ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซุ้ก๋ง

ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซุ้ก๋ง (師祖水清) หรือ ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู่ก๋ง ตั้งอยู่ที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เป็นศาลเจ้าที่ชาวเหนือคลองให้ความเคารพศรัทธาและเป็นสถานที่ประกอบพิธีในเทศกาลกินเจ

ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซุ้ก๋ง
師祖水清
ศาสนา
ศาสนาศาสนาชาวบ้านจีน
จังหวัดจังหวัดกระบี่
เทศกาลงานประเพณีถือศีลกินผัก
ที่ตั้ง
ที่ตั้งตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง
ประเทศประเทศไทย
สถาปัตยกรรม
ประเภทสถาปัตยกรรมจีน

ประวัติ แก้

ยุคแรก แก้

ยุคแรก เริ่มก่อตั้งโดย กำนันตำบลเหนือคลอง ขุนชลาลัยพิศาล พวกสกุลเจียวก๊ก โดยมีนายอังก๋าว เอ่งฉ้วน เป็นผู้จัดการเป็นคนแรกของอ๊ามเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง บ้านเหนือคลอง ประมาณ 140 ปีมาแล้ว สิ่งของที่ชาวบ้านเหนือคลองนำมาจากเมืองจีนทางเรือสำเภาเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมกินเจในช่วงสมัยนั้น ได้แก่

  • เก่ว (เกี้ยว)
  • ป้ายหนังสือจีน
  • ป้ายชื่อเทพเจ้า
  • หัวมังกรและน้ำเต้า
  • รูปมือ
  • รูปปั้นเทพเจ้า 3 องค์ คือ จ้อซู้ก๋ง, เล่าจ้อ, ยี่จ้อ

หลังจากนั้นได้หยุดไปหลายสิบปีเนื่องจากโรคระบาดในยุคนั้น

ยุคที่สอง แก้

เริ่มมีผู้ดำเนินการจัดให้มีการกินเจ มีการแสดงอยู่ประมาณ 2 - 3 คืน ผู้ที่เทพเจ้าเข้าประทับทรง (ม้าทรง) มีประมาณ 6 คน ตลอดเวลาศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง จะมีผู้ดูแลจัดการภายในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยความเสียสละตลอดมา

  • นายสิ่ว เอี่ยนเล่ง
  • นายสมนึก เอ่งฉ้วน
  • นายสวัสดิ์ อริยวงศ์

เดิมศาลเจ้าจะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวหลังคามุงจาก กอปรกับจิตเลื่อมใสศรัทธาของชาวกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมกันบริจากทรัพย์ โดยที่ทางศาลเจ้าไม่เคยเรี่ยไรแม้แต่ครั้งเดียว จำนวนผู้คนที่มาร่วมกินเจก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ไม่ว่าจะเป็นคนจีน คนไทยเชื้อสายจีน แม้กระทั่งคนไทยแท้ก็มาร่วมกินเจ ผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพต่างก็มารับประทานอาหารหม้อเดียวกันในโรงเจ

ยุคปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยแรงศรัทธา ทำให้มีอาคารเพิ่มมากขึ้นหลายหลัง มีความสะอาด สะดวก และสบาย

นอกจากนี้ ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง ได้รับคัดเลือกจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประกาศเกียรติคุณให้เป็นศาลเจ้าที่บริหารงานดีเด่นในปี พ.ศ. 2538 และ ปี พ.ศ. 2541

งานประเพณีถือศีลกินผัก แก้

ปฐมฤกษ์ แก้

คณะกรรมการศาลเจ้าจะจัดหาต้นไม้ไผ่ตง ขนาดเหมาะเจาะมา 2 ต้น เพื่อทำเป็นเสาโกเต็งหรือเสาเทวดา สำหรับห้อยดวงไฟ 9 ดวงกับตะเกียงอีก 1 ดวง ก่อนยกเสาโกเต็ง ต้องทำพิธีไหว้เจ้าที่ และเชิญสี่ไต่เทียนอ๋อง จากทั้ง 4 ทิศ ธงที่ผูกติดบนยอดเสาโกเต็ง คือ

