ยุทธการที่เดิงแกร์ก

(เปลี่ยนทางจาก ศึกแห่งดันเคิร์ก)

ยุทธการที่เดิงแกร์ก เป็นปฏิบัติการทางทหารซึ่งเกิดที่เดิงแกร์ก (ดันเคิร์ก) ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การยุทธ์นี้ต่อสู้กันระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับนาซีเยอรมนี เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการที่ฝรั่งเศสบนแนวรบด้านตะวันตก ยุทธการที่เดิงแกร์กเป็นการป้องกันและอพยพทหารบริติชและฝ่ายสัมพันธมิตรในทวีปยุโรประหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 1940

ยุทธการที่เดิงแกร์ก
ส่วนหนึ่งของ ยุทธการที่ฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่สอง

ทหารบริติชตั้งหลักก่อนล่าถอยที่หาดเดิงแกร์ก
วันที่26 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 1940
สถานที่
เดิงแกร์ก ประเทศฝรั่งเศส
ผล กำลังฝ่ายสัมพันธมิตรถอยร่นออกจากยุโรปภาคพื้นทวีปไปยังเกาะบริเตนใหญ่
คู่สงคราม
 บริเตนใหญ่
 แคนาดา[1]
ฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3
โปแลนด์ โปแลนด์
 เบลเยียม
 เนเธอร์แลนด์[2]
 ไรช์เยอรมัน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สหราชอาณาจักร ลอร์ดโกร์ท
ฝรั่งเศส มักซีม แวก็อง
ฝรั่งเศส ฌอร์ฌ บล็องชาร์
ฝรั่งเศส เรอเน พรียู
ฝรั่งเศส ฌ็อง-มารี อาบรียาล[3]
นาซีเยอรมนี แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท
นาซีเยอรมนี เอวัลท์ ฟ็อน ไคลสท์
กำลัง
ประมาณ 400,000 นาย
ทหารที่อพยพ 338,226 นาย[4]
ประมาณ 800,000 นาย
ความสูญเสีย
  • (โดยประมาณ)
    ทั้งหมด 61,774 คนเสียชีวิตและบาดเจ็บ
    40,000 คนถูกจับเป็นเชลยศึก
    ยานพาหนะประมาณ 50,000 คัน (รวมรถถัง)
    เรือพิฆาต 9 ลำ
    และเรือขนส่งประมาณ 200 ลำอับปาง
    เครื่องบิน 177 ลำถูกยิงตก
  • (โดยประมาณ)
    20,000 คนบาดเจ็บและเสียชีวิต
    100 รถถัง
    เครื่องบิน 132 ลำถูกยิงตก
  • หลังสงครามลวง ยุทธการที่ฝรั่งเศสเริ่มอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 ทางทิศตะวันตก กองทัพเยอรมันกลุ่มบีบุกครองประเทศเนเธอร์แลนด์และบุกไปทางทิศตะวันตก ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร พลเอกฝรั่งเศสมอริส กาเมอแล็ง เริ่ม "แผนดีล" และเข้าประเทศเบลเยียมเพื่อประจัญบานกับฝ่ายเยอรมันในประเทศเนเธอร์แลนด์ แผนดังกล่าวต้องพึ่งพาป้อมทหารบนเส้นมาฌีโนตามชายแดนเยอรมัน–ฝรั่งเศสอย่างมาก แต่กองทัพเยอรมันข้ามแนวดังกล่าวมาแล้วผ่านประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ก่อนกองทัพฝรั่งเศสมาถึง เกมลินจึงส่งกำลังภายใต้บังคับบัญชาของเขา ได้แก่ กองทัพยานยนต์ (mechanized army) สามหน่วย คือ กองทัพที่ 1 ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส และกำลังรบนอกประเทศบริเตน (British Expeditionary Force) ไปแม่น้ำดีล (Dyle) วันที่ 14 พฤษภาคม กองทัพเยอรมันกลุมเอทะลวงผ่านป่าอาร์เดนและบุกไปทางทิศตะวันตกอย่างรวดเร็วสู่เซอด็อง (Sedan) แล้วหันขึ้นเหนือสู่ช่องแคบอังกฤษ การนี้ จอมพลเอริช ฟ็อน มันชไตน์ เรียกว่า "เกี่ยวออก" (หรือเรียก "แผนเหลือง" หรือแผนมันชไตน์) ซึ่งเป็นการโอบทัพฝ่ายสัมพันธมิตร

