ศรคีรี ศรีประจวบ
ศรคีรี ศรีประจวบ (4 มีนาคม พ.ศ. 2489 [1] - 30 มกราคม พ.ศ. 2515) เป็นนักร้องลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานของวงการลูกทุ่งเมืองไทย จากน้ำเสียงที่หวานหยด จนได้รับการกล่าวขวัญ[ใคร?]ว่าเป็นราชาเพลงหวานหนึ่งเดียวของประเทศ
ศรคีรี ศรีประจวบ | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | สงอม ทองประสงค์ |
รู้จักในชื่อ | ราชาเพลงหวาน, ลูกคอเจ็ดชั้น |
เกิด | 4 มีนาคม พ.ศ. 2489 |
ที่เกิด | อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม |
เสียชีวิต | 30 มกราคม พ.ศ. 2515 (25 ปี) จังหวัดกำแพงเพชร ประเทศไทย |
แนวเพลง | ลูกทุ่ง |
อาชีพ | นักร้อง |
แม้เขาจะบันทึกผลงานเพลงไว้ค่อนข้างน้อย แต่เกือบทุกเพลงก็เป็นที่ติดใจคนฟังถึงพ.ศ. 2567 ต่อมานักร้องรุ่นหลังหยิบมาคัฟเวอร์ใหม่ในภายหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2515
ประวัติ
แก้ศรคีรี เล่าถึงประวัติของตัวเองเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 ว่า
บ้านเกิดผมเลขที่ 13 บ้านหนองอ้อ ต.
บางกระบือ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม พ่อผมชื่อมั่ง แม่ชื่อเชื้อ ผมมีพี่น้อง 6 คน ผมเป็นคนสุดท้อง ชื่อจริงผม ชื่อ สงอม ทองประสงค์ (ชื่อเล่น: น้อย) เกิดวันที่ 4 มีนาคม 2489[2] ป.4 ที่โรงเรียนพรหมสวัสดิ์สาธร (โรงเรียนวัดตะโหนดราย ในปัจจุบัน)
จบมาก็ช่วยแม่ปาดตาล (มะพร้าว) ปีนต้นตาลทุกวันมันเหนื่อยก็เลยหยุดพักบนยอดตาล เพื่อไม่ให้เสียเวลาผมก็ร้องเพลงบนยอดตาลจนหายเหนื่อยแล้วค่อยทำงานต่อ เพลงที่ชอบร้องก็มี "เสือสำนึกบาป", "ชายสามโบสถ์" เพราะตอนนั้นเพลงของคำรณ สัมบุญณานนท์ ฮิตเป็นบ้าเลย ตอนนั้นอยากเป็นนักร้องใจแทบขาด เวลาวงดนตรีของ พยงค์ มุกดา มาแสดงใกล้บ้าน ผมจะไปสมัครร้องให้ครูพยงค์ฟัง แกบอกว่าให้ไปหัดร้องมาใหม่ พยายามอยู่ 2 ครั้งครูพยงค์บอกว่ายังไม่ดี ผมเลยเลิกไปเอง จากนั้นพออายุ 20 ปี บวชได้พรรษาหนึ่งก็สึก พ่อแม่ผมไปซื้อไร่ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โน่น ตอนนั้นเขากำลังทำไร่สับปะรดกัน
แต่ประวัติอีกกระแสบอกว่า เพราะรักครั้งแรกเป็นพิษขณะที่บวช เมื่อว่าที่พ่อตาให้ลูกสาวแต่งงานกับชายอื่น เขาจึงเตลิดหนีออกจากบ้านมาอยู่กับพี่ชายที่ บ้านห้วยขวาง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยพี่ชายแบ่งไร่สับปะรดให้ทำ[ต้องการอ้างอิง]
ที่นี่ ศรคีรีเริ่มร้องเพลงอีกครั้ง โดยเข้าประกวดร้องเพลงตามงานวัด และคว้ารางวัลมากมาย จนเพื่อนชื่อ ประยงค์ วงศ์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นโฆษกงานวัดและงานบุญต่าง ๆ มาชวนให้ร่วมวงที่เช่าเครื่องดนตรี และจ้างครูดนตรีจากที่ค่ายธนะรัชต์ มาสอน เพื่อความสนุกในหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อคนรู้จักมากขึ้น จึงตั้งวง "รวมดาววัยรุ่น" ฝึกซ้อมและเปิดวงครั้งแรกที่วัดเฉลิมประดิษฐาราม (วัดหนองตาแต้ม) ซึ่งไม่ไกลจากบ้านนัก ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "รวมดาวเมืองปราณ" รับงานแสดงทั่วไปตามบ้านที่ขายสับปะรดได้โดยไม่คิดเงินทอง ตอนนั้นศรคีรีร้องเพลงแบบรำวง และใช้ชื่อ "พนมน้อย" เพราะร้องเพลงของ พนม นพพร และศักดิ์ชาย วันชัย ต่อมาได้นำวงมาแสดงในงานปีใหม่ของจังหวัด "ประหยัด สมานมิตร" ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ฟังเสียงและเห็นหน้าก็รักใคร่ชอบพอ จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น ศรคีรี ศรีประจวบ
หลังจากนั้น วิจิตร ฤกษ์ศิลป์วิทยา คนอยู่ใกล้บ้านกันให้การสนับสนุนเพื่อวงดนตรีแข็งแรงขึ้นและพากันเข้ากรุงเทพฯ เช่าเวลารายการวิทยุยานเกราะจาก จำรัส วิภาตะวัธ วิ่งล่องกรุงเทพฯ - ประจวบฯ อยู่บ่อย ๆ ก็ได้พบกับ เพลิน พนาวัลย์ ที่พาเขาไปพบครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่บ้าน ตามคำขอร้องของศรคีรี
วงการเพลง
แก้ภูพาน เพชรปฐมพร อดีตนักร้องลูกวงที่ใกล้ชิดกับศรคีรีในวงรวมดาววัยรุ่นเล่าว่าตอนไปขอเพลงตอนนั้นครูมีนักร้องที่ดังมากคือรุ่งเพชร แหลมสิงห์เป็นลูกศิษย์อยู่ ศรคีรีก็ร้องเพลงแนวเดียวกัน ครูไพบูลย์ก็ไม่ให้ จึงต้องเที่ยวไปเที่ยวมาอยู่หลายครั้งจนครูใจอ่อน เพลงแรกที่ได้มาคือ น้ำท่วม ตอนที่บันทึกเพลง น้ำท่วม จ. ประจวบคีรีขันธ์ เสียหายอย่างมาก สับปะรดถูกน้ำท่วมทั้งหมด นอกจากนั้น ครูก็ยังให้เพลงมาอีก 3 เพลง คือ "บุพเพสันนิวาส", "แม่ค้าตาคม", "วาสนาพี่น้อย" สำหรับการบันทึกเสียงครั้งแรกนั้น ชุดแรกมีทั้งหมด 6 เพลง คือ น้ำท่วม, บุพเพสันนิวาส, วาสนาพี่น้อย, แม่ค้าตาคม, พอหรือยัง และบางช้าง งานนี้ศรคีรี เปลี่ยนสภาพจากนักร้องเพลงรำวง มาเป็นนักร้องเพลงหวานโดยสมบูรณ์
หลังจากเพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก ศรคีรีลงมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่นำวงดนตรีมาด้วย โดยจะนำมาก็แต่เมื่อมีงานครั้งแรกในกรุงเทพฯ เขาเปิดการแสดงงานศพน้องชายครูไพบูลย์ที่ วัดหลักสี่ บางเขน จากนั้นวงก็เริ่มรับงานในกรุงเทพฯ และเดินสายทั่วประเทศ และในการออกเดินสายใต้เป็นครั้งแรก วงประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จัดว่าเป็นวงที่มีค่าตัวแพงวงหนึ่ง ช่วงนั้นศรคีรีได้มีโอกาสแสดงหนังของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง "มนต์รักจากใจ" ด้วย
ต่อมาศรคีรีมีชื่อเข้าไปพัวพันคดีสังหาร วิจิตร เลิศศิลปวิทยา หัวหน้าวงดนตรีจตรไพบูลย์ พร้อมพวกอีก 4 คน ชื่อเสียงจึงตกลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้ และกลับมาอีกครั้งในเพลง "ตะวันรอนที่หนองหาร" "อยากรู้ใจเธอ" รักแล้งเดือนห้า" "ลานรักลั่นทม" และ "คิดถึงพี่ไหม"
ซึ่งเพลง "คิดถึงพี่ไหม" มีเบื้องหลังของเพลงนี้คือ ในขณะบันทึกเสียงศรคีรีร้องโดยปิดไฟมืด ซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน เพลงนี้แต่งโดย พยงค์ มุกดา โดย ทิว สุโขทัย เคยร้องไว้เป็นคนแรกและเสียชีวิตไปก่อนหน้า และเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายที่ศรคีรีได้บันทึกเสียงไว้
