกอแลสติก ออกแบบปกโดยทิม โอ'ไบรอัน และต่อมาก็ได้มีการวางจำหน่ายในฉบับปกอ่อน รวมไปถึงหนังสือเสียงและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นับถึงปี ค.ศ. 2012 เกมล่าชีวิตมียอดขายกว่า 17.5 ล้านเล่มทั่วโลก[2][3] ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศ 26 ภาษา และได้มีการขายลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ไปใน 38 ประเทศ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือเล่มแรกของไตรภาคเกมล่าชีวิต ซึ่งมีภาคต่อตามมาคือ ปีกแห่งไฟ และ ม็อกกิ้งเจย์ ส่วนฉบับภาพยนตร์ดัดแปลงนั้นได้มีการออกฉายในปี ค.ศ. 2012 กำกับการแสดงโดยแกรี รอสส์ ซึ่งคอลลินส์ได้มีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ทั้งในฐานะผู้เขียนบทและผู้อำนวยการสร้างร่วม
ภูมิหลัง
แก้คอลลินส์ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจของเกมล่าชีวิตว่ามาจากการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์สลับไปมา ในช่องหนึ่ง เธอสังเกตเห็นคนกำลังแข่งขันกันในรายการเรียลลิตีโชว์ ส่วนอีกช่อง เธอได้เห็นภาพฟุตเทจของการบุกครองอิรัก เส้นแบ่งระหว่างทั้งสองช่องเริ่มเลือนลางอย่างไม่มีหยุด และแนวคิดของหนังสือก็ได้ก่อตัวขึ้น[4] ตำนานปกรณัมกรีกของเทพธีซิอัสถือเป็นจุดเริ่มต้นหลักที่สำคัญของเรื่องและยังรวมไปถึงการต่อสู้ของกลาดิอาตอร์ที่ได้กำหนดแก่นเรื่อง คอลลินส์อธิบายไว้ว่า แคตนิสนั้นคือธีซีอัสของโลกอนาคต นอกจากนั้นความรู้สึกของการสูญเสียซึ่งคอลลินส์ได้สัมผัสผ่านช่วงเวลาที่พ่อของเธอต้องเข้าร่วมในสงครามเวียดนามเมื่อตอนเธออายุ 11 ปี ก็เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของเรื่อง[5] คอลลินส์กล่าวว่าการตายของตัวละครวัยเยาว์และประเด็นที่มืดหม่นอื่นๆถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนหนังสือเล่มนี้ แต่เธอก็ยอมรับว่าประเด็นเหล่านั้นคือส่วนจำเป็นของเนื้อเรื่อง[6] เธอถือว่าช่วงที่แคตนิสนึกย้อนถึงเหตุการณ์ต่างๆในอดีตที่มีความสุขมากกว่าในปัจจุบันคือสิ่งที่เธอรู้สึกเพลิดเพลินที่จะเขียนมากกว่า[6]
เนื้อเรื่อง
แก้เนื้อเรื่องของเกมล่าชีวิต เกิดขึ้นที่ประเทศพาเน็ม ซึ่งตั้งอยู่บนทวีปอเมริกาเหนือภายหลังการล่มสลายของอารยธรรมของทวีป ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการเปิดเผย พาเน็มประกอบด้วยเมืองแคปิตอลที่ร่ำรวย ล้อมรอบด้วยเขตปกครองทั้ง 12 เขต ที่ยากจนกว่าและอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของแคปิตอล แคปิตอลได้ตักตวงเอาทรัพยากรและแรงงานราคาถูกจากทั้ง 12 เขต โดยเขตที่ 12 นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเรียกกันว่าแอปพาเลเชีย เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยถ่านหิน ส่วนแคปิตอลนั้นตั้งอยู่ในเทือกเขาร็อกกี[7]
เพื่อเป็นการลงโทษจากการก่อกบฎต่อแคปิตอลในอดีต เด็กชายและเด็กหญิง เพศละคน ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จากแต่เขต จะต้องถูกคัดเลือกผ่านการจับฉลากประจำปีเพื่อเข้าแข่งขันในเกมล่าชีวิต การแข่งขันที่ "บรรณาการ" จะต้องสู้กันให้ถึงแก่ชีวิตในสนามประลองกลางแจ้งจนกว่าจะเหลือผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว โดยการแข่งขันนี้จะถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
เรื่องราวได้ถูกเล่าโดย แคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาววัย 16 ปีจากเขต 12 ผู้อาสาเข้าแข่งขันเกมล่าชีวิตครั้งที่ 74 แทนที่พริมโรส น้องสาวของเธอ ส่วนบรรณาการฝ่ายชายของเขต 12 คือ พีต้า เมลลาร์ก อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของแคตนิสที่ครั้งหนึ่งเคยมอบขนมปังให้แก่เธอ ในช่วงที่ครอบครัวของเธอกำลังจะอดตาย
แคตนิสและพีต้าได้ถูกพาไปยังแคปิตอล เพียงไม่กี่วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น พวกเขาได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากทีมงานที่ประกอบไปด้วยเฮย์มิตซ์ อะเบอร์นาธี ที่ปรึกษาขี้เมา ซึ่งเป็นผู้พิชิตของเกมล่าชีวิตจากเขต 12 เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่, เอฟฟี่ ทรินเกต, แฟชั่นสไตลิสต์สองคนและทีมเตรียมตัวอีกสามคนที่ได้ช่วยให้บรรณาการทั้งสองดูดีที่สุด โดยชาวแคปิตอลที่แคตนิสมองว่าเป็นเพื่อนของเธอมีเพียงซินน่า สไตล์ลิสต์ของเธอเท่านั้น เหล่าบรรณาการได้รับการแนะนำตัวแก่สาธารณะ เข้าฝึกซ้อมและประเมินคะแนนโดยผู้คุมเกม แคตนิสและพีต้าได้คะแนนทิ้งห่างผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ พีต้ามีคะแนนตามแคตนิสเล็กน้อย โดยมี ริว บรรณาการเด็กหญิงวัย 12 ปีจากเขต 11 ที่มีคะแนนตามพวกเขามา
