อีฟว์ แกล็ง (ฝรั่งเศส: Yves Klein) เกิดที่เมืองนิส ประเทศฝรั่งเศส เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้นำสีฟ้ามาจดเป็นลิขสิทธิ์และนำมาใช้ในการสร้างงานศิลปะ เขาเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มศิลปะในลัทธิสัจนิยมใหม่ (Nouveau réalisme) ใช้ชีวิตและการทำงานศิลปะส่วนใหญ่ในกรุงปารีสและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่นั่น งานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความคิดแปลกใหม่ นำเสนอผู้ชมด้วยรูปแบบที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา นิทรรศการ "Monochrome Proposition" เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา

อีฟว์ แกล็ง
เกิด28 เมษายน ค.ศ. 1928(1928-04-28).
นิส ฝรั่งเศส
เสียชีวิตมิถุนายน 6, 1962(1962-06-06) (34 ปี)
ปารีส ฝรั่งเศส
สัญชาติฝรั่งเศส
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม, ศิลปะการแสดง
ขบวนการลัทธิสัจนิยมใหม่

ชีวิต (1928-1962) แก้

อีฟว์ แกล็ง เกิดและเติบโตในบ้านที่ใช้เป็นสตูดิโอสำหรับวาดภาพ บิดาของเขาชื่อ แฟรด แคลน เป็นลูกครึ่งดัตช์กับอินโดนีเซีย เป็นศิลปินรูปธรรม (Impressionist) ส่วนแม่ชื่อมารี แรมง เกิดที่จังหวัดอาลป์-มารีตีม โด่งดังในฐานะศิลปินนามธรรม (Tachisme) รูปแบบการวาดภาพแบบนามธรรมที่เป็นที่นิยมในฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ. 1940-1950) แกล็งจึงได้ใกล้ชิดและคลุกคลีกับศิลปะมาตั้งแต่เกิด

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 ถึง ค.ศ. 1946 แกล็งได้เข้าศึกษาที่ The École Nationale de la Marine Marchande และ the École Nationale des Langues Orientales เขาได้เข้าร่วมชมรมยูโด ในช่วงฤดูร้อน ที่ยิมยูโด แกล็งได้ทำความรู้จักกับโคลด ปาสกาล และอาร์มองด์ แฟร์นองเด พวกเขาฝึกยูโดกันที่นี่ และเขามีความเชื่อ 3 อย่างเกี่ยวกับ การเดินทาง การสร้างสรรค์ และความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณ บนชายหาดที่เมืองนิส พวกเขาทั้งสามคนเลือกที่จะ "แบ่งปันโลก" โดยอาร์มองด์ค้นพบเรื่องโลกและความร่ำรวย โคลดเรื่องค้นพบเรื่องอากาศ และแกล็งค้นพบเรื่องเรื่องท้องฟ้าและความไม่สิ้นสุด แกล็งได้กลายเป็นนักยูโดที่เก่งกาจภายในเวลาไม่กี่ปี นอกจากเป็นนักยูโดแล้วเขายังต้องการมีเชื่อเสียงในวงการยูโด เขาได้เดินทางไปเก็บภาพเกี่ยวกับกีฬายูโดที่ญี่ปุ่นและนำภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่เขาบันทึกไว้กลับมา เขาสร้างชื่อจากการนำสิ่งเหล่านั้นมาเผยแพร่และขายในประเทศฝรั่งเศส[1] หลังจากนั้นราวปี ค.ศ. 1955 เขาได้จัดแสดงผลงานของเขาขึ้นที่ The Galerie des Solitairesในกรุงปารีส ระยะแรกผลงานของแกล็งคือการใช้สีโทนเดียวแบบ Monochrome แต่ยังมีความหลากหลายโดยใช้สีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีแดง และสีเขียว นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 เป็นต้นไปผลงานของแกล็งจะใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก นอกจากภาพวาดแล้วเขายังเป็นศิลปินคนแรก ๆที่บุกเบิกศิลปะแบบ Performance Art ในฝรั่งเศสอีกด้วย[2] เมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี ค.ศ. 1962 เขาได้เข้าพิธีสมรสกับ Rotraut Uecker ที่โบสถ์ Saint Nicolas des Champs ในกรุงปารีส ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา เช่น International Klein Blue (1962) และ Monotone Symphony (1949) แกล็งได้จบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 34 ปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1962 ณ กรุงปารีส[3]