    การตีโต้ตอบหลายครั้งของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งยุทธการที่อารัส (Arras) ไม่สามารถหยุดยั้งหัวหอกของเยอรมนีได้ ซึ่งไปถึงชายฝั่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม แยกกองทหารบริติชใกล้กับอาร์ม็องตีแยร์ (Armentières) กองทัพที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และกองทัพเบลเยียมที่อยู่เหนือขึ้นไปจากกำลังฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่อยู่ทางใต้ของการบุกทะลวงของเยอรมนี เมื่อถึงช่องแคบแล้ว กำลังเยอรมันกวาดไปทางเหนือตามชายฝั่ง คุกคามที่จะยึดท่าและดักกองทัพบริติชและฝรั่งเศสก่อนที่จะสามารถอพยพไปบริเตน

    ฝ่ายเยอรมันหยุดการบุกเข้าเดิงแกร์กซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดครั้งหนึ่งของสงคราม สิ่งที่เรียกว่า "คำสั่งหยุด" นั้นมิได้มาจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ซึ่งขัดต่อความเชื่อของมหาชน จอมพลแกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท และกึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ เสนอว่ากองทัพเยอรมันรอบวงล้อมเดิงแกร์กควรหยุดการบุกเข้าท่าและสะสมกำลังเพื่อเลี่ยงการตีฝ่าของฝ่ายสัมพันธมิตร ฮิตเลอร์อนุมัติคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 24 พฤษภาคมด้วยการสนับสนุนของกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพหยุดเป็นเวลาสามวันซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีเวลาเพียงพอสำหรับจัดระเบียบการอพยพเดิงแกร์กและตั้งแนวป้องกัน แม้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะประเมินสถานการณ์ดังกล่าวไว้อย่างเลวร้าย โดยบริเตนถึงขั้นอภิปรายกันเรื่องยอมจำนนแบบมีเงื่อนไขต่อเยอรมนี ในบั้นปลายทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการช่วยเหลือกว่า 330,000 นาย

    ภูมิหลัง แก้

    หลังจากสงครามลวง (Phony War) ยุทธการฝรั่งเศสก็เริ่มขึ้นวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองพลยานเกราะเยอรมันผ่านอาร์แดนและมุ่งหน้าไปทางเหนือซึ่งมีเส้นทางคดเคี้ยวคล้ายคลึงกับเคียว จึงทำให้ยุทธวิธีการเคลื่อนพลนี้ถูกเรียกว่า "การเคลื่อนพลแบบเคียวผ่า" ส่วนในทางฝั่งตะวันออกกองทัพเยอรมันได้เปิดฉากการบุกและทำการผนวกเนเธอร์แลนด์เข้าเป็นรัฐของตนเอง และมุ่งหน้าไปยังเบลเยียมอย่างรวดเร็ว

    กองกำลังผสมของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเบลเยียม ทำการตั้งรับโดยการคุ้มกันอาณาบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านอาร์ม็องตีแยร์ ส่วนกองทัพเยอรมันทางเหนือก็ยังมุ่งหน้าต่อไป โดยการยึดเมืองกาแล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุดทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ทำให้กองกำลังเยอรมันสามารถตรึงกำลังทหารสัมพันธมิตรจำนวนมาก ให้ถูกปิดล้อมจากชายฝั่งทะเลในพรมแดนฝรั่งเศส-เบลเยียม เมื่อฝ่ายกองกำลังผสมจนมุมก็เท่ากับแพ้ศึกครั้งนี้

    คำสั่งหยุด แก้

    วันที่ 24 พฤษภาคม ฮิตเลอร์เยี่ยมกองบัญชาการของพลเอกอาวุโส ฟ็อน รุนท์ชเต็ท ที่ชาร์เลอวีล (Charleville) คิดกันว่าภูมิประเทศรอบเดิงแกร์กไม่เหมาะสำหรับยานเกราะ พลเอกอาวุโสรุนท์ชเต็ทแนะเขาว่าทหารราบควรเข้าตีกองทัพบริติชที่อารัส ที่ซึ่งฝ่ายบริติชพิสูจน์ว่าสามารถปฏิบัติการสำคัญได้ ขณะที่ยานเกราะของไคลสท์ตรึงแนวทางทิศตะวันตกและใต้ของเดิงแกร์กเพื่อยกเข้าทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังล่าถอยก่อนกลุ่มทัพ B ฮิตเลอร์ซึ่งคุ้นเคยกับที่ลุ่มชื้นแฉะของแฟลนเดอส์มาแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เห็นชอบด้วย คำสั่งนี้ทำให้ฝ่ายเยอรมันเสริมความมั่นคงของดินแดนที่ยึดได้และตระเตรียมบุกลงใต้ต่อกองทัพฝรั่งเศสที่เหลือ

    ผู้บัญชาการลุฟท์วัฟเฟอ จอมพลแฮร์มันน์ เกอริงขอโอกาสทำลายกองทัพในเดิงแกร์ก ฉะนั้นการทำลายกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรทีแรกจึงถูกมอบหมายให้แก่ลุฟท์วัฟเฟอระหว่างที่ทหารราบเยอรมันจัดระเบียบในกลุ่มทัพ B นายพรุนท์ชเต็ทเรียกการนี้ในภายหลังว่า "จุดพลิกผันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของสงคราม"[5][6][7][8]