บรรณาการแต่ละคนได้ถูกสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์โดยซีซาร์ ฟลิกเกอร์แมน พวกเขาได้ใช้โอกาสครั้งนี้เพื่อดึงดูดเหล่า "สปอนเซอร์" ที่สามารถส่งของขวัญที่จะช่วยชีวิตพวกเขาระหว่างเกมได้ ในการสัมภาษณ์ของพีต้า เขาได้เปิดเผยว่าเขาหลงรักแคตนิสมาเป็นเวลานาน ในตอนแรก แคตนิสเชื่อว่าสิ่งที่พีต้าพูดเป็นเพียงแค่แผนของเขาที่จะดึงดูดสปอนเซอร์และทำให้เธอรู้สึกไม่ระแวงเขา (แต่ในภายหลัง เธอก็ยอมรับว่าพีต้าจริงใจต่อเธอ) เฮย์มิตซ์ได้โปรโมทพวกเขาในฐานะ "คู่รักที่ชะตาไม่เป็นใจ"
ในวันแรกของการแข่งขัน บรรณาการกว่าครึ่งถูกฆ่าตายจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาวุธและสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณจุดเริ่มต้นของการแข่งขัน แคตนิสเกือบถูกฆ่าเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของเฮย์มิตซ์ที่สั่งให้เธอหนีทันทีที่เกมเริ่ม เธอใช้ความสามารถในการล่าสัตว์และทักษะการเอาชีวิตรอดที่ยอดเยี่ยมในการหลบซ่อนในป่า ไม่กี่วันต่อมา เปลวไฟประดิษฐ์ที่ผู้คุมเกมสร้างขึ้นได้ไล่ต้อนแคตนิสให้หนีไปหาคนอื่น ๆ ที่เหลือรอด "พวกมืออาชีพ" (บรรณาการจากเขตที่ภักดีต่อแคปิตอลและมีความร่ำรวยกว่าเขตอื่น ซึ่งจะได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มเข้มเพื่อที่จะเข้าร่วมแข่งขันเกมล่าชีวิต) และพีต้าที่ดูเหมือนกับว่าได้เข้าไปร่วมมือกับกลุ่มมืออาชีพ พบแคตนิสและไล่ล่าเธอจนเธอต้องหนีขึ้นไปบนต้นไม้ ริวนั้นซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ใกล้กันกับแคตนิส เธอได้ชี้ให้แคตนิสเห็นรังของตัวต่อแทรกเกอร์แจ็คเกอร์ แคตนิสมองเห็นรังติดอยู่กับกิ่งของต้นไม้ จึงได้ทำให้รังตกลงบนพื้น พิษของตัวต่อได้คร่าชีวิตเด็กหญิงในกลุ่มพวกมืออาชีพไปหนึ่งคน และไล่พวกที่เหลือให้หนีไปทางอื่น อย่างไรก็ตาม แคตนิสเองก็ถูกตัวต่อต่อยและเริ่มมองเห็นภาพหลอน เธอเห็นพีต้าย้อนกลับมา แต่แทนที่จะฆ่าเธอ เขากลับบอกให้เธอวิ่งหนีไป
แคตนิสได้เป็นเพื่อนกับริวและร่วมมือกันเอาชีวิตรอด แต่ภายหลังริวก็ถูกทำร้ายอย่างสาหัสโดยบรรณาการคนหนึ่งซึ่งแคตทิสได้ฆ่าเขาด้วยธนู แคตนิสร้องเพลงให้ริวฟังจนกระทั่งเธอสิ้นใจ เธอโปรยดอกไม้เหนือร่างของริวเพื่อแสดงความท้าทายต่อแคปิตอล เขตของริวจึงได้ส่งของขวัญมาให้แคตนิสเป็นขนมปัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ภายหลังได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎ อนุญาตให้บรรณาการจากเขตเดียวกันสามารถชนะการแข่งขันร่วมกันได้ แคตนิสพบพีต้าและช่วยรักษาแผลฉกรรจ์ของเขา ในขณะเดียวกันก็ยังคงเล่นบทเป็นเด็กสาวที่ตกหลุมรักเพื่อให้ได้รับของขวัญจากสปอนเซอร์ เมื่อผู้คุมเกมประกาศว่าจะมีสิ่งของที่บรรณาการแต่ละคนต้องการมากที่สุดอยู่ที่งานเลี้ยง แคตนิสจึงได้เสี่ยงชีวิตเพื่อเอายามารักษาพีต้า ทำให้เขารอดชีวิตมาได้
ในที่สุดแคตนิสและพีต้าเหลือเป็นผู้รอดชีวิตสองคนสุดท้าย แต่ผู้คุมเกมกลับยกเลิกกฎที่เพิ่งปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะบีบให้พวกเขาสร้างฉากจบที่สะเทือนอารมณ์แก่คนดู หรือก็คือให้คนใดคนหนึ่งฆ่าอีกคน แต่แทนที่จะทำตาม แคตนิสกลับเลือกแก้ไขสถานการณ์อย่างท้าทายด้วยการใช้ "ไนท์ล็อก" เบอร์รี่พิษร้ายแรง โดยแบ่งครึ่งหนึ่งให้แก่พีต้า เมื่อทราบว่าทั้งแคตนิสและพีต้าตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย เหล่าผู้คุมเกมจึงได้ประกาศให้พวกเขาทั้งสองเป็นผู้ชนะเกมล่าชีวิตครั้งที่ 74
แม้แคตนิสจะได้รับต้อนรับเยี่ยงวีรสตรี เฮย์มิตซ์กลับเตือนเธอว่า ในตอนนี้เธอได้ตกเป็นเป้าหลังจากการท้าทายแคปิตอลอย่างเปิดเผย ต่อมาพีต้าต้องก็ต้องผิดหวังเมื่อทราบว่าการกระทำของแคตนิสระหว่างการแข่งขันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุบายที่เธอเตรียมเอาไว้ก่อนเพื่อเรียกความเห็นใจจากคนดูเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แคตนิสนั้นก็ไม่แน่ใจในความรู้สึกของตัวเธอเองว่าแท้จริงแล้วเธอรู้สึกกับเขาอย่างไร
แก่นเรื่อง
