สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. (อังกฤษ: National Institute of Educational Testing Service (Public Organization) : NIETS) เป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ปัจจุบัน สทศ. มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 128 อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 35-36 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
National Institute of Educational Testing Service (Public Organization)

อาคารพญาไทพลาซ่า ที่ตั้งของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง3 กันยายน พ.ศ. 2548 (19 ปี) [1]
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักทดสอบกลาง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(พ.ศ. 2546-2548)
  • สำนักทดสอบกลาง ทบวงมหาวิทยาลัย(พ.ศ. 2520-2545)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่128 อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 35-36 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
งบประมาณต่อปี807,108,500 บาท
(พ.ศ. 2560)[2]
รัฐมนตรี
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์​ ดร.ศิริดา บุรชาติ, ผู้อำนวยการ
  • ดร.ทรายทอง พวกสันเทียะ, รองผู้อำนวยการ
  • ดร.วารุณี เลียววิวัฒน์ชัย, รองผู้อำนวยการ
  • ดร.ชื่นฤดี บุตะเขียว, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ
เว็บไซต์www.niets.or.th

ประวัติ

แก้

สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า "สทศ" ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "National Institute of Educational Testing Service (Public Organization)" เรียกโดยย่อว่า "NIETS" จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2548 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรได้สูงสุด มีความเป็นอิสระและหน้าด้าที่ขึ้นอยู่กับสายการบริหารของหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบการจัดการศึกษาจึงมีความเป็นกลาง เป็นสถาบันที่มีการกำหนดหลักการ นโยบาย มาตรการและเป้าหมาย โครงสร้างการบริหาร และการดำเนินกิจการ ความสัมพันธ์กับรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากร การเงิน การตรวจสอบ และการประเมินผลที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถาบันเพื่อบริหารจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา วิจัย และให้บริการ ทางด้านการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติ

การจัดสอบ

แก้
  1. O-NET : Ordinary National Educational Test (การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน) เป็นการสอบความรู้รวบยอดปลายช่วงชั้นที่ 1 - 3 ของชั้น ป.6 ม. 3 และ ม. 6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร โดยเดิมมี 8 วิชา แต่ต่อมาในปีการศึกษา 2558 ได้ลดลงเหลือ 5 วิชาได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ[3]
  2. V-NET : Vocational National Educational Test (การทดสอบการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา) ซึ่งจัดสอบให้กับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3
  3. I-NET : Islamic National Educational Test (การทดสอบมาตรฐานอิสลามศึกษา) ระดับตอนต้น ตอนกลาง และ ตอนปลาย ซึ่งจัดสอบให้กับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายของหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น ตอนกลาง และ ตอนปลาย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ
  4. B-NET : Buddhism National Educational Test การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา[4]
  5. N-NET : Non-Formal National Education Test การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน[5]
  6. การทดสอบสมรรถนะครู สำหรับครู

การบริหารงาน

แก้

สทศ. มีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ รายชื่อต่อไปนี้มีผลตั้งแต่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย [6][7]

  1. นายกิติรัตน์ มังคละคีรี (ประธานกรรมการสทศ.)
  2. ดร.อัมพร พินะสา
  3. ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ
  4. ศ.ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
  5. นายเธียรชัย ณ นคร
  6. รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์
  7. นางสาวพรวิสัย เดชอมรชัย
  8. ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์
  9. ดร.วราภรณ์ สีหนาถ
  10. รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช
  11. ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรรมการและเลขานุการ

รายนามประธานคณะกรรมการบริหาร

แก้
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
รายนามประธานคณะกรรมการบริหาร วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ดร.สงบ ลักษณะ พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2553
2. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2558
3. ดร.ชาคร วิภูษณวนิช พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2562
4. นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

รายนามผู้อำนวยการ

แก้

ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีดังนี้

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ประทีป จันทร์คง 3 กันยายน พ.ศ. 2548 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (รักษาการ)
-. ดร.วิเชียร เกตุสิงห์ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549
2. ศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร จามรมาน 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 (รักษาการ)
3. รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 (วาระแรก)
1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 (วาระที่สอง)[8]
4. ดร.ทรายทอง พวกสันเทียะ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 (รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ)
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริดา บุรชาติ[9] 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน[10]


ข้อวิพากษ์วิจารณ์

แก้

ข้อสอบโอเน็ต

แก้

สทศ.ได้รับการวิจารณ์เป็นวงกว้างเกี่ยวกับการออกข้อสอบผิดทุกปี รวมไปถึงการทำข้อสอบกำกวมในบทวิเคราะห์ หรือออกข้อสอบที่คำตอบถูกมากกว่า 1 ข้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชั้น ม.6 ที่ต้องใช้เป็นคะแนน 30% หรือคิดเป็น 9,000 คะแนนจากคะแนนรวมทั้งหมด 30,000 คะแนน ที่ทำให้นักเรียนบางส่วนไม่พอใจ และเกือบทุกปีข้อสอบโอเน็ตมักถูกนำเสนอแบบรายข้อผ่านทางรายการ เรื่องเล่าเช้านี้[11][12][13] นอกจากนี้ยังมีกรณีข้อสอบโอเน็ตวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาปีการศึกษา 2553 ที่ตั้งคำถามเชิงคำถามเปิดเกี่ยวกับ นก นพวรรณ เลิศชีวกานต์ นักเทนนิสอาชีพหญิง จนภายหลังมีคนไปโพสต์คำถามนี้ในเฟสบุ๊คของ นก นพวรรณ ปรากฏว่าเจ้าตัวตอบไม่ตรงเฉลยกับ สทศ. ทั้งหมด[14] กรณีตรวจข้อสอบผิดชุดในปีการศึกษา 2556 (โอเน็ตมีข้อสอบ 2 ชุดต่อหนึ่งวิชา) จนทำให้ต้องแจกคะแนนฟรีให้กับคนที่สอบอีกชุด แต่อีกกลุ่มกลับไม่ได้คะแนนฟรี[15]

