ศิลปะร่วมสมัย
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ระวังสับสนกับศิลปะสมัยใหม่ (Modern art)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ศิลปะร่วมสมัย (อังกฤษ: Contemporary art) หมายถึง ศิลปะ ณ ปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 หรือช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ศิลปินร่วมสมัยมักทำงานที่ได้รับอิทธิพลกว้างขวางจากความเป็นโลกาภิวัฒน์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาอย่างก้าวไกลในด้านเทคโนโลยี งานศิลปะร่วมสมัยเป็นการรวมตัวกันอยากหลากหลายของทั้งวัสดุ วิธีการ แนวความคิด และหัวข้อที่ทำให้เกิดการท้าทายต่อขอบเขตของงานศิลปะรูปแบบเดิม ๆ ที่เป็นที่นิยมในช่วงศตวรรษที่ 20 ด้วยความที่ศิลปะร่วมสมัยนั้นมีความหลากหลายเป็นอันมาก เราสามารถจำแนกศิลปะร่วมสมัยได้โดยดูจากความยืดหยุ่นของรูปแบบ โครงสร้างหลักการ แนวความคิด และการแบ่งออกเป็นลัทธิต่าง ๆ ศิลปะร่วมสมัยเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาทางวัฒนธรรมที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริบทขอบข่ายที่กว้างขึ้น ได้แก่ อัตลักษณ์เฉพาะตัวและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ครอบครัว สังคม รวมไปถึงประเทศชาติ[1]
ในภาษาพูดโดยทั่วไป คำว่า ศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัย เป็นคำพ้องความหมาย สามารถเห็นการใช้สลับกันได้โดยบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ
ขอบเขต
แก้บางคนให้คำนิยามศิลปะร่วมสมัยว่าเป็นงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงชีวิตของเรา ณ ปัจจุบัน โดยตระหนักว่าช่วงชีวิตของเรานั้นมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีการยอมรับกันว่าคำนิยามนี้มุ่งไปที่ขอบเขตใดขอบเขตหนึ่งเป็นพิเศษ
การจัดหมวดหมู่ของคำว่า "ศิลปะร่วมสมัย" ว่าเป็นประเภทหนึ่งของศิลปะมากกว่าที่จะเป็นแค่คำคุณศัพท์ทั่วไปได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นของลัทธิสมัยใหม่ท่ามกลางประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1910 นักวิจารณ์โรเจอร์ ฟรอยด์ได้ก่อตั้งชุมชนศิลปะร่วมสมัยขึ้น (Contemporary Art Society) โดยมีจุดประสงค์เพื่อซื้องานศิลปะเพื่อนำไปจัดวางในพิพิธภัณฑ์สาธารณะต่าง ๆ นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 1930 ยังมีสถาบันอื่น ๆ ที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ได้ก่อตั้งขึ้นอีกมากมาย เช่นการก่อตั้งชุมชนศิลปะร่วมสมัยแห่งแอดิเลด (Contemporary Art Society of Adelaide)ในประเทศออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1938 และยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังปี ค.ศ. 1945 นอกจากนั้นในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเปลี่ยนชื่อสถาบันทางศิลปะต่าง ๆ จากเดิมที่เคยใช้คำว่าศิลปะสมัยใหม่ กลายเป็นสถาบันศิลปะร่วมสมัย (Institute of Contemporary Art) เนื่องจากลัทธิสมัยใหม่ได้ถูกจำกัดความให้เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางศิลปะทางประวัติศาสตร์ ศิลปะสมัยใหม่จึงถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัย คำจำกัดความของคำว่าศิลปะร่วมสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยผูกติดอยู่กับความเป็นปัจจุบัน และจุดเริ่มต้นของความเป็นร่วมสมัยก็ถูกเคลื่อนไปข้างหน้าตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่งานศิลปะที่ชุมชนศิลปะร่วมสมัยซื้อไว้ในปี ค.ศ. 1910 ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยอีกต่อไปแล้ว
จุดเปลี่ยนสำคัญของรูปแบบทางศิลปะ ได้แก่ การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองและช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา ศิลปะก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มีจุดหักเหที่ชัดเจนนัก และคำจำกัดความว่าอะไรเป็นศิลปะร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ 2010 ยังมีการผันแปรอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่คำนิยามเหล่านี้มักจะคลุมเครือ แต่จะรวมไปถึงงานศิลปะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาและมักย้อนไปถึงช่วงประมาณปี ค.