วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)

วัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) หรือที่นิยมเรียกกันว่า วัดเจดีย์ไอ้ไข่ ตั้งอยู่ ณ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ชื่อวัด "ไอ้ไข่" มาจากชื่อของเด็กชายที่ได้ติดตามหลวงปู่ทวด ซึ่งกำลังเดินทางจากสงขลาไปยังกรุงศรีอยุธยา[1]

วัดเจดีย์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเจดีย์(ไอ้ไข่)
ที่ตั้ง103 หมู่ 7 ตำบลฉลอง อำเภอสิชล
นครศรีธรรมราช
ไทย ประเทศไทย 80120
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์
กิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์
(13 -17 เมษายน ของทุกปี)
มีการจัดงานบุญ โดยคณะกรรมการวัดนำรูปหล่อมาประดิษฐานยังปะรำพิธี ให้คนสรงน้ำพระแล้วอาบน้ำ ไอ้ไข่ ขอพรด้วยความเชื่อมั่นและความศรัทธา
เว็บไซต์https://xn--22cl9ab4e0a0c1a3b9g1bb7cl6b.net/https://www.facebook.com/
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
แผนที่

ประวัติและตำนาน[1] แก้

ย้อนกลับไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลวงพ่อทวดพระเถระ ผู้เปี่ยมด้วยญาณบารมี ได้เดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา ในการนั้นท่านได้นำพา เด็กชายผู้หนึ่ง อายุราว 9 ถึง 10 ขวบมาด้วย หมายใจให้คอยปรนนิบัติรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงยังฐานถิ่นวัดเจดีย์ ก็หยุดรั้งรอหมายพบเจอสหธรรมิกครั้งศึกษาพระธรรม ยังเมืองนครศรีธรรมราช นามว่า ขรัวทอง ผู้เป็นสมภารวัด หมายสนทนาพาที ด้วยจิตอันเป็นไมตรีต่อกัน ดังมีหลักฐานนามถิ่นโพธิ์เสด็จ ไว้เป็นประจักษ์พยานว่ากาลหนึ่ง พระโพธิญาณ (หลวงพ่อทวด) ได้เดินทางมายังธรรมสถานแห่งนี้ [2]

ด้วยญาณแห่งพระผู้มีบารมี จึงรับรู้ได้ว่าในภายภาคหน้า สถานที่แห่งนี้จะเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา จึงบอกเด็กชายผู้คอยติดตามว่า

"เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิด จะก่อเกิดผลดีศรีสดใสในภายภาคหน้านั้นต่อไป จะเป็นหลักชัยในทางธรรม"

เด็กชายรับปากพระอาจารย์ แล้วตั้งสัตย์ปฏิญาณตามพระอาจารย์สั่ง หลวงพ่อทวด จึงฝากเด็กชายไว้กับ ขรัวทอง เด็กชายกลายเป็นเด็กวัดเจดีย์ คอยอยู่รับใช้สมภาร และดูแลวัดเจดีย์

ดังในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ครั้นเจ้าพระยาคืนเมืองมีท้องตรามายังเมือง "อลอง" (ตำบลฉลอง ในปัจจุบัน) มีบันทึกว่า

"...มาถึงเมืองอลอง แวะพักหนึ่งคืน นมัสการสมภารทอง มีศิษย์เกะกะชื่อไอ้ไข่เด็กวัด..."

แต่ถึงจะเป็นเด็กเกะกะซุกซนแต่เด็กชายก็เปี่ยมด้วยอานุภาพพิเศษ แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไป ชอบช่วยเหลือผู้คน หากใครมีปัญหาที่หมดปัญญาจะแก้ไข จะต้องมาออกปาก (ไหว้วาน) ทุกคราไป จึงไม่มีใครเกลียดชังถึงจะซุกซนเกเร ด้วยเป็นเด็กที่จริงจังทั้งวาจา และจิตใจ รับปากใครแล้วเป็นต้องทำให้ได้ ถึงจะเป็นอันตรายก็ตาม ว่ากันว่าควายตัวไหนพยศ หากเด็กวัดจับหางติดจะไม่ปล่อยเป็นเด็ดขาด ถึงควายจะวิ่งอย่างไร จนควายตัวนั้นต้องละพยศหมดฤทธิ์

