วัดศรีอุโมงค์คำ

วัดในจังหวัดพะเยา

วัดศรีอุโมงค์คำ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีที่ดินเนื้อที่ 6 ไร่

วัดศรีอุโมงค์คำ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรีอุโมงค์คำ, วัดสูง, วัดอุโมงค์คำ
ที่ตั้งตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระเจ้าล้านตื้อ
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดศรีอุโมงค์คำสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดสูง ตามลักษณะพื้นที่ตั้งวัดที่เป็นเนินสูงเด่น เป็นเนินที่เกิดจากการขุดสระของชาวบ้านแล้วนำดินไปถมจนเกินเป็นเนินเขาขนาดใหญ่ขึ้นมา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20–21 เพราะพบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินทราย และงานแกะสลักหินทรายอื่น ๆ อาทิ เทวรูป รูปสัตว์ต่าง ๆ ในยุคหินทรายเมืองพะเยาอยู่เป็นจำนวนมาก

คำว่า "ศรี" หรือที่ล้านนาอ่านว่า "สะ-หรี" หมายถึง ต้นโพธิ์ คำว่า "อุโมงค์" เดิมทีชาวบ้านเชื่อกันว่าใต้ฐานโบสถ์ของวัดแห่งนี้ มีถ้ำหรืออุโมงค์อยู่ สามารถลอดไปโผล่ยังแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านใจกลางกว๊านพะเยาได้ ส่วนคำว่า "คำ" หมายถึง ทองคำ ชื่อว่าที่นี่มีพระพุทธรูปทองคำฝังอยู่ใต้ฐานอุโมงค์ หรือ มีอุโมงค์ลงรักปิดทอง สามารถนำพระบรมธาตุมาประดิษฐานไว้ได้ หรือ มีสะเปา (เรือ) ที่ลงรักปิดทองอยู่[1]

อาคารเสนาสนะ

แก้

องค์พระธาตุเจดีย์บนเนินสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน แต่จากเอกสารของวัดระบุว่าไม่ปรากฏหลักฐานศักราชที่สร้างชัดเจน มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง และมีซุ้มพระประดับอยู่ทั้ง 4 ด้าน เจดีย์องค์นี้ ได้ถูกฟ้าผ่าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนโบราณหลายคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์อาถรรพ์

อุโบสถประดิษฐาน พระเจ้าล้านตื้อ หรือ หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดแห่งล้านนาไทย[2] มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองสร้อยพะเยา ในราวปี พ.ศ. 2058 แต่ไม่ทราบว่าเดิมมาจากที่ไหน เพราะพบถูกทิ้งอยู่ที่สนามเวียงแก้ว (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองพะเยา) ก่อนถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานภายในอุโบสถ พระเจ้าล้านตื้อเป็นปางมารวิชัย ทำจากทองสำริด หน้าตักกว้าง 184 เซนติเมตร สูง 270 เซนติเมตร

วิหารหลังเก่าที่สร้างขึ้นในปีจุลศักราช 1237 สัปตศก เจ้าหลวงอริยะซึ่งลงไปรับสัญญาบัตรกลับมาครองเมืองพะเยาได้ก่อสร้างวิหารนี้ขึ้น แต่ภายหลังถูกรื้อออกไป สันนิษฐานว่าอาจเป็นวิหารหลังที่เหลือร่องรอยเพียงฐานของวิหาร ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร ในส่วนฐานวิหารเก่านี้[3]

ด้านล่างของฐานอุโบสถและเจดีย์ ยังมีวิหารเล็กกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 15 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญสององค์ คือ พระพุทธรูปหินทรายพระเจ้าทันใจและพระพุทธรูปหินทรายกว๊านพระเยา[4]

อ้างอิง

แก้
  1. ปิ่น บุตรี. "อันซีนพะเยา "พระเจ้าล้านตื้อ" วัดศรีอุโมงค์คำ พระพุทธรูปสุดงามแห่งล้านนา". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "วัดศรีอุโมงค์คำ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. "วัดศรีอุโมงค์คำ". มิวเซียมไทยแลนด์.
  4. "วัดศรีอุโมงค์คำ". ศูนย์บรรณสารและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา.