วันพระราชทานธงชาติไทย
วันพระราชทานธงชาติไทย (อังกฤษ: Thai National Flag Day) เป็นชื่อเรียกวันธงชาติของประเทศไทย เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460[1] สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย
วันพระราชทานธงชาติไทย | |
---|---|
ธงชาติไทย | |
ชื่ออื่น | วันธงชาติไทย |
จัดขึ้นโดย | รัฐบาลไทย |
ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ความสำคัญ | วันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้ธงไตรรงค์ให้เป็นธงชาติไทยรูปแบบปัจจุบัน |
วันที่ | 28 กันยายน |
ครั้งหน้า | 28 กันยายน พ.ศ. 2568 |
ความถี่ | ทุกปี |
ครั้งแรก | 28 กันยายน พ.ศ. 2560 |
ส่วนเกี่ยวข้อง | วันธงชาติ, ธงชาติไทย |
ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมแทนนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ[2] รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ[3]
กิจกรรม 100 ปี ธงชาติไทย
แก้ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้มีกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทยนั้น ถือเป็นปีที่มีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทยด้วย ในวันที่ 28 กันยายน ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จึงมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย และมีนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย ชื่อว่า "100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ" โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในกิจกรรมครั้งนี้ โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมในพิธีนี้ด้วยตั้งแต่เวลา 07:45 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์ รับการเคารพจากหมู่เชิญธง และมอบธงชาติไทยแก่หัวหน้าชุดหมู่เชิญธง จากนั้นชุดหมู่เชิญธงนำธงชาติไทยที่ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี มายังบริเวณแท่นหน้าเสาธง ขณะที่นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี พร้อมกันยังจุดบริเวณแท่นหน้าเสาธง ตึกสันติไมตรี เพื่อยืนเคารพธงชาติไทย และร่วมร้องเพลงชาติไทยในเวลา 08:00 น. จากนั้นเปิดนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย พร้อมทั้งมอบตราสัญลักษณ์ ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ "พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34: 436–440. 28 กันยายน 1917. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2017.
- ↑ "ครม. เห็นชอบ ให้วันที่ 28 ก.ย. เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยไม่นับเป็นวันหยุด". มติชน. 20 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2017.
- ↑ "วันพระราชทานธงชาติไทย วาระครบรอบ 100 ปี". เอ็มไทย. 28 กันยายน 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2017.
- ↑ "100 ปี ธงชาติไทย ประวัติศาสตร์ธงไตรรงค์ รวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว". กระปุก.คอม. 28 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2017.