วิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์

วิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งแมนส์ฟิลด์ (อังกฤษ: William Murray, 1st Earl of Mansfield) เป็นเนติกร นักการเมือง และผู้พิพากษาชาวอังกฤษ เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายจารีตของอังกฤษ เขาเกิดในตระกูลขุนนางสกอตแลนด์ เข้ารับการศึกษาในเมืองเพิร์ทของสกอตแลนด์ก่อนที่จะย้ายไปกรุงลอนดอนเมื่อมีอายุได้ 13 ขวบ และเข้าศึกษาที่โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ และต่อมาเข้าศึกษาที่โบสถ์คริสต์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์
อธิบดีผู้พิพากษาศาลข้างพระที่นั่ง
ดำรงตำแหน่ง
8 พฤศจิกายน 1756 – 4 มิถุนายน 1788
นายกรัฐมนตรีดยุกแห่งนิวคาสเซิล
ก่อนหน้าเซอร์ ดัดลีย์ ไรเดอร์
ถัดไปลอร์ดเคเนียน
ประธานสภาขุนนาง
ดำรงตำแหน่ง
กุมภาพันธ์ 1783 – 23 ธันวาคม 1783
นายกรัฐมนตรีดยุกแห่งพอร์ตแลนด์
ก่อนหน้าเอิร์ลแห่งฮาร์ดวิค
ถัดไปเอิร์ลแห่งนอร์ทิงตัน
อัยการสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์
ดำรงตำแหน่ง
6 มีนาคม 1754 – 8 พฤศจิกายน 1756
นายกรัฐมนตรีดยุกแห่งนิวคาสเซิล
ก่อนหน้าเซอร์ ดัดลีย์ ไรเดอร์
ถัดไปเซอร์ รอเบอร์ต เฮนลีย์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 มีนาคม ค.ศ. 1705(1705-03-02)
เพิร์ธเชอร์, สกอตแลนด์
เสียชีวิต20 มีนาคม ค.ศ. 1793(1793-03-20) (88 ปี)
ลอนดอน, อังกฤษ

เขาเริ่มทำงานการเมืองในปี 1742 จากการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกในรัฐสภาและได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมอัยการ และกลายเป็นกระบอกเสียงหลักของฝ่ายรัฐบาลในสภาสามัญชนและได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นบุคคลที่มีโวหารคมคาย เขาได้รับแต่งตั้งจากเซอร์ไรเดอร์ให้เป็นอัยการสูงสุดในปี 1754 และได้ขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลในอีกไม่กี่เดือนต่อมาหลังการถึงแก่อนิจกรรมของเซอร์ไรเดอร์ และดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 31 ปี เขาได้รับบรรดาศักดิ์ "เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์" ในปี 1776

คดีซัมเมอร์เซต แก้

ลอร์ดแมนส์ฟิลด์ได้รับการยกย่องเป็นผู้พิพากษาชาวอังกฤษที่ทรงพลังที่สุดแห่งศตวรรษ คำพิพากษาของเขาได้สะท้อนภาพแห่งยุคเรืองปัญญาซึ่งนำมาสู่การล้มเลิกระบบทาสในหมู่เกาะอังกฤษ คำพิพากษาครั้งโด่งดังที่สุดของเขาเกิดขึ้นในปี 1772 ในคดีระหว่างนายซัมเมอร์เซต กับ สจวต (Somerset v Stewart)[1][2] นายเจมส์ ซัมเมอร์เซต เป็นทาสผิวดำแอฟริกาชาวจาเมกาที่ถูกขายให้แก่นายชาลส์ สจวต นายศุลกากรประจำบอสตันในมณฑลแมสซาชูเซตส์เบย์อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ

ในปี 1771 นายซัมเมอร์เซตได้หลบหนีจากนายสจวตในระหว่างการมาอยู่พำนักในอังกฤษ[1] แต่ก็ถูกจับตัวได้ในเดือนพฤศจิกายน นายสจวตจึงสั่งขังทาสซัมเมอร์เซตไว้ในเรือซึ่งจะมุ่งหน้าไปยังอาณานิคมจาเมกา[1] แต่ก็มีบุคคลจากโบสถ์มาตามตัวนายซัมเมอร์เซตและอ้างว่านายซัมเมอร์เซตได้ทำพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนของคริสตจักรแห่งอังกฤษแล้ว ซึ่งตามจารีตจะถือเป็นคนในบังคับอังกฤษ สุดท้ายมีการยื่นคำร้องต่อศาลข้างพระที่นั่ง (Court of King's Bench) ให้กุมตัวนายซัมเมอร์เซตมายังศาลเพื่อพิจารณาว่าเขาถูกคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้กลายเป็นที่สนใจของบรรดาสื่อและนักกฎหมาย เพราะคำพิพากษาของลอร์ดแมนส์ฟิลด์จะกลายเป็นบรรทัดฐานในภายภาคหน้าต่อไป