เมื่อเวลาล่วงผ่านไป ด้วยจิตอันแสดงถึงอานุภาพพิเศษ ก็รับรู้ได้ว่าพระอาจารย์ (หลวงพ่อทวด) กำลังจะเดินทางกลับจากกรุงศรีอยุธยา ด้วยกลัวว่าหากพระอาจารย์กลับมาถึง จะนำพาตนกลับสู่ถิ่นฐานที่จากมา ด้วยคำสั่งของพระอาจารย์ ที่สั่งให้เฝ้าและดูแลรักษาวัดเจดีย์ และด้วยสัจจะวาจาที่ให้ไว้ เด็กชายจึงเดินลงสระน้ำภายในวัด เป็นการปลดชีวิตตัวเอง ตามภาษาทางศาสตร์ เรียก การเสด็จ หมายสละร่างเหลือไว้แต่ดวงวิญญาณ ไว้คอยปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ตำนานวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จากขุนพันธรักษ์ราชเดช[3] แก้

ชาวชุมชนวัดเจดีย์ และใกล้เคียง นับถือเคารพ "ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" ตั้งแต่สมัยบรรพชน สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นับย้อนหลังไปเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยถือว่า "ไอ้ไข่" คือวิญญาณของเด็กศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยช่วยเหลือชาวชุมชน และดูแลปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ แต่ไม่ได้มีการสืบค้น หรือมีมีการกล่าวถึงตำนาน เพียงแค่นับถือกันอย่างนั้นมา

จนถึงวันหนึ่งได้เกิดตำนานไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ศิษย์ หลวงพ่อทวด จากบุคคลสำคัญ นั่นก็คือ จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) ที่ได้รับฟังถ้อยคำจากหลวงพ่อทวด ผ่านร่างทรง เมื่อครั้งสมัยจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อทวด เมื่อ พ.ศ. 2497 (เนื่องจาก ท่านขุนพันธ์เป็นผู้มีส่วนร่วม ในการจัดสร้างพระชุดนั้นด้วย)

หลวงพ่อทวดถามผ่านร่างทรงว่า ท่านมาจากนครศรีธรรมราช ท่านรู้จักลูกศิษย์เราหรือไม่ เป็นเด็กวัดอยู่ทางทิศเหนือ ของนครศรีธรรมราช ท่านขุนพันธ์จึงสืบหาจนมาประสบพบเจอกับ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ จนได้นับถือเป็นสหาย แลกเปลี่ยนสายวิชากัน ด้วยผู้ใหญ่เที่ยงเอง ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง​ และรู้จัก " ไอ้ไข่" เป็นอย่างดี ท่านขุนพันธ์ จึงได้เจอกับลูกศิษย์หลวงพ่อทวด ที่วัดเจดีย์นามว่า "ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" ตามคำบอกกล่างของหลวงพ่อทวดผ่านร่างทรง

ซึ่งเป็นไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ที่บรรพบุรุษชาวชุมชนวัดเจดีย์ นับถือสืบกันมา และท่านขุนพันธ์เอง ก็ได้สืบค้นศึกษาจนกลายเป็นตำนาน ไอ้ไข่ศิษย์หลวงพ่อทวด และได้ยืดถือตำนานนี้บอกเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งถือว่า ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช คือ ผู้สืบค้นตำนานนี้เป็นคนแรก

รูปไม้แกะไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ แก้

จากบันทึก และคำบอกเล่า เห็นเด็กเปลื้องผ้าวิ่งเข้าออกในพระพุทธโบราณนามเรียกว่า พ่อท่านเจ้าวัด จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านละแวกวัดเจดีย์ และบนบานศาลกล่าวกันว่า พ่อท่านเจ้าวัด และ เด็กวัด (ตามด้วยเรื่องที่บนบาน หรือเรื่องที่ขอให้ช่วยเหลือ) ด้วยแต่ก่อนท้องถิ่นแห่งนี้ ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เมื่อวัวใครหาย ควายใครสูญ ก็จะบนบานเด็กวัดให้ช่วยทุกคราไป ในสมัยนั้นวัดเจดีย์ยังคงสภาพวัดร้าง เป็นป่ารกชัน ชาวบ้านก็ได้แต่เอ่ยชื่อ ไม่ได้มีรูปเคารพ แม้แต่อย่างใด เมื่อสิ่งที่ขอหรือบนบานสำเร็จ ก็จะแก้บนด้วยธงทิว ถวายพ่อท่านเจ้าวัด ปางหนังสติ๊กถวายเด็กวัด

 
รูปไม้แกะที่ 1 (ก่อน พ.ศ. 2525)