ชีวิตส่วนตัว
แก้ศรคีรีได้สมรสกับบุญนาค ทองประสงค์ (นามสกุลเดิม แสงทับทิม) มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน เป็นลูกชาย 2 คนและผู้หญิง 1 คน นั่นคือ สมศักดิ์ ทองประสงค์, เพ็ญรุ่ง ทองประสงค์ และสันติ ทองประสงค์
การเสียชีวิต
แก้ก่อนเสียชีวิต ศรคีรีเคยไปทำการแสดงที่โรงหนังเอกมัยราม่า มีบุคคลคนหนึ่งนำเอาพวงมาลัยดอกไม้สด แต่คาดด้วยผ้าดำแบบที่ทำไว้สำหรับผู้เสียชีวิตมอบให้เขาบนเวทีในขณะร้องเพลง เขาก็รับไว้ด้วยความเกรงใจ เมื่อกลับเข้าหลังเวที เขาสั่งเลิกการแสดงคืนนั้นทันทีหลังจากที่ร้องเพลงได้เพียง 5 เพลง
ศรคีรีได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2515 ในวัยเพียง 26 ปี 10 เดือน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 03.00 - 05.00 น. ที่บริเวณริมถนนพหลโยธิน ช่วงหลัก กม.ที่ 448 - 449 ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ขณะเดินทางกลับจากการแสดงที่วัดหน้าพระธาตุ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เข้าเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดทำการแสดงที่วัดภาษี เอกมัย ในช่วงค่ำ
มีการคาดว่า[ใคร?]คนขับรถของศรคีรีเกิดอาการง่วง จึงจอดรถเก๋งโตโยต้าคราวน์ข้างทางเพื่อหลับพักข้างทาง แต่ปรากฏว่ามีรถบรรทุกไม้วิ่งมาด้วยความเร็วสูงประกอบกับในขณะนั้นพื้นที่บริเวณนั้นยังเป็นสะพานสูง เมื่อรถบรรทุกไม้วิ่งมาด้วยความเร็ว เมื่อถึงสะพานก็ทำให้รถกระโดดเสียหลัก ขึ้นไปทับรถของศรคีรี ทำให้เขาเสียชีวิตคาที่
หลังการแสดงในวันนั้น ลูกวงได้ออกเดินทางมายังจุดนัดพบที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งก่อน แต่หลังจากที่ลูกวงรออยู่นาน หัวหน้าวงยังเดินทางมาไม่ถึง จึงออกเดินทางต่อ แต่วิ่งไปสักระยะหนึ่ง ก็มีรถพลเมืองดีวิ่งไล่ตามและเรียกให้จอด เพื่อแจ้งข่าวเรื่องการประสบอุบัติเหตุของรถของศรคีรี หลังพบใบปลิวการแสดงปลิวออกจากรถศรคีรีเกลื่อนกลาด หลังรถบัสวิ่งกลับไปก็พบศพดังกล่าว ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า ศรคีรีเสียชีวิตประมาณ 8.00 น. ซึ่งเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเวลาที่พบศพมากกว่า
ครูไพบูลย์ บุตรขัน เคยเขียนไว้อาลัยการจากไปของศรคีรีว่า "แด่สุดรัก เธอเกิดมาเป็นผู้กล่อมโลก ฉันเป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์ บัดนี้เธอจากโลกไปแล้วเหลือเพียงเสียงเพลง ศรคีรี ศรีประจวบ ฉันเสียดาย เสียดายจริง ๆ เพราะเธอควรจะอยู่กล่อมโลกให้นานกว่านี้"
ผลงานเพลงดัง
แก้ศรคีรี ศรีประจวบ บันทึกผลงานเพลงเอาไว้ทั้งสิ้น 34 เพลง ดังนี้
- น้ำท่วม (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- บุพเพสันนิวาส (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- แม่ค้าตาคม (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- ฝนตกฟ้าร้อง (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- ขี้เหร่ก็รัก (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- พระอินทร์เจ้าขา (ไพบูลย์ บุตรขัน) เพลงแก้คือ เทวดาเจ้าคะ - เตือนใจ บุญพระรักษา
