ไพบูลย์ บุตรขัน
ไพบูลย์ บุตรขัน (4 กันยายน พ.ศ. 2461 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515) นักแต่งเพลง และนักเขียนบทละคร ที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามให้เป็น "อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย" [1]
ไพบูลย์ บุตรขัน | |
---|---|
เกิด | 4 กันยายน พ.ศ. 2461 ไพบูลย์ ประณีต จังหวัดปทุมธานี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515 (53 ปี) โรงพยาบาลเปาโล นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ประเทศไทย |
คู่สมรส | ดวงเดือน บุตรขัน (พ.ศ. 2511 - 2515) |
อาชีพ | นักแต่งเพลง, นักเขียนบทละคร |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2490 - 2515 |
ประวัติ
แก้ครูไพบูลย์ บุตรขัน เดิมชื่อ ไพบูลย์ ประณีต เกิดที่บ้านท้องคุ้ง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของนายบุตร และนางพร้อม ประณีต ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีฐานะยากจน มีพี่น้อง 3 คน เมื่ออายุได้ 6 ปี บิดาเสียชีวิต จึงได้รับการเลี้ยงดูโดยนายเจน บุตรขัน ผู้เป็นอา นำไปอยู่ที่อำเภอปทุมวัน กรุงเทพ และได้เปลี่ยนนามสกุลจากประณีต มาเป็นบุตรขัน [2]
ไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มศึกษาชั้นประถมต้นที่จังหวัดปทุมธานี ประถมปลายที่โรงเรียนสตรีปทุมวัน และศึกษาจนจบมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวัสดิ์อำนวยเวทย์ กรุงเทพ และศึกษาดนตรีเพิ่มเติมจากครูพิณ โปร่งแก้วงาม ราวปี พ.ศ. 2476-2478 และเรียนวิชาดนตรีและโน้ตเพลงสากลเพิ่มเติมที่สมาคมวายเอ็มซีเอ แถบถนนวรจักร และได้ใช้โน้ตดนตรีประกอบการแต่งเพลงทุกครั้งตั้งแต่นั้นมา [2]
หลังจากเรียนจบ ไพบูลย์ บุตรขัน ได้ทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนกว๋องสิว แล้วลาออกไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าสามเสน แล้วลาออกไปทำงานกับคณะละคร คณะแม่แก้ว และคณะจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ ทำหน้าที่เขียนบทละครวิทยุ และแต่งเพลง
งานเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มบันทึกแผ่นเสียงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 จากการชักนำของ สวัสดิภาพ บุนนาค ซึ่งเป็นเพื่อนและน้องเขย เพลงในยุคแรกได้แก่เพลง "มนต์เมืองเหนือ" "คนจนคนจร" "ดอกไม้หน้าพระ" "ดอกไม้หน้าฝน" และ "ค่าน้ำนม" และได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่มีคุณค่า และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เช่น "โลกนี้คือละคร" (ขับร้องโดย ปรีชา บุณยะเกียรติ) "เบ้าหลอมดวงใจ" และ "มนต์รักลูกทุ่ง" (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) "ฝนเดือนหก" (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์)
"กลิ่นโคลนสาปควาย" (แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ขับร้องโดยชาญ เย็นแข) เป็นอีกผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของของไพบูลย์ บุตรขัน ที่ทางราชการไทยเคยประกาศห้ามเปิดในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แม้จะมีการห้ามจากทางการแต่ยิ่งห้ามก็มีผู้ฟังซื้อแผ่นเสียงไปฟังเป็นจำนวนมาก เพลงนี้ยังได้รับยกย่องให้เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่งอีกด้วยเพราะในอดีตก่อน พ.ศ. 2500 นั้นเพลงในประเทศไทยยังมิได้แบ่งแยก ยุคสมัยที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งออกจากกันอย่างชัดเจน[3]
หลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ในปี พ.ศ. 2532 เพลงของครูไพบูลย์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกไทย ถึง 10 เพลง ได้แก่ "ชายสามโบสถ์" (ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์) "น้ำตาเทียน" (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ) "บ้านไร่นารัก" และ "เพชรร่วงในสลัม" (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) "ฝนซาฟ้าใส" (ขับร้องโดย ยุพิน แพรทอง) "ฝนเดือนหก" (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์) "บุพเพสันนิวาส" และ "มนต์รักแม่กลอง" (ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ) "มนต์รักลูกทุ่ง" (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) และ "ยมบาลเจ้าขา" (ขับร้องโดย บุปผา สายชล) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลจากเพลง "หนุ่มเรือนแพ" (ขับร้องโดย กาเหว่า เสียงทอง)
ตัวอย่างผลงาน
แก้- คำรณ สัมบุญณานนท์
- ชายสามโบสถ์
- น้ำตาเสือตก
- เสือสำนึกบาป
- สวรรค์ชาวนา
- หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ
- ชมหมู่ไม้
- วังเวงเพลงขลุ่ย
- คนขับแท็กซี่
- ชาญ เย็นแข
- กลิ่นโคลนสาบควาย
- ค่าน้ำนม
- สามหัวใจ
- ตะรางดวงใจ
- เสียงกระซิบสั่ง
- คนจนคนจร
- แม่ศรีเรือน
- วินัย จุลละบุษปะ
- ชั่วดีก็ลูกแม่
- มนต์รักอสูร (คู่ทัศนัย ชะอุ่มงาม)
- สมยศ ทัศนพันธ์
- มนต์เมืองเหนือ
- น้องนางบ้านนา
- ผู้ครองใจ
- ไพรสณฑ์สวาท
- เบญจมินทร์
- อมตุ่ย
- ลัดดา ศรีวรนันท์
- ทะเลร่ำไห้
- มัศยาหลงเหยื่อ
- โอ้ทูลกระหม่อมเอย
- รักในสายเลือด
- แสนสงสาร
- โอ้บุพการี
- แดเดียว
- เสียงเรไร
- นริศ อารีย์
- กลิ่นเกล้า
- แม้พี่จะขี้เมา
- โอ้คุณของผม
- ผู้ภิกขาจาร
- พูลศรี เจริญพงษ์
- ฟ้ามุ่ย
- ความรักเรียกหา
- ปรีชา บุณยเกียรติ
- โลกนี้คือละคร
- ขวัญใจคนจน
- ชีวิตครูประชาบาล
- ราชินีบ้านนา
- โอ้คันไถ
- ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
- สาวชาวสวน
- สุรพล สมบัติเจริญ
- น้ำค้างเดือนหก
- ดอกกระถินในกระท่อม
- เที่ยวเมืองสวรรค์
- ผ่องศรี วรนุช
- โสนสะเดา (คู่พร ภิรมย์)
- บ้านน้องอยู่นี่
- ลูกเป็ดขี้เหร่
- 7 ราตรี
- ใจน้อยจริงน้อง (คู่ชัยชนะ บุญนะโชติ)
- ทูล ทองใจ
- น้ำตาเทียน (สมจิต ตัดจินดาต้นฉบับ)
- รังรักในจินตนาการ
- นกเขาขันฉันครวญ
- เหนือดวงชีวา
- เสียงดุเหว่าแว่ว
- คืนนั้นสวรรค์ล่ม
- ก้าน แก้วสุพรรณ
- แอบมอง
- บ้านน้องอยู่ไหน
- เพราะขอบรั้วกั้น
- แม่โสนน้อยเรือนงาม
- แก้มแหม่ม
- สองมือข้ามี
- พร ภิรมย์
- โสนสะเดา (คู่ผ่องศรี วรนุช)
- ชัยชนะ บุญนะโชติ
- แม่แตงร่มใบ
- ดอกดินถวิลฟ้า
- บางกอกกรุงเก่า
- ละครฉากจบ
- ใจน้อยจริงน้อง (คู่ผ่องศรี วรนุช)
- ปอง ปรีดา
- ตามน้องต้อย