แก้จากบทสัมภาษณ์ของคอลลินส์ ได้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเกมล่าชีวิต นั้น "โจมตีปัญหาต่าง ๆ เช่น ความยากจนข้นแค้น ความอดอยาก การปกครองแบบกดขี่ และผลกระทบของสงครามต่อบุคคลอื่น"[8] นวนิยายเล่าถึงความยากลำบากในการพึ่งตัวเองที่ชาวพาเน็มในแต่ละเขตต้องเผชิญ และพูดถึงเกมล่าชีวิตที่พวกเขาต้องเข้าแข่งขัน[4] ความอดอยากของประชาชนและความต้องการที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรไม่ว่าจะทั้งในและนอกสนามประลองได้สร้างบรรยากาศของความรู้สึกไร้ทางสู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครหลักพยายามจะก้าวผ่านในการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด การที่แคตนิสต้องออกล่าสัตว์เพื่อหาอาหารให้แก่ครอบครัวของเธอได้ส่งผลในการพัฒนาทักษะที่กลายเป็นประโยชน์ต่อเธอในการแข่งขัน (อาทิเช่น ทักษะการใช้ธนูที่ยอดเยี่ยม) และในสถานการณ์ที่ต้องเอาชีวิตรอด แคตนิสยังได้แสดงถึงการขัดขืนต่อกฎระเบียบของแคปิตอลอีกด้วย[9] ส่วนในเรื่องของการเปรียบเทียบของเกมกับวัฒนธรรมป๊อปนั้น ดาเร็น ฟรานิช จากนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี ได้เขียนเอาไว้ว่า หนังสือเล่มนี้คือ "การเสียดสีรายการเรียลลิตีโชว์อย่างหลักแหลม" และตัวละครอย่าง ซินน่า นั้นก็ "แทบจะดูเหมือนกับผู้เข้าแข่งขันในเรื่อง โปรเจกต์รันเวย์ ฉบับฟาสซิสต์ ผู้ที่ใช้ชุดของแคตนิสเป็นตัวส่งผ่านความคิดที่อันตรายออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ"[10]
ทางเลือกที่ตัวละครได้ตัดสินใจและกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้มักจะซับซ้อนในเชิงศีลธรรม บรรณาการนั้นจะสร้างบุคลิกภาพที่พวกเขาต้องการให้คนดูเห็นตลอดการแข่งขัน วารสารห้องสมุด Voice of Youth Advocates ระบุว่าแก่นเรื่องหลักของเกมล่าชีวิตคือ "การควบคุมโดยรัฐบาล, 'พี่เบิ้ม', และอิสรภาพส่วนบุคคล"[11] สำนักพิมพ์สกอลาสติก ผู้ตีพิมพ์ไตรภาคเกมล่าชีวิต ชี้ว่าแก่นเรื่องหลักของไตรภาคนั้นเกี่ยวข้องกับ อำนาจและความตกต่ำล่มสลาย (คล้ายบทละครเรื่องจูเลียส ซีซาร์ ของเชกสเปียร์)[12] ลอร่า มิลเลอร์ จากนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ พบว่าแนวคิดของเกมล่าชีวิต ที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้นไม่ได้ชวนให้คล้อยตามเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโฆษณาชวนเชื่อหรือการที่ตัวละครต้องยอมจำนนราวกับเป็นบทลงโทษที่เจ็บปวดอันสืบเนื่องมาจากการลุกฮือต่อแคปิตอลที่ล้มเหลวในอดีต มิลเลอร์กล่าวว่า "คุณคงไม่ทำลายขวัญกำลังใจและลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนใต้การปกครองด้วยการเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นคนดังและสอนให้พวกเขาสร้างบุคลิกที่ดึงดูดผู้ชมส่วนใหญ่หรอก" แต่เนื้อเรื่องก็กลับดูดีขึ้นมากหากมองว่าแก่นเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับความพลิกผันในชีวิตวัยมัธยมและ"ประสบการณ์ทางสังคมของหนุ่มสาว" มิลเลอร์ได้เขียนไว้ว่า
"กฎของการแข่งขันนั้นไม่มีความแน่นอน ไม่สามารถคาดเดาได้ และสร้างมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหัน การปกครองแบบชนชั้นทางสังคมที่ไร้มนุษยธรรมได้มีอิทธิพลให้พวกคนรวย คนที่ดูดี พวกนักกีฬาใช้ข้อได้เปรียบของพวกเขากดขี่คนอื่น ๆ การที่จะเอาตัวรอดได้ คุณจำเป็นต้องเสแสร้งอย่างแท้จริง พวกผู้ใหญ่เองก็ดูจะไม่เข้าใจว่าผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้มีมากเพียงใด ฉะนั้นชีวิตคุณก็อาจจะจบสิ้นได้เลย และพวกเขาก็จะทำราวกับว่าการจบสิ้นนั้นเป็นเพียงแค่ "กระบวนการหนึ่ง" เท่านั้นเอง! ทุกคนจะเฝ้าดูคุณอยู่เสมอ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องเสื้อผ้าของคุณหรือของเพื่อนคุณ และจะสนใจแต่เรื่องของคุณ ไม่ว่าคุณจะมีเซ็กส์ ใช้ยาเสพติด ได้ผลการเรียนดี แต่จะไม่มีใครสนใจเลยว่าแท้จริงแล้วคุณเป็นคนอย่างไรและจริงๆแล้วคุณรู้สึกกับเรื่องต่าง ๆ อย่างไร"[13]
ดอนัลด์ เบรก จากหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันไทมส์ และบาทหลวง แอนดี แลงฟอร์ด ได้กล่าวว่า เนื้อเรื่องมีแก่นเรื่องแบบอิงศาสนาคริสต์ อย่างเช่น การสละชีพตนเอง ซึ่งเห็นได้ว่า การที่แคตนิสอาสาเข้าแข่งขันแทนที่น้องสาวของเธอนั้นเปรียบเสมือนการสละชีพของพระเยซูเพื่อเป็นการไถ่บาปแทนมนุษย์[14][15] ทั้งเบรกและเอมี ซิมป์สันต่างพบว่าเนื้อเรื่องยังเกี่ยวพันกับประด็นเรื่องความหวัง โดยความหวังได้ถูกยกตัวอย่างขึ้นมาพูดในตัวละคร "พริมโรส" น้องสาวของแคตนิสผู้เปี่ยมด้วยความดีที่ซื่อตรง[16] ซิมป์สันยังได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับพระทรมานของพระเยซูอีกด้วย โดยในการแข่งขัน พีต้า เมลลาร์ก ซึ่งเป็นตัวละครที่ใช้สื่อแทนถึงพระเยซู ได้ถูกแทงภายหลังจากที่เขาเตือนแคตนิสให้หนีไปเพื่อเอาชีวิตรอด และตัวเขาเองก็ได้ถูกฝังไว้กับพื้นก่อนที่จะถูกพาเข้าไปอยู่ในถ้ำเป็นเวลาสามวันก่อนที่จะฟื้นขึ้นมาด้วยชีวิตใหม่[16] นอกจากนี้เธอยังได้สังเกตว่า ภาพของคำสอนเรื่องขนมปังแห่งชีวิตยังได้มีการยกขึ้นมานำเสนอผ่านนวนิยาย เนื่องจากในเนื้อเรื่องนั้น พีต้าได้มอบขนมปังหนึ่งแถวแก่แคตนิสเพื่อช่วยชีวิตเธอและครอบครัวของเธอจากความอดอยาก เปรียบได้กับการที่พระเยซูเป็นเสมือนขนมปังแห่งชีวิตของผู้ที่ได้พบพระองค์[16]
