อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ

ประติมากรรมบนเกาะลิเบอร์ตี กลางอ่าวนิวยอร์ก ในนครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ

เทพีเสรีภาพ (Liberty Enlightening the World; ฝรั่งเศส: La Liberté éclairant le monde) เป็นประติมากรรมนีโอคลาสสิก ขนาดมหึมาบนเกาะลิเบอร์ตีในท่าเรือนิวยอร์ก ภายในนครนิวยอร์ก รูปปั้นที่หุ้มด้วยทองแดงนี้เป็นของขวัญจากประชาชนชาวฝรั่งเศสที่มอบให้แก่สหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยประติมากรชาวฝรั่งเศส เฟรเดริก โอกุสต์ บาร์โตลดี และมีโครงสร้างโลหะที่สร้างโดย กุสตาฟ ไอเฟล รูปปั้นนี้ได้รับการอุทิศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1886

อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ
ประเทศ สหรัฐ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (vi)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2527 (คณะกรรมการสมัยที่ 8)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

รูปปั้นนี้เป็นสตรีที่สวมชุดคลุมแบบคลาสสิก[1] ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับแรงบันดาลใจจากลิเบอร์ตัส เทพธิดาแห่งเสรีภาพของโรมัน[2] เธอยืนในท่าคอนทราพอสโต[1][3] โดยใช้มือขวาชูคบเพลิงไว้เหนือศีรษะ ส่วนมือซ้ายถือแผ่นจารึก JULY IV MDCCLXXVI (4 กรกฎาคม 1776 เป็นตัวเลขโรมัน) ซึ่งเป็นวันที่มีประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เธอเหยียบโซ่และตรวนที่ขาดด้วยเท้าซ้าย[1] เพื่อรำลึกถึงการเลิกทาสในระดับชาติ หลังสงครามกลางเมืองอเมริกา[4][5][6] หลังจากมีการอุทิศ รูปปั้นนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของสหรัฐอเมริกา และต่อมาก็เป็นที่จดจำในฐานะสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับผู้อพยพที่เดินทางมาทางทะเล

แนวคิดในการสร้างรูปปั้นนี้เริ่มขึ้นในปี 1865 เมื่อเอดูอาร์ เรอเน เดอ ลาบูเลย์ นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้าทาสชาวฝรั่งเศสเสนอแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ (ในปี 1876) เพื่อยกย่องความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา และการปลดปล่อยทาสในประเทศ[7] อย่างไรก็ตาม สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียทำให้โครงการนี้ล่าช้าไปจนถึงปี 1875 เมื่อลาบูเลย์เสนอให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสร่วมกันระดมทุนสร้างรูปปั้น ส่วนทางด้านสหรัฐอเมริกาให้รับผิดชอบด้านสถานที่ตั้งและการก่อสร้างฐานรูปปั้น บาร์โตลดีได้สร้างส่วนหัวและแขนที่ถือคบเพลิงเสร็จเรียบร้อยก่อนที่แบบของรูปปั้นจะแล้วเสร็จ โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการนี้

แขนที่ถือคบเพลิงได้รับการจัดแสดงที่ งาน Centennial Exposition ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ในปี พ.ศ. 2419 และต่อมาในสวนเมดิสันสแควร์พาร์ค ที่แมนฮัตตัน ตั้งแต่ปี 1876 ถึง 1882 การระดมทุนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งอเมริกัน และในปี 1885 การก่อสร้างฐานรูปปั้นต้องชะงักเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ จนกระทั่งโจเซฟ พูลิตเซอร์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิลด์ ได้เริ่มการรณรงค์ขอรับบริจาคเงินเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง ซึ่งสามารถระดมทุนได้จากผู้บริจาคมากกว่า 120,000 คน โดยส่วนใหญ่บริจาคกันคนละไม่ถึงหนึ่งดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 35 ดอลลาร์ ในปี 2024) รูปปั้นถูกสร้างขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นบรรจุใส่ลังส่งทางเรือมายังสหรัฐฯ และประกอบเข้ากับฐานที่สร้างเสร็จแล้ว บนเกาะที่ในสมัยนั้นเรียกว่า เกาะเบดโลว์ เมื่อสร้างรูปปั้นเสร็จสมบูรณ์แล้วมีการเฉลิมฉลองด้วยขบวนแห่กระดาษโปรย ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของนิวยอร์ก และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมีประธานาธิบดี โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เป็นประธานในพิธี

รูปปั้นนี้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการประภาคารแห่งสหรัฐอเมริกา จนถึงปี 1901 จากนั้นจึงโอนความรับผิดชอบไปยังกระทรวงสงคราม และตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมา รูปปั้นนี้ได้รับการดูแลโดย หน่วยงานอุทยานแห่งชาติ ในฐานะส่วนหนึ่งของ อนุสรณ์สถานแห่งชาติเทพีเสรีภาพ และได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ผู้เยี่ยมชมสามารถเข้าชมบริเวณขอบฐานและภายในมงกุฎของรูปปั้นได้ แต่มีจำนวนจำกัด และ ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงบริเวณคบเพลิง มาตั้งแต่ปี 1916

การพัฒนา

แก้

จุดกำเนิด

แก้
 
แผ่นใบไม้ที่อุทิศให้กับ Sol Invictus เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์แห่ง จักรวรรดิโรมัน ตอนปลาย Sol Invictus ร่วมกับ Libertas เทพีแห่งเสรีภาพของโรมันและ ตัวแทนของเสรีภาพ มีอิทธิพลต่อการออกแบบ Liberty Enlightening the World

ตามรายงานของหน่วยงานอุทยานแห่งชาติ แนวคิดในการสร้างอนุสรณ์สถานที่ชาวฝรั่งเศสมอบให้แก่สหรัฐอเมริกา มีต้นกำเนิดจากเอดูอาร์ เรอเน เดอ ลาบูเลย์ ประธานสมาคมต่อต้านการค้าทาสของฝรั่งเศส และนักคิดทางการเมืองคนสำคัญในยุคนั้น โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากบทสนทนาในช่วงกลางปี 1865 ระหว่างลาบูเลย์ ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านระบบทาสอย่างแข็งขัน และเฟรเดริก โอกุสต์ บาร์โตลดี ประติมากรชื่อดังระหว่างการสนทนาหลังอาหารค่ำที่บ้านของลาบูเลย์ใกล้เมืองแวร์ซาย ลาบูเลย์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายสหภาพในสงครามกลางเมืองอเมริกาได้กล่าวว่า: "หากมีการสร้างอนุสรณ์สถานในสหรัฐอเมริกาเพื่อระลึกถึงอิสรภาพของพวกเขา ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควรจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือ — เป็นผลงานร่วมกันของทั้งสองชาติของเรา"[8] อย่างไรก็ตาม ในรายงานของหน่วยงานอุทยานฯ ในปี 2000 ระบุ ว่าเรื่องเล่านี้น่าจะเป็นเพียงตำนานที่เริ่มจากแผ่นพับระดมทุนในปี 1885 และว่าแนวคิดที่แท้จริงในการสร้างรูปปั้นนั้นน่าจะเริ่มต้นในปี 1870[9] ในบทความอีกชิ้นบนเว็บไซต์ของหน่วยงานอุทยานฯ ระบุว่า ลาบูเลย์ต้องการยกย่องชัยชนะของฝ่ายสหภาพและผลจากการเลิกทาสว่า "ด้วยการเลิกทาสและชัยชนะของสหภาพในสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1865 ความใฝ่ฝันของลาบูเลย์ในเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยได้กลายเป็นความจริงในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จเหล่านี้ เขาจึงเสนอให้มีการสร้างของขวัญแด่สหรัฐอเมริกาในนามของฝรั่งเศส โดยหวังว่าการเน้นย้ำความสำเร็จของอเมริกาจะสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของตนเอง ท่ามกลางระบอบกษัตริย์ที่กดขี่"[10]

ตามคำบอกเล่าของบาร์โตลดี ผู้เป็นประติมากร เขาเล่าว่าคำพูดของลาบูเลย์ที่ถูกอ้างถึงนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นข้อเสนอจริงจัง แต่กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาแทน[8] เนื่องจากระบอบของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีลักษณะกดขี่ บาร์โตลดีจึงยังไม่ดำเนินการใด ๆ ในทันที นอกจากพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับลาบูเลย์เท่านั้น[8] ขณะนั้นเขาเองก็มีโครงการอื่น ๆ อยู่ในมือ ในปี 1856 เขาเดินทางไปยังประเทศอียิปต์เพื่อศึกษางานศิลปะโบราณ[11] ในช่วงปลายทศวรรษ 1860 เขาได้เสนอแนวคิดแก่อิสมาอิล ปาชา ผู้ปกครองอียิปต์ (เคดิฟ) เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ชื่อว่า ความก้าวหน้า หรือ อียิปต์นำแสงสว่างสู่เอเชีย[12] ซึ่งเป็นประภาคารขนาดใหญ่ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายหญิงสาวชาวอียิปต์โบราณ (fellah) หรือชาวนาสวมชุดคลุมและชูคบเพลิง ตั้งอยู่ที่ปากทางเหนือของคลองสุเอซ ในเมืองพอร์ตซาอิด [8] มีการสร้างแบบร่างและแบบจำลองของประภาคารนี้ แต่โครงการไม่เคยเกิดขึ้นจริง โดยแนวคิดนี้มีที่มาจากมหารูปแห่งโรดส์ รูปปั้นสัมฤทธิ์ โบราณของเทพเฮลิออส เทพแห่งดวงอาทิตย์ของกรีก[8] เชื่อกันว่ามีความสูงกว่า 100 ฟุต (30 เมตร) และตั้งอยู่บริเวณปากท่าเรือ พร้อมทั้งใช้แสงสว่างนำทางเรือเช่นกัน[13] อย่างไรก็ตาม ทั้งเคดิฟ และแฟร์ดีน็อง เดอ แลแซ็ปส์ ผู้พัฒนาคลองสุเอซ ปฏิเสธข้อเสนอของบาร์โตลดี โดยให้เหตุผลว่า โครงการมีต้นทุนสูงเกินไป[14] ในที่สุด จึงมีการสร้างประภาคารพอร์ตซาอิด ขึ้นแทนในปี 1869 โดยฟร็องซัว โกญเญ่

หลังจากกลับมาจากอียิปต์ บาร์โตลดี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมประติมากรรมของโจวานนี บัตติสตา เครสปี ที่ทำจากทองแดงปั๊มนูน ขนาดสูง 76 ฟุต ซึ่งหุ้มโครงสร้างเหล็ก ตั้งอยู่ริมทะเลสาบมัจโจเร ในอิตาลี นอกจากนี้เขายังคุ้นเคยกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์ แวร์ซิงเจโตริกซ์ ที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งสร้างโดยเอเม มิเลต์ ในอีกหนึ่งศตวรรษให้หลัง ก็ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจถึง สภาพที่ทรุดโทรมของเทพีเสรีภาพ เหตุผลที่เลือกใช้ ทองแดง แทน บรอนซ์ หรือ หิน ในการสร้างเทพีเสรีภาพ ก็เนื่องมาจาก ต้นทุนที่ต่ำกว่า น้ำหนักเบากว่า และง่ายต่อการขนส่ง[11]

โครงการขนาดใหญ่ใด ๆ ถูกเลื่อนออกไปอีกเนื่องจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ซึ่งในช่วงนั้น บาร์โตลดี รับหน้าที่เป็น นายทหารกองกำลังอาสาสมัคร ระหว่างสงคราม นโปเลียนที่ 3 ถูกจับกุมและปลดออกจากอำนาจ จังหวัดอัลซัส บ้านเกิดของบาร์โตลดี ก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของปรัสเซีย และในฝรั่งเศสได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐที่มีแนวคิดเสรีนิยมมากขึ้นขึ้นมาแทน[8] ในช่วงเวลานั้น ขณะที่บาร์โตลดีกำลังวางแผนจะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เขากับลาบูเลย์เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะหารือแนวคิดเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานนี้กับบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา[15] ในเดือนมิถุนายน 1871 บาร์โตลดีจึงเดินทางข้าม มหาสมุทรแอตแลนติก ไปยังสหรัฐอเมริกา พร้อมกับจดหมายแนะนำตัวที่ลงนามโดยลาบูเลย์[16]

เมื่อเดินทางมาถึงท่าเรือนิวยอร์ก บาร์โตลดีได้มุ่งความสนใจไปที่ เกาะเบดโลส์ (ซึ่งปัจจุบันคือ เกาะลิเบอร์ตี) เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งของรูปปั้น เขารู้สึกประทับใจที่ เรือทุกลำที่เข้ามายังนิวยอร์กจะต้องแล่นผ่านเกาะนี้ เกาะแห่งนี้เป็นทรัพย์สินของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐนิวยอร์ก โดยรัฐนิวยอร์กได้โอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐบาลกลางตั้งแต่ปี 1800 เพื่อใช้ในการป้องกันท่าเรือ ซึ่งเขาได้เขียนจดหมายถึงลาบูเลย์ว่า เกาะนี้เป็น "แผ่นดินที่เป็นของส่วนรวมของทุกรัฐ"[17] นอกจากการพบปะกับผู้ทรงอิทธิพลในนิวยอร์กหลายคนแล้ว บาร์โตลดียังได้เข้าพบประธานาธิบดี ยูลิสซิส เอส. แกรนต์ ซึ่งได้ให้การสนับสนุน และบอกว่า การจัดหาสถานที่สำหรับรูปปั้นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก[18] ต่อมา บาร์โตลดีได้ เดินทางข้ามประเทศสหรัฐอเมริกาถึงสองครั้งโดยทางรถไฟ และพบกับชาวอเมริกันหลายคนที่เขาเชื่อว่าน่าจะเห็นชอบกับโครงการนี้[19] อย่างไรก็ตาม เขายังคง กังวลว่าความคิดเห็นของสาธารณชนทั้งในฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ยังไม่สนับสนุนแนวคิดนี้มากพอ เขากับลาบูเลย์จึงตัดสินใจ เลื่อนการรณรงค์สาธารณะออกไปก่อน[20]

 
ประติมากรรม ลารียง เดอ แบลฟอร์ ของบาร์โตลดี ปี 1880

บาร์โตลดีได้สร้างแบบจำลองแรกของแนวคิดรูปปั้นขึ้นในปี 1870[21] โดยในเวลาต่อมา จอห์น ลาฟาร์จ ซึ่งเป็นศิลปินและบุตรชายของเพื่อนสนิทของบาร์โตลดี ได้เล่าว่า บาร์โตลดีได้ร่างแบบร่างแรกของรูปปั้นนี้ ขณะไปเยี่ยมสตูดิโอของเขาในรัฐโรดไอแลนด์ หลังจากกลับไปยังฝรั่งเศส บาร์โตลดีก็ยังคงพัฒนาแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่อง[21] พร้อมกับทำงานประติมากรรมอีกหลายชิ้นที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม ความรักชาติของชาวฝรั่งเศส ภายหลังความพ่ายแพ้ต่อปรัสเซีย หนึ่งในผลงานเด่นของเขาคือ ลารียง เดอ แบลฟอร์ ซึ่งเป็นมหาประติมากรรม แกะสลักจากหินทราย ตั้งอยู่ใต้ป้อมปราการเมืองแบลฟอร์ สถานที่ที่สามารถต้านทานการปิดล้อมของปรัสเซียได้นานกว่า 3 เดือน ในช่วงสงคราม สิงโตตัวนี้มีความยาว 73 ฟุต (22 เมตร) และมีความสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความยาว แสดงให้เห็นถึงอารมณ์อันทรงพลัง ตามแนวทางของศิลปะจินตนิยม ซึ่งต่อมาบาร์โตลดีได้นำลักษณะทางอารมณ์แบบนี้มาใช้ในเทพีเสรีภาพด้วยเช่นกัน [22]

การออกแบบ สไตล์ และสัญลักษณ์

แก้
 
รายละเอียดจาก จิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนขึ้นในช่วงปี 1855–1856 โดย คอนสตันติโน บรูมีดี ในอาคารรัฐสภา ในวอชิงตัน ดี.ซี. แสดงให้เห็นสัญลักษณ์สองประการในยุคแรกของอเมริกา ได้แก่ โคลัมเบีย (ซ้าย) และเจ้าหญิงอินเดียนแดง

