สดใส พันธุมโกมล
บทความนี้มีข้อมูลไม่เป็นแก่นสารหรือปลีกย่อยเป็นอันมาก ซึ่งอาจเป็นที่สนใจของผู้อ่านเพียงบางกลุ่ม และขัดกับนโยบายของวิกิพีเดียว่าด้วยการใส่ข้อมูล โปรดช่วยกันนำข้อมูลเหล่านั้นออก แล้วใส่หรือเหลือไว้แต่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง (October 2019) |
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล (สกุลเดิม วานิชวัฒนา) เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2477 ที่กรุงเทพมหานคร อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล 1959 ที่สหรัฐอเมริกาด้วย และคว้าตำแหน่งนางงามมิตรภาพ หรือ Miss Amity มาครองได้สำเร็จ
สดใส พันธุมโกมล | |
---|---|
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554 | |
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล | |
ชาติ | ไทย |
เกิด | 18 มีนาคม พ.ศ. 2477 (85 ปี)![]() |
บิดา | ศาสตราจารย์ ศุภชัย วานิชวัฒนา |
มารดา | ประยงค์ศรี วานิชวัฒนา |
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละคร ผู้ร่วมก่อตั้งชมรมดนตรีสากล สจม. (C.U. BAND) ก่อตั้งโรงเรียนการแสดงที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นผู้กำกับละครคำพิพากษา และเป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน (Candlelight Blues)
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล สมรสกับรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ตรง พันธุมโกมล อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักดนตรี ผู้เชี่ยวชาญ และอดีตประธานชมรมดนตรีสากลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล สำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2499 และเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีเดียวกัน พ.ศ. 2500 ได้รับทุนฟุลไบรต์ไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโทสาขาศิลปะการละคร จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2505 จากนั้น กลับมารับราชการที่คณะอักษรศาสตร์ และได้เจริญก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับมา กระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2519 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งประถมาภรณ์ช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมหาวชิรมงกุฎ เป็นบำเหน็จความชอบในราชการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรวิชาศิลปะการละครเป็นวิชาเอกของนิสิตอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2507 และก่อตั้งแผนกวิชาศิลปะการละครขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2514 ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชานี้อย่างครบวงจร เป็นแม่แบบของหลักสูตรวิชาการละครและการแสดงในสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนียังอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของวงการด้านศิลปะการละคร ตลอดจนกิจการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ อาทิ เป็นกรรมการพิจารณาโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการบริหารสถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นกรรมการร่างและตรวจพิจารณาหลักสูตรการละครของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนการแสดงของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นต้น
ในด้านวิชาการ รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล มีผลงานวิชาการเป็นจำนวนมาก ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับคือหนังสือเรียนศิลปกรรม ศ 031 ศิลปการละครเบื้องต้น ตอนที่ 1 : หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีพุทธศักราช 2524 ศิลปะของการแสดง (ละครสมัยใหม่) และปริทัศน์ศิลปะการละคร ตำราดังกล่าวเป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในวงการศึกษา วิชาการ วิชาชีพ รวมทั้ง ผู้สนใจทั่วไป ตลอดชีวิตการรับราชการกว่าสามสิบปี รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ยังพากเพียรผลิตผลงานวิจัย สร้างสรรค์เรื่อง การวิเคราะห์ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของนักแสดง ในการกำกับการแสดงละครสมัยใหม่ แนวต่าง ๆ ในประเทศไทย นับเป็นผลงานอันทรงคุณค่ายิ่ง เป็นการนำองค์ความรู้ทางวิชาการไปใช้ให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมีผลงานกำกับการแสดงละครเวทีให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ตุ๊กตาแก้ว แผลในดวงใจ:ผู้แพ้ -ผู้ชนะ เกิดเป็นตัวละคร คนดีที่เสฉวน ยอดปรารถนา พรายน้ำ และกำกับการแสดงละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 คือ คำพิพากษา คนดีศรีอยุธยา จนได้รับรางวัลเมขลา สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2527
ผลงานทั้งด้านการศึกษา วิชาการ และงานสร้างสรรค์ของรองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ล้วนเป็นแบบอย่างให้แก่วงวิชาการและวิชาชีพศิลปะการละคร ทั้งการเรียนการสอน การสร้างสรรค์ การเขียนบท การแสดง การกำกับการแสดง การสอนการแสดง ตลอดจนการประเมินผลงานศิลปะการละคร เป็นผู้ให้หลักคิดและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นระบบระเบียบ มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล มีหลักเกณฑ์และเหตุผลที่เป็นปรวิสัยมากกว่าอัตวิสัย เป็นทักษะที่สอนและถ่ายทอดให้กันได้ ฝึกฝน แก้ไข และพัฒนาได้ และที่สำคัญยิ่งคือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีจรรยาบรรณอันสำคัญในการเชื่อมโยงศิลปะกับความจริง และเชื่อมโยงศาสตร์สากลกับชีวิตของคนไทย ด้วยความรับผิดชอบทั้งต่องานศิลปะ ผู้เรียน ผู้ชม สังคม และประเทศชาติโดยรวม
แม้เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ก็ยังสละเวลาอันมีค่าให้แก่งานสอนทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิตในฐานะอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดมา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน และยังเป็นที่ปรึกษาหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการละครอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ประกอบกิจกรรมอันเป็นคุณประโยชน์แก่คณะอักษรศาสตร์ ทำให้ได้รับรางวัลนิสิตเก่าดีเด่นคณะอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำกับการแสดงละครเวทีเพื่อระดมทุนก่อตั้งมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับใช้ในการจัดซื้อ และติดตั้ง ระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารจัดการและบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีสิรินธร ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ และการกำกับการแสดงละครเวทีเพื่อระดมทุนสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดซื้อ และติดตั้งระบบและอุปกรณ์ด้านเทคนิคต่าง ๆ ในโรงละครอักษรศาสตร์แห่งใหม่
ปี 2555 ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
- พ.ศ. 2532 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[1]
- พ.ศ. 2529 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2556 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[3]
- พ.ศ. 2557 - เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[4]
- เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2532 เล่ม 106, ตอนที่ 214, 4 ธันวาคม 2532, ฉบับพิเศษ หน้า 11. (ลำดับที่ 278)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2529 เล่ม 103, ตอนที่ 213, 3 ธันวาคม 2529, ฉบับพิเศษ หน้า 16.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2555 (จำนวน 5,826 ราย) เล่ม 130, ตอนที่ 4 ข, 28 มกราคม 2556, หน้า 124.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2556 เล่ม 131, ตอนที่ 9 ข, 22 เมษายน 2557, หน้า 3.