ประวัติการตีพิมพ์
แก้หลังเสร็จสิ้นการเขียน คอลลินส์ได้เซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์สกอแลสติกสำหรับการตีพิมพ์หนังสือสามเล่มด้วยเงินจำนวนหลักแสนดอลลาห์สหรัฐ ในตอนแรก มีการตีพิมพ์เกมล่าชีวิต ฉบับปกแข็งในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน 50,000 เล่ม ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 เล่มในเวลาต่อมา[4] นับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 หนังสือมียอดขายรวม 800,000 เล่ม[17] และมีการขายลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ไปยัง 38 ประเทศทั่วโลก ไม่กี่เดือนต่อมา ได้มีการจำหน่ายหนังสือในรูปแบบปกอ่อนในเดือนกรกฎาคม[18] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน เกมล่าชีวิต ได้ติดอันดับหนังสือขายดีเดอะนิวยอร์กไทมส์ ของเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008[19] และสามารถติดอันดับเป็นระยะเวลานานกว่า 100 สัปดาห์ติดต่อกัน[20] และเมื่อภาพยนตร์ฉบับดัดแปลงออกฉายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 หนังสือเกมล่าชีวิต ก็สามารถติดอันดับหนังสือขายดีของหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ มาเป็นเวลานานกว่า 135 สัปดาห์ และมียอดขายมากกว่า 17.5 ล้านเล่ม[2][3]
เกมล่าชีวิต ถือเป็นหนังสือเล่มแรกของไตรภาคเกมล่าชีวิต ซึ่งมีภาคต่อตามมาได้แก่ ปีกแห่งไฟ และ ม็อกกิ้งเจย์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 และ ค.ศ. 2010 ตามลำดับ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 ช่วงที่ภาพยนตร์เกมล่าเกม กำลังออกฉายในโรงภาพยนตร์ สำนักพิมพ์สกอแลสติกรายงานว่าไตรภาคเกมล่าชีวิต ได้มียอดตีพิมพ์ทั้งสิ้น 26 ล้านเล่ม ซึ่งรวมไปถึงฉบับหน้าปกโปรโมทภาพยนตร์ด้วย[21] เกมล่าชีวิต (และหนังสือภาคต่อ) มียอดขายในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ดีเป็นอย่างมาก โดยซูซาน คอลลินส์ถือเป็นนักเขียนนวนิยายสำหรับเด็กหรือนวนิยายวัยรุ่นคนแรกที่สามารถทำยอดขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่าหนึ่งล้านเล่มในอีรีดเดอร์ของแอมะซอนคินเดิล ทำให้เธอเป็นนักเขียนคนที่หกที่ได้เข้าร่วมใน "สมาคมหนึ่งล้านคินเดิล"[22] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 อเมซอน ได้ประกาศว่าคอลลินส์เป็นนักเขียนที่ขายหนังสืออีบุ๊กในรูปแบบคินเดิลได้สูงที่สุดตลอดกาล[23]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 ได้มีการจำหน่าย เกมล่าชีวิต ในรูปแบบหนังสือเสียง ซึ่งอ่านโดยนักแสดงหญิง คาโรลิน แมคคอร์มิค มีความยาวรวม 11 ชั่วโมง 14 นาที[24] โดยนิตยสาร ออดิโอไฟล์ ได้ระบุว่า "คาโรลิน แมคคอร์มิคได้มอบการเล่าเรื่องที่ละเอียดและเปี่ยมด้วยความตั้งใจ แต่อย่างไรก็ตาม เธออาจจะให้ความสำคัญกับจุดแข็งของตัวบทมากจนเกินไปจนลืมใส่ความเป็นเรื่องเล่าที่ผู้ฟังวัยรุ่นมักจะรู้สึกสนุกสนานลงไปด้วย"[25]
ทิม โอ'ไบรอัน ผู้ออกแบบหน้าปกหนังสือ ได้เลือกใช้ภาพของ "นกม็อกกิ้งเจย์" สีทองที่คาบลูกธนูอยู่ในวงกลม ซึ่งนกม็อกกิ้งเจย์ก็คือนกในนวนิยายเกมล่าชีวิต ที่เกิดขึ้นจากการผสมข้ามสายพันธุ์กันระหว่างนกม็อคกิ้งเบิร์ดตัวเมียกับ "นกแจ็บเบอร์เจย์" ตัวผู้ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการพัฒนายีน โดยภาพนี้คือภาพของเข็มกลัดที่แคตนิสได้รับมาจากแมดจ์ อันเดอร์ซี ลูกสาวของนายกเทศมนตรีเขต 12 และเธอก็ได้ใส่ในมันในสนามประลอง[26] ภาพที่วาดบนปกสอดคล้องกับคำบรรยายในหนังสือ ยกเว้นแต่เพียงลูกธนูที่ไม่ได้มีการบรรยายเอาไว้ โดยในหนังสือคอลลินส์ได้บรรยายถึงเข็มกลัดนี้ไว้เพียงแค่ว่า "เหมือนกับว่าใครบางคนออกแบบนกทองคำตัวเล็กขึ้น แล้วค่อยติดวงแหวนล้อมรอบมันไว้ นกตัวนั้นเชื่อมต่อกับวงแหวนแค่ส่วนปลายปีก"[27]
ในประเทศไทย สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ได้รับลิขสิทธิ์ในการแปลและตีพิมพ์นวนิยายเป็นภาษาไทย โดยได้ใช้ชื่อภาษาไทยว่า "เกมล่าชีวิต" ตีพิมพ์ครั้งแรกในฉบับปกอ่อนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 แปลเป็นภาษาไทยโดน 'นาธาน'[28] อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ได้มีการเปลี่ยนผู้แปลมาเป็น นรา สุภัคโรจน์ ในการตีพิมพ์ครั้งที่สองและรวมไปถึงการแปลหนังสืออีกสองเล่ม ซึ่งได้แก่ ปีกแห่งไฟ และ ม็อกกิ้งเจย์[29]
คำวิจารณ์