บาร์โตลดีและลาบูเลย์ได้ร่วมกันพิจารณาว่า ควรจะแสดงแนวคิดเรื่อง เสรีภาพแบบอเมริกัน ออกมาในรูปแบบใดจึงจะดีที่สุด[23] ในประวัติศาสตร์ยุคแรกของสหรัฐอเมริกา มีสัญลักษณ์สตรีสองแบบที่ถูกใช้เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของชาติอยู่บ่อยครั้ง[24] สัญลักษณ์แรกคือ โคลัมเบีย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงตัวตนของประเทศสหรัฐอเมริกา คล้ายกับที่บริแทนเนีย เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร และมารียาน เป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส โคลัมเบียได้เข้ามาแทนที่ภาพลักษณ์แบบยุโรปดั้งเดิมที่ใช้แทนอเมริกาในรูปของ "เจ้าหญิงอินเดียนแดง" ซึ่งต่อมาถูกมองว่า ไม่สุภาพและดูหมิ่นชาวอเมริกัน[24] ว่าเป็นพวกเถื่อนล้าหลัง สัญลักษณ์หญิงอีกหนึ่งที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมอเมริกันคือ ภาพแทนของเสรีภาพ ซึ่งได้มาจาก ลิเบอร์ทัส ลิเบอร์ทัสเทพีแห่งอิสรภาพ ในกรุงโรมโบราณ ซึ่งได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่ทาสที่เป็นอิสระ ภาพของเทพีเสรีภาพ ปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ของอเมริกาส่วนใหญ่ในสมัยนั้น[23] และยังพบได้ในงานศิลปะทั้งในระดับประชาชนและระดับพลเมือง รวมถึงรูปปั้นเทพีอิสรภาพ ของโทมัส ครอว์ฟอร์ด (ปี 1863) และตั้งอยู่บนยอดโดมของอาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา[23]

การออกแบบของรูปปั้นนี้มีแรงบันดาลใจจากภาพแทนและสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์โบราณหลายแหล่ง ได้แก่ เทพีไอซิส ของอียิปต์ เทพเจ้ากรีกโบราณที่มีชื่อเดียวกัน โคลัมเบียแห่งจักรวรรดิโรมัน และสัญลักษณ์ทางศาสนาคริสต์ของพระแม่มารี[25][26]

 
รูปปั้นเทพีเสรีภาพ ของโทมัส ครอว์ฟอร์ด (พ.ศ. 2397–2400) ตั้งอยู่บนยอดโดมของอาคาร รัฐสภาสหรัฐ ในเมืองวอชิงตัน

ศิลปินในศตวรรษที่ 18 และ 19 ซึ่งพยายามสื่อถึงอุดมคติของสาธารณรัฐ มักเลือกใช้ ลิเบอร์ตัส (เทพีเสรีภาพแห่งโรมัน) เป็นสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบ[23] รูปเคารพของเทพีเสรีภาพยังปรากฏอยู่บนตราประทับแห่งฝรั่งเศสด้วย[23] อย่างไรก็ตาม บาร์โตลดีและลาบูเลย์หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพของเสรีภาพในเชิงการปฏิวัติรุนแรง เช่นเดียวกับภาพวาดชื่อดัง เสรีภาพนำทางชาวประชา (ปี 1830) ของเออแฌน เดอลาครัวซ์ ในภาพนั้น ซึ่งวาดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมในฝรั่งเศสนี้ เทพีเสรีภาพปรากฏในลักษณะ สวมเสื้อผ้าเพียงบางส่วน พร้อมกับ ถือธงและนำฝูงชนติดอาวุธฝ่าข้ามร่างผู้เสียชีวิต[24] ลาบูเลย์ ไม่สนับสนุนแนวคิดการปฏิวัติ ดังนั้น บาร์โตลดี จึงออกแบบรูปปั้นให้ สวมชุดคลุมที่พลิ้วไสวอย่างสุภาพเรียบร้อย[24] เพื่อให้สื่อถึงความสงบสุข แทนที่จะสร้างความรู้สึกถึงความรุนแรงเหมือนในภาพวาดของเดอลาครัวซ์ เขาต้องการให้รูปปั้น สะท้อนถึงสันติภาพและความหวัง จึงเลือกให้เทพีถือ คบเพลิง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า นิ้วเท้าที่สองของทั้งสองข้างยาวกว่านิ้วหัวแม่เท้า ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า นิ้วเท้ามอร์ตัน หรือ "เท้ากรีก" ซึ่งถือเป็น แบบแผนด้านความงามในงานศิลปะกรีกโบราณ และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะคลาสสิก ที่หล่อหลอมแนวคิดการออกแบบของรูปปั้นนี้[27]

รูปปั้นของโทมัส ครอว์ฟอร์ด ได้รับการออกแบบในช่วงต้นทศวรรษ 1850 โดยเดิมทีตั้งใจจะให้รูปปั้นสวมพิเลอุส หรือ "หมวกแห่งอิสรภาพ" ซึ่งในสมัย โรมันโบราณ เป็นหมวกที่มอบให้กับทาสที่ได้รับอิสรภาพ เจฟเฟอร์สัน เดวิส ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น และเป็นชาวใต้ที่ต่อมาจะกลายเป็นประธานาธิบดีแห่ง สมาพันธรัฐอเมริกา ได้แสดงความกังวลว่า พิเลอุส อาจถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเลิกทาส เขาสั่งให้เปลี่ยนเป็นหมวกเกราะแทน[28] ในขณะที่ รูปร่างของเทพีในภาพของเดอลาครัวซ์สวมพิเลอุส บาร์โตลดีเองก็เคยพิจารณาจะใช้หมวกแบบเดียวกันนี้กับเทพีเสรีภาพของเขาเช่นกัน แต่สุดท้าย เขาเลือกที่จะเปลี่ยนเป็นรัศมีที่แผ่รังสีออกจากศีรษะ[29] ที่เรียกว่า นิมบัส[5] โดยการตัดสินใจเช่นนี้ ทำให้ เขาหลีกเลี่ยงการอ้างอิงโดยตรงถึงมารียาน ซึ่งมักปรากฏพร้อมพิเลอุสเสมอ รัศมีทั้งเจ็ดแฉกบนศีรษะของเทพีนั้น สื่อถึงดวงอาทิตย์ ทะเลทั้งเจ็ด และทวีปทั้งเจ็ด[30][1] และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ นอกเหนือจากคบเพลิง ที่แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพสามารถส่องสว่างไปทั่วโลก[31] แต่งานวิจัยยัง ไม่สามารถยืนยันแนวคิดเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน[5]

แบบจำลองยุคแรกของบาร์โตลดี ต่างมีแนวคิดที่คล้ายกัน คือเป็น รูปสตรีในสไตล์นีโอคลาสสิก ซึ่งเป็นตัวแทนของ เสรีภาพ โดยสวมใส่ สตอลา และ เพลลา (ชุดกระโปรงและเสื้อคลุมแบบโรมัน ที่มักพบเห็นได้ในภาพของเทพีโรมัน) และ ชูคบเพลิงขึ้นเหนือศีรษะ ตามคำบอกเล่าที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป มีการกล่าวว่า ใบหน้าของเทพีเสรีภาพ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากออกุสตา ชาร์ล็อตต์ ไบส์เซอร์ บาร์โตลดี มารดาของบาร์โตลดี[32] ประติมากรผู้ออกแบบรูปปั้น อย่างไรก็ตาม เรจิส ฮูแบร์ ภัณฑารักษ์ของ พิพิธภัณฑ์บาร์โตลดี ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เรื่องนี้ รวมถึงข้อสันนิษฐานอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ไม่มีหลักฐานสนับสนุนและไม่เป็นความจริง[33] เขาออกแบบรูปปั้นให้มีใบหน้าที่เคร่งขรึม[1] และมีรูปร่างที่แข็งแกร่ง เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการตั้งอยู่ในตำแหน่งอันโดดเด่นบริเวณท่าเรือ ทำให้ผู้โดยสารบนเรือที่แล่นเข้าสู่อ่าวนิวยอร์ก สามารถสัมผัสกับ มุมมองที่เปลี่ยนไปของรูปปั้น ขณะเข้าใกล้ แมนฮัตตัน บาร์โตลดีเลือกใช้ เส้นสายแบบคลาสสิกที่ชัดเจน พร้อมกับการปั้นรูปทรงที่ เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เพื่อสะท้อนถึง ขนาดอันใหญ่โตของโครงการ และจุดมุ่งหมายอันจริงจังและยิ่งใหญ่ของรูปปั้นนี้[31] บาร์โตลดีเขียนบรรยายเทคนิคของเขาว่า

พื้นผิวควรจะ กว้างและเรียบง่าย โดยมีการออกแบบที่ ชัดเจนและกล้าหาญ เน้นรายละเอียดเฉพาะในจุดที่สำคัญ การขยายรายละเอียดมากเกินไปหรือมีรายละเอียดจำนวนมากเกินไปนั้นควรหลีกเลี่ยง เพราะหากเราทำให้รูปทรงดูชัดเจนขึ้นด้วยการ พูดเกินจริง หรือ ตกแต่งด้วยรายละเอียดมากเกินไป จะเป็นการทำลาย สัดส่วนของผลงาน สุดท้าย แบบจำลอง เช่นเดียวกับแบบร่าง ควรมี ลักษณะที่กระชับรวบรัด ราวกับร่างภาพอย่างรวดเร็ว แต่ลักษณะนี้จะต้องเป็นผลลัพธ์จาก เจตจำนงและการศึกษาของศิลปิน ซึ่งเมื่อรวมความรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว เขาจะสามารถค้นพบ รูปทรงและเส้นสายที่เรียบง่ายที่สุด ได้อย่างแท้จริง[34]

 
รูปปั้นเทพีเสรีภาพปรากฏในท่าคอนทราพอสโต โดยยกเท้าขวาขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ยืนอยู่ ท่ามกลางโซ่และตรวนที่แตกขาด

บาร์โตลดีได้ปรับเปลี่ยนการออกแบบไปตามความคืบหน้าของโครงการ เดิมทีเขาเคย ตั้งใจจะให้เทพีเสรีภาพถือโซ่ที่ขาดในมือ เพื่อสื่อถึงการปลดปล่อยจากการกดขี่ แต่ในที่สุด เขาตัดสินใจละแนวคิดนั้นออกไป เพราะเกรงว่าจะสร้างความแตกแยก ในช่วงเวลาหลัง สงครามกลางเมืองอเมริกา อย่างไรก็ตาม รูปปั้นที่สร้างเสร็จ ยังคง แสดงให้เห็นว่าเทพีกำลังก้าวข้ามโซ่ที่ขาด โดยโซ่นั้นถูกปกคลุมไว้บางส่วนด้วยชุดคลุมของเธอ และ มักมองเห็นได้ยากจากระดับพื้นดิน[29] เท้าขวาของเธอถูกยกขึ้นและวางไว้ด้านหลังในท่าคอนทราโพสโตแบบคลาสสิก ซึ่งดูนิ่งเมื่อมองจากด้านหน้า แต่ดูมีความเคลื่อนไหวเมื่อมองจากด้านข้าง[1] แสดงถึงการวางเท้าที่มั่นคงและท่าทางที่ผ่อนคลายกว่าการยืนเท้าคู่กัน พร้อมสร้างความรู้สึกตึงเครียดระหว่างการยืนกับการเคลื่อนไปข้างหน้า ทั้งทางร่างกายและจิตใจ[3] รูปทรงที่ตั้งตรงและขาที่เหยียดออกยังอาจมีส่วนช่วยให้รูปปั้นทรงตัวได้ดีขึ้น[3] ในตอนแรก บาร์โตลดียังไม่แน่ใจว่าจะให้ลิเบอร์ตีถือสิ่งใดในมือซ้าย สุดท้ายเขาจึงเลือกใช้ แท็บบูลาอันซาตา[35] ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนแนวคิดเรื่องกฎหมาย แม้เขาจะชื่นชมรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา อย่างยิ่ง แต่กลับเลือกจารึกคำว่า วันที่ 4 กรกฎาคม MDCCLXXVI บนแผ่นจารึกนั้น เพื่อเชื่อมโยงวันประกาศอิสรภาพของประเทศเข้ากับแนวคิดเรื่องเสรีภาพ[35]

บาร์โตลดี ได้ชักชวนเพื่อนและที่ปรึกษาของเขา คือสถาปนิก เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก ให้เข้าร่วมโครงการนี้[33] โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวิศวกร[33] วียอแล-เลอ-ดุกเสนอให้ออกแบบเสารับน้ำหนักด้วยอิฐที่บรรจุด้วยทรายจนถึงระดับสะโพก พร้อมติดตั้ง แท่งเหล็กคล้ายเส้นใบไม้ เพื่อใช้เป็นโครงยึดกับแผ่นผิวของรูปปั้น[36] หลังจากปรึกษากับโรงหล่อโลหะกาเชต์ โกติเยร์ แอนด์โค. วียอแล-เลอ-ดุกก็ตัดสินใจเลือกใช้แผ่นทองแดง เป็นวัสดุสำหรับผิวภายนอกของรูปปั้น และเลือกเทคนิคการขึ้นรูปที่เรียกว่า เรอปูเซ (repoussé) ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำแผ่นทองแดงไป ให้ความร้อน แล้วตีขึ้นรูปด้วยค้อนไม้[33][37] ข้อดีของการเลือกใช้ทองแดงก็คือ รูปปั้นทั้งหมดจะมีบาร์โตลดี ตัดสินใจให้รูปปั้นมีความสูง มากกว่า 151 ฟุต (46 เมตร) ซึ่งเป็น สองเท่าของรูปปั้นซานคาร์โลเนของอิตาลีและรูปปั้นอาร์มินิอุสของเยอรมนี โดยทั้งสองสร้างขึ้นด้วยวิธีเดียวกัน[38] วียอแล-เลอ-ดุก ยังเป็นผู้ออกแบบจีบของชุด ของเทพีเสรีภาพด้วย[39]

การประกาศและการทำงานช่วงต้น

แก้

ภายในปี 1875 ฝรั่งเศสเริ่มมี เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น และ เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวหลังสงคราม ขณะเดียวกัน ความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อการจัดงาน Centennial Exposition ซึ่งกำลังจะมีขึ้นที่ เมืองฟิลาเดลเฟีย ทำให้ลาบูเลย์ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะ ขอการสนับสนุนจากสาธารณชน[40] ในเดือนกันยายน 1875 เขาได้ประกาศเปิดตัวโครงการ พร้อมทั้งก่อตั้งองค์กร สหภาพฝรั่งเศส–อเมริกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการระดมทุน และในโอกาสนี้เอง รูปปั้นก็ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า เสรีภาพส่องสว่างโลก ('Liberty Enlightening the World)[41] ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้จัดหาเงินทุนสำหรับการสร้าง ตัวรูปปั้น (ซึ่งขัดกับความเข้าใจผิดที่แพร่หลายว่าได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส)[42] ส่วน ชาวอเมริกัน จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้าง ฐานรูปปั้น[43] การประกาศโครงการดังกล่าวได้รับ การตอบรับในเชิงบวกโดยทั่วไปในฝรั่งเศส แม้จะมีชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึก ไม่พอใจสหรัฐอเมริกา ที่ ไม่ได้ยื่นมือช่วยเหลือ ในช่วงสงครามกับปรัสเซีย[41] กลุ่มกษัตริย์นิยมชาวฝรั่งเศส คัดค้านการสร้างรูปปั้นนี้ แม้เพียงเพราะว่าโครงการดังกล่าวถูกเสนอโดย ลาบูเลย์ ผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกตลอดชีพ[43] เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้มีฐานะและผู้มีอำนาจ ลาบูเลย์ได้จัดกิจกรรมพิเศษหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ การแสดงพิเศษที่โรงอุปรากรแห่งปารีส เมื่อวันที่ 25 เมษายน 1876 โดยมีการเปิดตัวบทเพลงคันตาตาใหม่ ประพันธ์โดย ชาร์ล กูโน ซึ่งใช้ชื่อว่า La Liberté éclairant le monde ซึ่งเป็นชื่อที่ประกาศไว้ของรูปปั้นในภาษาฝรั่งเศส[41]

 
ภาพสามมิติ ของแขนขวาและคบเพลิงของเทพีเสรีภาพ ในงานฉลองครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2419

ในช่วงแรก สหภาพฝรั่งเศส–อเมริกัน มุ่งเน้นการระดมทุนจาก กลุ่มชนชั้นสูง แต่ท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการได้รับการสนับสนุนจาก ผู้คนทั่วทั้งสังคมฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียน, ประชาชนทั่วไป, หรือ เทศบาลฝรั่งเศสจำนวน 181 แห่ง ที่ร่วมบริจาค พันธมิตรทางการเมืองของลาบูเลย์ รวมถึงลูกหลานของกองทหารฝรั่งเศสที่เคยเข้าร่วมในสงครามปฏิวัติอเมริกาก็ร่วมให้การสนับสนุนเช่นกัน ในอีกแง่หนึ่ง การบริจาคจำนวนไม่น้อยก็มีแรงจูงใจเชิงผลประโยชน์ โดยเฉพาะจากผู้ที่หวังว่า สหรัฐอเมริกาจะตอบแทนด้วยการสนับสนุนโครงการสร้างคลองปานามา ของฝรั่งเศส ทองแดงที่ใช้สร้างรูปปั้น อาจมาจากหลายแหล่ง และมีการกล่าวกันว่า บางส่วนอาจมาจากเหมืองในเมืองวิสนิส ประเทศนอร์เวย์[44] แม้จะยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดจากการทดสอบตัวอย่าง[45] ตามที่คารา ซัตเทอร์แลนด์กล่าวไว้ในหนังสือของเธอเกี่ยวกับรูปปั้น ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับ พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองนิวยอร์ก การสร้างรูปปั้นต้องใช้ทองแดงมากถึง 200,000 ปอนด์ (91,000 กิโลกรัม) โดยในจำนวนนั้น ยูเชน เซอเครแต็ง นักอุตสาหกรรมทองแดงชาวฝรั่งเศส ได้บริจาคถึง 128,000 ปอนด์ (58,000 กิโลกรัม)[46]