  • ธงเล่งกี๋ (ธงสัญญาณกินเจ)
  • ธงกิ๋วอ๋อง (ธงประธานในการกินเจ)
  • ธงเป้งอั้น (ธงอวยพรพรลูกหลานให้โชคดี)

เมื่อชาวบ้านอำเภอเหนือคลอง และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันยกเสาโกเต็งขึ้น นับว่าพิธีกินเจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

พิธีรับพระประธานงานกินเจ แก้

พระประธานในงานกินเจ คือ กิ๋วอ๋องไต่เต่ ผู้ที่กินเจจะจัดขบวนแห่ไปรับเสด็จ ณ หาดนพรัตน์ธารา โดยจะทำพิธีบวงสรวง ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่ออัญเชิญดวงพระวิญญาณกิ๋วอ๋องไต่เต่จากสวรรค์ ซึ่งต้องลงมาถึงที่ที่มีน้ำเท่านั้น (มีความเชื่อว่าพระองค์จะไม่ทรงเหยียบพระแม่ธรณี หรือ ผืนดิน) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าจะลงไปอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพระองค์ใส่ในหม้อพิธี ภายในนั้นจะมีเครื่องหอมบรรจุอยู่ อาทิ ไม้จันทน์หอม ต่อจากนั้นก็จะอัญเชิญเข้าขบวนแห่มาประทับที่ศาลเจ้า จะมีการประโคมเสียงดนตรีเช่น กลอง ผ่าง ฉาบ ตลอดเส้นทางเคลื่อนขบวนจะผู้มีศรัทธาตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดเป็นระยะ ๆ

เมื่อขบวนมาถึงศาลเจ้า ผู้จัดการศาลเจ้าจะถวายรายงานเป็นภาษาจีนว่าการกินเจปีนี้เป็นปีที่เท่าไร มีผู้ที่มากินเจกี่คน เหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อรายงานเสร็จจึงอัญเชิญกิ๋วอ๋องไต่เต่เข้าประทับในศาลเจ้า ดวงไฟบนยอดเสาก็ถูกจุดขึ้น และดวงไฟทุกดวงในบริเวณศาลเจ้าก็จะสว่างไสวไปตลอดทั้งงาน

พิธีเลี้ยงกระยาหารทหารเทพ (พิธีโกกุ้น) แก้

ในวันที่ 3 ของพิธี คณะผู้จัดการศาลเจ้าต้อง เลี้ยงกระยาหารทหารเทพทั้ง 5 เหล่าทัพ เนื่องจาก การกินเจจะต้องอัญเชิญเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่มาประทับทรง ทหารเทพก็จะมาคอยดูแลอารักขาประจำที่ศาลเจ้า ดังนั้น การจัดเลี้ยงจะมีอาหารเจนานาชนิดและผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากนั้น จะมีอาหารเลี้ยงม้าของเหล่าแม่ทัพต่าง ๆ อีกด้วย เช่น หญ้า ถั่วเขียว ข้าวสาร ข้าวเปลือก และเกลือ เป็นต้น

ทหารเทพทั้ง 5 เหล่าทัพ ซึ่งเป็นกองทัพองค์รักษ์ ประกอบด้วย

  • กองทัพธงดำ มีกำลังพลทหาร 999,999 องค์
  • กองทัพธงเขียว มีกำลังพลทหาร 888,888 องค์
  • กองทัพธงแดง มีกำลังพลทหาร 777,777 องค์
  • กองทัพธงขาว มีกำลังพลทหาร 666,666 องค์
  • กองทัพธงเหลือง มีกำลังพลทหาร 555,555 องค์

พิธีเลี้ยงกระยาหารทหารเทพ จะมี 3 ครั้งด้วยกัน คือ ขึ้น 3 ค่ำ, 6 ค่ำ, และ 9 ค่ำ เมื่อเสร็จพิธีก็จะส่งออกไปรักษาความสงบตามอาณาเขตของศาลเจ้า