แก้เกมล่าชีวิต ได้รับการยกย่องเชิงคำวิจารณ์ ในบทวิจารณ์ของจอห์น กรีน ที่เขียนให้เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้เขียนเอาไว้ว่า นวนิยายเล่มนี้ "มีการเขียนเนื้อเรื่องไว้อย่างฉลาดหลักแหลมและเดินเรื่องได้ยอดเยี่ยม" และ "จุดแข็งที่สำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือการสร้างโลกที่มีรายละเอียดอย่างชวนให้คล้อยตามของคอลลินส์ รวมไปถึงความรู้สึกกดดันที่น่าจดจำและตัวละครแบบวีรสตรีที่น่าหลงใหล" อย่างไรก็ตาม กรีนสังเกตว่า แม้หนังสือเล่มนี้จะเต็มไปด้วยการใช้อุปมานิทัศน์ แต่บางทีกลับก็ไม่ได้ตระหนักถึงศักยภาพเชิงอุปมานิทัศน์ที่เนื้อเรื่องต้องเสนอออกมาและการเขียนก็ "อธิบายการกระทำมากแต่อธิบายสิ่งอื่นเพียงเล็กน้อย"[30] ส่วนสตีเฟน คิงก็ได้เขียนวิจารณ์ลงในนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี โดยกล่าวว่าเขาไม่สามารถที่จะหยุดอ่านหนังสือเล่มนี้ได้และเปรียบว่านวนิยายเล่มนี้นั้นเปรียบเสมือน "การเล่นวิดีโอเกมประเภท 'ยิงทันทีถ้าขยับ' ฉะนั้นแม้คุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง แต่คุณก็ยังคงเล่นมันต่อไปอยู่อย่างนั้น" อย่างไรก็ตาม เขาก็ระบุว่าหนังสือยังแสดงความขี้เกียจของคนเขียนที่นักอ่านวัยเด็กมักจะยอมรับได้มากกว่านักอ่านผู้ใหญ่ ฉะนั้นประเด็นเรื่องรักสามเส้าจึงกลายมาเป็นพื้นฐานของนวนิยายประเภทนี้ คิงให้คะแนนนวนิยายเรื่องนี้ไว้ที่ เกรดบี [31] อลิซาเบธ เบิร์ดจากวารสารสกูลไลบรารีเจอร์นัล ก็ได้ชื่นชมนวนิยายเล่มนี้ โดยกล่าวว่า เกมล่าชีวิต นั้น "น่าตื่นเต้น สะเทือนใจ ชวนให้คิด และน่าพิศวงอย่างเป็นลำดับขั้นตอน" และยกให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี ค.ศ. 2008[32] นิตยสารบุ๊กลิสท์ ก็ได้ให้คำวิจารณ์ในเชิงบวกเช่นกัน โดยได้กล่าวชื่นชมถึงความโหดร้ายและความโรแมนติกของตัวละครในเรื่อง[33] นิตยสารเคอร์กัส รีวิวส์ ได้มอบคำวิจารณ์เชิงบวกแก่ตัวนวนิยาย โดยกล่าวชมในเรื่องฉากต่อสู้และการสร้างโลกของนวนิยายขึ้นมา แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า "การเรียบเรียงที่เลวร้ายในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกจะทำลายสมาธินักอ่านที่มีความระมัดระวังในการอ่านได้ ช่างน่าเศร้าใจจริงๆ"[34] ริก ไรออร์แดน ผู้เขียนนวนิยายชุด เพอร์ซีย์ แจ็กสัน ระบุว่าเกมล่าชีวิต คือ "สิ่งที่ใกล้เคียงกับนวนิยายผจญภัยมากที่สุด" เท่าที่เขาเคยอ่านมา[35] ส่วนสเตเฟนี เมเยอร์ (ผู้เขียนนวนิยายชุด ทไวไลท์) ก็พูดถึงหนังสือเล่มนี้บนเว็บไซต์ของเธอว่า "ฉันติดหนังสือเล่มนี้มาก ... เกมล่าชีวิต ช่างน่ามหัศจรรย์"[36]
เกมล่าชีวิต ได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติมากมาย โดยได้รับการระบุชื่อเป็นหนึ่งใน "หนังสือที่ดีที่สุด" ในปี ค.ศ. 2008 จากนิตยสารพับลิชเชอร์วีกลี[37] และเป็น "หนังสือเด็กที่น่าจับตามองของปี 2008" ของนิตยสารเดอะนิวยอร์กไทมส์ [38] หนังสือชนะรางวัล Golden Duck Award ประจำปี ค.ศ. 2008 สาขาวรรณกรรมวัยรุ่น[39] และยังได้รับรางวัล "2008 Cybil Winner" สำหรับวรรณกรรมแฟนตาซีและบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ เคียงคู่กันกับหนังสือเรื่อง ผจญภัยในสุสาน[40] เกมล่าชีวิต เป็นหนึ่งใน "หนังสือดีปี 2008" ของวารสารสกูลไลบรารีเจอร์นัล[41] และเป็น "หนังสือแนะนำของบรรณาธิการนิตยสารบุ๊กลิสท์" ในปี ค.ศ. 2008[42] นอกจากนี้ หนังสือยังได้รับรางวัล California Young Reader Medal ประจำปี ค.ศ. 2011[43] นิตยสารแพเรนท์แอนด์ชายด์ ฉบับปี ค.ศ. 2012 ของสำนักพิมพ์สกอแลสติกก็ได้ระบุชื่อให้เกมล่าชีวิต ติดอับดับที่ 33 ของรายชื่อหนังสือที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก พร้อมด้วยรางวัล "ฉากจบที่ตื่นเต้นที่สุด"[44][45] นวนิยายเล่มนี้ยังเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของหนังสือที่ขายดีที่สุดตลอดการในเครื่องคินเดิล[46] อย่างไรก็ตาม เกมล่าชีวิต ตกเป็นประเด็นโต้แย้งในบรรดาผู้ปกครอง[47] ซึ่งทำให้มันเป็นหนังสืออันดับที่ห้าที่ถูกขอให้นำออกจากห้องสมุดมากที่สุดในปี ค.ศ. 2010 จากการจัดอันดับของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า หนังสือนั้นมี "ความรุนแรง" และมีเนื้อหาที่ "ไม่เหมาะสมกับช่วงอายุและวัยของผู้อ่าน"[48]