แม้ว่าแผนการสร้างรูปปั้นจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่บาร์โตลดีก็เดินหน้าดำเนินการสร้าง แขนขวาที่ถือคบเพลิง และ ส่วนศีรษะของรูปปั้น โดยเริ่มงานที่เวิร์กช็อปของกาเชต์ โกติเยร์ แอนด์โค[47] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2419 บาร์โตลดีเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในฐานะสมาชิกของคณะผู้แทนฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการฉลองครบรอบ 100 ปี (Centennial Exhibition)[48] และได้จัดเตรียม ภาพวาดขนาดใหญ่ของรูปปั้น เพื่อนำไปจัดแสดงที่ นิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองด้วย[49] อย่างไรก็ตาม แขนของรูปปั้น เดินทางไปถึง ฟิลาเดลเฟีย ในเดือน สิงหาคม ซึ่งถือว่ามาถึงล่าช้าเกินไป จึง ไม่ได้ถูกระบุไว้ในแค็ตตาล็อกของงานนิทรรศการ และแม้ว่ารายงานบางฉบับจะ อธิบายชิ้นงานได้อย่างถูกต้อง แต่ก็มีหลายรายงานที่เรียกมันว่า "แขนยักษ์" หรือ "โคมไฟไฟฟ้าบาร์โตลดี" แทน บริเวณจัดภายในงานนิทรรศการ มี งานศิลปะขนาดใหญ่จำนวนมาก จัดแสดงเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชม ซึ่งรวมถึงน้ำพุขนาดมหึมา ที่ออกแบบโดยบาร์โตลดี เองด้วย[50] อย่างไรก็ตาม ในช่วง ท้ายของงานนิทรรศการ แขนขวาของรูปปั้นที่ถือคบเพลิงก็กลายเป็นจุดสนใจอย่างมาก ผู้เข้าชมจำนวนมากปีนขึ้นไปบนระเบียงของคบเพลิง เพื่อชมทัศนียภาพของพื้นที่จัดงาน[51] หลังจากงานนิทรรศการปิดลง แขนของรูปปั้น ถูกย้ายไปจัดแสดงต่อที่เมดิสันสแควร์พาร์ก และตั้งแสดงอยู่นานหลายปี ก่อนจะถูกส่งกลับไปยัง ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรวมเข้ากับ ส่วนอื่น ๆ ของรูปปั้นเทพีเสรีภาพ[51]

ระหว่างการเดินทางครั้งที่สองไปยังสหรัฐอเมริกา บาร์โตลดีได้พูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ หลายกลุ่มเกี่ยวกับโครงการสร้างรูปปั้น และได้ กระตุ้นให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอเมริกันของสหภาพฝรั่งเศส–อเมริกันขึ้น[52] มีการจัดตั้ง คณะกรรมการระดมทุน ขึ้นใน นิวยอร์ก บอสตัน และฟิลาเดลเฟีย เพื่อหาเงินสำหรับสร้าง ฐานรากและแท่นรองรูปปั้น[53] ท้ายที่สุด กลุ่มจากนิวยอร์ก ก็เข้ามารับหน้าที่ในการระดมทุน เกือบทั้งหมดในฝั่งอเมริกา และมักเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "คณะกรรมการอเมริกัน"[54] หนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการคือทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ วัย 19 ปี ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา[52] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1877 ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีแกรนท์ ได้ลงนามใน มติร่วมของสภา ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีในการ รับมอบรูปปั้นจากฝรั่งเศส และเลือกสถานที่ตั้งสำหรับรูปปั้นได้ ประธานาธิบดีรัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในวันถัดมา ได้ตัดสินใจเลือกเกาะเบดโลว์ เป็นสถานที่ตั้งรูปปั้น ตามข้อเสนอของบาร์โตลดี[55]

การก่อสร้างในประเทศฝรั่งเศส

แก้
 
ส่วนศีรษะของรูปปั้น ถูกนำไปจัดแสดงที่งาน Paris World's Fair ในปี 1878

เมื่อกลับถึง ปารีสในปี 1877 บาร์โตลดีได้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างส่วนศีรษะของรูปปั้นให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้นำไปจัดแสดงที่ งาน Paris World's Fair ปี 1878 การระดมทุนยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการจำหน่ายแบบจำลองของรูปปั้น และเปิดขายบัตรเข้าชมการก่อสร้างที่เวิร์กช็อปของ Gaget, Gauthier & Co.[56] รัฐบาลฝรั่งเศสยังอนุมัติให้มีการจับฉลากเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยของรางวัลประกอบด้วยเครื่องเงินล้ำค่า และรูปปั้นดินเผาจำลอง เมื่อถึงสิ้นปี ค.ศ. 1879 สามารถระดมทุนได้แล้วประมาณ 250,000 ฟรังก์[57]

ส่วนหัวและแขนของรูปปั้น ได้รับการสร้างขึ้นโดยมีความช่วยเหลือจากวียอแล-เลอ-ดุก ซึ่งล้มป่วยในปี 1879 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่ ไม่ได้ทิ้งรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับวิธีเปลี่ยนจากผิวทองแดงไปสู่เสาก่ออิฐ ตามที่เขาเคยเสนอไว้[58][59] ในปีถัดมา บาร์โตลดี สามารถว่าจ้างอย่างกุสตาฟ ไอเฟล นักออกแบบและผู้สร้างผู้มีความคิดก้าวหน้าให้เข้าร่วมโครงการได้[56] ไอเฟล มอริส เกอแคล็ง วิศวกรโครงสร้างของเขา ตัดสินใจละทิ้งแนวคิดการใช้เสาก่ออิฐ และเลือกที่จะสร้างหอคอยโครงสร้างเหล็กแบบตาข่ายแทน ไอเฟลเลือกที่จะไม่ใช้โครงสร้างที่แข็งทื่อโดยสมบูรณ์ เพราะจะทำให้แรงเครียดสะสมอยู่ที่ผิวของรูปปั้น และอาจทำให้เกิดรอยแตกในระยะยาว เขาจึงออกแบบให้มีโครงกระดูกรองยึดเข้ากับเสาหลักตรงกลาง เพื่อให้รูปปั้นสามารถ ขยับตัวเล็กน้อยได้ตามแรงลม ในท่าเรือนิวยอร์ก และเนื่องจากโลหะจะขยายตัวในวันที่อากาศร้อนในฤดูร้อน ไอเฟลจึงเชื่อมต่อโครงสร้างรองรับเข้ากับผิวของรูปปั้นอย่างหลวม ๆ โดยใช้แท่งเหล็กแบน[33] หรือสปริง[60] องค์ประกอบเหล่านี้มาบรรจบกันที่ แถบโลหะถักแบบตาข่าย ซึ่งเรียกว่า "อานม้า" โดยจะย้ำหมุดเข้ากับผิวทองแดงของรูปปั้นเพื่อให้มีการรองรับที่มั่นคง ซึ่งแต่ละชิ้นต้องประดิษฐ์ขึ้นอย่างละเอียดทีละชิ้น ด้วยแรงงานคน[61][62] เพื่อป้องกันการกัดกร่อนแบบกัลวานิกระหว่างผิวทองแดงและโครงรองรับเหล็ก ไอเฟลจึงใช้ใยหินที่ชุบด้วยเชลแล็ก เป็นฉนวนหุ้มระหว่างชั้นผิวทั้งสอง[63]

การออกแบบของไอเฟล ทำให้รูปปั้นนี้กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างแรก ๆ ของการก่อสร้างแบบผนังม่าน ซึ่งผิวภายนอกของโครงสร้างไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนัก แต่ได้รับการรองรับโดยโครงสร้างภายใน เขายังได้ติดตั้งบันไดวนภายในขึ้น 2 ชุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เยี่ยมชมในการ ขึ้นไปยังจุดชมวิวบริเวณมงกุฎของรูปปั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น[64] นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีทางขึ้นสู่แพลตฟอร์มสังเกตการณ์รอบคบเพลิง ด้วย แต่เนื่องจาก แขนของรูปปั้นมีขนาดแคบมาก จึงสามารถติดตั้งได้เพียงบันไดหนึ่งเส้น ซึ่งมีความยาว 40 ฟุต (12 เมตร) เท่านั้น[65] ระหว่างที่เสาหลักถูกประกอบขึ้น ไอเฟลและบาร์โตลดีก็ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชิ้นส่วนของผิวรูปปั้นที่สร้างเสร็จแล้ว สามารถนำมาติดตั้งได้พอดีกับโครงสร้างรองรับ[66] ชิ้นส่วนของโครงสร้างหอคอยหลักผลิตขึ้นที่โรงงานของไอเฟล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมืองเลอวาลัว-แปร์เรต์ใกล้กรุงปารีส[67]

การเปลี่ยนวัสดุโครงสร้างจากงานก่ออิฐ มาเป็นโครงเหล็กทำให้บาร์โตลดี สามารถปรับเปลี่ยนแผนการประกอบรูปปั้นได้ เดิมทีเขาวางแผนจะประกอบผิวของรูปปั้นที่หน้างาน ไปพร้อมกับการก่อสร้างเสาหิน แต่ภายหลังได้ตัดสินใจว่าจะสร้างรูปปั้นทั้งหมดในฝรั่งเศส แล้วทำการรื้อแยกชิ้นส่วน และขนส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อประกอบกลับเข้าด้วยกันที่เกาะเบดโลว์[68]

ในการกระทำเชิงสัญลักษณ์ หมุดตัวแรกที่ใช้ยึด แผ่นทองแดงเข้ากับนิ้วหัวแม่เท้าของรูปปั้น ถูกตอกโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำฝรั่งเศส เลวี พี. มอร์ตัน[69] อย่างไรก็ตาม การประกอบผิวของรูปปั้นไม่ได้ดำเนินตามลำดับจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบนอย่างเป็นขั้นตอน แต่เป็นการทำงานพร้อมกันในหลายส่วน ซึ่งมักจะทำให้ผู้มาเยี่ยมชมรู้สึกสับสนกับกระบวนการสร้าง[70] งานบางส่วนของรูปปั้นดำเนินการโดย ผู้รับเหมาเฉพาะทาง โดยเฉพาะนิ้วมือข้างหนึ่ง ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่าง ละเอียดตามข้อกำหนดอันเข้มงวดของบาร์โตลดี โดยช่างทองแดงในเมืองมงโตบ็อง ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส[71] ภายในปี 1882 รูปปั้นได้ถูกสร้าง จนถึงระดับเอว ซึ่งบาร์โตลดีได้เฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้ด้วยการ เชิญนักข่าวมารับประทานอาหารกลางวันบนแท่นภายในรูปปั้น ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ[72] ลาบูเลย์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1883 โดยมี เลสเซปส์ เข้ารับตำแหน่งต่อเป็น ประธานคณะกรรมการฝรั่งเศส รูปปั้นที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วได้ถูก มอบอย่างเป็นทางการแก่เอกอัครราชทูตเลวี พี. มอร์ตัน ในพิธีที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1884 ในโอกาสนั้น เลสเซปส์ ได้ประกาศว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งรูปปั้นไปยังนิวยอร์ก[73] รูปปั้นยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ในกรุงปารีส จนกว่าจะมีความคืบหน้าเพียงพอในการก่อสร้างฐานรองรับ จนกระทั่งในเดือนมกราคม 1885 ฐานมีความพร้อมเพียงพอแล้ว รูปปั้นจึงถูกรื้อถอนและบรรจุลงลัง เพื่อเตรียมขนส่งทางเรือไปยังสหรัฐอเมริกา[74]

 
ฐานของ ริชาร์ด มอร์ริส ฮันต์ ที่กำลังก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 1885

คณะกรรมการในสหรัฐอเมริกาเผชิญกับ ความยากลำบากอย่างมากในการระดมทุนสำหรับการก่อสร้างฐานรูปปั้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1873 ได้นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ ยืดเยื้อเกือบตลอดทั้งทศวรรษ โครงการอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ไม่ใช่โครงการเดียวที่ประสบปัญหาในการระดมทุน — ตัวอย่างหนึ่งคือ การก่อสร้างเสาโอเบลิสก์ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อว่าอนุสาวรีย์วอชิงตัน ที่บางช่วงต้องหยุดชะงักเป็นเวลาหลายปี และสุดท้าย ใช้เวลารวมกันนานกว่าสามทศวรรษครึ่งจึงจะสร้างเสร็จ[75] มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในส่วนของ รูปปั้นที่บาร์โตลดีออกแบบ และในประเด็นที่ว่า ของขวัญจากฝรั่งเศสนี้กลับต้องให้ชาวอเมริกันเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างฐาน ในช่วงหลายปีหลังสงครามกลางเมือง ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ชื่นชอบงานศิลปะที่มีความสมจริง ซึ่งแสดงถึง วีรบุรุษหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ มากกว่าผลงานในเชิงเปรียบเทียบอย่างรูปปั้นเทพีเสรีภาพ[75] นอกจากนี้ ยังมีความรู้สึกในหมู่ประชาชนว่า ผลงานสาธารณะของอเมริกาควรได้รับการออกแบบโดยชาวอเมริกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเลือก คอนสแตนติโน บรูมิดีซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนโดยกำเนิด มาตกแต่งภายใน อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ก็เคยก่อให้เกิดกระแส วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แม้ว่าเขาจะได้รับสัญชาติอเมริกันแล้วก็ตาม[76] นิตยสาร Harper's Weekly แสดงความเห็นว่า "ม. บาร์โตลดี และญาติชาวฝรั่งเศสของเรา ควรจะ 'มอบให้ครบทั้งรูปปั้นและฐาน' ไปเลยในคราวเดียว"[77] ขณะที่หนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่า "ผู้รักชาติที่แท้จริง ไม่อาจยอมรับการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อผู้หญิงบรอนซ์ได้ ในสภาพการเงินของประเทศเช่นนี้"[78] เมื่อเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ คณะกรรมการอเมริกันแทบไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลยเป็นเวลาหลายปี[78]

ออกแบบ

แก้
 
หนังสือพิมพ์ภาพประกอบของ Frank Leslie เดือนมิถุนายน 1885 แสดง ภาพแกะไม้ ตามเข็มนาฬิกาจากซ้าย ได้แก่ รูปปั้นเทพีเสรีภาพที่สร้างเสร็จแล้วในปารีส ภาพของบาร์โตลดี และ โครงสร้างภายในของรูปปั้น

รากฐานของรูปปั้นบาร์โตลดีถูกกำหนดให้สร้างขึ้นภายใน ป้อมฟอร์ตวูด ซึ่งเป็นฐานทัพร้างบนเกาะเบดโลว์ที่ก่อสร้างขึ้นระหว่างปี 1807 ถึง 1811 โดยป้อมแห่งนี้แทบไม่ได้ใช้งานเลยตั้งแต่ปี 1823 ยกเว้นในช่วงสงครามกลางเมืองที่เคยถูกใช้เป็นสถานที่รับสมัครทหาร[79] ป้อมฟอร์ตวูด มีลักษณะเป็นรูปดาว 11 แฉก ฐานรากและแท่นรองรูปปั้น ถูกจัดวางให้อยู่ในแนวที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้รูปปั้นหันไปต้อนรับเรือที่แล่นเข้ามาจากมหาสมุทรแอตแลนติก[80] ในปี 1881 คณะกรรมการนิวยอร์กได้มอบหมายให้ ริชาร์ด มอร์ริส ฮันต์ เป็นผู้ออกแบบฐานรองรูปปั้น และภายในเวลาไม่กี่เดือน เขาได้ส่งแบบแปลนรายละเอียด โดยระบุว่า การก่อสร้างน่าจะใช้เวลาประมาณเก้าเดือน[81] เดิมทีเขาเสนอให้ฐานมีความสูง 114 ฟุต (35 เมตร) แต่เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ คณะกรรมการจึงตัดสินใจลดความสูงลงเหลือ 89 ฟุต (27 เมตร)[82]

