สิงหนวัติกุมาร
สิงหนวัติกุมาร เป็นตำนานที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่แพร่หลายทางภาคเหนือของประเทศไทย กล่าวถึงอาณาเขตเมืองเชียงแสน เนื้อหาพยายามเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา แสดงคำทำนายหรือพุทธพยากรณ์ในตำนาน ขณะที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงการสร้างเมืองของสิงหนวัติกุมารในเขตราบลุ่มน้ำกก การตั้งเมืองนาคพันธุสิงหนวตินคร[1]
การตีพิมพ์
แก้ตำนานได้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479[2] แต่ฉบับพิมพ์นี้มีการตัดทอนข้อความบางตอนออกไปด้วยคิดว่าไม่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีการพิมพ์โดยปริวรรตจากภาษาไทยล้านนาในพับสาฉบับของขุนนิวรณ์โรคาพาธ จังหวัดเชียงราย สงวน โชติสุขรัตน์ เผยแพร่ในประชุมตำนานลานนาไทยภาคที่ 1 พ.ศ. 2515 และตำนานสิงหนวัติกุมาร ฉบับสอบค้นของมานิต วัลลิโภคม
เนื้อหา
แก้ตำนานมีความย่อว่าพระเจ้าสิงหนวัติได้อพยพผู้คนเดินทางลงมาจากทางตอนใต้ โดยได้ร่วมกับชนพื้นเมืองในการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นมาและเรียกว่า นาคพันธุสิงหนวัตินคร (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) มีเมืองเชียงแสนเป็นราชธานี ต่อมามีอาณาเขตกว้างใหญ่ ทางทิศตะวันออกตั้งแต่แคว้นตังเกี๋ยของเวียดนามปัจจุบัน ไปจดแม่น้ำสาละวิน รัฐฉาน ประเทศพม่า ทางเหนือจากบริเวณเมืองหนองแส มณฑลยูนนานของจีนลงมาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ถึงสมัยพระเจ้าพังคราช อาณาจักรโยนกเชียงแสนถูกขอมรุกรานจนต้องอพยพราษฎรไปสร้างเมืองใหม่ที่เวียงสีทอง ริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย ต่อมาพระเจ้าพรหมมหาราชซึ่งเป็นราชโอรสขับไล่ขอมได้สำเร็จ จึงเชิญเสด็จพระเจ้าพังคราชกลับไปครองเชียงแสนตามเดิม ส่วนพระเจ้าพรหมมหาราชได้พาผู้คนไปสร้างเมืองไชยปราการทางใต้ของเชียงแสน เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอมกับมาขึ้นไปรุกราน[3]
ตำนานสิงหนวัติมีปัญหาที่ถกเถียงกันมาแต่เดิมคือเรื่องของเวลา คือตัวเลขศักราช เนื่องจากเป็นเอกสารต้นฉบับตัวเขียนที่คัดลอกกันต่อ ๆ มา และแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดความผิดพลาดในการคัดลอก อีกทั้งศักราชที่ใช้ในตำนานปรากฏว่ามีถึง 3 แบบ ซึ่งตำนานเรียกว่าโบราณศักราช ทุติยศักราช และตติยศักราช โดยไม่บอกว่าเป็นศักราชอะไร ทำให้มีการแปลความหมายเวลาในตำนานผิดพลาดมาแต่สมัยโบราณ แต่มีการวิเคราะห์ว่า โบราณศักราชนั้นคืออัญชนะศักราช ซึ่งเก่ากว่าพุทธศักราช 148 ปี ทุติยศักราช คือพุทธศักราช เป็นปีหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และตติยศักราช คือมหาศักราช ซึ่งหลังกว่าพุทธศักราช 621 ปี[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ ไข่มุก อุทยาวดี. "เนื้อหาของตำนานในท้องถิ่นของประเทศไทย" (PDF).
- ↑ "ตำนานสิงหนวัติกุมาร" (PDF). สำนักนายกรัฐมนตรี.
- ↑ "เมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
- ↑ "พระเจ้าพรหมมหาราช ในตำนานล้านนา นัยสำคัญของกษัตริย์สืบสายทางธรรม VS สายเลือด". ศิลปวัฒนธรรม.