ได้มีการสังเกตถึงความเหมือนหลายจุดระหว่างเกมล่าชีวิต กับนวนิยายเรื่อง วิชาฆ่าภาคบังคับ (Battle Royale) ของโคจุน ทะคะมิ[49] คอลลินส์กล่าวว่า "ฉันไม่เคยได้ยินชื่อนักเขียนหรือหนังสือเล่มนั้นเลยจนกระทั่งหนังสือของฉันได้ตีพิมพ์ ในตอนนั้นมีคนมาบอกฉัน และฉันก็ได้ถามบรรณาธิการของฉันว่าฉันควรที่จะอ่านมันหรือเปล่า เขาตอบว่า 'ไม่ ผมไม่อยากให้โลกใบนั้นเข้ามาอยู่ในหัวของคุณ แค่ทำในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ก็พอ' "[49] ซูซาน โดมินัสจากนิตยสารเดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รายงานว่า "ความคล้ายคลึงนี้เป็นที่เห็นได้ชัดพอสมควรว่า งานของคอลลินส์นั้นได้โดนโจมตีในชุมชนผู้เล่นบล็อก เนื่องจากได้ขโมยเอาแนวคิดของวิชาฆ่าภาคบังคับ มาใช้อย่างไม่ละอาย" แต่เธอก็ได้โต้แย้งว่า "มีจุดกำเนิดของเส้นเรื่องหลายจุดที่มีความเป็นไปได้พอสมควรว่านักเขียนทั้งสองคนอาจสนใจความคิดพื้นฐานแบบเดียวกัน แต่ทั้งสองความคิดนั้นเป็นอิสระต่อกัน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างอย่างใด"[50] ส่วนสตีเฟน คิงก็ได้สังเกตว่าการที่แคตนิสไม่รู้ว่ามีกล้องจับภาพเธออกอากาศในเรื่องนั้นมีความคล้ายคลึงกับวิชาฆ่าภาคบังคับ เฉกเช่นเดียวกับนวนิยายเรื่อง เดอะลองวอร์ค และ เดอะรันนิงแมน ของเขา[31] อีริก ไอเซนเบิร์กได้เขียนว่า เกมล่าชีวิต ไม่ใช่งานที่ลอกเลียนแบบวิชาฆ่าภาคบังคับ แต่เป็นการนำแนวคิดเดียวกันมาใช้ในวิธีใช้ที่แตกต่างกันออกไป โดยเขาได้ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างหลายประการทั้งด้านเนื้อเรื่องและแก่นเรื่อง[51]
ภาพยนตร์ดัดแปลง
แก้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2009 ไลออนเกต เอนเตอร์เทนเมนต์ได้ทำข้อตกลงร่วมในการดัดแปลงนวนิยายเกมล่าชีวิตเป็นภาพยนตร์กับบริษัทคัลเลอร์ ฟอร์ซ ของนีนา จาคอบสัน ที่ได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายทั่วโลกไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า[52][53] ไลออนเกต ซึ่งไม่ได้กำไรจากการประกอบการมาเป็นเวลาห้าปี ได้หักทุนสร้างจากการสร้างภาพยนตร์เรื่องอื่นและได้ขายสินทรัพย์เพื่อนำมาประคองค่าใช้จ่ายจากทุนสร้างที่ใช้ไป 88 ล้านดอลลาห์สหรัฐในการสร้างภาพยนตร์ดัดแปลงของเกมล่าชีวิต[54][55] โดยถือว่าเป็นทุนสร้างที่สูงที่สุดของสตูดิโอ[56] เจสัน เดวิส ตัวแทนของคอลลินส์ได้กล่าวว่า "พวกเขา(ไลออนเกต)ทุกคน ยกเว้นแค่คนรับใช้ โทรมาหาเรา" เพื่อที่จะขอให้เราช่วยพัฒนาภาพยนตร์ชุดนี้[55] คอลลินส์ได้ดัดแปลงตัวนวนิยายให้เป็นบทภาพยนตร์ด้วยตัวเธอเอง[52] โดยได้ร่วมมือกันกับบิลลี เรย์ นักเขียนบทภาพยนตร์ และแกรี่ รอสส์ ผู้กำกับภาพยนตร์[57][58] เพราะตั้งใจที่จะให้ภาพยนตร์ได้เรท PG-13 ในตอนฉาย[59] แต่บทภาพยนตร์ก็ยังคงซื่อสัตย์ต่อนวนิยายต้นฉบับเป็นอย่างมาก[60] โดยแกรี่ รอสส์ได้กล่าวว่าเขา "รู้สึกว่า ทางเดียวที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ก็คือต้องมีความจริงใจอย่างแท้จริง" ซึ่งรวมถึงการนำเสนอเหตุการณ์ให้สะท้อนลักษณะการเล่าเรื่องแบบบุรุษที่หนึ่งในเหตุการณ์ปัจจุบันกาล ที่คอลลินส์ได้ใช้ในนวนิยายออกมาให้ได้[61]
เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ นักแสดงสาววัยยี่สิบปี ได้รับเลือกให้รับบทแคตนิส เอฟเวอร์ดีน[62] แม้ลอว์เรนซ์จะอายุมากกว่าอายุของตัวละครแคตนิสกว่าสี่ปีในช่วงที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์[63] แต่คอลลินส์กลับรู้สึกว่าบทของแคตนิสนั้นต้องมี "พลังและมีวุฒิภาวะที่มั่นคง" และได้กล่าวว่าเธอต้องการได้นักแสดงที่แก่กว่าแคตนิสมากกว่านักแสดงที่อายุน้อยกว่า[64] คอลลินส์เสริมว่าลอว์เรนซ์นั้นเป็นนักแสดง "เพียงคนเดียวที่สามารถเก็บรายละเอียดของตัวละครที่ฉันเขียนในหนังสือได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน" และเธอก็มี "คุณสมบัติที่สำคัญทุกอย่างที่จำเป็นต่อการจะเล่นเป็นแคตนิส"[65] ลอว์เรนซ์ ซึ่งเป็นแฟนของหนังสือเล่มนี้ ใช้เวลาสามวันในการตัดสินใจรับบท เนื่องจากตอนแรกเธอรู้สึกหวั่นใจกับขนาดของงานสร้างที่ใหญ่โต[66][67] ภายหลังได้มีการประกาศว่า จอช ฮัทเชอร์สัน และเลียม เฮมส์เวิร์ท จะรับบทเป็นพีต้าและเกล ตามลำดับ[68][69] งานสร้างภาพยนตร์เริ่มต้นในช่วงปลายของฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 2011[70] และภาพยนตร์เกมล่าเกม ก็ได้ออกฉายในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2012[71] ในสัปดาห์เปิดตัว เกมล่าเกม ได้ทำสถิติเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาคต่อที่เปิดตัวได้สูงที่สุด โดยเปิดตัวที่รายได้ 152.5 ล้านดอลลาห์สหรัฐ[72] ในหนึ่งปีให้หลังภาพยนตร์ เกมล่าเกม 2 แคชชิ่งไฟเออร์ ซึ่งเป็นดัดแปลงมาจากหนังสือเล่มสองของไตรภาคเกมล่าชีวิต ก็ได้ออกฉายในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013[73]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Mockingjay proves the Hunger Games is must-read literature". io9. August 26, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-09. สืบค้นเมื่อ February 12, 2013.
