หิรัญนครเงินยางเชียงลาว
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
หิรัญนครเงินยางเชียงลาว หรือ ชยวรนคร (เมืองเชียงลาว)[1] หรือ เหรัญญนครเงินยางเชียงแสน[2] หรือ นครยางคปุระ[3] หรือเมืองท่าซาย(ท่าทราย)เงินยาง[4] (คำเมือง: ) เป็นอาณาจักรหนึ่งในบริเวณที่เป็นประเทศไทยและประเทศลาวปัจจุบัน
เหตุการณ์แก้ไข
หลังจากการล่มสลายของโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ลาวจังราช หรือ ลาวจง (ซึ่งตามตำนานว่าเกิดโดยโอปปาติกใต้ต้นพุทรา หรือบางตำนานว่าไต่บันไดเงินและทองคำลงมาบริเวณดอยตุง) ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ เรียกราชวงศ์ใหม่นี้ว่าราชวงศ์ลาว
ลาวจังกราช ครองราชย์ในเมืองหิรัญนครเงินยาง เชื่อว่าอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่า เวียงพานคำ ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สอดคล้องกับที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ฉบับวัดพระงาม)และตำนานเมืองพะเยา ว่า บริเวณเมืองหิรัญนครเงินยาง อยู่แถวๆแถบแม่น้ำสาย และดอยตุง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนเป็นหลักฐานเดียวที่กล่าวว่าหิรัญนครเงินยางอยู่บริเวณเดียวกับเมืองเชียงแสน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อย เพราะหลายๆตำนานระบุว่าพญาแสนพูสร้างเมืองเชียงแสนทับเวียงรอย)
หลังจากนั้นในสมัยลาวเคียง พระองค์ได้ทำการปรับปรุงขยายเขตแนวคูเมืองหิรัญนครเงินยางเพื่อให้เป็นเวียงใหม่ใกล้แม่น้ำละว้า และขนานนามเวียงที่ขยายใหม่นี้ว่า ยางสาย (พื้นเมืองเชียงใหม่ว่าตั้งชื่อเมืองยางเงิน) และทำการเปลี่ยนชื่อแม่น้ำละว้า เป็น แม่น้ำสาย แสดงให้เห็นว่าสถานที่ตั้งของเมืองหิรัญนครเงินยางควรอยู่ติดน้ำแม่สายเชิงดอยตุง ไม่ได้อยู่บริเวณเมืองเชียงแสนดังที่เชื่อถือกันในปัจจุบัน [5] ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยสำรวจพื้นที่ “เวียงพางคำ” ของ วรสิทธิ์ โอภาพ ที่พบว่าเวียงพางคำมีแนวคันดินแบ่งเป็น 2 เวียง โดยมีเมืองอยู่แล้ว แนวคันดินเพิ่งสร้างทีหลังเพื่อขยายเขตตัวเมือง (เวียงพางคำจึงควรเป็นหิรัญนครเงินยาง ไม่ควรเป็นเวียงสี่ตวง-เวียงพานคำของพระเจ้าพรหม)[6]
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อ พญามังรายขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ พระองค์ที่ 25 ของหิรัญนครเงินยางเชียงลาวในปี พ.ศ. 1805 พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริจะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น
เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราช พระองค์ได้สร้างเมืองเชียงรายและประทับที่นั่น เป็นราชธานีแห่งใหม่ ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลาว แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว เริ่มต้น ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา
ลาวจังกราชแก้ไข
ลาวจังกราช หรือ ลาวจง พระองค์ มีราชบุตร 3 พระองค์ ได้แก่ ลาวครอบ ลาวช้าง และ ลาวเกล้าแก้วมาเมือง ตามตำนานการสร้างวัดพระธาตุดอยปูเข้า ได้ระบุว่าทรงให้บุตรของพระองค์ครองเมืองดังนี้
- ลาวครอบ ครอง เมืองเชียงของ
- ลาวช้าง ครองเมืองยอง
- ลาวเกล้าแก้วมาเมือง ครองเมืองหิรัญนครเชียงลาว สืบต่อมา
กษัตริย์ราชวงศ์นี้มีกษัตริย์สืบต่อมาถึง 24 องค์ ซึ่งล้วนใช้คำนำหน้าว่าลาว ในระหว่างนั้นหลายองค์ได้มีการส่งราชบุตรของตนออกไปครองเมืองต่าง ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ ล้านช้าง น่าน ฯลฯ ดังนั้น เมืองทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นเครือญาติกัน
อนึ่ง ลาวจังกราช หรือ ลาวจง ปฐมกษัตริย์หิรัญนครเงินยางเชียงลาว เป็นคนละคนกับ ลาวจักราช ปู่เจ้าลาวจก หรือ ลาวจก หัวหน้าชาวลัวะบนดอยดินแดง ที่พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์โยนกไชยบุรีศรีช้างแส่น ขอซื้อที่ดินดอยดินแดงเพื่อสร้างพระธาตุดอยตุง และตั้งลาวจกให้อุปัฏฐากรักษาพระธาตุดอยตุง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักสับสนว่าเป็นคนเดียวกัน
รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงลาวแก้ไข
ยุคเมืองหิรัญนครเงินยางแก้ไข
- ลาวจังกราช(ลาวจง)
- ลาวเกล้าแก้วมาเมือง
- ลาวเสา
- ลาวตั้ง
- ลาวกม
- ลาวแหลว
- ลาวกับ
- ลาวกืน
ยุคขยายเมืองยางสาย(ยางเงิน)แก้ไข
- ลาวเครียง(ลาวเคียง)
- ลาวกิน(ลาวคริว)
- ลาวทึง
- ลาวเทิง
- ลาวตน
- ลาวโฉม
- ลาวกวัก
- ลาวกวิน
- ลาวจง (คนละคนกับลาวจังกราชหรือลาวจง ต้นราชวงศ์ลาว)
- ลาวชื่น (มีน้องชื่อ จอมผาเรือง(ขุนจอมธรรม) ซึ่งได้ไปสร้างเมืองพูกามยาว (พะเยา) และมีลูกชื่อลาวเจือง)
- ลาวเจือง (พญาเจือง) (ขุนเจือง) (พญาเจืองหาญ) (ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง) (ທ້າວຮຸ່ງ ທ້າວເຈືອງ) ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ตีได้ดินแดนมากมาย รบชนะแกว(เวียดนาม) พญาเจืองได้รับการราชาภิเษกจากพญาห้อลุ่มฟ้าเพาพิมาน ชาวไทลื้อ ชาวลาวเทิงล้านช้าง ชาวไทยวนล้านนา ต่างอ้างว่าพญาเจืองเป็นบรรพบุรุษของพวกตน มีวรรณกรรมกล่าวขานถึงมากมาย เช่น มหากาพย์โคลงท้าวฮุ่งท้าวเจือง มีความยาวกว่าเกือบ 5,000 บท
- ลาวเงินเรือง
- ลาวชื่น
- ลาวมิ่ง
- ลาวเมิง
- ลาวเมง
- พญามังราย สิ้นสุดราชวงศ์ลาว สถาปนาอาณาจักรล้านนา เริ่ม ราชวงศ์มังราย
(หมายเหตุ รายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์ลาว รวมทั้งหมด 25 พระองค์ อ้างอิงจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เป็นหลัก)
ดูเพิ่มแก้ไข
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม.(2538).ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล.(2546).พื้นเมืองเชียงแสน.
- ↑ พระรัตนปัญญาเถระ.( 2558).ชินกาลมาลีปกรณ์.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล.(2539).พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด.
- ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี.(2554).ตำนานเมืองพะเยา.
- ↑ อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.