วัดแค (จังหวัดนครปฐม)

วัดในจังหวัดนครปฐม

วัดแค ตั้งอยู่บริเวณตำบลวัดแค อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีชื่อเดิมว่า วัดกัมพูชาราม ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามเชื้อชาติของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาซึ่งถูกกวาดต้อนมาภายหลังแพ้สงคราม โดยไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในยุคสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ตามประวัติแล้วเชื่อว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางศิลปะ และลักษณะความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมของแต่ละยุคสมัย สิ่งที่วัดแค มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากวัดอื่นโดยทั่วไป ก็คือ เครื่องยอดของหลังคาโบสถ์เป็นรูปมังกรแทนที่เครื่องยอดทั่วไปตามสถาปัตยกรมแบบพุทธศาสนาซึ่งมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ มังกรแบบจีนนี้เลื้อยขดอยู่ที่ปลายสุดของสันหลังคาทั้งสองด้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ศิลปกรรมแบบจีน นอกจากนั้นบริเวณหน้าบันของวิหาร ยังมีเครื่องถ้วยชามทั้งที่เป็นชามลายครามและชาม ซึ่งการใช้ถ้วยชามประดับสถาปัตยกรรม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ลักษณะทางศิลปะ สถาปัตยกรรม และข้อสังเกตต่าง ๆ จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดแค น่าจะสร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันในสมัยนั้น ซึ่งมักเรียกว่าแบบจีนนี้นิยม ดังเช่นพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม พระปรางค์วัดอรุณ พระอุโบสถวัดเขายี่สาร อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม เป็นต้น

วัดแค
แผนที่
ชื่อสามัญวัดแค, วัดกัมพูชาราม
ที่ตั้งตำบลวัดแค อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

โดยจากการศึกษาประวัติศาสตร์และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในอดีต พบว่านับตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1–3 ไทยยังมีสงครามกับเพื่อนบ้านอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้มีการอพยพเชลยศึกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นกำลังพัฒนาประเทศ เชลยศึกเหล่านั้นถูกกำหนดให้นำมาไว้ที่ริมแม่น้ำนครชัยศรี โดยเฉพาะเขตอำเภอนครชัยศรี เช่น ชุมชนชาวลาวที่ใกล้วัดกลางคูเวียง ชุมชนชาวเขมรที่ใกล้วัดแคและวัดสัมปทวน ส่วนชุมชนชาวแขกฮินดูจากเขมรไว้ที่วัดโคกแขก และมอญไว้ที่ทางราชบุรี แต่เดินทางผ่านแม่น้ำนครชัยศรีช่วงวัดท่ามอญ วัดตรงนั้นจึงชื่อวัดท่ามอญ ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 3 ได้มีการอพยพย้ายถิ่นของคนจีนจากหลายจังหวัดและมณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อหลีกหนีความยากลำบากจากการดำรงชีพในจีน เพื่อหาแหล่งดำรงชีพที่ดีกว่า จึงมุ่งตั้งหลักปักฐานในประเทศไทย โดยรอนแรมมาทางเรือเข้ามายังอ่าวไทยเพื่อที่จะมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งคนจีนเหล่านั้นก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี ทำให้คนจีนแทรกตัวอยู่ในชุมชนไทยทุกหนทุกแห่งที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางรวมถึงที่มณฑลนครชัยศรีแห่งนี้ด้วย

เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบริเวณนครชัยศรี พบว่า หลักฐานจากตอนหนึ่งของหนังสือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวกับโบราณคดีในเมืองนครชัยศรี ซึ่งอาจารย์ชูสิริ จามรมาน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2513 ตอนหนึ่งว่า เมืองนครชัยศรี สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมืองนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ใกล้บริเวณอำเภอนครชัยศรีปัจจุบัน ได้ย้ายจากที่นั่น มาอยู่ที่ใกล้บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2440 คือ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5