- ↑ 2.0 2.1 "Best-Selling Books list". USA Today. สืบค้นเมื่อ March 30, 2012.
- ↑ 3.0 3.1 "'Hunger Games' books: More than 36.5M in print in the U.S. alone". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2017-06-06.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Sellers, John A. (June 9, 2008). "A dark horse breaks out: the buzz is on for Suzanne Collins's YA series debut". Publishers Weekly. สืบค้นเมื่อ July 12, 2010.
- ↑ Margolis, Rick (September 1, 2008). "A Killer Story: An Interview with Suzanne Collins, Author of 'The Hunger Games'". School Library Journal. สืบค้นเมื่อ October 16, 2010.
- ↑ 6.0 6.1 "The Most Difficult Part" (Video). Scholastic. สืบค้นเมื่อ February 25, 2012.
- ↑ Collins, Suzanne (2008). The Hunger Games. Scholastic. p. 41. ISBN 0-439-02348-3.
- ↑ "Mockingjay (The Hunger Games #3)". Powell's Books. สืบค้นเมื่อ February 25, 2012.
- ↑ Hartmann, Cristina (October 21, 2011). "What, If Anything, Does The Hunger Games Series Teach Us About Strategy?". Forbes. สืบค้นเมื่อ January 11, 2012.
- ↑ Franich, Darren (October 6, 2010). "'The Hunger Games': How reality TV explains the YA sensation". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-08. สืบค้นเมื่อ September 10, 2012.
- ↑ "Barnes & Noble, The Hunger Games (Editorial Reviews)". สืบค้นเมื่อ September 1, 2012.
- ↑ "The Hunger Games trilogy Discussion Guide" (PDF). Scholastic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ January 2, 2010.
- ↑ Miller, Laura (June 14, 2010). "Fresh Hell: What's behind the boom in dystopian fiction for young readers?". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ September 3, 2012.
- ↑ Brake, Donald (March 31, 2012). "The religious and political overtones of Hunger Games". The Washington Times. สืบค้นเมื่อ April 1, 2012.
- ↑ Groover, Jessica (March 21, 2012). "Pastors find religious themes in 'Hunger Games'". Independent Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 21, 2012. สืบค้นเมื่อ December 11, 2013.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 Simpson, Amy (March 22, 2012). "Jesus in 'The Hunger Games'". Christianity Today. สืบค้นเมื่อ September 1, 2012.
- ↑ Roback, Diane (February 11, 2010). "'Mockingjay' to Conclude the Hunger Games Trilogy". Publishers Weekly. สืบค้นเมื่อ July 12, 2010.
- ↑ "Suzanne Collins's Third Book in The Hunger Games Trilogy to be Published on August 24, 2010". Scholastic. December 3, 2009. สืบค้นเมื่อ January 1, 2010.
- ↑ "Children's Best Sellers: Chapter Books: Sunday, November 2, 2008". The New York Times. November 2, 2008. สืบค้นเมื่อ December 30, 2008.
- ↑ Schuessler, Jennifer (September 5, 2010). "Children's Chapter Books". The New York Times. สืบค้นเมื่อ September 5, 2010.
- ↑ Springen, Karen (March 22, 2012). "The Hunger Games Franchise: The Odds Seem Ever in Its Favor". Publishers Weekly. สืบค้นเมื่อ April 11, 2012.
- ↑ Colby, Edward B. (June 6, 2011). "Hunger Games joins Amazon Kindle Million Club". International Business Times. สืบค้นเมื่อ June 6, 2011.
- ↑ "Hungry for Hunger Games: Amazon.com Reveals the Top Cities in the U.S. Reading The Hunger Games Trilogy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-11. สืบค้นเมื่อ March 16, 2012.
- ↑ "The Hunger Games audiobook". Audible.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-20. สืบค้นเมื่อ December 7, 2010.
- ↑ "AudioFile audiobook review: The Hunger Games by Suzanne Collins, Read by Carolyn McCormick". AudioFile. December 2008. สืบค้นเมื่อ December 8, 2010.
- ↑ Weiss, Sabrina Rojas (February 11, 2010). "'Mockingjay': We're Judging 'Hunger Games' Book Three By Its Cover". Hollywood Crush. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-25. สืบค้นเมื่อ December 16, 2010.
- ↑ Collins, Suzanne (2008). The Hunger Games. Scholastic. p. 42. ISBN 0-439-02348-3.
- ↑ "เกมล่าชีวิตฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก". Goodreads. สืบค้นเมื่อ June 23, 2017.
- ↑ "เกมล่าชีวิตฉบับปรับปรุงใหม่แรก". Goodreads. สืบค้นเมื่อ June 23, 2017.
- ↑ Green, John (November 7, 2008). "Scary New World". The New York Times. สืบค้นเมื่อ December 29, 2008.
- ↑ 31.0 31.1 King, Stephen (September 8, 2008). "Book Review: The Hunger Games". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-21. สืบค้นเมื่อ February 26, 2010.