ศ. 1970 ตัวอย่างคำจำกัดความของศิลปะร่วมสมัยในช่วงเวลานี้ ได้แก่ "ศิลปะแห่งช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และช่วงต้นศตวรรษที่ 21", "ศิลปะแห่งช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และช่วงต้นศตวรรษที่ 21ซึ่งเป็นทั้งผลลัพธ์และการปฏิเสธศิลปะสมัยใหม่", "ถ้าจะพูดให้ถูก คำว่าศิลปะร่วมสมัยใช้พูดถึงศิลปะของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่", "ศิลปะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 หรือ 1970 จนกระทั่งวินาทีนี้" นอกจากนี้ในวงการพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีงานสะสมเป็นศิลปะร่วมสมัยก็ต้องยอมรับว่าการมีอายุเพิ่มขึ้นของชิ้นงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งจึงมักเลี่ยงไปใช้คำว่า "ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย" (Modern and Contemporary Art) แทน ส่วนหอศิลป์ที่เล็กลงมา หรือนิตยสารทางศิลปะต่าง ๆ อาจใช้คำนิยามความเป็นศิลปะร่วมสมัยที่แคบลง โดยบางครั้งอาจจะจำกัดอยู่แค่งานศิลปะตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหลีกเลี่ยงจากหอศิลป์และกลุ่มนักวิจารณ์ นั่นคือ การจำแนกผลงานศิลปะว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยหรือไม่ของศิลปินที่ซึ่งแม้จะสิ้นสุดอาชีพศิลปินลงแล้ว แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อเนื่องหรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นักสังคมวิทยานาตาลี ไฮนิช (Nathalie Heinich) จำแนกความแตกต่างระหว่างศิลปะสมัยใหม่กับศิลปะร่วมสมัยโดยอธิบายว่าเป็นสองรูปแบบที่ต่างกันโดยที่มีประวัติศาสตร์ทับซ้อนกันในบางจุด ไฮนิชพบว่าในขณะที่ "ศิลปะสมัยใหม่" พยายามท้าทายรูปแบบเดิม ๆ "ศิลปะร่วมสมัย" กลับพยายามที่จะท้าทายแนวความคิดเบื้องหลังของงานศิลปะ ไฮนิชจัดว่างาน Fountain ของมาร์แซล ดูชองป์ (ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1910 ซึ่งเป็นช่วงกลางและช่วงรุ่งเรืองของศิลปะสมัยใหม่) เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะร่วมสมัย โดยได้รับแรงผลักดันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมกับศิลปะการแสดงของกลุ่มกูไต(Gutai group) งานที่ใช้สีฟ้าเพียงเฉดเดียวของอีฟว์ แกล็ง (Yves Klein) และงาน Erased de Kooning Drawing ซึ่งเป็นกระดาษเปล่าที่ถูกสร้างสรรค์จากการลบของโรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg)
สาระสำคัญ
แก้หนึ่งในอุปสรรคของการเข้าถึงงานศิลปะร่วมสมัยนั้นคือความหลากหลายของตัวชิ้นงาน ทั้งในด้านวัสดุ รูปแบบ แนวความคิด และแม้กระทั่งเรื่องของระยะเวลา ศิลปะร่วมสมัยไม่ได้ถูกจำแนกประเภทได้โดยมีชุดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง, แนวคิด, หรือลัทธิที่เป็นหลักที่สำคัญเหมือนเช่นที่เราเห็นได้ในงานศิลปะรูปแบบอื่นหรือช่วงระยะเวลาหรือการเคลื่อนไหวทางศิลปะอื่น ๆ หากจะพูดกันอย่างกว้าง ๆ แล้ว การที่เรามองไปยังลัทธิสมัยใหม่เปรียบได้กับการมองไปที่หลักการของมัน หลักการซึ่งมุ่งเน้นไปที่ตัวเองศิลปะเองเช่นการพิจารณาวัสดุที่นำมาใช้ พิจารณาการใช้เส้น, รูปร่าง, สี หรือรูปทรง เช่นเดียวกับลัทธิประทับใจ หรืออิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ที่มักพิจารณาไปที่การรับรู้ของช่วงเวลานั้น ๆ ผ่านการใช้แสงและสี เพื่อเป็นการท้าทายงานศิลปะที่มีรูปแบบตายตัวจากลัทธิสัจนิยม (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการทางศิลปะเช่นกัน) ในทางตรงกันข้าม ศิลปะร่วมสมัยไม่มีหลักการใดหลักการหนึ่งที่สามารถนำมาพิจารณาได้ โดยมุมมองของศิลปะร่วมสมัยนั้นมักจะกำกวม และบางที่ก็มักจะเป็นภาพสะท้อนของโลกปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าหลักการของศิลปะร่วมสมัยนั้นจะต้องมีความขัดแย้ง สับสน และมีขอบเขตที่เปิดกว้าง อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถเห็นขอบเขตคร่าว ๆ ได้บ้าง หลัก ๆ คือ อัตลักษณ์ทางการเมือง, ร่างกาย, โลกาภิวัฒน์และการย้ายถิ่นฐาน, เทคโนโลยี, สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย, เวลาและความทรงจำ และการวิจารณ์ความเป็นสถาบันและการเมือง ทฤษฎีจากลัทธิต่าง ๆ ได้แก่ ลัทธิหลังสมัยใหม่ (Post-modern), ลัทธิหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralist), เฟมินิสต์ (Feminist), และลัทธิมาร์กซ์ (Marxist) ถูกนำมาใช้เป็นบทบาทหลักในการพัฒนาทฤษฎีร่วมสมัยในโลกศิลปะ