    เหตุผลที่แท้จริงสำหรับการตัดสินใจหยุดยานเกราะเยอรมันเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ทฤษฎีหนึ่งว่าฟ็อน รุนท์ชเต็ทและฮิตเลอร์ตกลงรักษายานเกราะไว้สำหรับฟัลรอท (Fall Rot) ซึ่งเป็นปฏิบัติการสำหรับทางใต้ เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ของกองทัพอากาศที่ใกล้ชิดกับพรรคนาซีมากกว่ากองทัพบกมีส่วนให้ฮิตเลอร์อนุมัติคำขอของเกอริง อีกทฤษฎีหนึ่งซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนน้อยยอมรับ มีว่า ฮิตเลอร์กำลังพยายามสถาปนาสันติภาพทางทูตกับบริเตนก่อนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (การบุกครองสหภาพโซเวียต) แม้ว่าหลังสงครามฟ็อน รุนท์ชเต็ทตั้งข้อสงสัยว่าฮิตเลอร์ต้องการ "ช่วยพวกบริติช" โดยยึดการยกย่องจักรวรรดิบริติชระหว่างการเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของเขาตามอ้าง แต่มีหลักฐานเล็กน้อยว่าฮิตเลอร์ต้องการปล่อยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรหนีได้นอกจากถ้อยแถลงยกเว้นความรับผิดต่อตนเองของฮิตเลอร์เองในปี 1945[6][8][9] นักประวัติศาสตร์ ไบรอัน บอนด์ เขียนว่า

    ปัจจุบันมีนักประวัติศาสตร์เพียงน้อยนิดยอมรับความคิดที่ว่า การที่ฮิตเลอร์ต้องการปล่อยทหารบริติชไปนั้น เกิดจากความหวังเล็กน้อยว่าต่อไปพวกเขาจะยอมรับสันติอย่างรอมชอม จริงอยู่ว่า พินัยกรรมทางการเมืองลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1945 ระบุว่าฮิตเลอร์เศร้าใจที่เชอร์ชิล "ไม่ค่อยจะมีสปิริตนักกีฬา" ทั้งที่ฮิตเลอร์อุตส่าห์ยกเว้นไม่ทำลายกองกำลังต่างแดนบริติชที่เดิงแกร์ก แต่คำกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับบันทึกร่วมสมัย คำสั่งหมายเลข 13 ซึ่งกองบัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์ออกในวันที่ 24 พฤษภาคม เรียกร้องเป็นพิเศษให้ทำลายล้างกำลังทหารฝรั่งเศส อังกฤษ และเบลเยียม ที่ตกอยู่ในวงล้อม ขณะที่ลุฟท์วัฟเฟอได้รับคำสั่งป้องกันไม่ให้กองทหารอังกฤษหนีข้ามช่องแคบไปได้[10]

    ฮิตเลอร์ไม่ได้ยกเลิกคำสั่งหยุดจนกระทั่งถึงเย็นวันที่ 26 พฤษภาคม นับเป็นเวลาสามวันที่ราชนาวีอังกฤษได้หยุดพักหายใจ เพื่อที่จะจัดการอพยพทหารบริติชและฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารราว 338,000 นายได้ถูกช่วยเหลือในเวลาประมาณ 11 วัน[11]

    การอพยพ แก้

     
    สถานการณ์บนแนวรบด้านตะวันตก 21 พฤษภาคม–4 มิถุนายน 1940

    ในวันที่ 22 พฤษภาคม ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเพื่อการอพยพก็เริ่มขึ้น ภายใต้รหัส ปฏิบัติการไดนาโม ซึ่งถูกสั่งการมาจากเมืองโดเวอร์โดยพลเรือโท เบอร์แทรม แรมเซย์ ซึ่งมีจุดประสงค์แรกคือการระดมกองเรือให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยสั่งการให้เรือราชนาวีทุกลำที่สามารถบรรทุกทหารได้ลำละ 1,000 นายขึ้นไปภายในพิกัด มุ่งหน้าไปยังเมืองเดิงแกร์กเพื่อขนถ่ายกองกำลังผสมแห่งบริเตนใหญ่ 45,000 นายกลับมายังประเทศอังกฤษให้ได้ภายในสองวัน ห้าวันต่อมากองเรือสามารถขนถ่ายกำลังพลกลับมาได้ 120,000 นาย ในวันที่ 27 พฤษภาคม รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ทำการขอความร่วมมือพลเรือนที่ครอบครองเรือและอยู่ในพิกัด ให้ช่วยปฏิบัติการอพยพโดยการสนับสนุนเรือกระบังแคบทุกลำที่มีปริมาตรตั้งแต่ 9.14-30.48 เมตร (30-100 ฟุต) ให้แก่ทางราชการเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้ ในคืนเดียวกันนั้นการดำเนินการอพยพอย่างเป็นทางการครั้งแรกก็เริ่มต้น เรือจำนวนมากรวมถึงเรือจับปลาและเรือเก่าที่ถูกซ่อมแซมใหม่ ร่วมด้วยเรือนาวิกพานิชย์และเรือรบราชนาวี เดินเรือไประดมพลกันที่เมืองเชียร์เนสแล้วทุกลำจึงมุ่งหน้าไปยังเดิงแกร์กและล้อมชายฝั่งใกล้ ๆ เพื่อขนถ่ายกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมา แต่เนื่องจากการระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างหนักโดยฝ่ายเยอรมัน มีทหารเพียง 8,000 นายเท่านั้นที่รอดกลับมาได้