- ↑ Bird, Elizabeth (June 28, 2008). "Review of the Day: The Hunger Games by Suzanne Collins". School Library Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 3, 2009. สืบค้นเมื่อ December 11, 2013.
- ↑ Goldsmith, Francisca (September 1, 2008). "The Hunger Games". Booklist. สืบค้นเมื่อ December 29, 2008.
- ↑ "The Hunger Games: Editor Review". Kirkus Reviews. สืบค้นเมื่อ September 1, 2012.
- ↑ Riordan, Rick. "Home – Suzanne Collins". สืบค้นเมื่อ April 23, 2012.
- ↑ Meyer, Stephanie (September 17, 2008). "September 17, 2008". The Official Website of Stephanie Meyer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 26, 2008. สืบค้นเมื่อ February 25, 2012.
- ↑ "PW's Best Books of the Year". Publishers Weekly. November 3, 2008. สืบค้นเมื่อ December 11, 2013.
- ↑ "Notable Children's Books of 2008". The New York Times. November 28, 2008. สืบค้นเมื่อ December 30, 2008.
- ↑ "Golden Duck Past Winners". GoldenDuckAwards.com. November 27, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2011. สืบค้นเมื่อ December 16, 2010.
- ↑ "Cybils: The 2008 Cybils Winners". Cybils.com. February 14, 2009. สืบค้นเมื่อ July 13, 2010.
- ↑ "School Library Journal's Best Books 2008". School Library Journal. December 1, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 16, 2013. สืบค้นเมื่อ December 11, 2010.
- ↑ "Booklist Editors' Choice: Books for Youth, 2008". Booklist. January 1, 2009. สืบค้นเมื่อ September 2, 2012.
- ↑ "Winners". California Young Reader Medal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 27, 2011. สืบค้นเมื่อ May 21, 2011.
- ↑ "100 Greatest Books for Kids". Scholastic. สืบค้นเมื่อ February 19, 2012.
- ↑ Lee, Stephan (February 15, 2012). "'Charlotte's Web' tops list of '100 great books for kids'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ February 19, 2012.
- ↑ Schwarze, Kelly (November 20, 2012). "The 5 Best-Selling Kindle Books of All Time". Mashable. สืบค้นเมื่อ November 21, 2012.
- ↑ Barak, Lauren (October 19, 2010). "New Hampshire Parent Challenges 'The Hunger Games'". School Library Journal. สืบค้นเมื่อ March 13, 2012.
- ↑ "Top ten most frequently challenged books of 2010". American Library Association. สืบค้นเมื่อ December 11, 2013.
- ↑ 49.0 49.1 Fujita, Akiko (22 March 2012). "'The Hunger Games,' a Japanese Original?". ABC News Internet Ventures. สืบค้นเมื่อ 25 May 2016.
- ↑ Dominus, Susan (April 8, 2011). "Suzanne Collins's War Stories for Kids". The New York Times. สืบค้นเมื่อ November 14, 2011.
- ↑ Eisenberg, Eric (March 20, 2012). "5 Reasons The Hunger Games Isn't Battle Royale". Cinemablend.com. สืบค้นเมื่อ March 23, 2012.
- ↑ 52.0 52.1 Jay A. Fernandez and Borys Kit (March 17, 2009). "Lionsgate picks up 'Hunger Games'". The Hollywood Reporter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-15. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Kit, Borys (March 4, 2009). "'Hunger' pangs for Color Force". Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ "Lions Gate Has a Hit with 'Hunger Games.' Can It Turn a Profit?". The Daily Beast. April 2, 2012. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ 55.0 55.1 "How Lions Gate won 'Hunger Games'". Reuters. March 23, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-29. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ "Box Office History for Lionsgate Movies". สืบค้นเมื่อ April 25, 2012.
- ↑ Springen, Karen (August 5, 2010). "Marketing 'Mockingjay'". Publishers Weekly. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Sperling, Nicole; Fritz, Ben (April 12, 2012). "Hunger Games director Gary Ross bows out of sequel". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Hopkinson, Deborah (September 2009). "A riveting return to the world of 'The Hunger Games'". BookPage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-13. สืบค้นเมื่อ June 30, 2010.
- ↑ "A Game of Trust". Writers Guild of America. March 23, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-06. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Murphy, Mekado (March 30, 2012). "Gary Ross answers reader questions about 'The Hunger Games'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Joshua L. Weinstein (March 16, 2011). "Jennifer Lawrence Gets Lead Role in 'The Hunger Games'". The Wrap. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-24. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Staskiewicz, Keith (March 17, 2011). "'Hunger Games': Is Jennifer Lawrence the Katniss of your dreams?". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-08. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Valby, Karen (March 17, 2011). "'Hunger Games' director Gary Ross talks about 'the easiest casting decision of my life'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-27. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Franich, Darren (March 21, 2011). "'Hunger Games': Suzanne Collins talks Jennifer Lawrence as Katniss". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-27. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ "9 Untold Secrets of the High Stakes 'Hunger Games'". The Hollywood Reporter. February 1, 2012. สืบค้นเมื่อ February 7, 2012.
- ↑ Galloway, Steven (February 1, 2012). "Jennifer Lawrence: A Brand-New Superstar". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ September 4, 2012.
- ↑ Weinstein, Joshua L. (March 16, 2011). "Exclusive: Jennifer Lawrence Gets Lead Role in 'The Hunger Games'". The Wrap. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-24. สืบค้นเมื่อ March 17, 2011.
- ↑ Sperling, Nicole (April 4, 2011). "'The Hunger Games': Josh Hutcherson and Liam Hemsworth complete the love triangle". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ February 25, 2012.
- ↑ Valby, Karen (January 6, 2011). "'Hunger Games' exclusive: Why Gary Ross got the coveted job, and who suggested Megan Fox for the lead role". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-24. สืบค้นเมื่อ January 8, 2011.
- ↑ Valby, Karen (January 25, 2011). "'The Hunger Games' gets release date". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-17. สืบค้นเมื่อ January 25, 2011.
- ↑ Barnes, Brook (March 25, 2012). "Hunger Games Ticket Sales Set Record". New York Times. สืบค้นเมื่อ March 25, 2012.
- ↑ Schwartz, Terri (November 17, 2011). ""The Hunger Games" sequel eyes a new screenwriter, director Gary Ross will return". IFC News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-21. สืบค้นเมื่อ December 2, 2011.