การออกแบบฐานรูปปั้นของฮันต์ผสมผสาน องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมคลาสสิก เช่น ซุ้มประตูแบบดอริก และองค์ประกอบบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแอซเท็ก[82] ตัวฐานซึ่งมีขนาดใหญ่นั้นถูกออกแบบให้ แบ่งมวลด้วยรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม เพื่อเน้นสายตาไปยังรูปปั้นที่อยู่ด้านบน[82] ฐานมีลักษณะเป็นพีระมิดตัดยอด มีขนาด 62 ฟุต (19 เมตร) ที่ฐาน ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และแคบลงเหลือ 39.4 ฟุต (12.0 เมตร) ที่ส่วนบน ทั้งสี่ด้านของฐานมีลักษณะเหมือนกัน เหนือประตูแต่ละด้านมีแผ่นดิสก์ 10 แผ่น ซึ่งบาร์โตลดีเสนอให้ใช้เป็นที่ติดตั้งตราแผ่นดินของรัฐต่าง ๆ (ระหว่างปี 1876 ถึง 1889 มีทั้งหมด 38 รัฐ) แต่แผนนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง เหนือแผ่นดิสก์มีระเบียง โดยแต่ละด้านมีเสาค้ำยัน และใกล้ส่วนบนสุดของฐาน บาร์โตลดีได้สร้างแท่นสังเกตการณ์ ไว้เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถชมทิวทัศน์ ก่อนที่ตัวรูปปั้นจะตั้งตระหง่านอยู่เหนือแท่นนั้น ตามคำกล่าวของนักเขียน หลุยส์ ออคินคลอส ฐานรูปปั้นนี้ "แสดงให้เห็นถึงอำนาจอันแข็งแกร่งของยุโรปในสมัยโบราณ ซึ่งมีรูปปั้นเทพีเสรีภาพตั้งตระหง่านอยู่เหนือ"[82] คณะกรรมการได้ว่าจ้างพลเอกชาลส์ โพเมอรอย สโตน อดีตนายพลของกองทัพบกสหรัฐฯ ให้มารับหน้าที่ดูแลงานก่อสร้างฐาน[83] การก่อสร้างบนฐานรากลึก 15 ฟุต (4.6 เมตร) เริ่มขึ้นในปี 1883 และมีการวางศิลาฤกษ์ของฐานในปี 1884[81] ในแนวคิดดั้งเดิมของฮันต์ ฐานจะถูกสร้างขึ้นจากหินแกรนิตเนื้อแข็งทั้งก้อน แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน เขาจึงต้องปรับแผนอีกครั้ง โดยแบบสุดท้ายเปลี่ยนเป็นการใช้ผนังคอนกรีตหล่อหนาสูงสุดถึง 20 ฟุต (6.1 เมตร) แล้วจึงกรุผิวด้านนอกด้วยแผ่นหินแกรนิต[84][85] หินแกรนิตที่ใช้คือ หินแกรนิตสโตนีครีก ซึ่งขุดมาจาก เหมืองบีตตีในเมืองแบรนฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต[86] และมวลคอนกรีตที่เทลงไปนั้น ถือเป็น ปริมาณการเทคอนกรีตที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น[85]

โยอาคิม กอเชิน เยเวร์ วิศวกรโยธาผู้อพยพชาวนอร์เวย์ เป็นผู้ออกแบบ โครงสร้างกรอบภายในของเทพีเสรีภาพ งานของเขาครอบคลุมทั้งการคำนวณโครงสร้าง การจัดทำแบบผลิตโดยละเอียด แบบวาดสำหรับการก่อสร้าง และการควบคุมดูแลงานก่อสร้าง ในการทำให้โครงสร้างของรูปปั้นเสร็จสมบูรณ์ เยเวร์ได้อ้างอิงและทำงานจากภาพวาดและภาพร่างที่จัดทำโดยกุสตาฟ ไอเฟล[87]

การระดมทุน

แก้

การระดมทุนในสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างฐานรูปปั้น เริ่มต้นขึ้นในปี 1882 โดยคณะกรรมการได้จัดกิจกรรมหารายได้หลากหลายรูปแบบขึ้น[88] หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นคือ การประมูลผลงานศิลปะและต้นฉบับ ซึ่งในงานนี้ กวีหญิง เอ็มมา ลาซารัส ได้รับการเชิญให้ บริจาคผลงานต้นฉบับของเธอ ในตอนแรกเธอ ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถเขียนบทกวีเกี่ยวกับรูปปั้นได้ ขณะนั้น เธอกำลังมีบทบาทในการ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยิว ที่หลบหนีจาก การสังหารหมู่ชาวยิวในยุโรปตะวันออก และเดินทางมายังนิวยอร์ก ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องเผชิญกับ สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ซึ่งลาซารัส ผู้มีฐานะร่ำรวย ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ท้ายที่สุด เธอก็พบว่า รูปปั้นเทพีเสรีภาพสามารถเป็นสื่อกลางในการแสดงออกถึง ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้[89] ผลงานที่ลาซารัสเขียนขึ้นคือบทกวีชื่อ "The New Colossus" ซึ่งมีวรรคว่า "Give me your tired, your poor/Your huddled masses wishning to breathe free" บทกวีนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ผูกโยงอย่างลึกซึ้งกับเทพีเสรีภาพ ในวัฒนธรรมอเมริกัน และได้รับการ จารึกไว้บนแผ่นโลหะภายในพิพิธภัณฑ์ของรูปปั้น[90] ในบทกวี ลาซารัสได้เปรียบเทียบ โคโลสซัสแห่งโรดส์ ซึ่งเป็น รูปปั้นยักษ์ในโลกคลาสสิกที่ดูน่าเกรงขามและน่ากลัว กับ "โคโลสซัสแห่งอเมริกา" รูปปั้นใหม่ซึ่งเป็น "ประภาคารสำหรับผู้หลงทางและหมดหวัง" แทน[91]

 
Liberty Enlightening the World หรือ The Statue of Liberty เป็นหน้าต่างกระจกสีที่ โจเซฟ พูลิตเซอร์ สั่งทำขึ้นเพื่อ รำลึกถึงการระดมทุนเพื่อสร้างฐานของรูปปั้น เดิมทีหน้าต่างกระจกสีนี้ถูกติดตั้งไว้ที่ตึกนิวยอร์กเวิลด์ แต่ปัจจุบันได้ถูกย้ายไปอยู่ที่พูลิตเซอร์ฮอลล์ ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย[92]

แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ แต่การระดมทุนก็ยังล่าช้า โครงการต้องเผชิญอุปสรรคหลายประการ ในปี 1884 โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ ยับยั้งร่างกฎหมาย ที่เสนอให้จัดสรรเงิน 50,000 ดอลลาร์ สำหรับโครงการรูปปั้น ความพยายามในปีถัดมาที่จะให้รัฐสภาสหรัฐฯ จัดสรรเงิน 100,000 ดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอจะทำให้โครงการเสร็จสิ้นก็ล้มเหลวเช่นกัน ในขณะนั้น คณะกรรมการนิวยอร์ก มีเงินในบัญชี เพียง 3,000 ดอลลาร์ ทำให้ต้องตัดสินใจ ระงับการดำเนินงานก่อสร้างฐานรูปปั้น ชั่วคราว เมื่อโครงการเริ่ม ส่อแววล้มเหลว กลุ่มต่าง ๆ จากเมืองอื่นในสหรัฐฯ เช่น บอสตัน และ ฟิลาเดลเฟียก็ได้เสนอที่จะ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในการก่อสร้างรูปปั้น โดยมีเงื่อนไขว่าจะย้ายรูปปั้นไปติดตั้งในเมืองของตน[93]

โจเซฟ พูลิตเซอร์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กเวิลด์ ในนครนิวยอร์ก ได้ประกาศ ระดมทุนจำนวน 100,000 ดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 3,500,000 ดอลลาร์ในปี 2024) เขาให้คำมั่นว่าจะ พิมพ์ชื่อผู้บริจาคทุกคน ลงในหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะบริจาคเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม[94] แคมเปญนี้สามารถ จุดประกายจินตนาการและแรงบันดาลใจของชาวนิวยอร์ก ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพูลิตเซอร์เริ่ม ตีพิมพ์ข้อความแนบจากผู้บริจาค ที่เขาได้รับ หนึ่งในนั้นคือคำจาก "สาวน้อยผู้โดดเดี่ยวในโลก" ซึ่งเขียนมาพร้อมกับเงินบริจาคจำนวน 60 เซ็นต์ โดยระบุว่าเป็น "ผลจากการปฏิเสธตนเอง"[95] ผู้บริจาครายหนึ่งระบุว่า "ห้าเซ็นต์นี้เป็นเงินเล็กน้อยจากเด็กออฟฟิศที่ยากจน เพื่อมอบให้กับกองทุนสร้างฐานรูปปั้น (Pedestal Fund)" กลุ่มเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งส่งเงินจำนวน หนึ่งดอลลาร์ มาพร้อมข้อความว่า "เงินนี้คือเงินที่เราเก็บไว้เพื่อไปดูละครสัตว์"[96] อีกหนึ่งดอลลาร์มาจาก "หญิงชราผู้โดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงา"[95] แม้กระทั่ง ผู้พักอาศัยในบ้านพักคนติดสุรา ในเมืองบรุกลิน (ซึ่งยังเป็นเมืองคู่แข่งของนิวยอร์กในขณะนั้น และยังไม่ควบรวมกันจนถึงปี 1898) ก็ร่วมบริจาคเป็นจำนวนเงินถึง 15 ดอลลาร์ ขณะเดียวกัน นักดื่มในบาร์และร้านเหล้า ก็ร่วมช่วยเหลือผ่าน กล่องรับบริจาคที่ตั้งอยู่ในสถานที่เหล่านั้น[97] ชั้นเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมืองแดเวนพอร์ต รัฐไอโอวา ได้ส่งเงินบริจาคจำนวน 1.35 ดอลลาร์ ไปยังนิวยอร์กเวิลด์[95] เมื่อเงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาอย่างล้นหลาม คณะกรรมการจึงสามารถ กลับมาดำเนินการก่อสร้างฐานของรูปปั้นได้อีกครั้ง[98] ทางด้านฝรั่งเศส สามารถระดมทุนได้ประมาณ 250,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างตัวรูปปั้น[99] ขณะที่ สหรัฐอเมริกาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างฐานรูปปั้น ซึ่งต้องระดมทุนสูงถึง 300,000 ดอลลาร์[100][101]

การก่อสร้าง

แก้

วันที่ 17 มิถุนายน 1885 เรือกลไฟ อิเซร์ ของฝรั่งเศส เดินทางมาถึง ท่าเรือนิวยอร์ก โดยมีลังไม้บรรจุชิ้นส่วนของรูปปั้นเทพีเสรีภาพที่ถูกถอดแยกออกเป็นส่วน ๆ ไว้บนเรือ ชาวนิวยอร์กแสดงออกถึงความตื่นเต้นและกระตือรือร้นอย่างมากต่อการมาถึงของรูปปั้น มีผู้คนมากกว่า 200,000 คน ยืนเรียงรายตามแนวท่าเรือ และมีเรืออีกหลายร้อยลำ ออกไปในทะเลเพื่อ ร่วมต้อนรับเรืออิเซร์ [102][103] หลังจากมีการ รณรงค์ขอบริจาคเงินรายวันติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อสมทบกองทุนสร้างรูปปั้น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1885 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิลด์ ได้ประกาศว่าสามารถ ระดมทุนได้ถึง 102,000 ดอลลาร์ จาก ผู้บริจาคจำนวน 120,000 ราย ผู้บริจาค และ 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดทั้งหมด มาจากการบริจาคที่มีมูลค่าน้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 35 ดอลลาร์ในปี 2024)[104]

แม้ว่า การระดมทุนจะประสบความสำเร็จ แต่ ฐานของรูปปั้น ก็ยังไม่แล้วเสร็จจนถึง เดือนเมษายน 1886 หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการ ประกอบรูปปั้นกลับเข้าที่ทันที โครงเหล็กของไอเฟลถูกยึดติดกับคานเหล็ก รูปตัว I ภายในฐานคอนกรีต และทำการ ประกอบเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนา[105] เมื่อโครงสร้างภายในเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงเริ่มทำการติดตั้งส่วนผิวทองแดงของรูปปั้นอย่างระมัดระวังทีละแผ่น[106] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฐานมีความกว้างมาก จึงไม่สามารถติดตั้งนั่งร้านได้ คนงานจึงต้องห้อยตัวจากเชือก เพื่อทำการติดตั้งชิ้นส่วนของผิวรูปปั้น ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความแม่นยำและความกล้าหาญสูง[107] บาร์โตลดี วางแผนจะติดตั้ง ไฟสปอตไลท์ ที่ ระเบียงของคบเพลิง เพื่อให้แสงสว่างจากภายนอก แต่ก่อนถึงวันส่งมอบรูปปั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ กองทัพบก ได้ คัดค้านข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่า แสงจากไฟสปอตไลท์อาจทำให้กัปตันเรือที่แล่นผ่านบริเวณนั้นตาพร่าและเกิดอันตรายได้ เพื่อแก้ปัญหา บาร์โตลดีจึงเลือกที่จะเจาะช่องหน้าต่าง (portholes) บนคบเพลิง ซึ่งด้านนอกเคลือบด้วยแผ่นทองคำเปลว แล้วติดตั้ง ไฟส่องสว่างไว้ด้านในแทน[108] บนเกาะยังมีการติดตั้ง โรงไฟฟ้า เพื่อจ่ายพลังงานให้กับคบเพลิงและ ความต้องการใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ด้วย[109] หลังจากติดตั้งแผ่นผิวทองแดงเสร็จสมบูรณ์ เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด สถาปนิกภูมิทัศน์ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเซ็นทรัลพาร์กในแมนฮัตตัน และพรอสเปกต์พาร์กในบรุกลิน ได้รับหน้าที่ในการดูแลและจัดภูมิทัศน์เกาะเบดโลว์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีส่งมอบรูปปั้น[110] ในวันส่งมอบรูปปั้น นายพลชาร์ลส์ สโตน ได้กล่าวอ้างว่า ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตระหว่างการก่อสร้างรูปปั้นเทพีเสรีภาพ แต่คำกล่าวนี้ไม่เป็นความจริง เพราะมี ฟรานซิส ลองโก คนงานชาวอิตาลีวัย 39 ปีที่เสียชีวิตจากเหตุ กำแพงเก่าถล่มทับ ระหว่างการก่อสร้าง[111] เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ รูปปั้นมีสีแดงน้ำตาลเงางาม อันเป็นลักษณะของทองแดง แต่ภายในเวลาเพียงยี่สิบปี รูปปั้นก็เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับ อากาศ น้ำ และมลภาวะที่เป็นกรด จนเปลี่ยนเป็นสีเขียวแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดชั้นเวอร์ดิกริ (verdigris) โดยชั้นนี้มีคุณสมบัติในการ ปกป้องทองแดงจากการกัดกร่อนเพิ่มเติมในอนาคต[112]

การส่งมอบ

แก้
 
Unveiling of the Statue of Liberty Enlightening the World (1886) ผลงานโดยเอ็ดเวิร์ด โมรัน สีน้ำมันบนผ้าใบ จัดแสดงในคอลเลกชัน เจ. คลาเรนซ์ เดวีส์ พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองนิวยอร์ก

พิธีส่งมอบรูปปั้นเทพีเสรีภาพ จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1886 โดยมีประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เป็นประธานในพิธี[113] ในช่วงเช้าวันเดียวกัน มีการจัดขบวนพาเหรดใหญ่ในนครนิวยอร์ก โดยคาดว่ามีผู้ชมตั้งแต่ หลายแสนจนถึงหนึ่งล้านคน เข้าร่วมตลอดเส้นทาง ประธานาธิบดีคลีฟแลนด์ เป็นผู้นำขบวน จากนั้นไปยืนบน แท่นตรวจขบวน เพื่อชมวงดนตรีและผู้ร่วมเดินขบวนจากทั่วอเมริกา นายพลชาร์ลส์ สโตน รับหน้าที่เป็น จอมพลใหญ่ของขบวนพาเหรด เส้นทางเริ่มต้นที่เมดิสันสแควร์ ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดแสดงแขนคบเพลิงของรูปปั้น และเคลื่อนไปยังย่านแบตเตอรีที่ทางใต้ของแมนฮัตตัน โดยผ่านถนนฟิฟท์อเวนิว และบรอดเวย์ โดยอ้อมเล็กน้อยเพื่อให้ขบวนผ่านหน้าอาคารหนังสือพิมพ์เวิลด์ บนถนนพาร์กโรว์ เมื่อขบวนพาเหรด เคลื่อนผ่านตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ผู้ค้าหุ้นได้โยน กระดาษราคาหุ้นออกจากหน้าต่าง ซึ่งกลายเป็นการเริ่มต้นของประเพณีขบวนพาเหรดกระดาษราคาหุ้นของนครนิวยอร์ก[114]