    เรือพิฆาตอีกสิบลำได้ถูกเรียกระดมพลเพื่อปฏิบัติการอพยพครั้งที่สองในวันที่ 28 พฤษภาคมในช่วงเช้าตรู่ แต่ก็ไม่สามารถประชิดชายฝั่งได้มากพอเนื่องจากน้ำตื้นเกินไป อย่างไรก็ตามทหารหลายพันนายก็ได้รับการช่วยเหลือออกมาได้ และแสดงให้เห็นว่าเรือลำเล็กกว่ามีประโยชน์มากกว่าเรือลำใหญ่ในบางสถานการณ์ ทำให้อู่ต่อเรือก็เริ่มค้นหาเรือที่มีขนาดพอเหมาะ และให้พวกมันไปรวมกันที่เมืองเชียร์เนส แชทแฮม และโดเวอร์ ด้วยเรือที่มีขนาดเล็กลงทำให้จุดรวมพลสัมพันธมิตรอยู่ใกล้ขึ้น 30 ตารางกิโลเมตรภายในวันที่เดียวกัน ยุทธการหลังจากได้เรือลำเล็กแล้วประสบความสำเร็จดีเยี่ยม พร้อมกับทหารอีก 16,000 นายที่สามารถอพยพกลับมาได้ แต่ยุทธการทางอากาศของเยอรมนีก็เพิ่มขึ้นเช่นกันและเรือหลายต่อหลายลำอับปางลง และอีกหลายต่อหลายลำที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งเรือพิฆาตเก้าลำ

     
    ทหารบริติชอพยพที่หาดเดิงแกร์ก

    ในวันที่ 29 พฤษภาคม กองยานเกราะเยอรมันหยุดการบุกเมืองเดิงแกร์กแล้วปล่อยให้ทหารราบและลุฟท์วัฟเฟอเป็นผู้บุก ยุทธวิธีที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์นิยมนำมาใช้ กลับไร้ผลและขาดประสิทธิภาพเทียบจากการปฏิบัติการในศึกครั้งนี้กับศึกครั้งก่อน (การบุกครองโปแลนด์) แต่ถึงกระนั้นก็มีทหารเพียงแค่ 14,000 นายเท่านั้นที่อพยพกลับมาในวันนั้น และในตอนโพล้เพล้ของวันที่ 30 พฤษภาคม เรือลำเล็กจำนวนมากเข้าเทียบท่าพร้อมกับทหาร 30,000 นาย ในวันที่ 31 พฤษภาคม กองกำลังสัมพันธมิตรต้อนเข้ามาสู่เมืองเดอปันเนอและแบร-ดูน ซึ่งห่างจากเมืองเดิงแกร์กอีก 5 กิโลเมตร ในวันเดียวกันนั้นทหารถึง 68,000 นายถูกอพยพกลับมา และอีก 10,000 นาย ภายในคืนเดียวกัน การอพยพครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายคือในในวันที่ 1 มิถุนายน ทหารอีก 65,000 นายเดินทางกลับมายังอังกฤษ แต่ปฏิบัติการย่อย ๆ นั้นยังคงยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน

    อ้างอิง แก้

    1. Castellow Ellen. "Evacuation of Dunkirk"
    2. "Dunkirk Evacuation". Encyclopædia Britannica World War II. สืบค้นเมื่อ 9 January 2016.
    3. The War in France and Flanders. Chapter XII
    4. Rickard J. "Operation Dynamo The Evacuation from Dunkirk 27 May-4 June 1940." historyofwar.org. Retrieved 14 May 2008.
    5. Taylor and Mayer 1974, p. 59.
    6. 6.0 6.1 Taylor and Mayer 1974, p. 60.
    7. Shirer 1959, p. 877.
    8. 8.0 8.1 Atkin 1990, p. 120.
    9. Kershaw 2008, p. 27.
    10. Bond 1990, pp. 104–05.
    11. Lord 1983, p. 148.

    แหล่งข้อมูลอื่น แก้