สเตฟาโน การ์ดู (อิตาลี: Stefano Cardu) เป็นสถาปนิกชาวอิตาลี ออกแบบอาคารในสยาม เช่น พระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ในพระบรมมหาราชวัง) และตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (ที่พระราชวังเดิม) รวมถึงอาคารไปรษณียาคาร พระราชวังสราญรมย์ โครงการศาลสถิตยุติธรรม อาคารโรงเรียนทหารสราญรมย์ และตึกแถวที่หน้าวัดราชบูรณะ

สเตฟาโน การ์ดู
Stefano Cardu
เกิด18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1849
เสียชีวิต16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1933 (84 ปี)
สัญชาติอิตาลี
อาชีพสถาปนิก

ประวัติ แก้

สเตฟาโน การ์ดู เกิดที่เมืองคัลยารี ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1849 เป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัวช่างฝีมือ เขาศึกษาด้านเดินเรือแต่ก็เรียนไม่จบ เมื่อ ค.ศ. 1864 ตอนที่อายุ 15 ปี ได้ทำงานเป็นเด็กรับใช้บนเรือพาณิชย์ หลังจากใช้ชีวิต 10 ปี ในทะเล ก็เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตรการเดินเรือ ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1874 การ์ดูเดินทางถึงสยาม

จากบันทึกผู้อยู่อาศัยใน The Directory for Bangkok and Siam แสดงให้เห็นว่าการ์ดูอยู่ในรายชื่อผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติเมื่อ ค.ศ. 1879 เขาได้รับการว่าจ้างจากนักธุรกิจชาวอังกฤษ ต่อมาเขาได้สร้างโรงเลื่อยของตัวเองและเริ่มก่อสร้างบ้านพักและอาคารต่าง ๆ ทั้งถนน สะพาน ให้แก่ราชสำนักสยามซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ค.ศ. 1881 ได้รับการว่าจ้างเป็นช่างเขียนแบบให้กับบริษัท H.S.M. Architect Department เขาได้ออกแบบก่อสร้างพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ในพระบรมมหาราชวัง) และตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (ที่พระราชวังเดิม) รวมถึงอาคารไปรษณียาคาร พระราชวังสราญรมย์ โครงการศาลสถิตยุติธรรม อาคารโรงเรียนทหารสราญรมย์ และตึกแถวที่หน้าวัดราชบูรณะ[1]

การ์ดูก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตน S. Cardu & Co. Building Contractors เมื่อ ค.ศ. 1885 ต่อมาในปี ค.ศ. 1888 บริษัทได้กลายเป็นวิสาหกิจในชื่อ The S. Cardu & Co., Architects, Civil Engineers & Contractors มีสำนักงานอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขาใช้ชีวิตในบางกอกร่วม 30 ปี

ค.ศ. 1914 ได้บริจาคงานศิลปะต่าง ๆ ของสยาม พม่า จีน และญี่ปุ่น ให้กับเมืองคัลยารี ภายหลังเมื่อ ค.ศ. 1918 ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชื่อ The Stefano Cardu Museum of Siamese Art (Museo d’Arte Siamese Stefano Cardu)[2]

สเตฟาโน การ์ดูเสียชีวิตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1933 ด้วยวัย 84 ปี หลุมศพของเขาอยู่ที่สุสานเวราโน

ผลงาน แก้

ผลงานการออกแบบและรับเหมาก่อสร้างของนายการ์ดูมีดังนี้[3]

  • พระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ในพระบรมมหาราชวัง)
  • ตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (ที่พระราชวังเดิม)
  • อาคารไปรษณียาคาร
  • ก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารเก่าพระราชวังสราญรมย์
  • โครงการศาลสถิตยุติธรรม
  • อาคารโรงเรียนทหารสราญรมย์ มีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2435 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร
  • ตึกแถวที่หน้าวัดราชบูรณะ
  • บ้านศาลาแดงของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2430
  • โรงแรมโอเรียนเต็ล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2428 (ปัจจุบันอาคารเรียกว่า Authors' Wing)
  • ตึกราชแพทยาลัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2432 ในโรงพยาบาลศิริราช รื้อเมื่อ พ.ศ. 2482 เพื่อสร้างตึกรังสี

อ้างอิง แก้

  1. ไกรฤกษ์ นานา. "ความรุ่งเรืองสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก สวนทางกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของช่างฝรั่งผู้สร้าง". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. Ruben Fais. "Stefano Cardu, an Italian Contractor in Siam at the End of the 19th Century: His Life and His Art Collection".
  3. ศรัณย์ ทองปาน. "สเตฟาโน คาร์ดู ชีวิตการงานและสังคมของช่างฝรั่งยุคแรก" (PDF). ดำรงวิชาการ.