จนล่วงผ่านสมัยมาถึงยุคของ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ (ฉายา เที่ยง หักเหล็ก) จอมขมังเวทย์แห่งตำบลฉลอง มีวิชาโดดเด่นทางด้านการหักเหล็กด้วยมือเปล่า อีกทั้งมีวิชาไสยเวทย์อีกมากมาย ได้แกะรูปเคารพเป็นรูปร่างเด็กชาย ด้วยไม้ทองหลางไว้ให้ชาวบ้านได้กราบบูชา และแก้บน[4] แต่เนื่องจากไม้ทองหลางเป็นไม้เนื้ออ่อน รูปเคารพเด็กวัดจึงผุพังไปตามกาลเวลา ผู้ใหญ่เที่ยง ด้วยความชราภาพ ก็เว้นจากการแกะไม้รูปใหม่

 
รูปไม้ตะเคียนแกะที่ 2 (เมื่อ พ.ศ. 2525)

จนอยู่มาคืนหนึ่ง ผู้ใหญ่เที่ยง ได้ฝันไปว่ามีเด็กแก้ผ้ามาบอกในความฝัน "ช่วยแกะไม้ใหม่ให้เราหน่อย" ในความฝัน ผู้ใหญ่เที่ยง ได้ถามไปว่า "นั่นใครล่ะที่มาบอกให้ช่วยแกะไม้ให้" เด็กแก้ผ้าตอบว่า "เราคือไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" ผู้ใหญ่เที่ยงจึงไปนำไม้ตะเคียนคู่ (ตะเคียนขาเกียบ) บริเวณวัดพระโอน (วัดร้างใกล้บ้าน) มาแกะขึ้นรูปเป็นรูปเด็กแก้ผ้า มีอขวากำหมัดยกขึ้นวางตรงหน้าอก มือซ้ายทิ้งมือแนบลำตัว[5] เสร็จแล้วก็นำใส่รถเข็น นำมาไว้ที่วัดเจดีย์ เมื่อพ.ศ. 2525 (เริ่มแกะ ตอนปลาย พ.ศ. 2524) และได้ปรึกษา พ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ว่าน่าจะตั้งชื่อให้เด็กวัด ได้มีชื่อมีนามเรียกกัน พ่อท่านเทิ่ม จึงถามว่า จะให้ชื่ออะไรดี ผู้ใหญ่เที่ยงจึงบอกไปว่าให้เรียก ไอ้ไข่ จากนั้นเป็นต้นมา เด็กวัด ก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ตราบจนปัจจุบันนี้ และได้ประกอบพิธีเรียกรู้ เรียกนาม เรียกดวงจิตวิญญาณมาสถิตย์ โดย ผู้ใหญ่เที่ยง ในคราวเดียวกับ การปลุกเสกเหรียญ "ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" (รุ่นแรก) เมื่อ พ.ศ. 2526

ด้วยบารมี ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ แก้

จากวัดร้างห่างผู้คน สู่วัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง, จากศรัทธาท้องถิ่น สู่ศรัทธามหาชน, จากเทพประจำถิ่น สู่เทพระดับนานาชาติ ก็ด้วยบารมี ของไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ จากเด็กไล่วัว ตามหาควายหายของคนในท้องถิ่น มาเป็นเทพผู้ให้ความช่วยเหลือ มนุษย์ผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ จากทั่วสารทิศ ทั้งในประเทศ รวมถึงจากต่างชาติ ต่างแดนยังมาขอพึ่งบารมีของเด็กวัดผู้นี้

ตั้งแต่ก่อนมาจนถึงทุกวันนี้ ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ได้ผ่านกาลสมัยมาเป็นหลายร้อยปี กลายเป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอันดีงาม ของชาวชุมชนตำบลฉลอง และพื้นที่ใกล้เคียง ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ได้ฝังอยู่ในรากเหง้า เปรียบเสมือนบรรพบุรุษของชาวชุมชน

"ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ไม่เลือกชนชั้น ไม่เลือกวรรณะ ไม่ว่าคุณคือใคร ขอแค่คุณบอกกล่าวมา ขอแค่คุณมีจิตอันเป็นศรัทธา ขอแค่คุณเป็นผู้ปฏิบัติดี บารมี ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์พร้อมที่จะคุ้มครอง พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกผู้ทุกคน ดังนิยามที่เรียกขานกันว่า ขอได้ ไหว้รับ"[6]

