สำอางค์ เลิศถวิล

สำอางค์ เลิศถวิล (พ.ศ. 2467 – 30 กันยายน พ.ศ. 2540) เป็นนักดนตรีและนักร้องเพลงพื้นบ้านภาคกลางของประเทศไทย[1] เชี่ยวชาญในเรื่องเพลงขอทานและลำตัด นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างโทน ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ยืนยง โอภากุล นักร้องนำวงดนตรีเพื่อชีวิตคาราบาว สำหรับเพลง ยายสำอาง ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงของวง

สำอางค์ เลิศถวิล
รู้จักในชื่อยายสำอาง
เกิดพ.ศ. 2467
จังหวัดสมุทรสงคราม
เสียชีวิต30 กันยายน พ.ศ. 2540 (72–73 ปี)
กรุงเทพมหานคร
แนวเพลงเพลงขอทาน  · ลำตัด
อาชีพนักร้อง  · นักดนตรี
เครื่องดนตรีเสียงร้อง  · โทน
ช่วงปีประมาณ พ.ศ. 2470––2531

ประวัติ แก้

สำอางค์เกิดเมื่อราว พ.ศ. 2467 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในครอบครัวชาวจีนอพยพ บิดามารดาได้ทอดทิ้งเธอไว้ที่วัดบางน้อยตั้งแต่แรกเกิดเนื่องจากยึดถือคติความเชื่อแบบจีนในเรื่องของการมีบุตร[2] ต่อมาสองสามีภรรยาที่เป็นวณิพกรับเธอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

ด้วยสุขภาพที่ไม่แข็งแรง และฐานะยากจนโดยไม่ได้รับการรักษา ทำให้เธอตาบอดตั้งแต่อายุ 4 ปี เธอได้รับการถ่ายทอดวิชาเพลงขอทานจากบิดามารดาบุญธรรม และตระเวนร้องเพลงขอทานตามงานวัดรวมถึงงานรื่นเริงในหลายโอกาส จนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเพลงขอทานซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านทางภาคกลางที่พัฒนามาจากลำตัด และมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับนิทานชาดก หรือนิทานพื้นบ้านในภาคกลาง สำอางมีน้ำเสียงการร้องที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถร้องทั้งในแนวสนุกสนานและแนวเศร้า รวมทั้งยังเชี่ยวชาญในการเล่นเครื่องดนตรีอย่างโทน ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น[2]

ในปี พ.ศ. 2525 เธอตระเวนร้องเพลงขอทานอยู่บริเวณบ้านของอภัย นาคคง อาจารย์ประจำวิทยาลัยเพาะช่าง จนความทราบไปถึงเอนก นาวิกมูล[3] เรื่องราวของเธอจึงถูกบันทึกไว้ในหนังสือ อยู่อย่างชาวสยาม[4][5] และยังถูกเชิญให้ไปแสดงการร้องเพลงขอทานและลำตัดที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ[3] โดยได้มีโอกาสรวมงานกับหวังเต๊ะ ซึ่งเป็นนักร้องแนวลำตัดที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง

เธอเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2540 ที่กระท่อมหลังเล็กส่วนตัวริมคลองภาษีเจริญ สิริอายุประมาณ 73 ปี

ชีวิตส่วนตัว แก้

สำอางค์เคยมีสามีถึงสามคน แต่ทั้งสามคนเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น โดยที่ไม่มีบุตรและธิดาด้วยกัน นอกจากนี้ เธอเคยถูกดูแลโดยกรมประชาสงเคราะห์ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่ทางกรมประชาสงเคราะห์จะอนุญาตให้เธอออกมาใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ โดยเธอหันมาทำอาชีพเหลาไม้ปิ้งไก่เพื่อเลี้ยงชีพ

วัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

  • ในปี พ.ศ. 2536 ยืนยง โอภากุล ประพันธ์และขับร้องเพลง ยายสำอาง ซึ่งอยู่ในสตูดิโออัลบั้ม ช้างไห้ สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 13 ของคาราบาว โดยออกมาในรูปแบบทำนองจังหวะสามช่าผสมผสานกับเพลงขอทาน และกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงของคาราบาว

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้