- คิดถึงพี่ไหม (พยงค์ มุกดา) เพลงแก้คือ น้องคิดถึงพี่ - ขวัญดาว จรัสแสง (เป็นเพลงสุดท้ายในการบันทึกเสียงก่อนเสียชีวิต)
- วาสนาพี่น้อย (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- มนต์รักแม่กลอง (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- ดอกรักบานแล้ว (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- หนุ่มนาบ้ารัก (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- ทุ่งรัก (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา)
- พอหรือยัง (ชลธี ธารทอง)
- บางช้าง (ศรคีรี ศรีประจวบ) เพลงแก้คือ สาวบางช้าง - ขวัญดาว จรัสแสง
- หวานเป็นลมขมเป็นยา (สำเนียง ม่วงทอง)
- เฝ้าดอกฟ้า (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- หนาวลมที่เรณู (สุรินทร์ ภาคศิริ) (สนธิ สมมาตร เคยนำมาร้อง)
- ตะวันรอนที่หนองหาร (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา)
- เสียงขลุ่ยบ้านนา (เกษม สุวรรณเมนะ) (สายัณห์ สัญญา เคยนำมาร้อง แต่เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น เสียงขลุ่ยเรียกนาง) เพลงแก้คือ มนต์ขลังเสียงขลุ่ย - วันเพ็ญ เดือนเต็มดวง
- หนุ่มกระเป๋า (สุรินทร์ ภาคศิริ)
- รักแล้งเดือนห้า (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- ลานรักลั่นทม (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- รักจากใจ (สำเนียง ม่วงทอง)
- ไปให้พ้น (สมนึก ปราโมทย์)
- คนมีเวร (สงเคราะห์ สมัตภาพงษ์)
- อยากรู้ใจเธอ (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- เข็ดแล้ว (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- แม่กระท้อนห่อ (พยงค์ มุกดา)
- ทุ่งสานสะเทือน (พยงค์ มุกดา)
- แล้งน้ำใจ (ชิงชัย ชุ่มชูจันทร์)
- หนุ่มนา (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา)
- เสียงซุงเว้าสาว (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- รักเธอหมดใจ (ไพบูลย์ บุตรขัน)
- กล่อมนางนอน (ไพบูลย์ บุตรขัน)
ผลงานการแสดง
แก้- มนต์รักจากใจ กำกับโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ และศรคีรีได้ร้องเพลง "ลานรักลั่นทม" และ "รักแล้งเดือนห้า" ประพันธ์โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
เกียรติยศ
แก้- ปี 2547 ผลงานเพลง "เสียงขลุ่ยเรียกนาง" ของศรคีรี ศรีประจวบ จากการประพันธ์โดย เกษม สุวรรณเมนะ และขับร้องใหม่โดย ไท ธนาวุฒิ ได้รับรางวัล "มาลัยทอง" ประเภทเพลงเก่าทำใหม่ยอดเยี่ยม
อ้างอิง
แก้- วัฒน์ วรรลยางกูร. คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน. กรุงเทพมหานคร : ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ บริษัทลมดี จำกัด, พ.ศ. 2555. 496 หน้า. ISBN 978-616-7147-83-3