ดังจะเห็นประจักษ์พยานได้จาก การพัฒนาวัด ทั้งการสร้างอุโบสถ วิหาร เสนาสนะ พัฒนาสาธารณูปโภค การขยายที่ดิน เพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อต้อนรับผู้มีจิตศรัทธาที่เดินทางมากราบไหว้ ขอพร จากทั่วทุกมุมของประเทศ อีกยังสร้างรายได้ ให้ชาวชุมชน อำเภอ ตลอดถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านความเชื่อความศรัทธาที่สำคัญ อีกแห่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมถึงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาสาธุชน อย่างเช่น กองประทัดกองใหญ่, ไก่เต็มลานวัด (ไก่ปั้น), เสียงประทัดสนั่นทั้งวัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ ล้วนก่อเกิดมาจากพลังศรัทธาของผู้คนที่มีต่อเด็กชายผู้คอยดูแล ปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ จากอดีตกาล จนถึงปัจจุบัน เด็กน้อยผู้มีแต่ความเมตตา เด็กน้อยผู้รักษาสัจจะวาจา นามว่า ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ แทบทั้งสิ้น

การเคารพบูชา แก้

คำบอกเล่า ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ สมัยเจ้าอาวาสพ่อท่านเทิ่ม[6][7] แก้

เมื่อปี พ.ศ. 2526 พ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในขณะนั้นได้จัดสร้างเหรียญบูชาไอ้ไข่ เป็นรุ่นแรก พร้อมกับพัฒนาวัดเรื่อยมา ในเวลานั้นพื้นที่แถบนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้มีกองร้อยทหารพรานมาตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราวอยู่ที่วัดเจดีย์ คืนแรกที่มาพักทหารทั้งกองแทบไม่ได้หลับได้นอน เพราะมีเด็กเที่ยวมาหยอกเล่น ดึงแขนดึงขา โดนปืนตีศีรษะบ้าง ล้มราวปืนบ้าง เป็นที่วุ่นวาย รุ่งขึ้นจึงได้เอาเรื่องนี้มาเล่าให้ชาวบ้านฟัง ซึ่งชาวบ้านก็ได้บอกเล่าให้ทหารกลุ่มนั้นได้รับรู้ถึงเรื่องราวของไอ้ไข่ และบอกให้ทหารกลุ่มนี้บอกกล่าวแก่ดวงวิญญาณไอ้ไข่ และเมื่อทำอาหารรับประทานให้แบ่งอาหารตั้งเป็นเครื่องเซ่นให้กับไอ้ไข่ด้วย เมื่อทำดังนั้นคืนต่อมาทุกอย่างก็สงบ ไม่มีเหตุการณ์รบกวนใด ๆ เมื่อทหารพรานเอาเรื่องนี้มาเล่าให้คนภายนอกรู้ ชื่อเสียงของไอ้ไข่ก็รู้จักกันมากขึ้น

การเรียกขาน แก้

จากการที่ไอ้ไข่ เป็นที่นับถือสักการะมายาวนานหลายปี จึงมีผู้คิดว่าคนรุ่นหลังล้วนมีวัยน้อยกว่าไอ้ไข่ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทุกคนคุ้นเคยกับคำเรียกขานว่าไอ้ไข่ และภาพที่ทุกคนเห็นชินตาคือภาพของเด็กคนหนึ่ง คนส่วนใหญ่ก็ยังเรียกไอ้ไข่อยู่เช่นเดิม

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 วัดเจดีย์, นิทรรศการตำนานวัดเจดีย์, นครศรีธรรมราช .สืบค้นเมื่อ 8/07/2563
  2. ตำนานกุมารเทพ "ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์" อภินิหารความศักดิ์สิทธิ์, https://www.sanook.com/ .สืบค้นเมื่อ 11/07/2563
  3. วัดเจดีย์, นิทรรศการตำนานวัดเจดีย์ภาพ 2, นครศรีธรรมราช .สืบค้นเมื่อ 8/07/2563
  4. วัดเจดีย์, นิทรรศการตำนานวัดเจดีย์ภาพ 3 (รูปไม้แกะที่ 1), นครศรีธรรมราช .สืบค้นเมื่อ 8/07/2563
  5. วัดเจดีย์, นิทรรศการตำนานวัดเจดีย์ภาพ 4 (รูปไม้ตะเคียนแกะที่ 2), นครศรีธรรมราช .สืบค้นเมื่อ 8/07/2563
  6. 6.0 6.1 วัดเจดีย์, https://sites.google.com/[ลิงก์เสีย] .สืบค้นเมื่อ 11/07/2563
  7. ตำนานไอ้ไข่, https://sites.google.com/[ลิงก์เสีย] .สืบค้นเมื่อ 11/07/2563