ไปรษณียาคาร เดิมสะกดว่า ไปรสนียาคาร เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับไปรษณีย์ไทยและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านการไปรษณีย์ไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร อยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ เดิมที่ตั้งแห่งนี้เป็นของกรมไปรษณีย์โทรเลขและถือเป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย อาคารก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2414 ก่อนจะถูกทุบทิ้ง แล้วได้ทำการก่อสร้างคัดลอกแบบเดิมใหม่ โดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย) เมื่อปี พ.ศ. 2546 แล้วได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

ไปรษณียาคาร
Bangkok Postal Headquarters
มุมไปรษณียาคารหันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทพิพิธภัณฑ์
สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก
เมืองแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้าง
  • พ.ศ. 2414 (หลังเก่า)[1]
  • พ.ศ. 2546 (หลังปัจจุบัน)
รื้อถอนพ.ศ. 2525
ผู้สร้างกรมไปรษณีย์โทรเลข
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (อาคารใหม่)[2]
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนตึกที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005583
อาคารแห่งนี้ถูกสร้างเลียนแบบอาคารหลังเก่า
ที่ถูกทุบทิ้งไปเมื่อปี พ.ศ. 2525

ตึกไปรสนียาคาร[3] เดิมเป็นบ้านของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) อดีตเจ้าเมืองปราจีนบุรี ซึ่งต้องคดีข้อหา ฆ่าคนตายและทารุณกรรม แก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี พระยาปรีชากลการถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 และถูกยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกิจการไปรษณีย์ไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้สำเร็จราชการไปรษณีย์และโทรเลขพระองค์แรก ได้ใช้บ้านเดิมของพระปรีชากลการ เป็นที่ทำการ ใช้ชื่อเรียกว่า "ไปรสนียาคาร"

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อาคารไปรษณีย์ยาคารเป็นสถานที่แห่งแรกที่ทางคณะราษฎรจะต้องทำการบุกยึด เนื่องจากเป็นชุมทางการสื่อสาร คือ โทรเลขและโทรศัพท์ เพื่อตัดระบบการสื่อสาร โดยกลุ่มคณะราษฎรสายพลเรือนที่นำโดย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) และนายประยูร ภมรมนตรี เหตุเพราะรับราชการที่นี่ จึงรู้ถึงระบบการทำงานดี โดยที่มีคณะราษฎรสายทหารเรือคุ้มกันเพียงไม่กี่คน ซึ่งต้องทำการยึดและตัดการสื่อสารให้ได้ภายในเวลา 04.00 น. และต้องทำให้เสร็จก่อนเวลา 05.00 น. เพื่อมิให้ผู้คนสงสัย แม้คณะราษฎรสามารถกระทำการได้สำเร็จ แต่ทว่าก็มีเจ้าพนักงานคนหนึ่งหนีไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ทางตำรวจโดย พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจจึงทราบเรื่องจากเหตุนี้เอง จึงรุดเข้าวังบางขุนพรหมเพื่อถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการ[4]

อาคารไปรษณียาคาร ถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2525[3] เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพระพุทธยอดฟ้า ปัจจุบันอาคารถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย

อ้างอิง แก้

  1. กว่าจะมาเป็น “ไปรสนียาคาร” ในวันนี้, เว็บไซด์:www.ryt9.com/ .สืบค้นเมื่อ 28/01/2562
  2. พิธีเปิดไปรสนียาคาร แห่งความทรงจำ, เว็บไซด์:oknation.nationtv.tv/ .สืบค้นเมื่อ 28/01/2562
  3. 3.0 3.1 พิพัฒน์ ชูวรเวช, พ.ต.อ. นายแพทย์. ตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม. กรุงเทพ : อรุณการพิมพ์, พ.ศ. 2546. 264 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-91019-9-5
  4. นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2555 (พิมพ์ครั้งที่ 3). 124 หน้า. หน้า 46, 70-72. ISBN 9789740210252

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′24″N 100°29′59″E / 13.7399583°N 100.4997486°E / 13.7399583; 100.4997486