ขบวนแห่เรือเริ่มขึ้นเวลา 12.45 น. ประธานาธิบดีคลีฟแลนด์ได้ขึ้น เรือยอทช์ เพื่อข้ามท่าเรือไปยังเกาะเบดโลว์ เพื่อร่วมในพิธีส่งมอบรูปปั้นเทพีเสรีภาพ[115] เลสเซปส์ เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในนามของคณะกรรมการฝรั่งเศส จากนั้นจึงเป็นคิวของ วิลเลียม เอ็ม. อีวาตส์ สมาชิกวุฒิสภา และ ประธานคณะกรรมการนิวยอร์ก ขึ้นกล่าวตามลำดับ ธงชาติฝรั่งเศสซึ่งพาดคลุมอยู่บน ใบหน้าของรูปปั้นเทพีเสรีภาพมีกำหนดจะถูกเชิญลงในช่วง ท้ายของคำปราศรัยโดยอีวาตส์สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม บาร์โตลดี เข้าใจผิดว่า การหยุดชั่วคราวของอีวาร์ตส์ คือจุดสิ้นสุดของคำกล่าว จึงเผลอปล่อยธงลงก่อนเวลา ที่กำหนดไว้ เสียงโห่ร้องแสดงความยินดีจากฝูงชนที่ตามมา ส่งผลให้คำปราศรัยของอีวาร์ตส์ต้องจบลงโดยไม่ได้กล่าวจนจบ[114] ประธานาธิบดีคลีฟแลนด์กล่าวต่อไปว่า "กระแสแสงสว่างของรูปปั้นจะทะลุผ่านความมืดมิดแห่งความไม่รู้และการกดขี่ของมนุษย์ จนกว่าเสรีภาพจะให้แสงสว่างแก่โลก"[116] บาร์โตลดี ซึ่งยืนอยู่ใกล้เวที ได้รับการเชิญให้ขึ้นพูด แต่เขาปฏิเสธที่จะกล่าวคำปราศรัย สุดท้าย ชอนซี เอ็ม. ดีพิว กล่าวสุนทรพจน์ ปิดท้ายพิธี ด้วยคำปราศรัยที่ ยาวและเป็นทางการ[117]

ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมบนเกาะ ระหว่างพิธีส่งมอบรูปปั้นเทพีเสรีภาพเนื่องจากพื้นที่นั้น สงวนไว้เฉพาะสำหรับแขกผู้มีเกียรติเท่านั้น สตรีที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม มีเพียง ภรรยาของบาร์โตลดี และหลานสาวของเลสเซปส์เท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เกรงว่าผู้หญิงอาจได้รับบาดเจ็บจากความแออัดของผู้คนที่มาร่วมงานจำนวนมาก ข้อจำกัดดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีในพื้นที่ พวกเธอจึงตัดสินใจเช่าเรือและพยายามเดินทางเข้าใกล้เกาะเบดโลว์ให้ได้มากที่สุด ผู้นำของกลุ่ม ได้กล่าวสุนทรพจน์จากบนเรือโดยกล่าว ยกย่องเสรีภาพในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้หญิง และเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของสตรีอย่างชัดเจน[116] ขณะเดียวกัน การแสดงดอกไม้ไฟ ซึ่งมีกำหนดไว้ในวันพิธีก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย[118]

ไม่นานหลังจากพิธีส่งมอบรูปปั้น หนังสือพิมพ์ เดอะคลีฟแลนด์กาเซ็ตต์ซึ่งเป็นสื่อของชาวแอฟริกันอเมริกันได้เสนอแนะว่าไม่ควรจุดคบเพลิงของรูปปั้นจนกว่าสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นประเทศเสรี 'อย่างแท้จริง'

"'เสรีภาพที่ให้แสงสว่างแก่โลก' งั้นหรือ? แค่ได้ยินก็พาลจะอาเจียน รัฐบาลนี้คือความตลกร้ายโดยแท้ มันไม่สามารถ—หรือพูดให้ถูกคือ ไม่ยอม—ปกป้องประชาชนของตนเองแม้แต่ภายในพรมแดนประเทศนี้ เอารูปปั้นของบาร์โตลดีพร้อมทั้งคบเพลิง โยนลงทะเลไปเลย จนกว่าจะถึงวันที่ ‘เสรีภาพ’ ของประเทศนี้ สามารถทำให้ชายผิวสีที่ขยันและไม่ก่อปัญหา สามารถหาเลี้ยงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีเพื่อครอบครัวของเขาได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคูคลักซ์แคลนรุมทำร้าย ถูกฆาตกรรม ลูกสาวและภรรยาถูกล่วงละเมิด และทรัพย์สินถูกทำลาย แนวคิดที่ว่า 'เสรีภาพ' ของประเทศนี้จะ "ให้แสงสว่างแก่โลก’ หรือแม้แต่ ปาตาโกเนีย นั้นช่างเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะสิ้นดี"[119]

หลังจากการส่งมอบรูปปั้น

แก้

คณะกรรมการประภาคารและกรมสงคราม (1886–1933)

แก้
 
โปสเตอร์รัฐบาลที่ใช้เทพีเสรีภาพเพื่อส่งเสริมการขายพันธบัตรเสรีภาพ

เมื่อคบเพลิงถูกจุดสว่างขึ้นในค่ำคืนวันส่งมอบรูปปั้น แสงที่เกิดขึ้นกลับ เป็นเพียงแสงริบหรี่ ซึ่งแทบจะมองไม่เห็นจากฝั่งแมนฮัตตัน หนังสือพิมพ์เวิลด์ วิจารณ์ว่า "มันดูเหมือนหนอนเรืองแสงมากกว่าจะเป็นประภาคาร"[109] บาร์โตลดีได้เสนอแนวคิดให้ ปิดทองทั้งรูปปั้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการสะท้อนแสง แต่แนวทางนี้มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป คณะกรรมการประภาคารสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามารับผิดชอบดูแลอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพในปี 1887 พร้อมให้คำมั่นว่าจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความสว่างของคบเพลิง แม้จะพยายามหลาย แต่รูปปั้นนี้ก็ยังคงมองเห็นได้ยากมากในยามค่ำคืน เมื่อบาร์โตลดีกลับมายังสหรัฐอเมริกาในปี 1893 เขาได้เสนอแนะแนวทางเพิ่มเติมหลายประการเพื่อปรับปรุงการใช้งานของรูปปั้น แต่ ล้วนไม่เกิดผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เขาสามารถ ผลักดันให้มีการปรับปรุงระบบแสงสว่างภายในรูปปั้นได้สำเร็จ ทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถ ชื่นชมโครงสร้างภายในของไอเฟลได้ดียิ่งขึ้น[109] ในปี 1901 ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการนิวยอร์ก ได้ออกคำสั่งให้โอนความรับผิดชอบรูปปั้นไปยังกระทรวงการสงครามสหรัฐ เนื่องจากรูปปั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำหน้าที่เป็นประภาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ[120] หน่วยสื่อสารของกองสัญญาณกองทัพบกได้ประจำการอยู่บนเกาะเบดโลว์จนถึงปี 1923 หลังจากนั้น ตำรวจทหารยังคงประจำการอยู่บนเกาะ ในช่วงที่เกาะยังอยู่ภายใต้เขตอำนาจของฝ่ายทหาร[121]

สงครามและความวุ่นวายในยุโรปส่งผลให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่เข้าสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะผ่านทางนิวยอร์ก ผู้คนจำนวนมากที่เดินทางเข้ามา มองเห็นเทพีเสรีภาพไม่ใช่ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ ตามที่บาร์โตลดีตั้งใจ แต่กลับมองว่าเป็น สัญลักษณ์แห่งการต้อนรับเข้าสู่บ้านใหม่ ความเชื่อมโยงระหว่างรูปปั้นกับผู้อพยพยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการเปิดสถานีตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะเอลลิสที่อยู่ใกล้กัน มุมมองนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของลาซารัสในบทกวีของเธอ ซึ่งเธอเรียกรูปปั้นนี้ว่า "มารดาแห่งผู้ถูกเนรเทศ" แต่ผลงานของเธอก็เริ่มเลือนหายไปจากความสนใจ จนกระทั่งในปี 1903 บทกวีนี้จึงได้ถูกแกะสลักลงบนแผ่นโลหะ และติดตั้งไว้ที่ฐานของรูปปั้นเทพีเสรีภาพ[122]

ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากปากคำของผู้อพยพ ได้บันทึกถึง ความรู้สึกตื่นเต้นและปลาบปลื้มใจ เมื่อพวกเขาได้เห็น เทพีเสรีภาพเป็นครั้งแรก ด้วยตาของตนเอง ผู้อพยพคนหนึ่งจากประเทศกรีซ ได้เล่าย้อนความรู้สึกในวันนั้นไว้ว่า:

ผมเห็นเทพีเสรีภาพ และผมพูดกับตัวเองว่า "คุณผู้หญิง ท่านช่างงดงามเหลือเกิน!คุณเปิดแขนออกต้อนรับพวกเราชาวต่างชาติทุกคนที่มาถึงที่นี่ ขอให้ผมมีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง ว่าผมคู่ควรกับสิ่งนี้ ให้ผมได้ทำอะไรบางอย่าง ได้เป็นใครสักคนในอเมริกา" และรูปปั้นนั้นก็อยู่ในใจผมเสมอมา[123]

รูปปั้นเทพีเสรีภาพกลายเป็นจุดสังเกตสำคัญอย่างรวดเร็ว[123] เดิมทีรูปปั้นมีสีทองแดงหม่น แต่ไม่นานหลังจากปี 1900 ก็เริ่มเกิดสนิม (patina) สีเขียว หรือที่เรียกว่าสนิมเขียว (verdigris) ซึ่งเกิดจากการออกซิเดชันของผิวทองแดง ภายในปี 1902 สื่อมวลชนก็เริ่มพูดถึงการเปลี่ยนสีของรูปปั้น และในปี 1906 คราบสีเขียวก็ปกคลุมรูปปั้นทั้งหมดแล้ว[124] ด้วยความเข้าใจว่า คราบเขียวเป็นสัญญาณของการกัดกร่อน รัฐสภาสหรัฐจึงอนุมัติงบประมาณ US$62,800 (เทียบเท่ากับ $2,130,000 ในปี 2023) เพื่อดำเนินการซ่อมแซมและทาสีรูปปั้นทั้งภายในและภายนอก[125] แต่แผนการทาสีภายนอกนั้น ถูกประชาชนคัดค้านอย่างรุนแรง[126] กองทหารช่างจึงได้ศึกษาคราบสนิมเขียวอย่างละเอียดและได้ข้อสรุปว่า "คราบนี้ช่วยปกป้องผิวของรูปปั้น ทำให้เส้นขอบของรูปปั้นดูนุ่มนวลขึ้น และงดงามขึ้นด้วย"[127] ดังนั้น จึงมีการทาสีเฉพาะภายในรูปปั้นเท่านั้น พร้อมกันนั้น กองทหารช่างยังได้ติดตั้งลิฟต์ภายในฐาน[127]

 
เกาะแบล็กทอมเมื่อมองจากเกาะลิเบอร์ตีในเดือนมิถุนายน 2024

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ก่อวินาศกรรมชาวเยอรมันได้จุดระเบิดครั้งใหญ่บนคาบสมุทรแบล็กทอมในเมืองเจอร์ซีย์ซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งรัฐ ลิเบอร์ตี ใกล้กับเกาะเบดโลว์ รถไฟบรรทุกไดนาไมต์และวัตถุระเบิดอื่น ๆ ที่กำลังจะถูกส่งไปยังรัสเซีย[128] เพื่อใช้ในสงครามถูกจุดระเบิด ส่งผลให้เกิดแรงระเบิดอย่างรุนแรง รูปปั้นเทพีเสรีภาพได้รับความเสียหายเล็กน้อย ส่วนใหญ่บริเวณแขนขวาที่ถือคบเพลิง และต้องปิดให้บริการเป็นเวลา 10 วัน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรูปปั้นและอาคารบนเกาะอยู่ที่ประมาณ $100,000 (เทียบเท่ากับประมาณ $2,800,000 ในปี 2023) ทางเดินแคบ ๆ ที่ขึ้นไปยังคบเพลิงถูกปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และยังคงปิดอยู่จนถึงปัจจุบัน[117]

ในปีเดียวกันนั้น ราล์ฟ พูลิตเซอร์ ซึ่งรับตำแหน่งผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์เวิลด์ ต่อจาก โจเซฟ ผู้เป็นบิดา ได้เริ่มต้นการระดมทุนจำนวน $30,000 (เทียบเท่ากับ $840,000 ในปี 2023) เพื่อจัดทำระบบไฟภายนอก สำหรับส่องสว่างรูปปั้นในยามค่ำคืนเขาอ้างว่ามีผู้บริจาคมากกว่า 80,000 ราย แต่ไม่สามารถระดมเงินได้ตามเป้าหมาย เงินที่ขาดอยู่ได้รับการชดเชยอย่างเงียบๆ โดยผู้บริจาคนิรนามที่ร่ำรวย ซึ่งความจริงข้อนี้ ไม่ได้เปิดเผยจนกระทั่งปี 1936 มีการ เดินสายไฟใต้น้ำ จากแผ่นดินใหญ่ และติดตั้ง ไฟสปอตไลต์ ไว้ตามกำแพงของป้อมวูด ส่วนคบเพลิงได้รับการออกแบบใหม่โดย กัตซอน บอร์กลัม ซึ่งต่อมาได้แกะสลักภูเขารัชมอร์ โดยแทนที่ทองแดงเดิมเกือบทั้งหมดด้วยกระจกสี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1916 ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้กดปุ่มส่งสัญญาณโทรเลขเพื่อเปิดไฟ และรูปปั้นเทพีเสรีภาพก็ส่องแสงสว่างได้สำเร็จ[129]

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1917 ภาพของเทพีเสรีภาพ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายใน โปสเตอร์รับสมัครทหาร รวมถึงการระดมทุน พันธบัตรเสรีภาพ ที่รณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนสงครามในเชิงการเงิน สิ่งนี้ช่วย ตอกย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงเป้าหมายของสงคราม ซึ่งถูกประกาศไว้ว่าเป็น "การปกป้องเสรีภาพ" และยังเป็นการ เตือนใจว่าฝรั่งเศสซึ่งกำลังเผชิญกับสงครามอย่างหนัก คือผู้มอบรูปปั้นนี้ให้แก่สหรัฐอเมริกา[130]

ในปี 1924 ประธานาธิบดี แคลวิน คูลิดจ์ ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโบราณวัตถุ ประกาศให้รูปปั้นเทพีเสรีภาพเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ[120] ห้าปีต่อมา เกิดเหตุ ฆ่าตัวตายขึ้น เมื่อชายคนหนึ่งปีนออกจากหน้าต่างบานหนึ่งของมงกุฎ แล้วกระโดดลงมาเสียชีวิต[131]

ยุคแรกของหน่วยงานอุทยานแห่งชาติ (1933–1982)

แก้
 
เกาะเบดโลว์ในปีพ.ศ. 2470 โดยมีรูปปั้นและอาคารกองทัพ กำแพงสิบเอ็ดแฉกของฟอร์ตวูด ซึ่งยังคงเป็นฐานของรูปปั้นยังคงมองเห็นได้

ในปีพ.ศ. 2476 ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. โรเซอเวลต์ มีคำสั่งให้ส่งมอบรูปปั้นเทพีเสรีภาพให้กรมอุทยานแห่งชาติ (NPS) ในปี 1937 กรมอุทยานแห่งชาติก็ได้รับสิทธิ์ดูแลพื้นที่ที่เหลือของเกาะเบดโลว์[120] เมื่อกองทัพถอนกำลังออก จึงเริ่มปรับเปลี่ยนเกาะให้เป็นสวนสาธารณะ[132] สำนักงานพัฒนางานแห่งชาติ (WPA) ได้รื้อถอนอาคารเก่าส่วนใหญ่ ปรับระดับพื้นที่และหว่านเมล็ดหญ้าบริเวณด้านตะวันออกของเกาะ รวมถึงสร้างบันไดหินแกรนิตเป็นทางเข้าสาธารณะด้านหลังของรูปปั้น ภายในรูปปั้น สำนักงานได้ถอดรัศมีบนมงกุฎออกชั่วคราวเพื่อเปลี่ยนฐานรองที่เป็นสนิม เปลี่ยนขั้นบันไดเหล็กหล่อที่ผุพังในฐานรองด้วยขั้นบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก[133] และเปลี่ยนบันไดส่วนบนภายในรูปปั้นใหม่ทั้งหมด พร้อมติดตั้งแผ่นหุ้มทองแดง เพื่อป้องกันน้ำฝนซึมเข้าสู่ฐานรอง[134] รูปปั้นปิดไม่ให้เข้าชมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2481[133]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปปั้นเทพีเสรีภาพยังคงเปิดให้เข้าชม แม้จะไม่มีการเปิดไฟในเวลากลางคืนเนื่องจากมาตรการดับไฟช่วงสงคราม โดยมีการเปิดไฟชั่วคราวในวันที่ 31 ธันวาคม 1943 และในวันดีเดย์ 6 มิถุนายน 1944 โดยไฟส่องสว่างกะพริบเป็นรหัสมอร์สของ V ซึ่งหมายถึงชัยชนะ ในช่วงปี 1944-1945 มีการติดตั้งไฟส่องสว่างใหม่ที่มีพลังมากขึ้น และเริ่มตั้งแต่วันแห่งชัยชนะในยุโรป รูปปั้นก็กลับมามีไฟส่องหลังพระอาทิตย์ตก แม้จะเปิดเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อคืน จนถึงปี 1957 จึงเริ่มเปิดไฟตลอดทั้งคืนทุกวัน[135] และในปี 1946 มีการเคลือบพลาสติกพิเศษบริเวณภายในที่นักท่องเที่ยวสัมผัสได้ เพื่อให้สามารถลบกราฟฟิตีออกได้ง่าย[134]