เนติกรฝ่ายทาสซัมเมอร์เซตอ้างว่า แม้ในอาณานิคมต่างๆของอังกฤษอาจยินยอมให้มีทาสได้ แต่กลับไม่ปรากฏกฎหมายจารีตหรือบทบัญญัติใดๆในแผ่นดินอังกฤษที่ยอมรับการมีอยู่ของระบบทาส[3] ดั้งนั้นระบบทาสจึงมิชอบด้วยกฎหมาย และยังอ้างว่ากฎหมายหนังสือสัญญา (contract law) ของอังกฤษไม่ยินยอมให้บุคคลใดขายตัวเองเป็นทาสหรือผูดมัดตัวเองโดยปราศจากความเต็มใจ ในขณะที่เนติกรฝ่ายสจวตอ้างว่าความเป็นกรรมสิทธิถือเป็นที่สุด และยังยกกฎหมายซึ่งตราขึ้นในปี 1765 ซึ่งบัญญัติว่า "แผ่นดิน ปราการ และบรรดาทาสทั้งหมดซึ่งมีบริษัทแอฟริกาเป็นเจ้าของถือเป็นกรรมสิทธิในพระองค์"[3] เป็นข้ออ้างว่าราชสำนักอังกฤษยอมรับการมีอยู่ของระบบทาส และยังอ้างอีกว่าอังกฤษอาจตกอยู่ในความปั่นป่วนหากทาสผิวดำทั้งหมดเป็นอิสระ ซึ่งขณะนั้นมีทาสผิวดำในอังกฤษราว 15,000 คน ลอร์ดแมนส์ฟิลด์ได้ให้ความเห็นต่อข้อกังวลดังกล่าวเป็นภาษิตละตินว่า "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที"

คำพิพากษา แก้

บารอนแมนส์ฟิลด์ อธิบดีผู้พิพากษาข้างพระที่นั่ง ได้ขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1772 ส่วนหนึ่งของคำพิพากษามีดังนี้:

...ชาวต่างด้าวมิอาจถูกจองจำที่นี่โดยอาศัยอำนาจหรือกฎหมายใดซึ่งปรากฏอยู่ในประเทศของพวกเขา อำนาจของเจ้านายเหนือข้ารับใช้นั้นย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ มากบ้างน้อยบ้าง อาจมีหรือไม่มีข้อจำกัด ฉนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของสถานที่ที่จะใช้อำนาจ ที่ว่าสถานะความเป็นทาสเป็นกฎหมายธรรมชาตินั้น มิอาจถูกยกขึ้นอ้างต่อศาลยุติธรรมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือการอนุมานหลักกฎหมายธรรมชาติหรือกฎหมายการเมืองใดๆ ต้องอ้างกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะฟังขึ้น...ที่นี่ไม่ยอมรับให้เจ้านายใช้กำลังบังคับทาสเพื่อนำไปขายยังต่างแดน...ศาลมิอาจกล่าวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นที่ยอมรับหรือชอบด้วยกฎหมายของราชอาณาจักรนี้ ฉนั้น นายผิวดำจะต้องถูกปล่อยตัว

คำพิพากษาของลอร์ดแมนส์ฟิลด์เป็นการรับรองว่า ระบบทาสในอังกฤษและเวลส์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของขบวนการต่อต้านทาส ทาสทั้งหมดราว 15,000 คนในอังกฤษเป็นอิสระทันที อดีตทาสบางส่วนคงอยู่กับเจ้านายเดิมในฐานะคนใช้ที่ได้รับเงินค่าจ้าง[4] คำพิพากษานี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีทาสในเวลาต่อมา และยังมีการนำคำพิพากษานี้ไปอ้างในศาลอาณานิคมต่างๆของอังกฤษโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Heward (1979) p. 139
  2. Foss (1870) p. 471
  3. 3.0 3.1 Heward (1979) p. 140
  4. Heward (1979) p. 141