สะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน–สตึงบท)

สะพานระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา

สะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน–สตึงบท) (อังกฤษ: Thailand–Cambodia Friendship Bridge (Ban Nong Ian – Stung Bot)[1]) เป็นสะพานข้ามห้วยพรมโหด เชื่อมต่อระหว่างบ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย กับบ้านสตึงบท ตำบลปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา เป็นสะพานคานยื่นสมดุล 2 ช่องจราจร ระยะทาง 620 เมตร[2] นับเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างแดนของไทยกับกัมพูชาที่ยาวที่สุด[3]

สะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา
พิกัด13°36′55″N 102°36′35″E / 13.6153°N 102.6098°E / 13.6153; 102.6098
เส้นทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3646
ข้ามห้วยพรมโหด
ที่ตั้งไทย บ.หนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
กัมพูชา บ.สตึงบท ต.ปอยเปต อ.โอโจรว จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา
ชื่อทางการสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน–สตึงบท)
เหนือน้ำสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (อรัญประเทศ–ปอยเปต)
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทคานยื่นสมดุล
วัสดุคอนกรีตอัดแรง
ความยาว620 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร
ประวัติ
วันเริ่มสร้าง20 มีนาคม พ.ศ. 2560
วันสร้างเสร็จ20 มกราคม พ.ศ. 2565
วันเปิด25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ที่ตั้ง
แผนที่

ความเป็นมา แก้

จากปริมาณความหนาแน่นในการผ่านแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่มีการข้ามผ่านแดนทั้งในส่วนของประชาชน นักท่องเที่ยว และสินค้าระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศได้หารือกันเพื่อลดความหนาแน่นของจุดผ่านแดนดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559[1]

จุดประสงค์หลักของโครงการคือการแยกคนและสินค้าออกจากกัน จึงได้หารือกันและมีความเห็นร่วมกันในการแยกสินค้าออกมาเพื่อขนส่งในช่องทางใหม่ โดยการเปิดจุดผ่านแดนแห่งใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเพื่อการรองรับการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ[4] และพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกเดิมให้มีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวและการติดต่อค้าขายกันระหว่างประชาชนทั้งสองชาติให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนแห่งใหม่บริเวณบ้านหนองเอี่ยนประกอบไปด้วยการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อใหม่ โดยก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3646 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 มาเชื่อมต่อกับการก่อสร้างสะพานข้ามคลองพรมโหด รับผิดชอบโดยกรมทางหลวงและกรมการทหารช่าง ตัวอาคารด่านพรมแดนในฝั่งไทย รับผิดชอบโดยกรมศุลกากร

รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชาในปี พ.ศ. 2560[1] ให้แก่กรมทางหลวงในการดำเนินงานวงเงินประมาณ 860 ล้านบาท[2] พร้อมด้วยจุดสลับทิศทางการจราจรพร้อมกับเชื่อมต่อกับถนนในฝั่งไทย ระยะทาง 4 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องทางจราจร เริ่มจากจุดตัดระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3646 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3366 จนถึงตัวสะพาน[2]

ปัจจุบันตัวสะพานก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว และได้มีการฉลองความสำเร็จร่วมกันระหว่างประเทศไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย กับประเทศกัมพูชา โดยสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยคาดว่าเส้นทางเชื่อมต่อและตัวอาคารจุดผ่านแดนถาวรจะก่อสร้างเสร็จและพร้อมเปิดใช้ภายในปี พ.ศ. 2565[2]

สถาปัตยกรรม แก้

ตัวสะพานถูกออกแบบในการก่อสร้างในรูปแบบของคานยื่นสมดุล (balanced cantilever) เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างโครงสร้างข้ามคลองโดยไม่ต้องต่อนั่งร้านยึดกับพื้น ลดปริมาณงานในการหล่อคอนกรีต สามารถก่อสร้างหลายช่วงได้พร้อมกันเนื่องจากเป็นการสร้างแบบยื่นออกไปทั้งสองข้าง ด้วยวิธีการดึงลวดอัดแรงเพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างสะพาน[1]

ส่วนของโคมไฟส่องสว่าง ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากดอกบัว หมายถึงการตื่นรู้และความบริสุทธิ์ตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนทั้งสองประเทศนับถือ ผสมกับลวดลายศิลปกรรมอันอ่อนช้อยทั้งของไทยและกัมพูชาออกมาในรูปทรงของเสาไฟส่องสว่าง[1]

เส้นทางเชื่อมต่อ แก้

สะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน–สตึงบท) เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3646 ซึ่งได้รับการก่อสร้างพร้อมกับโครงการของสะพาน โดยมีจุดเริ่มต้นแยกมาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 ประมาณกิโลเมตรที่ 194+300 ลงมาทางทิศใต้โดยมีปลายทางเชื่อมต่อกับจุดผ่านแดนถาวร และสะพานมิตรภาพฯ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 สูจิบัตร พิธีฉลองความสำเร็จในการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท), สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 pum (2019-04-22). "ฉลองความสำเร็จ! สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา "บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท" เชื่อมการค้า-ท่องเที่ยวชายแดนแบบไร้รอยต่อ". ประชาชาติธุรกิจ.
  3. "ไทย-กัมพูชา ร่วมฉลองความสำเร็จการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา ..." thainews.prd.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-10. สืบค้นเมื่อ 2022-06-16.
  4. "เปิดใช้แล้ว! ทางหลวงแนวใหม่ เชื่อมด่าน บ.หนองเอี่ยน-สตึงบท". เดลินิวส์.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)