ในปี 1956 รัฐสภาได้ออกกฎหมายเปลี่ยนชื่อเกาะเบดโลเป็น "เกาะลิเบอร์ตี" อย่างเป็นทางการ ตามข้อเสนอของบาร์โตลดีที่มีมาตั้งแต่หลายชั่วรุ่น กฎหมายฉบับนี้ยังกล่าวถึงความพยายามในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตรวจคนเข้าเมืองอเมริกัน บนเกาะ ซึ่งผู้สนับสนุนได้ถือว่าการอนุมัติโครงการดังกล่าวเป็นการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง แม้ว่ารัฐบาลจะล่าช้าในการให้เงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวก็ตาม[136] ในปี 1965 ประธานาธิบดีลินดอน เบนส์ จอห์นสัน ได้ประกาศให้เกาะเอลลิสซึ่งอยู่ใกล้เคียงเป็นส่วนหนึ่งของอนุสรณ์สถานแห่งชาติเทพีเสรีภาพ[120] ในปี 1972 พิพิธภัณฑ์การย้ายถิ่นฐานที่ฐานของรูปปั้นได้เปิดอย่างเป็นทางการโดยมีประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันเป็นประธานในพิธี อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดตั้งกองทุนถาวรเพื่อรองรับอนาคตของพิพิธภัณฑ์ ทำให้ต้องปิดตัวลงในปี 1991 หลังจากมีการเปิด พิพิธภัณฑ์การย้ายถิ่นฐานบนเกาะเอลลิส[105]

ในปี 1970 ไอวี่ บอตตินี พร้อมสมาชิกจากองค์กรแห่งชาติเพื่อสตรี สาขานิวยอร์ก ได้จัดการประท้วงที่รูปปั้นเทพีเสรีภาพ โดยแขวนป้ายขนาดใหญ่บนราวบันไดที่มีข้อความว่า "สตรีของโลกจงรวมกัน!"[137][138] ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม 1971 กลุ่มทหารผ่านศึกต่อต้านสงครามเวียดนามจำนวน 15 คนได้เข้ายึดพื้นที่บริเวณรูปปั้น พร้อมชูธงชาติสหรัฐฯ คว่ำลงจากบริเวณมงกุฎของรูปปั้น พวกเขายุติการยึดพื้นที่ในวันที่ 28 ธันวาคม หลังได้รับคำสั่งจากศาลรัฐบาลกลาง[139] นอกจากนี้ยังมีการยึดรูปปั้นชั่วคราวหลายครั้งโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่ต้องการประชาสัมพันธ์ประเด็นต่าง ๆ เช่น การประกาศเอกราชของเปอร์โตริโก การต่อต้านการทำแท้ง และการต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐฯ ในกรีเนดา ขณะที่การชุมนุมบางรายการได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ ได้แก่ การชุมนุมเกย์ไพรด์พาเหรด และการชุมนุมแคปทีฟบอลติกเนชันส์ประจำปี[140]

ก่อนการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีประเทศอเมริกา ในปี 1976 ได้มีการติดตั้งระบบไฟส่องสว่างใหม่ที่ทรงพลังให้กับรูปปั้นเทพีเสรีภาพ รูปปั้นกลายเป็นจุดศูนย์กลางของปฏิบัติการเรือใบ ซึ่งเป็นขบวนเรือใบขนาดใหญ่ จากทั่วโลกที่แล่นเข้าสู่ท่าเรือนิวยอร์กในวันที่ 4 กรกฎาคม และแล่นวนรอบเกาะลิเบอร์ตี[141] วันดังกล่าวปิดท้ายด้วยการแสดงดอกไม้ไฟสุดตระการตาใกล้รูปปั้น[142]

การปรับปรุงและส่งมอบใหม่ (1982–2000)

แก้
 
4 กรกฎาคม 1986 : แนนซี เรแกน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง (สวมชุดสีแดง) เปิดรูปปั้นให้สาธารณชนเข้าชมอีกครั้ง

ในช่วงการวางแผนฉลองครบรอบ 100 ปีของรูปปั้นในปี 1986 วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอเมริกันได้ตรวจสอบรูปปั้นอย่างละเอียด[143] ในปี 1982 มีการประกาศว่ารูปปั้นต้องได้รับการบูรณะครั้งใหญ่[144] วิศวกรประสบปัญหาจากการขาดแบบแปลนและเอกสารรายละเอียด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักที่เกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น[145] การศึกษาพบว่าแขนขวาของรูปปั้นถูกยึดกับโครงสร้างหลักอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีอาการโยกมากขึ้นเมื่อเจอลมแรง และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโครงสร้างล้มเหลว นอกจากนี้ยังพบว่าศีรษะของรูปปั้นถูกติดตั้งเยื้องจากกึ่งกลางไปประมาณ 2 ฟุต (0.61 เมตร) และหนึ่งในรังสีบนมงกุฎเสียดสีกับแขนขวาจนเริ่มทำให้เกิดรูเมื่อรูปปั้นเคลื่อนไหวตามแรงลม โครงสร้างอาร์มาเชอร์ ภายในเกิดการกัดกร่อนอย่างรุนแรง และมีแผ่นทองแดงภายนอกประมาณ 2% ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่[144] แม้จะมีการตรวจพบปัญหาของอาร์มาเชอร์มาตั้งแต่ปี 1936 และได้มีการเปลี่ยนแท่งเหล็กบางส่วนด้วยเหล็กหล่อ แต่การกัดกร่อนส่วนใหญ่ถูกซ่อนอยู่ใต้ชั้นสีที่ทาทับตลอดหลายปีที่ผ่านมา[146]

ในเดือนพฤษภาคม 1982 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ประกาศจัดตั้งคณะกรรมาธิการฉลองครบรอบ 100 ปีเทพีเสรีภาพ–เกาะเอลลิส โดยมีลี ไออาโคคา ประธานบริษัทไครสเลอร์ เป็นผู้นำ เพื่อระดมทุนที่จำเป็นในการดำเนินงานบูรณะให้แล้วเสร็จ[147][148][149] ผ่านแผนกระดมทุนของมูลนิธิเทพีเสรีภาพ–เอลลิสไอส์แลนด์ กลุ่มคณะกรรมาธิการสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 350 ล้านดอลลาร์ สำหรับการบูรณะทั้งรูปปั้นเทพีเสรีภาพและเกาะเอลลิส[150] อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์รายแรกจากแคมเปญการตลาดเพื่อการกุศล โดยในปี 1983 มีโปรโมชันจากบัตร อเมริกันเอ็กซ์เพรส ที่ระบุว่าทุกการใช้จ่ายหนึ่งรายการ บริษัทจะบริจาคเงินหนึ่งเซ็นต์เพื่อการบูรณะรูปปั้น แคมเปญนี้สามารถระดมเงินบริจาคได้ถึง 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[151]

ในปี 1984 รูปปั้นเทพีเสรีภาพถูกปิดไม่ให้ประชาชนเข้าชมตลอดช่วงการบูรณะ โดยมีการติดตั้งนั่งร้าน[33] แบบอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนบดบังรูปปั้นจากสายตาผู้ชม ภายในโครงการบูรณะ ไนโตรเจนเหลวถูกใช้ลอกชั้นสีที่สะสมอยู่บนผิวทองแดงด้านในมานานหลายสิบปี เหลือเพียงชั้นทาร์ถ่านหินสองชั้นซึ่งเคยใช้เพื่ออุดรอยรั่วและป้องกันการกัดกร่อน จากนั้นใช้ผงเบกกิงโซดา ในการขจัดคราบทาร์โดยไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติมต่อผิวทองแดง[152] งานบูรณะต้องเผชิญอุปสรรคจากสารที่มีแร่ใยหิน ซึ่งบาร์โตลดีเคยใช้เพื่อป้องกันการกัดกร่อนแบบกัลวานิก แม้ผลตรวจสอบจะพบว่าไม่ได้ผล คนงานภายในรูปปั้นต้องสวมชุดป้องกันที่เรียกว่า "ชุดพระจันทร์" ซึ่งมีระบบช่วยหายใจในตัว[153] พร้อมกันนี้ได้มีการซ่อมแซมรูขนาดใหญ่บนผิวทองแดง และเสริมแผ่นทองแดงใหม่ในจุดที่จำเป็น[154] แผ่นทองแดงที่ใช้แทนผิวเดิมของรูปปั้นนำมาจากหลังคาทองแดงของเบลแลบส์ ซึ่งมีคราบสนิมใกล้เคียงกับของเดิมอย่างมาก โดยแลกกับการให้ห้องทดลองได้รับทองแดงเก่าส่วนหนึ่งไปใช้ในการทดสอบ[155] นอกจากนี้ คบเพลิงของรูปปั้นซึ่งตรวจพบว่ามีการรั่วซึมตั้งแต่มีการดัดแปลงในปี 1916 ก็ถูกถอดออกและเปลี่ยนใหม่ด้วยแบบจำลองที่เหมือนต้นฉบับของบาร์โตลดีโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน[156] แม้จะมีการพิจารณาเปลี่ยนแขนและไหล่ของรูปปั้น แต่กรมอุทยานแห่งชาติยืนยันให้ซ่อมแซมแทนการเปลี่ยนใหม่[157] สำหรับคบเพลิงเดิมได้ถูกถอดออกในปี 1986 และเปลี่ยนเป็นคบเพลิงปัจจุบันซึ่งเปลวไฟหุ้มด้วยทองคำ 24 กะรัต[158] โดยในเวลากลางวันคบเพลิงจะสะท้อนแสงอาทิตย์ และในเวลากลางคืนจะส่องสว่างด้วย ไฟสปอตไลต์[158]

แกนเหล็กกลมที่ออกแบบโดยกุสตาฟ ไอเฟล ทั้งระบบได้รับการเปลี่ยนใหม่ โดยใช้แท่งเหล็กกล้าไร้สนิมชนิดทนการกัดกร่อนที่มีคาร์บอนต่ำ ซึ่งผลิตจากโลหะผสมที่เรียกว่าเฟอร์ราเลียม แท่งเหล็กนี้ใช้ยึดลวดเย็บกับผิวทองแดงของรูปปั้น และสามารถโค้งงอเล็กน้อยแล้วคืนสู่รูปเดิมได้เมื่อรูปปั้นขยับตัว[159] เพื่อป้องกันไม่ให้รังสีบนมงกุฎสัมผัสกับแขนของรูปปั้น จึงมีการปรับมุมของรังสีใหม่หลายองศา[160] นอกจากนี้ ระบบไฟส่องสว่างก็ได้รับการเปลี่ยนใหม่ โดยใช้หลอดไฟเมทัลฮาไลด์ ที่สามารถฉายแสงไปยังจุดเฉพาะบนฐานและตัวรูปปั้น เพื่อเน้นรายละเอียดต่าง ๆ ให้เห็นชัดในเวลากลางคืน[161] ทางเข้าฐานรูปปั้นซึ่งเคยเป็นเพียงทางเข้าธรรมดาที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1960 ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นช่องเปิดขนาดกว้าง ล้อมด้วยประตูบรอนซ์ขนาดใหญ่ที่ตกแต่งด้วยลวดลายสื่อถึงการบูรณะครั้งสำคัญ[162] นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งลิฟต์ทันสมัยเพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงจุดชมวิวบนฐานได้[163] และมีการติดตั้งลิฟต์ฉุกเฉินภายในตัวรูปปั้น ซึ่งสามารถใช้งานได้จนถึงระดับไหล่[164]

วันที่ 3–6 กรกฎาคม 1986 ถูกกำหนดให้เป็น "วันหยุดสุดสัปดาห์แห่งอิสรภาพ" เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของรูปปั้นเทพีเสรีภาพและการเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง โดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนเป็นประธานในพิธีส่งมอบใหม่ ร่วมกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟร็องซัว มีแตร็อง ในวันที่ 4 กรกฎาคม มีการแสดง Operation Sail อีกครั้ง[165] และรูปปั้นเปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันที่ 5 กรกฎาคม[166] ในสุนทรพจน์ของเรแกน เขาได้กล่าวว่า "พวกเราคือผู้รักษาเปลวเพลิงแห่งเสรีภาพ เราชูมันขึ้นให้โลกได้เห็น"[165]

การปิดและเปิดใหม่อีกครั้ง (2001–ปัจจุบัน)

แก้
 
รูปปั้นเทพีเสรีภาพเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 โดยมีตึกแฝด เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกไฟไหม้เป็นฉากหลัง
 
บันไดใหม่สู่ยอดมงกุฏ

ทันทีหลังจากเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน รูปปั้นเทพีเสรีภาพและเกาะลิเบอร์ตีถูกปิดไม่ให้ประชาชนเข้าชม โดยเกาะเปิดอีกครั้งในช่วงปลายปีเดียวกัน ขณะที่ฐานและตัวรูปปั้นยังคงปิดอยู่ ฐานรูปปั้นเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2004[166] อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติประกาศว่าไม่สามารถเปิดให้เข้าถึงตัวรูปปั้นได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากมีความยากลำบากในการอพยพฉุกเฉิน และยังคงยึดจุดยืนดังกล่าวตลอดช่วงที่เหลือของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช[167] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากนิวยอร์ก แอนโธนี ไวเนอร์ ผลักดันให้มีการเปิดรูปปั้นเทพีเสรีภาพอีกครั้งจนกลายเป็นภารกิจส่วนตัวของเขา กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2009 เคน ซาลาร์ซาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ประกาศว่า รูปปั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อเป็น “ของขวัญพิเศษ” แก่ชาวอเมริกัน โดยจะอนุญาตให้มีผู้ขึ้นไปยังยอดมงกุฎได้ในจำนวนจำกัดต่อวัน[167]

 
คบเพลิงดั้งเดิมของเทพีเสรีภาพ (พ.ศ. 2429–2527) จัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์เทพีเสรีภาพ บน เกาะลิเบอร์ตี

รูปปั้นเทพีเสรีภาพ รวมถึงฐานและแท่น ถูกปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2011 เพื่อดำเนินการติดตั้งลิฟต์และบันไดใหม่ รวมถึงปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสมัยใหม่ รูปปั้นเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม 2012[168][169][170] แต่ต้องปิดอีกครั้งในวันถัดมาเนื่องจากการเตรียมรับมือกับพายุเฮอริเคนแซนดี[171] แม้จะไม่สร้างความเสียหายแก่ตัวรูปปั้นเทพีเสรีภาพโดยตรง แต่ก็ได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนบนเกาะลิเบอร์ตีและเกาะเอลลิส รวมถึงท่าเรือที่ใช้สำหรับเรือข้ามฟาก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2012 โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติประกาศว่าทั้งสองเกาะจะปิดทำการอย่างไม่มีกำหนดเพื่อดำเนินการซ่อมแซม[172] เนื่องจากเกาะลิเบอร์ตีไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงมีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพื่อจ่ายพลังงานให้กับไฟสปอตไลต์ชั่วคราวสำหรับส่องสว่างรูปปั้นในยามค่ำคืน เดวิด ลุคซิงเกอร์ ผู้ดูแลอนุสรณ์สถานแห่งชาติเทพีเสรีภาพ ซึ่งบ้านของเขาบนเกาะได้รับความเสียหายอย่างหนัก กล่าวว่า "มองโลกในแง่ดีก็...หลายเดือน"[173] ก่อนจะสามารถเปิดเกาะได้อีกครั้ง รูปปั้นและเกาะลิเบอร์ตีเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม 2013[174] ส่วนเกาะเอลลิสยังคงปิดซ่อมแซมต่อไปอีกหลายเดือน และเปิดอีกครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกัน[175]

 
คบเพลิงของเทพีเสรีภาพเมื่อมองจากมุมตะวันออกในเดือนมิถุนายน 2567

อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพเคยถูกปิดหลายครั้งจากเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการปิดทำการของรัฐบาล การประท้วง และการระบาดของโรค ในช่วงการปิดทำการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เดือนตุลาคม 2013 รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้ปิดทำการ เกาะลิเบอร์ตีและสถานที่ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางต้องปิดให้บริการเช่นกัน[176] นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2018 เกาะลิเบอร์ตีถูกปิดชั่วคราวหลังจากมีหญิงคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนรูปปั้นเพื่อประท้วงนโยบายการย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ[177] เกาะลิเบอร์ตี้ยังคงเปิดให้บริการในช่วงการปิดทำการของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาในปี 2018-19 เนื่องจากมูลนิธิเทพีเสรีภาพ–เกาะเอลลิสได้บริจาคเงินสนับสนุน[178] ต่อมาเกาะถูกปิดอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2020 เป็นต้นไป เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19[179] กระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 2020ปีเดียวกัน จึงเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนภายใต้แนวทางระยะที่ 4 ของนครนิวยอร์ก โดยเกาะเอลลิสยังคงปิดอยู่[180][181] และมงกุฎของรูปปั้นไม่เปิดให้เข้าชมจนถึงเดือนตุลาคม 2022[182]