ผลงานทางศิลปะ แก้

1957 แก้

 
Sculpture aérostatique

ค.ศ. 1957 จุดเริ่มต้นของยุคสีฟ้า อีฟว์ แกล็งได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานส่วนตัวในชื่อว่า Proposte monocrome, epoca blu ณ แกเลอรี่ อะโปลีแนร์ (à la Galerie Apollinaire) ที่มิลาน เขาได้แสดงผลงานทั้ง 11 ผลงานเป็นภาพวาดโดยใช้สีฟ้าสีเดียวทั้งหมด ในปีเดียวกัน แกล็งได้จัดการแสดงผลงานอีกครั้งหนึ่งโดยเทคนิค Monochrome Proposition (การแสดงสีสีเดียว) ที่บ้านไอริส เคลิท แกลลอรี่ (Iris Clert Gallery) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่เขาเคยจัดขึ้นที่มิลาน เป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นในยุคสีฟ้า มีการปล่อยลูกโป่ง 1,001 ลูกขึ้นบนท้องฟ้า ณ.กรุงปารีส เขาเรียกการแสดงงานครั้งนี้ว่า Sculpture aérostatique อีกผลงานหนึ่งซึ่งแสดงแนวความคิดใหม่ของเขา ได้ถูกจัดขึ้นที่บ้านโกไลแอต (Chez Colette Allendy) เช่น การใช้สีฟ้าเปล่า ๆในการทำงานศิลปะและการใช้สิ่งรอบตัวมาทำงานศิลปะ รวมทั้งงานที่ใช้ไฟเผา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ไฟเข้ามาในงานศิลปะ งานที่ไร้ตัวตนไม่มีจุดมุ่งหมาย ถูกจัดแสดงในชื่อว่า การแสดงความว่างเปล่า (Exhibition of Emptiness) โดยจัดขึ้นในห้องว่างเปล่าที่ทาสีขาวสะอาดทั้งห้อง ผู้ชมมากกว่าสองพันคนเข้าไปในห้องเพื่อชมสิ่งที่เขาเรียกว่า เฟอนิสซาจ (Vernissage) อันได้แก่ ฝาผนังที่ว่างเปล่า[4]

1958 แก้

ในวันที่ 5 มิถุนายน 1958 การทดลองเทคนิคใหม่ของเขาที่เรียกว่า "pinceaux vivants" หรือฝีแปรงที่มีชีวิต ถูกจัดขึ้นในอะพาร์ตเมนต์ของรอแบร์ กอแด (Robert Godet) ที่แซงหลุย ณ กรุงปารีส (Saint-Louis à Paris) สีฟ้า ได้ถูกจดเป็นลิขสิทธิ์ของแกล็ง เขาได้ใช้ผู้หญิงเปลือย ซึ่งมีการนำสีฟ้ามาทาบนร่างกายและกลิ้งเกลือกไปมาบนผลงานของเขา[5]

1960 แก้

ค.ศ. 1960 ปิแอร์ เรสตานี (Pierre Restany) กับกลุ่มของแกล็งได้เคลื่อนไหวก่อตั้งศิลปินกลุ่มหนึ่งโดยเรียกชื่อกลุ่มของพวกตนว่า "สัจนิยมใหม่" โดยมีจุดประสงค์ในเรื่องการพิทักษ์รักษาศิลปะของสำนักปารีส (School of Paris) ไม่ให้โน้มเอียงไปในแนวอิทธิพลใหม่ ๆ จากศิลปะของอเมริกา เท่ากับเป็นปรากฏการณ์ของศิลปินในยุโรป ซึ่งรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อคตินิยมพ็อพ อาร์ตของอเมริกานั่นเอง เหตุที่ใช้คำว่า "นิว" (ใหม่) เพราะว่ามีการนำเสนอความเป็นบริสุทธิ์และความง่ายซึ่งแนบสนิทอยู่กับส่วนต่าง ๆ ของสัจธรรม ดังเช่น พวกเขากำลังเป็นอยู่ในเวลานี้จริง ๆ เรสตานีกล่าวว่า "ลัทธิสัจนิยมใหม่เป็นเครื่องบอกสัจธรรมทางสังคมศาสตร์ โดยปราศจากความตั้งใจจะถกเถียงใด ๆ ทั้งสิ้น"

9 มีนาคม ค.ศ. 1960 เขาจัดแสดงผลงานที่สถานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ (Galerie Internationalale d’Art Contemporatine) ซึ่งงานจัดแสดงครั้งนี้ได้มีการนำเพลง "ซิมโฟนีเสียงเดียว" (Monotone Symphony) เพลงที่ประพันธ์ขึ้นโดยแกล็ง โดยใช้เสียงแบบโทนเดียวในการบรรเลง 10 นาที ร่วมกับการแสดงผลงานในชื่อ Blue Anthoropometrics โดยได้นำสีฟ้ามาทาร่างกายบนผู้หญิงเปลือย 3 คนจากนั้นนำร่างมากลิ้งเกลือกลงบนผืนผ้าซึ่งกางบนพื้นห้องรวมทั้งบนกำแพง