ในข้อสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2558 ได้มีการเฉลยข้อสอบรายวิชาสังคมศึกษาผิด 1 ข้อ จนทำให้ผู้มีสิทธิ์สอบ 423,519 คน มีผู้ที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น จำนวน 135,514 คน ได้คะแนนลดลง 131,292 คน และคะแนนคงเดิม 156,713 คน[16] แต่ถึงอย่างไรก็ดีมีนักวิชาการบางส่วนรวมถึงครูกวดวิชาชื่อดัง ได้ออกมาวิจารณ์ สทศ.เพิ่มเติม ว่ายังมีข้อสอบผิดอีกหลายข้อ เช่น อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาตำหนิข้อสอบโอเน็ตสังคมศึกษา ม.6 ผ่านเฟซบุ๊กว่ามีความกำกวมและขาดมาตรฐาน[17] รวมถึง อ.ปิง เจริญศิริวัฒน์ ครูกวดวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาจากสถาบันกวดวิชาดาว้องก์ ที่ได้ออกมาโพสต์วิจารณ์ข้อสอบโอเน็ตสังคมศึกษาผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ความยาวกว่า 1 ชั่วโมง โดยได้นำเอกสารของกระทรวงเข้ามาประกอบในข้อที่ อ.ปิง อ้างว่า สทศ.เฉลยผิดอีกด้วย โดย อ.ปิงได้กล่าวว่าข้อที่ผิดทั้งหมด 5 ข้อคิดเป็นคะแนนถึง 90 คะแนน[18][19] แอนดรูว์ บิ๊กส์ ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังที่ได้ทำการตรวจคำตอบโอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษ ม.3 แล้วพบว่าข้อสอบพาร์ทวิเคราะห์และพาร์ทบทสนทนา (Conversation) มีข้อที่คำตอบถูกมากกว่า 1 และมีข้อที่ สทศ.เฉลยผิด รวมทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของทั้งหมด[20]

อ้างอิงคำ

แก้
  1. "ความเป็นมา สทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-28. สืบค้นเมื่อ 2019-02-10.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  3. นักเรียนเฮ กระทรวงศึกษาฯ ปรับลดวิชาสอบโอเน็ต เหลือ 5 วิชา เก็บถาวร 2015-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์ .วันที่ 27 มิถุนายน 2558
  4. B-NET เก็บถาวร 2016-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, niets.or.th .สืบค้นเมื่อ 08/06/2559
  5. N-NET คืออะไร (มีด้วยเหรอ??) เก็บถาวร 2021-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, archive.wunjun.com .สืบค้นเมื่อ 08/06/2559
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/017/T_0021.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/064/T_0018.PDF
  8. สัมพันธ์ นั่งผอ.สทศ.อีกสมัย ,dailynews.co.th
  9. ประกาศคณะกรรมการ สทศ. เรื่อง ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสทศ.[ลิงก์เสีย]
  10. "ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ เข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 2019-02-10.
  11. เมื่อ "ลุงสรยุทธ" ช่อง 3 ทำข้อสอบ O-NET 54, ยูทูบ .วันที่ 20 ก.พ. 2012
  12. ความอนาถของ ข้อสอบ O net 1 avi, ยูทูบ . 24 ก.พ. 2010
  13. O-net 56 ถามแบบนี้คุณจะตอบยังไง??, ยูทูบ .วันที่ 10 ก.พ. 2013
  14. เมื่อนก นพวรรณมาตอบข้อสอบ ONET ด้วยตัวเอง (ข้อเทนนิส ) เก็บถาวร 2021-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Unigang .สืบค้นเมื่อ 10/06/2559
  15. สทศ.ให้คะแนน O-Net วิทย์ฟรี 24 คะแนน โบ้ยความผิดคอมพ์ เก็บถาวร 2016-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการ .วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556
  16. ข้อสอบโอเน็ตผิดไม่กระทบแอดมิชชัน, ครูวันดี .วันที่ 3 มิถุนายน 2559
  17. อ.ธรรมศาสตร์ เผย สทศ.เฉลยข้อสอบ O-NET ผิด ชี้คำถามขาดมาตรฐาน, กระปุก .สืบค้นเมื่อ 10/06/2559
  18. ติวเตอร์ชื่อดังตรวจข้อสอบสังคมโอเน็ตม. 6 เผยมีเฉลยผิด-ตั้งคำถามกำกวม ชี้อาจส่งผลให้นักเรียนไม่ได้รับความยุติธรรม 90 คะแนน, โพสต์ทูเดย์ .วันที่ 6 มิถุนายน 2559
  19. อ.ปิงแฉ! ข้อสอบโอเน็ตม.6 ผิดเพิ่ม 5 ข้อ-กำกวมเพียบ, nationtv .สืบค้นเมื่อ 10/06/2559
  20. แอนดรูว์ บิ๊กส์ เปิดเฉลยข้อสอบ O-net อังกฤษ ม.3 พบผิดร้อยละ 8 ถือว่าเยอะมาก, กระปุก .สืบค้นเมื่อ 10/06/2559

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้