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2016 ได้เริ่มต้นการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เทพีเสรีภาพแห่งใหม่บนเกาะลิเบอร์ตี ด้วยงบประมาณ $70 ล้าน[183] พิพิธภัณฑ์ขนาด 26,000-ตารางฟุต (2,400-ตารางเมตร) แห่งนี้เปิดให้ผู้มาเยือนเกาะทุกคนสามารถเข้าชมได้[184] ต่างจากพิพิธภัณฑ์เดิมที่อยู่ภายในฐานรูปปั้นซึ่งเปิดให้เข้าชมได้เพียง 20% ของผู้มาเยือนทั้งหมด[183] พิพิธภัณฑ์ใหม่ออกแบบโดยบริษัท FXFOWLE Architects โดยผสานกับภูมิทัศน์สวนสาธารณะโดยรอบ[185][186] การระดมทุนเพื่อโครงการนี้นำโดยไดแอน วอน เฟอร์สเตนเบิร์ก และสามารถระดมทุนได้กว่า 40 ล้านดอลลาร์ก่อนเริ่มก่อสร้าง[185] พิพิธภัณฑ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2019[187][188]

ที่ตั้งและการเข้าถึง

แก้
 
นักท่องเที่ยวบนเรือเฟอร์รี เซอร์เคิลไลน์ ที่กำลังมาถึง เกาะลิเบอร์ตี เดือนมิถุนายน 1973

รูปปั้นเทพีเสรีภาพตั้งอยู่ในอ่าวนิวยอร์กตอนบนบนเกาะลิเบอร์ตี ทางตอนใต้ของเกาะเอลลิส ทั้งสองเกาะรวมกันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติเทพีเสรีภาพ โดยนิวยอร์กได้ยกเกาะทั้งสองให้รัฐบาลกลางในปี 1800 ตามข้อตกลง ระหว่างนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ในปี 1834 ซึ่งกำหนดพรมแดนรัฐไว้ที่กึ่งกลางอ่าว แม้เกาะจะอยู่ฝั่งนิวเจอร์ซีย์ แต่เกาะดั้งเดิมยังคงเป็นดินแดนของนิวยอร์ก โดยเกาะลิเบอร์ตีเป็นส่วนหนึ่งของเกาะของเขตแมนฮัตตัน ส่วนที่พื้นที่ที่ถมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่ 2.3-เอเคอร์ (0.93-เฮกตาร์) ของเกาะดั้งเดิมในเกาะเอลลิสเป็นดินแดนของรัฐนิวเจอร์ซีย์

การเข้าชมอนุสรณ์สถานแห่งชาติไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ผู้เยี่ยมชมต้องจ่ายค่าบริการเรือข้ามฟาก[189] เนื่องจากเรือส่วนตัวไม่ได้รับอนุญาตให้จอดที่เกาะ ในปี 2007 บริษัทสแตชูครูเซส ได้รับสัมปทานให้ดำเนินการขนส่งและจำหน่ายตั๋ว แทนที่บริษัทเซอร์เคิลไลน์ ซึ่งให้บริการมาตั้งแต่ปี 1953 เรือข้ามฟากออกจากลิเบอร์ตีสเตตพาร์ก ในเจอร์ซีย์ซิตี และย่านแบตเตอรีในแมนฮัตตันตอนล่าง โดยจะแวะที่เกาะเอลลิสเมื่อเปิดให้เข้าชม ทำให้สามารถเดินทางรวมกันได้ ผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนขึ้นเรือ เช่นเดียวกับขั้นตอนในสนามบิน

ผู้เยี่ยมชมที่ต้องการเข้าชมฐานของรูปปั้นต้องซื้อตั๋วแบบรวมโดยมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเมื่อซื้อตั๋วเรือข้ามฟาก[189] ส่วนผู้ที่ต้องการขึ้นบันไดภายในรูปปั้นไปยังมงกุฎต้องซื้อตั๋วพิเศษ ซึ่งออกจากแบตเตอรีพาร์ก หรือลิเบอร์ตีสเตตพาร์ก และสามารถจองล่วงหน้าได้สูงสุด 5 เดือน สำหรับกลุ่มไม่เกิน 4 คน มีเพียง 425 คนต่อวันที่สามารถซื้อตั๋วแบบรวมเรือข้ามฟาก ฐาน และมงกุฎ[190] ผู้ที่ปีนขึ้นไปยังมงกุฎสามารถนำยา ขวดน้ำพลาสติก โทรศัพท์ และกล้องติดตัวไปได้เท่านั้น โดยต้องฝากของอื่นไว้ในตู้ล็อกเกอร์ และผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอีกครั้ง[191] ระเบียงรอบคบเพลิงถูกปิดไม่ให้เข้าชมตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดบนเกาะแบล็กทอมในปี 1916[192] แต่สามารถชมได้ผ่านกล้องเว็บแคม[193]

จารึก แผ่นป้าย และคำอุทิศ

แก้
 
อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพตั้งอยู่บน เกาะลิเบอร์ตี้

มีแผ่นโลหะและแผ่นจารึกหลายแผ่นติดอยู่บนหรือใกล้อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ

  • แผ่นโลหะที่ติดอยู่ใต้รูปปั้นด้านหน้า ระบุว่าเป็นรูปปั้นขนาดยักษ์แทนอิสรภาพ ออกแบบโดยบาร์โทลดี และสร้างโดยบริษัท Gaget, Gauthier et Cie ในปารีส ( Cie เป็นคำย่อภาษาฝรั่งเศสที่เทียบเท่ากับ Co. ) [192]
  • แผ่นป้ายที่มีชื่อบาร์โตลดีระบุว่ารูปปั้นนี้เป็นของขวัญจากประชาชนแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อเป็นเกียรติแก่ “พันธมิตรของทั้งสองประเทศในการบรรลุเอกราชของสหรัฐอเมริกา และยืนยันมิตรภาพอันยั่งยืน”[192]
  • แผ่นจารึกโดยคณะกรรมการอเมริกันจัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงการระดมทุนสร้างฐานรูปปั้น[192]
  • ศิลาฤกษ์มีแผ่นจารึกที่กลุ่มฟรีเมสันวางไว้[192]
  • ในปี 1903 เพื่อนของกวีเอ็มมา ลาซารัสได้มอบแผ่นโลหะสัมฤทธิ์จารึกบทกวี เรื่อง "The New Colossus" (1883) ให้แก่เธอ เดิมติดตั้งอยู่ภายในฐานรูปปั้นจนถึงการปรับปรุงในปี 1986 จากนั้นจึงย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เทพีเสรีภาพ[192]
  • แผ่นจารึก "The New Colossus" จัดแสดงร่วมกับอีกแผ่นที่มอบโดยคณะกรรมการรำลึกเอ็มมา ลาซารัสในปี 1977 เพื่อเฉลิมฉลองชีวิตของกวี[192]

ที่ปลายด้านตะวันตกของเกาะ มีรูปปั้นกลุ่มเพื่อยกย่องบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อเทพีเสรีภาพ ได้แก่ ชาวอเมริกัน 2 คน คือ พูลิตเซอร์และลาซารัส และชาวฝรั่งเศส 3 คนคือ บาร์โตลดี ไอเฟล และลาบูเลย์ ผลงานประติมากรรมเหล่านี้สร้างโดยฟิลิป แรตเนอร์ ประติมากรจากรัฐแมริแลนด์[194]

การขึ้นทะเบียนสถานที่ทางประวัติศาสตร์

แก้

ประธานาธิบดี แคลวิน คูลิดจ์ ประกาศให้เทพีเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งของอนุสรณ์สถานแห่งชาติเทพีเสรีภาพ อย่างเป็นทางการในปี 1924[195] อนุสรณ์สถานนี้ถูกขยายให้รวมเกาะเอลลิสในปี 1965[196][197] และในปีถัดมา ทั้งเทพีเสรีภาพและเกาะเอลลิสถูกรวมไว้ในทะเบียนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ โดยเทพีเสรีภาพได้รับการขึ้นทะเบียนแยกต่างหากในปี 2017 ในระดับรัฐ อนุสรณ์สถานแห่งนี้ถูกขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัฐนิวเจอร์ซี ในปี 1971 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญของนครนิวยอร์กในปี 1976

ในปี 1984 อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก โดยใน "คำแถลงความสำคัญ” ยูเนสโกยกย่องว่าเป็น “ผลงานชิ้นเอกแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์" และเป็น "สัญลักษณ์อันทรงพลังที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการไตร่ตรอง ถกเถียง และประท้วง" ต่ออุดมคติเช่น เสรีภาพ สันติภาพ สิทธิมนุษยชน การเลิกทาส ประชาธิปไตย และโอกาส

ข้อมูลจำเพาะ

แก้
 
เมื่อมองจากพื้นดินบนเกาะลิเบอร์ตี
คุณลักษณะ[198] อเมริกา เมตริก
ความสูงของอนุสาวรีย์ทองแดง 151 ฟุต 1 นิ้ว 46 เมตร
จากฐานระดับพื้นดิน ถึงปลายไฟบนคบเพลิง 305 ฟุต 1 นิ้ว 93 เมตร
ส้นเท้าถึงด้านบนของหัว 111 ฟุต 1 นิ้ว 34 เมตร
ความสูงของมือ 16 ฟุต 5 นิ้ว 5 เมตร
นิ้วชี้ 8 ฟุต 1 นิ้ว 2.44 เมตร
เส้นรอบวงที่สองของนิ้ว 3 ฟุต 6 นิ่ว 1.07 เมตร
คางถึงหัวกะโหลก 17 ฟุต 3 นิ้ว 5.26 เมตร
ความหนาของหัวจากหูถึงหู 10 ฟุต 0 นิ้ว 3.05 เมตร
ระยะห่างระหว่างตา 2 ฟุต 6 นิ้ว 0.76 เมตร
ความยาวของจมูก 4 ฟุต 6 นิ้ว 1.48 เมตร
ความยาวของแขนขวา 42 ฟุต 0 นิ้ว 12.8 เมตร
ส่วนที่หนาสุดของแขนขวา 12 ฟุต 0 นิ้ว 3.66 เมตร
ความหนาของเอว 35 ฟุต 0 นิ้ว 10.67 เมตร
ความกว้างของปาก 3 ฟุต 0 นิ้ว 0.91 เมตร
แผ่นจารึก, ความยาว 23 ฟุต 7 นิ้ว 7.19 เมตร
แผ่นจารึก, ความกว้าง 13 ฟุต 7 นิ้ว 4.14 เมตร
แผ่นจารึก, ความหนา 2 ฟุต 0 นิ้ว 0.61 เมตร
ความสูงของแท่น 89 ฟุต 0 นิ้ว 27.13 เมตร
ความสูงของฐาน 65 นิ้ว 0 นิ้ว 19.81 เมตร
น้ำหนักทองแดงที่ใช้ในการสร้าง 60,000 ปอนด์ 27.22 ตัน
น้ำหนักเหล็กที่ใช้ในการสร้าง 250,000 ปอนด์ 113.4 ตัน
น้ำหนักรวมของตัวอนุเสาวรีย์ 450,000 ปอนด์ 204.1 ตัน
ความหนาของแผ่นทองแดง 3/32 ของนิ้ว 2.4 มิลลิเมตร

การปรากฏในสื่อต่าง ๆ

แก้
 
แบบจำลองที่โอไดบะ ในอ่าวโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสะพานสายรุ้งเป็นฉากหลัง
 
แบบจำลองบน Pont de Grenelle ปารีส

มีรูปปั้นจำลองเทพีเสรีภาพ จัดแสดงอยู่ทั่วโลกนับร้อยรูป[192] หนึ่งในนั้นคือแบบจำลองขนาดหนึ่งในสี่ของของจริง ซึ่งชุมชนชาวอเมริกันในปารีสมอบให้แก่เมืองปารีส ปัจจุบันตั้งอยู่บนเกาะอิล โอ ซิน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่รูปปั้นต้นฉบับ[192] ส่วนแบบจำลองสูง 30 ฟุต (9.1 เมตร) ที่เคยตั้งอยู่บนโกดังลิเบอร์ตีบนถนนเวสต์ 64th ถนนสายนี้ในแมนฮัตตันมาหลายปี[192] ปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์บรุกลิน ในช่วงปี 1949–1952 กองลูกเสือแห่งอเมริกา ได้บริจาครูปปั้นจำลองเทพีเสรีภาพสูง 100 นิ้ว (2.5 เมตร) ที่ทำจากทองแดงประทับตราประมาณ 200 รูป ให้กับรัฐและเทศบาลทั่วสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Strengthen the Arm of Liberty เพื่อแสดงความรักชาติ สูงตามรัฐและเทศบาลทั่วสหรัฐอเมริกา แม้ไม่ใช่แบบจำลองของจริง แต่รูปปั้นเทพีประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นชั่วคราวในช่วงการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส โดยช่างปั้นตั้งใจหลีกเลี่ยงไม่ให้เหมือนเทพีเสรีภาพอย่างชัดเจน[192] นอกจากนี้ ยังมีแบบจำลองเทพีเสรีภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างภายนอกโรงแรมและคาสิโนนิวยอร์ก-นิวยอร์กซึ่งจำลองสถาปัตยกรรมของนครนิวยอร์กด้วย

ในฐานะสัญลักษณ์ของอเมริกา เทพีเสรีภาพจึงปรากฏบนเหรียญกษาปณ์และแสตมป์ของประเทศ รวมถึงเหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีในปี 1986 และบนเหรียญชุดควอเตอร์ของรัฐสำหรับนิวยอร์กในปี 2001 ภาพของเทพีเสรีภาพถูกนำมาใช้บนเหรียญกษาปณ์ทองคำขาว อเมริกันอีเกิล ในปี 1997 และปรากฏที่ด้านหลังของเหรียญชุดดอลลาร์ประธานาธิบดีที่ใช้หมุนเวียนทั่วไป นอกจากนี้ คบเพลิงของรูปปั้นยังปรากฏอยู่สองตำแหน่งบนธนบัตรสิบดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่วนแสตมป์ถาวรซึ่งตั้งใจใช้ภาพของเทพีเสรีภาพ กลับกลายเป็นภาพของแบบจำลองจากคาสิโนในลาสเวกัสโดยไม่ตั้งใจ

ภาพของเทพีเสรีภาพถูกนำมาใช้โดยหลายสถาบันระดับภูมิภาค ระหว่างปี 1986 ถึง 2000 รัฐนิวยอร์กได้ออกป้ายทะเบียนที่มีโครงร่างของรูปปั้น ทีมนิวยอร์กลิเบอร์ตีจาก สมาคมบาสเกตบอลหญิงแห่งชาติ ใช้ทั้งชื่อและภาพของรูปปั้นในโลโก้ โดยเปลวไฟของคบเพลิงถูกออกแบบให้เป็นลูกบาสเกตบอลด้วย ทีมนิวยอร์ดเรนเจอส์จากแนชันแนลฮอกกีลีก ได้นำภาพศีรษะของเทพีเสรีภาพมาใช้บนเสื้อแข่งตัวที่สามตั้งแต่ปี 1997 การแข่งขันบาสเกตบอลชายรอบสุดท้ายประจำปี 1996 ของสมาคมนักกีฬาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์กีฬาเมโดวแลนส์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ก็ใช้รูปปั้นนี้ในโลโก้เช่นกัน ขณะที่พรรคเสรีนิยมแห่งสหรัฐอเมริกาใช้รูปปั้นเป็นตราสัญลักษณ์ของพรรค

เทพีเสรีภาพมักปรากฏในวัฒนธรรมสมัยนิยม โดยเฉพาะในดนตรี ทั้งในบริบทสนับสนุนนโยบายของสหรัฐ เช่น เพลง เคอร์เทซีออฟเดอะเรดไวต์แอนด์บลู (ดิแองกรีอเมริกัน) ของ โทบี คีธ ในปี 2002 และในบริบทวิจารณ์ เช่น การปรากฏบนปกอัลบั้ม เบดไทม์ฟอร์เดโมเครซีฃ ของวงเดดเคนเนดีส์ ซึ่งประท้วงรัฐบาลเรแกน ในภาพยนตร์ คบเพลิงของเทพีเสรีภาพเป็นฉากไคลแม็กซ์ในภาพยนตร์ Saboteur ของผู้กำกับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ในปี 1942 รูปปั้นนี้ยังปรากฏอย่างโด่งดังใน พิภพวานร เมื่อปี 1968 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทพีถูกฝังอยู่ในทรายครึ่งหนึ่ง ในเรื่อง ไอดี 4 สงครามวันดับโลก รูปปั้นถูกกระแทกล้ม และในเรื่อง วันวิบัติอสูรกายถล่มโลก หัวของรูปปั้นถูกฉีกออก[199] ในนวนิยายย้อนเวลา ไทม์แอนด์อะเกน ของแจ็ก ฟินนีย์ ในปี 1970 แขนขวาของรูปปั้นที่จัดแสดงในเมดิสันสแควร์พาร์คช่วงต้นทศวรรษ 1880 มีบทบาทสำคัญ ขณะที่ โรเบิร์ต โฮลด์สต็อก บรรณาธิการ The Encyclopedia of Science Fiction ได้ตั้งคำถามไว้ในปี 1979 ว่า