เทพเจ้าเสด็จออกอวยพร แก้

ในวันที่ 4 เทพเจ้าจะเสด็จออกอวยพรชาวเหนือคลอง และวันที่ 5 เทพเจ้าจะเสด็จออกอวยพรชาวตลาดเก่า

ในตัวเมืองกระบี่ จะมีการจัดขบวนแห่ไปตามถนนต่าง ๆ ผู้มีจิตศรัทธาจะตั้งโต๊ะไว้หน้าบ้าน ปูด้วยผ้าสีแดง มีกระถางธูป เทียน ดอกไม้ น้ำชา ข้าวสารผสมเกลือ (เกียมบี้) และผลไม้ต่าง ๆ นอกจากนี้จะมีการเผาไม้หอม (ไม้จันทน์) ให้ควันอบอวลไปทั่วบ้าน เทพเจ้าจะเข้ามาอวยพรขจัดปัดเป่าให้โชคดี และอยู่เย็นเป็นสุข รวมถึงการจุดประทัด

พิธีลุยไฟ แก้

ราววันที่ 6 เจ้าหน้าที่จะทำพิธีก่อกองไฟล่วงหน้า 1 คืน เมื่อถึงเวลา เทพเจ้าจะทำพิธีปัดเป่าอีกครั้งหนึ่ง และจะเริ่มลุยไฟก่อน ถัดมาก็จะเป็นลูกหลานที่ถือศีลกินเจ

การลุยไฟ คือ การเดินเหยียบกองไฟที่ลุกโชน และเป็นกองไฟที่ผ่านการทำพิธีมาแล้ว เป็นการทำความดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ มีจิตใจบริสุทธิ์ จะไม่มีสิ่งใดมาทำร้ายตัวเองได้แม้แต่ความร้อนของไฟ ถือเป็นการขจัดปัดเป่า และทำลายล้างสิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้ายที่แอบแฝงมาให้ออกไปจากตัวผู้ลุยไฟเอง เป็นการล้างตัวให้บริสุทธิ์

พิธีไหว้ดาวนพเคราะห์ แก้

จะมีขึ้นประมาณคืนที่ 7 ของงาน คณะกรรมการได้จัดเตรียมสถานที่ ดอกไม้ธูปเทียน และเหรียญ (ตามกำลังเทวดาประจำวันวันเกิด) เพื่อนำสิ่งของทั้งหมดไปบูชาดาวประจำตัว พิธีนี้ถือว่าเป็นพิธีที่สำคัญ เนื่องจาก เป็นการสักการะดาวประจำตัวของตนเอง (เทพเจ้าประจำวันเกิด) ที่ปกป้องคุ้มครองอยู่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์มีรายพระนาม ดังนี้

  • ไต้ซวยเอี้ยงเม้งทัมหลั่งไท้แชกุน
  • ไต้เจียกกิมเจ็กมิ้งง้วนแชกุน
  • ไต้ควงจิงหยิ๊งอกชุ้นกุน
  • ไต้เฮ้งเยี่ยงเม้งยุ้งเคียกนิวกุน
  • ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยมเจงกังแชกุน
  • ไต้ปั้งเก็กบู๊เคียกกี่แชกุน
  • ไต้เพียงเทียนกานผั่วกวงแชกุน
  • ตั่งเม้งงั่วหูแชกุน
  • อุ้นกอไล่เพี๊ยกแชกุน

สำหรับศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซุ้ก๋ง นอกจากมีพิธีไหว้ดาวนพเคราะห์แล้ว ยังมีการไต่บันไดมีด สวดมนต์ให้พร และส่งสัญญาณให้เทวดาฟ้าดินได้รับรู้ถึงการกินเจ

พิธีเดินข้ามสะพานสะเดาะพระเคราะห์ (พิธีโกยฮั่น) แก้

วันที่ 8 นับว่าเป็นวันที่สำคัญของงานกินเจ ที่ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซุ้ก๋งจะมีผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากจากทั่วทุกอำเภอ และจากต่างจังหวัดมาร่วมพิธีเดินข้ามสะพานโกยฮั่น

