น่าซี

(เปลี่ยนทางจาก หน่าซี)

ชาวน่าซี หรือ หน่าซี (จีนตัวย่อ: 纳西族; จีนตัวเต็ม: 納西族; พินอิน: Nàxī Zú) เป็นชนกลุ่มหนึ่งในประเทศจีน ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองลี่เจียง เมืองที่มีมนต์เสน่ห์แห่งหนึ่งของมณฑลยูนนาน

น่าซี
纳西族
ชาวน่าซีในหมูบ้านแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองลี่เจียง
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ภาษา
ภาษาน่าซี
ศาสนา
ลัทธิตงปา, พุทธนิกายวัชรยาน และลัทธิเต๋า
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ทิเบต, เชียง, หมอซัว

ประวัติ แก้

ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าต้นตระกูลของชาวน่าซีอยู่ที่ใด แต่เชื่อกันว่าเมื่อสหัสวรรษก่อน ชนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (ในมณฑลชิงไห่ มณฑลกานซู่ และมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ก่อนจะถูกชาวเอเชียกลางรุกรานจึงต้องถอยร่นลงมาทางใต้ในปัจจุบัน

นักชาติพันธุ์วิทยาจากทั่วโลกได้ให้ความสนใจศึกษา กรณีของชาวน่าซีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาที่ใช้ภาพเป็นสัญลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม หรือโครงสร้างทางสังคมของชนกลุ่มนี้ ชาวน่าซีเป้นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยในโลกที่มีโครงสร้างแบบสตรีมีบทบาทโดดเด่น ปัจจุบันโครงสร้างนี้ก็ยังคงเห็นได้ชัด ในชุมชนชาวน่าซี สตรีเป็นผู้ประกอบกิจกรรมที่สำคัญ ๆ และกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมาก และเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในการจัดการครอบครัวของตน

การแต่งกาย แก้

เครื่องแต่งกายของสตรีน่าซี มีรองหลังเพื่อช่วยลดน้ำหนักของสัมภาระที่ต้องแบกหาม เครื่องประดับเป็นรูปกลม 2 ชิ้นใหญ่ และ 7 ชิ้นน้อย ๆ ทางด้านหลังของชุด เป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาว ซึ่งก็คือฟากฟ้าของทั้งหลายทั้งปวงนั้นเอง เครื่องประดับเหล่านี้คือสัญลักษณ์ของสตรีผู้มีหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน

วัฒนธรรม แก้

ในคัมภีร์ตงปา (หรือบางที่อ่านทับศัพท์ว่าดองปา) ของชาวน่าซี ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่จารึกแบบอักษรภาพ มีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "ที่ใดฟากฟ้าและแผ่นดินยังคงไม่ถูกแบ่งแยกออกจากกัน ที่นั่นมวลไม้ย่อมเคลื่อนกาย มวลหินย่อมเอ่ยวาจา" นอกจากนี้คัมภีร์นี้ยังรวมเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอื่น ๆ ของชาวน่าซี ซึ่งรวมไปถึงความรู้ด้านดาราศาสตร์ และไสยศาสตร์

ประมาณว่าพ่อหมอตงปาที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 30-40 คน บางคนทำงานให้กับสถาบันลี่เจียง โดยทำหน้าที่แปลจารึกของชาวน่าซี นอกจากนี้ หมอดูยังเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเต้นไฟ และมีดอันเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวน่าซี

เทศกาลที่สำคัญของชาวน่าซีคือวันที่8 เดือนกุมภาพันธ์ หนุ่มสาวจะมาชุมนุมกัน จัดกิจกรรมเซ่นไหว้ เต้นรำและร้องเพลงกัน ตลอดจนแข่งขันการร้องเพลงด้วย บางทีก็จัดกันเอง ตกกลางคืนแต่ละหมู่บ้านก็จะจัดกิจกรรมเต้นรำ[1]

พิธีกรรม แก้

ในงานพิธีของชุมชนเป็นโอกาสของหญิงสาวที่จะได้เลือกคู่ครอง ชายที่ถูกเลือกจะอาศัยอยุ่กับภรรยาของตนเวลากลางคืนเท่านั้น ในเวลากลางวันเขายังต้องทำงานอยู่กับมารดาของตนเอง ห้องนี้เป็นที่รโหฐานซึ่งนางใช่ชีวิตอยู่ร่วมกับคู่รัก ส่วนผู้ชายต้องอาศัยอยู่ในห้องรวมกับสมาชิกชายคนอื่น ๆ ในครอบครัว ชุมชนที่มีเพศหญิงมีบทบาททางหน้าที่การงานเช่นนี้ บุรุษจึงเป็นเพศที่ให้ความรื่นรมย์แก่ชุมชน ได้แก่การร้อง การเต้น และการดนตรี

อ้างอิง แก้