วัดหมื่นสาร

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดหมื่นสาร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดหมื่นสาร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดหมื่นสารสร้างเมื่อ พ.ศ. 1925 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2534[1] โดยปรากฏในหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่ พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า พระเจ้าอาทิตยวงศ์ ส่งราชทูตมาสืบสัมพันธไมตรีกับพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย พระเมืองแก้วทรงจัดการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ณ วัดหมื่นสาร ตามบันทึกใบลานภาษาบาลีของวัดเจดีย์หลวงกล่าวไว้ว่าในสมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย มีเสนาอามาตย์นามว่า วิมลกิตติสร้างพระอารามแห่งนี้ขึ้น มีข้อความว่า "อาวาสนี้ อันหมื่นวิมลกิตติ ผู้เป็นมหาโยธา (ทหารผู้ใหญ่) ในนครนี้ตั้งไว้แล้ว" จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ก็ปรากฏชื่อวัดหมื่นสารเช่นกัน ระบุว่าหมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ได้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้ตลอดมา พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดหมื่นสาร" ตามชื่อของราชมนตรีผู้นั้น[2]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วัดหมื่นสารยังเคยใช้เป็นโรงพยาบาลที่ใช้รักษาทหารญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการสร้างอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น โดยยในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีการทำความสะอาดอนุสรณ์สถานปีละ 3 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม สิงหาคม และธันวาคม เป็นประจำอีกด้วย[3]

อาคารเสนาสนะและโบราณวัตถุ แก้

สิ่งก่อสร้างในวัด ได้แก่ อุโบสถมีลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ยกพื้นสูง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา สถูปบรรจุอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นอาคารล้านนาประยุกต์ ช่างเงินบ้านวัวลายช่วยกันดุนลายโลหะประดับตกแต่งทั้งภายใน และภายนอกหอศิลป์ ซึ่งเป็นลวดลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดร เป็นต้น ภายในมีหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน 3 ครูบา ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร

วัดยังมีคัมภีร์ใบลานจำนวนมากพบคัมภีร์ใบลานของวัดหมื่นสารจำนวน 163 รายการ 815 ผูก บางเอกสารมีอายุประมาณ 200 กว่าปี[4]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดหมื่นสาร". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดหมื่นสาร เยี่ยมชมหอศิลป์เครื่องเงิน สักการะครูบา เรียนรู้ความเป็นมาสมัยสงครามโลก". เชียงใหม่นิวส์.
  3. ""วัดหมื่นสาร" วัวลายอดีตโรงพยาบาลทหารญี่ปุ่นในสงครามโลก ครั้งที่". เชียงใหม่นิวส์.
  4. "วัดหมื่นสาร". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.