ก่อนเดินสะพานโกยฮั่น ทางศาลเจ้าจะมีรูปแทนตัวทำด้วยกระดาษลงเส้นสีชัดเจนว่าเป็น ชาย หรือ หญิง เสียบธูป 3 ดอก บนรูปแทนตัวให้เขียน ชื่อ - นามสกุล วันเดือนปีเกิด พร้อมทั้งตัดเศษผม เศษเล็บมือ เล็บเท้า และเศษชายเสื้อผ้า ใส่ในรูปแทนตัวของแต่คนเพื่อถือเดินข้ามสะพาน

เมื่อเดินมาสุดสะพานจะมีเจ้าหน้าที่ศาลเจ้าคอยเก็บรูปแทนตัวท่านนำมารวบรวมกัน และทำพิธีเผาหลังจากปิดสะพานในเวลา 23.59 น. ส่วนเถ้าถ่านนั้นจะนำไปใส่หม้อดินปิดผ้าแดง เพื่อนำเคราะห์ไปลอยกลางทะเล

พิธีส่งเสด็จสู่สวรรค์ แก้

ในคืนสุดท้ายของเทศกาล เจ้าหน้าที่จะจัดเตรีมเกี้ยวเพื่ออัญเชิญเสด็จกิ๋วอ๋องไต่เต่กลับสู่สวรรค์ เมื่อขบวนแห่ผ่านไปตามถนน สองข้างทางที่มีบ้านเรือนอยู่ จะตั้งโต๊ะหมู่บูชา พร้อมเครื่องเส้นไหว้ที่หน้าบ้าน มีการจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ

ขบวนแห่พระกิวอ๋องจะไปหยุดที่สะพานเจ้าฟ้า มีเรือเตรียมพร้อมที่ท่าเทียบเรือ ขบวนแห่จากเหนือคลองจะไปสมทบกับประชาชนชาวเมืองกระบี่และผู้มีจิตศรัทธาที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงที่รอเตรียมส่งพระกิวอ๋องอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าบางส่วนได้นำหม้อเชี้ยโหย (หม้ออัญเชิญดวงพระวิญญาณ) และหม้อที่ใส่เถ้าถ่านในคืนเดินบ้าทสะพานสะเดาะเคราะห์เพื่อนำไปลอยในทะเลใหญ่ ถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงนำความทุกข์ ความโศก โรคภัยต่าง ๆ ทั้งปวงไปด้วย คงเหลือไว้แต่ความสงบสุข และความโชคดี

จากนั้น ผู้ที่มากินเจจะต้องกลับมาไหว้พระ ณ ศาลเจ้าด้วยธูป 3 ดอก 9 ดอก หรือกลับมาไหว้พระที่บ้านของตนเองก็ได้ ถือว่าเป็นการบอกกล่าวและเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นสีทั่วไปจากนั้นจึงรับประทานอาหารคาวได้

พิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ แก้

ในวันขึ้น 10 ค่ำ จะมีพิธีหาวเจียง คือ พิธีเลี้ยงอาหารคาวหวานแก่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่มาร่วมกินเจ

เมื่อเสร็จพิธีจะทำพิธียกเสาโกเต็งลง ถือเป็นอันจบพิธีกินเจ ธง ทั้ง 3 ผืนที่อยู่บนยอดเสาโกเต็งจะนำไปเปิดการประมูล ผู้ที่ประมูลได้ก็จะอัญเชิญกลับไปบูชาที่บ้าน เพื่อความสุข ความเจริญ และสิริมงคลแก่ครอบครัว

กิจกรรมอื่น ๆ แก้

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการที่จัดงานกินเจในแต่ละปีจะพยายามหากิจกรรมอื่น ๆ มาเสริมเทศกาลกินเจ เพื่อเป็นศูนย์รวมของบุคคลในท้องถิ่น เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในชุมชน

กิจกรรมที่มีการจัดขึ้น เช่น ตระกร้อ บาสเก็ตบอล ฟุตบอลประตูเล็ก 7 คน รวมถึงการเสดงของเยาวชน การจัดกิจกรรมเหล่านี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั้งในท้องถิ่น และต่างอำเภอ