- น้องนางบ้านนา
- เพราะมือเธอปั้น
- ไพรวัลย์ ลูกเพชร
- มนต์รักลูกทุ่ง
- มะนาวไม่มีน้ำ (คู่วิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ)
- นิราศรักนครปฐม
- กลิ่นธูปสุโขทัย
- ไอ้ทุย
- มนต์รักจากใจ
- เพลงนี้เพื่อน้อง
- ชาย เมืองสิงห์
- แม่ผิวพม่านัยน์ตาแขก
- ฝนตกบ้านน้องฟ้าร้องบ้านพี่
- แม่ตั๊กแตนตำใจ
- รุ่งเพชร แหลมสิงห์
- ฝนเดือนหก
- คืนฝนตก
- น้ำลงเดือนยี่
- สงกรานต์บ้านนา
- คู่เหมาะคู่เจาะ
- เสียงหวาน
- ทุ่งเศรษฐี
- ศรคีรี ศรีประจวบ
- น้ำท่วม
- แม่ค้าตาคม
- บุพเพสันนิวาส
- ฝนตกฟ้าร้อง
- รักแล้งเดือนห้า
- ลานรักลั่นทม
- มนต์รักแม่กลอง
- ดอกรักบานแล้ว
- ฝนตกบ้านน้องฟ้าร้องบ้านพี่
- พระอินทร์เจ้าขา
- ขี้เหร่ก็รัก
- วาสนาพี่น้อย
- หนุ่มนาบ้ารัก
- อยากรู้ใจเธอ
- บุปผา สายชล
- ยมบาลเจ้าขา
- รักคนแก่ดีกว่า
- รูปหล่อถมไป
- คนเหมือนกัน
- นกร้องน้องช้ำ
- ไม่น่าโกหก
- รักลวงน้ำลง
- เรียม ดาราน้อย
- แว่วเสียงซึง
- แคนลำโขง
- ชินกร ไกรลาศ
- เพชรร่วงในสลัม
- บ้านไร่นารัก
- ชาตรี ศรีชล
- เมาเหล้าเมารัก
- กิ่งดาว จันทร์สวัสดิ์
- บ้านสาวโสด
- ฮ่วยฮิปปี้
- ยุพิน แพรทอง
- ฝนซาฟ้าใส
- เจ้าน้ำตา
- เนื้อหอม
- พรไพร เพชรดำเนิน
- น้ำลงนกร้อง
- เตือนใจ บุญพระรักษา
- เทวดาเจ้าคะ
- กาเหว่าเสียงทอง
- หนุ่มเรือนแพ
- หายห่วง
- แม่หม้าย
- ระพิน ภูไท
- โธ่! คนอย่างเรา
และบทเพลงอื่นๆอีกมากมาย
ชีวิตส่วนตัว
แก้ตั้งแต่วัยหนุ่ม ครูไพบูลย์ บุตรขัน ป่วยเป็นโรคเรื้อนและไม่มีเงินรักษาอย่างจริงจัง [4] ครูไพบูลย์เก็บตัวเงียบไม่ออกสังคม โดยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากนางพร้อม ประณีต ผู้เป็นมารดาจนนางพร้อมเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2508 [5] แต่ได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง พาไปรักษาจนหายดี แต่ก็ยังมีร่างกายพิการ ต่อมาได้กลับมาเป็นโรคร้ายอีกครั้ง และใช้ยาเสพติดเพื่อบรรเทาอาการ และเข้าบำบัดที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกจนหายขาดในปี พ.ศ. 2502
ครูไพบูลย์ บุตรขัน สมรสกับ ดวงเดือน บุตรขัน นักแต่งเพลงลูกศิษย์ครูไสล ไกรเลิศ ที่เป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ร่วมงานกันและแต่งงานกันในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2511 แต่ครูไพบูลย์ได้ล้มป่วยด้วยโรคลำไส้ อาเจียนเป็นเลือด หลังจากนั้นไม่นาน จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515 (อายุ 56 ปี) มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2516
อ้างอิง
แก้- ↑ เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0
- ↑ 2.0 2.1 "ประวัติ ไพบูลย์ บุตรขัน และเพลงค่าน้ำนม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-17. สืบค้นเมื่อ 2008-03-02.
- ↑ ประกาศห้ามเปิดในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์[ลิงก์เสีย]
- ↑ แม่ไม้เพลงไทย รำลึกไพบูลย์ บุตรขัน[ลิงก์เสีย] โดย วัฒน์ วรรลยางกูร
- ↑ วัฒน์ วรรลยางกูร, สารคดีชีวิต คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, แพรวสำนักพิมพ์, 2541, 230 หน้า, ISBN 974-8249-88-1