คำแถลงการณ์ของกลุ่มตีพิมพ์ในนครมิลานเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1960 มีการจัดตั้งกลุ่มเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีเดียวกันนั้น ในปลายปีก็ได้มีผลงานชื่นชุมนุมของศิลปินกลุ่มก้าวหน้าของฝรั่งเศสขึ้นในปารีส ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทางกลุ่มจึงจัดรวบรวมผลงานแสดงเป็นครั้งแรก และครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1961 ที่ เจ. แกลเลอรี โดยให้ชื่อว่า "แอท 40 โอเวอร์ ดาดา" (At 40 Over Dada)

สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มทั้งหมดมี 9 คน ได้แก่ แกล็ง, เซซาร์ (Cesar), แตงเกอลี (Tinguely), เฮนส์ (Heins), วิลเลอเกล (Villegle), ดูเฟรสเนอ (Dufresne), มาร์ตีอาล เรย์เซอ (Martial Raysee), อาร์มัง (Arman) และมันโซนี (ManZoni)

ทั้งหมดมีเรสตานีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดประสานงาน โดยมีเป้าหมายของอุดมคติเห็นพ้องต้องกันในการที่จะแสดงผลงานให้ตรงต่อสัจธรรม พวกเขาแสดงสัจธรรมดังเช่นความจริงที่เป็นอยู่ อีกทั้งลดปัญหาความคิดส่วนตัวลง เพื่อปัญหาการสร้างสรรค์ทางศิลปะและสร้างสำนึกใหม่แห่งสัจธรรมขึ้น เป็นสัจธรรมทางสังคมที่แสดงอย่างตรง ๆ มิต้องอ้อมต่อไป

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1960 ศิลปินได้จ้างช่างภาพ Harry Shunk และ janos (jean) Kender เพื่อสร้างงานโดยทำการตัดต่อภาพของศิลปินขณะกระโดดลงจากชั้นสองของหน้าต่างในอาคาร บริเวณชานเมือง Fontenay-aux-Roses ประเทศฝรั่งเศส ศิลปินจงใจทำผลงานนี้ขึ้นจากภาพสองภาพ ภาพแรกเป็นภาพที่ศิลปินทำท่ากระโดดลงมาโดยมีผ้าใบกันน้ำรองรับที่พื้นถนน ส่วนภาพที่สองเป็นภาพถ่ายอาคารตรงนั้น เมื่อนำมาตัดต่อก็จะได้ภาพเสมือนศิลปินกำลังดิ่งเข้าสู่ความว่างเปล่า ปฏิเสธแรงโน้มถ่วงใด ๆ ผลงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการฝึกยูโดและทัศนคติในเรื่องการจุ่มตัวเองลงไปในสีหรือจุ่มลงไปในความว่างเปล่าอีกครั้ง ภาพตัดต่อนี้ศิลปินนำมาตีพิมพ์จากลงในหนังสือพิมพ์ Parisian เพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตซ้ำของวัตถุ เพื่อกระจายออกสู่สาธารณชน[6]

1961 แก้

ในปี ค.ศ. 1961 อีฟว์ แกล็งได้จัดนิทรรศการจิตรกรรมเผาไฟ โดยใช้สีแดงและสีน้ำเงินระบายบนแผ่นใยสังเคราะห์แอสเบสทอส ซึ่งเป็นวัสดุทนไฟ จากนั้นใช้เครื่องพ่นผ่านไปที่ภาพ สี่ที่ถูกไฟไหม้จะเกิดปฏิกิยาต่าง ๆ บางแห่งไหม้เกรียม และบางแห่งสีเปลี่ยนไป ปรากฏรูปลักษณ์พิเศษขึ้น ถัดมาในปีเดียวกัน เขาแสดงน้ำพุไฟและน้ำพุน้ำ ด้วยการใช้ไฟพ่นให้ปะทะกับเครื่องพ่นน้ำ ดูผลของไฟละน้ำซึ่งปะทะกันกลางอากาศ[7]

อ้างอิง แก้

  1. Nicolas Charlet. (2000) . Yves Klein. Paris : Adam Biro, Page 4.
  2. [1][ลิงก์เสีย]
  3. [2]
  4. [3]
  5. [4]
  6. [5]
  7. กำจร สุนทรพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544, หน้า 517-518.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้