โลกของนิยายวิทยาศาสตร์จะเป็นอย่างไร หากปราศจากเทพีเสรีภาพ? หลายทศวรรษที่ผ่านมา รูปปั้นนี้ยืนตระหง่านหรือล้มลงอยู่ท่ามกลางซากปรักของโลกที่รกร้าง — ยักษ์ถอนมันขึ้นมา มนุษย์ต่างดาวจ้องมองด้วยความสงสัย... สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและความหวังได้กลายเป็นภาพแทนมุมมองที่สิ้นหวังของอนาคตในโลกนิยายวิทยาศาสตร์

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Hayden & Despont 1986, p. 45.
  2. Sutherland 2003, p. 19.
  3. 3.0 3.1 3.2 Khan 2010, p. 113.
  4. Jacobs, Julia (2019-05-15). "New Statue of Liberty Museum Illuminates a Forgotten History". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-06-21. สืบค้นเมื่อ 2024-07-22.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Celebrate Lady Liberty". The Statue of Liberty—Ellis Island Foundation (ภาษาอังกฤษ). 2021-10-25. สืบค้นเมื่อ 2024-07-22.
  6. "Abolition". Statue of Liberty National Monument (ภาษาอังกฤษ). National Park Service. February 26, 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 8, 2019. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
  7. "The French Connection". National Park Service. May 19, 2019. สืบค้นเมื่อ June 10, 2023.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Harris 1985, pp. 7–9.
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Africa
  10. "Abolition". National Park Service. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 14, 2014. สืบค้นเมื่อ July 7, 2014.
  11. 11.0 11.1 Hayden & Despont 1986, pp. 24. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "FOOTNOTEHaydenDespont198624" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  12. "The Statue of Liberty and its Ties to the Middle East" (PDF). University of Chicago. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ April 20, 2015. สืบค้นเมื่อ February 8, 2017.
  13. Harris 1985, pp. 7–8.
  14. Karabell, Zachary (2003). Parting the desert: the creation of the Suez Canal. Alfred A. Knopf. p. 243. ISBN 0-375-40883-5.
  15. Khan 2010, pp. 60–61.
  16. Moreno 2000, pp. 39–40.
  17. Harris 1985, pp. 12–13.
  18. Khan 2010, pp. 102–103.
  19. Moreno 2000, pp. 39–4.
  20. Harris 1985, pp. 16–17.
  21. 21.0 21.1 Khan 2010, p. 85.
  22. Harris 1985, pp. 10–11.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 Sutherland 2003, pp. 17–19.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ dela
  25. Bagnall, Roger S., บ.ก. (2013). The Encyclopedia of Ancient History. Malden, Massachusetts: Wiley-Blackwell. ISBN 978-1-4051-7935-5. OCLC 230191195.
  26. Roberts, J. M. (1993). History of the World. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-521043-3. OCLC 28378422.
  27. Harrison, Marissa A. (2010). "An exploratory study of the relationship between second toe length and androgen-linked behaviors". Journal of Social, Evolutionary, and Cultural Psychology. 4 (4): 241–253. doi:10.1037/h0099286. ISSN 1933-5377.
  28. Khan 2010, pp. 96–97.
  29. 29.0 29.1 Khan 2010, pp. 105–108.
  30. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ mint
  31. 31.0 31.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Turner
  32. Moreno 2000, pp. 52–53, 55, 87.
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 33.4 33.5 Interviewed for Watson, Corin. Statue of Liberty: Building a Colossus (TV documentary, 2001)
  34. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Bartholdi42
  35. 35.0 35.1 Khan 2010, pp. 108–111.
  36. Hayden & Despont 1986.
  37. Khan 2010, pp. 118, 125.
  38. Harris 1985, p. 26.
  39. Jean-Michel, Jean-Michel (2016). "Au Musée Bartholdi de Colmar, la statue de la Liberté et autres chefs-d'oeuvre". France Info : culture (ภาษาฝรั่งเศส).
  40. Khan 2010, p. 121.
  41. 41.0 41.1 41.2 Khan 2010, pp. 123–125.
  42. Tharoor, Ishaan (November 20, 2015). "The Middle Eastern origins of the Statue of Liberty". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 21, 2015. สืบค้นเมื่อ June 26, 2024.
  43. 43.0 43.1 Harris 1985, pp. 44–45.
  44. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Norway
  45. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NYT2009b
  46. Sutherland 2003, p. 36.
  47. Khan 2010, pp. 126–128.
  48. Bell & Abrams 1984, p. 25.
  49. Bell & Abrams 1984, p. 26.
  50. Khan 2010, p. 130.
  51. 51.0 51.1 Harris 1985, p. 49.
  52. 52.0 52.1 Khan 2010, p. 134.
  53. Bell & Abrams 1984, p. 30.
  54. Moreno 2000, p. 94.
  55. Khan 2010, p. 135.
  56. 56.0 56.1 Khan 2010, p. 137.
  57. Bell & Abrams 1984, p. 32.
  58. Khan 2010, pp. 136–137.
  59. Hayden & Despont 1986, p. 25.
  60. Hayden & Despont 1986, p. 26.
  61. Moreno 2000, p. 22.
  62. Khan 2010, pp. 139–143.
  63. Harris 1985, p. 30.
  64. Harris 1985, p. 33.
  65. Harris 1985, p. 32.
  66. Harris 1985, p. 34.
  67. "La tour a vu le jour à Levallois". Le Parisien (ภาษาฝรั่งเศส). April 30, 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2019. สืบค้นเมื่อ December 8, 2012.
  68. Khan 2010, p. 144.
  69. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ PBS
  70. Harris 1985, pp. 36–38.
  71. Harris 1985, p. 39.
  72. Harris 1985, p. 38.
  73. Bell & Abrams 1984, p. 37.
  74. Bell & Abrams 1984, p. 38.
  75. 75.0 75.1 Khan 2010, pp. 159–160.
  76. Khan 2010, p. 163.
  77. Khan 2010, p. 161.
  78. 78.0 78.1 Khan 2010, p. 160.
  79. Moreno 2000, p. 91.
  80. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ stats
  81. 81.0 81.1 Khan 2010, p. 169.
  82. 82.0 82.1 82.2 82.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ stal
  83. Harris 1985, pp. 71–72.
  84. Sutherland 2003, pp. 49–50.
  85. 85.0 85.1 Moreno 2000, pp. 184–186.
  86. "Branford's History Is Set in Stone". Connecticut Humanities. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2013. สืบค้นเมื่อ July 3, 2013.
  87. "STRUCTUREmag – Structural Engineering Magazine, Tradeshow: Joachim Gotsche Giaver". November 27, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 27, 2012.
  88. Khan 2010, pp. 163–164.
  89. Khan 2010, pp. 165–166.
  90. Moreno 2000, pp. 172–175.
  91. Bruinius, Harry (May 16, 2019). "What Does Lady Liberty Stand for? A Look at Changing Attitudes". The Christian Science Monitor. ISSN 0882-7729.
  92. "A World Room Welcome". blogs.cul.columbia.edu. January 23, 2023. สืบค้นเมื่อ January 25, 2023.
  93. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Levine
  94. Bell & Abrams 1984, pp. 40–41.
  95. 95.0 95.1 95.2 Harris 1985, p. 105.
  96. Sutherland 2003, p. 51.
  97. Harris 1985, p. 107.
  98. Harris 1985, p. 110–111.
  99. Mitchell, Elizabeth (2014). Liberty's Torch: The Great Adventure to Build the Statue of Liberty. Atlantic Monthly Press. p. 221. ISBN 978-0-8021-2257-5.
  100. Andrews, Elisha Benjamin (1896). The History of the Last Quarter-century in the United States, 1870-1895. Scribner. p. 133.
  101. The World Almanac & Book of Facts. Newspaper Enterprise Association. 1927. p. 543.
  102. Harris 1985, p. 112.
  103. "The Isere-Bartholdi Gift Reaches the Horseshoe Safely" (PDF). The Evening Post. June 17, 1885. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ January 12, 2021. สืบค้นเมื่อ February 11, 2013.
  104. Harris 1985, p. 114.
  105. 105.0 105.1 Moreno 2000, p. 19.
  106. Bell & Abrams 1984, p. 49.
  107. Moreno 2000, p. 64.
  108. Hayden & Despont 1986, p. 36.
  109. 109.0 109.1 109.2 Harris 1985, pp. 133–134.
  110. Moreno 2000, p. 65.
  111. Mitchell, Elizabeth (2014). Liberty's Torch: The Great Adventure to Build the Statue of Liberty. Atlantic Monthly Press. pp. 259. ISBN 978-0-8021-9255-4.
  112. "Why is the Statue of Liberty so green? There's more to it than just a pretty color". ZME Science. December 11, 2022. สืบค้นเมื่อ July 16, 2024.
  113. Khan 2010, p. 176.
  114. 114.0 114.1 Khan 2010, pp. 177–178.
  115. Bell & Abrams 1984, p. 52.
  116. 116.0 116.1 Harris 1985, p. 127.
  117. 117.0 117.1 Moreno 2000, p. 71.
  118. Harris 1985, p. 128.
  119. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Cleveland
  120. 120.0 120.1 120.2 120.3 Moreno 2000, p. 41.
  121. Moreno 2000, p. 24.
  122. "The immigrants' statue". National Park Service. February 26, 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2020. สืบค้นเมื่อ April 8, 2020.
  123. 123.0 123.1 Sutherland 2003, p. 78.
  124. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NYT2009a
  125. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NYTpaint
  126. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NYTtoilet
  127. 127.0 127.1 Harris 1985, p. 168.
  128. Rielage, Dale C. (2002-01-01). Russian Supply Efforts in America During the First World War (ภาษาอังกฤษ). McFarland. p. 71. ISBN 978-0-7864-1337-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 4, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-01-21.
  129. Harris 1985, pp. 136–139.
  130. Moreno 2000, pp. 148–151.
  131. Harris 1985, p. 147.
  132. Moreno 2000, p. 136.
  133. 133.0 133.1 Moreno 2000, p. 202.
  134. 134.0 134.1 Harris 1985, p. 169.
  135. Harris 1985, pp. 141–143.
  136. Moreno 2000, pp. 147–148.
  137. "Honorees". Lapride.org. January 4, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 6, 2012. สืบค้นเมื่อ November 6, 2012.
  138. "The Feminist Chronicles, 1953–1993 – 1970 – Feminist Majority Foundation". Feminist.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 2012. สืบค้นเมื่อ November 6, 2012.
  139. 1973 World Almanac and Book of Facts, p. 996.
  140. Moreno 2000, pp. 72–73.
  141. Harris 1985, p. 143.
  142. Moreno 2000, p. 20.
  143. Harris 1985, p. 165.
  144. 144.0 144.1 Harris 1985, pp. 169–171.
  145. Hayden & Despont 1986, p. 22: the statue had been changed—and sections even mutilated)
  146. Hayden & Despont 1986, p. 38.
  147. "Repairs due for Miss Liberty". Asbury Park Press. Associated Press. June 20, 1982. p. 3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2021. สืบค้นเมื่อ June 5, 2019 – โดยทาง newspapers.com  .
  148. Krebs, Albin; Thomas, Robert McG. Jr. (May 19, 1982). "NOTES ON PEOPLE; Iacocca to Head Drive to Restore Landmarks". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2019. สืบค้นเมื่อ June 8, 2019.
  149. Moreno 2000, pp. 204–205.
  150. Moreno 2000, pp. 216–218.
  151. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Daw
  152. Hayden & Despont 1986, p. 81.
  153. Hayden & Despont 1986, p. 76.
  154. Hayden & Despont 1986, p. 55.
  155. Harris 1985, p. 172.
  156. Hayden & Despont 1986, p. 153.
  157. Hayden & Despont 1986, p. 75.
  158. 158.0 158.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ faq2
  159. Hayden & Despont 1986, pp. 74–76.
  160. Hayden & Despont 1986, p. 57.
  161. Moreno 2000, p. 153.
  162. Hayden & Despont 1986, p. 71.
  163. Hayden & Despont 1986, p. 84.
  164. Hayden & Despont 1986, p. 88.
  165. 165.0 165.1 Sutherland 2003, p. 106.
  166. 166.0 166.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ histcult
  167. 167.0 167.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ reopen
  168. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ StLi
  169. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Raja
  170. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ SacBee
  171. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NBCNews
  172. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NYTstorm
  173. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NYTbeat
  174. Long, Colleen (July 4, 2013). "Statue of Liberty reopens as US marks July Fourth". Yahoo! News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 7, 2013. สืบค้นเมื่อ July 4, 2013.
  175. Foderaro, Lisa (October 28, 2013). "Ellis Island Welcoming Visitors Once Again, but Repairs Continue". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 8, 2015. สืบค้นเมื่อ October 19, 2014.
  176. Armaghan, Sarah (October 1, 2013). "Statue of Liberty Closed in Shutdown". The Wall Street Journal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 18, 2017. สืบค้นเมื่อ August 4, 2017.
  177. Shannon, James. "Woman Climbs Base of the Statue of Liberty After ICE Protest". USA TODAY (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 4, 2018. สืบค้นเมื่อ July 5, 2018.
  178. "Additional funds will keep Statue of Liberty, Ellis Island open during federal shutdown". NorthJersey.com. January 15, 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2019. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
  179. Kim, Allen (March 16, 2020). "Statue of Liberty and Ellis Island close due to coronavirus outbreak". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 17, 2020. สืบค้นเมื่อ March 17, 2020.
  180. "Statue of Liberty to Open Early Next Week, Ellis Island Kept Closed". NBC New York (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). July 13, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 8, 2020. สืบค้นเมื่อ August 3, 2020.
  181. "Reopen News: Liberty Island to only partially reopen Monday, Ellis Islands will remain closed". ABC7 New York (ภาษาอังกฤษ). July 17, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 16, 2020. สืบค้นเมื่อ August 3, 2020.
  182. Delaney, Jillian (October 10, 2022). "Statue of Liberty's crown to open for first time since COVID-19 pandemic". Staten Island Advance. สืบค้นเมื่อ October 10, 2022.
  183. 183.0 183.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ nydn
  184. "See Behind the Scenes as the Statue of Liberty's Original Torch Moves to Its New Home". Time. February 18, 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2019. สืบค้นเมื่อ April 7, 2019.
  185. 185.0 185.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ dnainfo
  186. Pereira, Ivan (October 6, 2016). "Statue of Liberty Museum to open in 2019". am New York. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 8, 2016. สืบค้นเมื่อ October 7, 2016.
  187. Rosenberg, Zoe (May 1, 2019). "Statue of Liberty will ban tour guides from some of its most popular areas". Curbed NY. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 1, 2019. สืบค้นเมื่อ May 2, 2019.
  188. "Everyone's Welcome at the Statue of Liberty. Except Tour Guides". The New York Times. April 1, 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 1, 2019. สืบค้นเมื่อ May 2, 2019.
  189. 189.0 189.1 "Fees & Passes". Statue Of Liberty National Monument (U.S. National Park Service). May 20, 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 4, 2019. สืบค้นเมื่อ June 16, 2019. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Fees" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  190. "New York Crown Reserve Tickets". Statue City Cruises. Statue City Cruises. สืบค้นเมื่อ January 25, 2025.
  191. "Visiting the Crown". Statue of Liberty National Monument. National Park Service. สืบค้นเมื่อ January 25, 2025.
  192. 192.00 192.01 192.02 192.03 192.04 192.05 192.06 192.07 192.08 192.09 192.10 Moreno 2000.
  193. "Live from the Golden Torch". EarthCam. EarthCam. สืบค้นเมื่อ December 20, 2021.
  194. Harris 1985.
  195. "Liberty Statue Made a National Monument, Its Base a Park, by Coolidge Proclamation". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). December 10, 1924. ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 4, 2019. สืบค้นเมื่อ July 4, 2019.
  196. Healy, Paul (May 12, 1965). "Ellis Island Finds Shelter With Miss Liberty". New York Daily News. p. 3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2021. สืบค้นเมื่อ June 5, 2019 – โดยทาง newspapers.com  .
  197. "Proclamation 3656 – Adding Ellis Island to the Statue of Liberty National Monument". April 5, 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 26, 2017. สืบค้นเมื่อ July 4, 2019.
  198. https://www.nps.gov/stli/learn/historyculture/statue-statistics.htm
  199. Ulaby, Neda (January 11, 2008). "'Cloverfield' Release Will Be Test of Online Hype". NPR. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 14, 2008. สืบค้นเมื่อ June 8, 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

40°41′21″N 74°02′41″W / 40.6893°N 74.0446°W / 40.6893; -74.0446