วัดลาดศรัทธาราม

วัดในจังหวัดเพชรบุรี

วัดลาดศรัทธาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 18 ไร่ มีที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ 7 ไร่[1]

วัดลาดศรัทธาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดลาดศรัทธาราม, วัดลาดศรัทธาธรรม, วัดท่าหมูสี, วัดศาลาหมูสี
ที่ตั้งตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดลาดศรัทธาราม หรือ วัดท่าหมูสี หรือ วัดศาลาหมูสี ตามทะเบียนวัดภาคระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2245 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2332 (ตามบัญชีแผนกศึกษาธิการ อำเภอบ้านลาด) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[2] หากพิจารณาตามหลักฐานที่เหลืออยู่ พบว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับ เสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2452 และได้พระราชทานพัด ย่าม และจีวรแพร ให้เจ้าอธิการกลิ่น

อาคารเสนาสนะ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐฉาบปูน ขนาด 5 ห้อง ฐานอ่อนโค้งเล็กน้อย ตัวอาคารสอบมีเสาอิงประดับ หัวเสามีลวดลายปูนปั้น รูปใบไม้ ดอกไม้ ลงสีสด (น้ำเงิน แดง เหลือง) ด้านหน้าเป็นพาไลยื่นออกมา มีเสาก่ออิฐฉาบปูนรับพาไล จำนวน 4 ต้น มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู หน้าต่างด้านละ 1 บาน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้น เป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ หลังคาเครื่องไม้ ลดหลั่นซ้อนกัน 2 ชั้น มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ แต่ที่พาไลเป็นกระเบื้องดินเผา หน้าบันอุโบสถทั้ง 2 ด้าน เป็นลวดลายปูนปั้นลงสีสด รูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประกอบลวดลายเถาไม้ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปูนปั้น เดิมลงรักปิดทอง กำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถ ก่ออิฐฉาบปูน เปิดช่องทางเข้า ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 1 ช่อง โดยทำเสาหัวเม็ดประดับ 2 ด้าน นอกจากนี้ที่มุมทั้ง 4 และบางช่วงของกำแพง จะทำเสาหัวเม็ดประดับ เช่นกัน รอบอุโบสถมีใบเสมาประจำทิศ สลักด้วยหินทรายสีแดง[3]

เจดีย์ราย อยู่ด้านหน้าและด้านข้างอุโบสถ จำนวน 9 องค์ (ด้านหน้า 3 องค์ ด้านข้าง 6 องค์) เจดีย์ด้านหน้า 3 องค์ ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์ด้านข้าง ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกกำแพงแก้ว จำนวน 3 องค์ มีรูปแบบคล้ายคลึงกันจำนวน 5 องค์ โดยเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีกองค์เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่กว่าเจดีย์องค์อื่น ตั้งประชิดกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเช่นเดียวกัน องค์ระฆังรูปเหลี่ยมประดับปูนปั้นลายรักร้อย

หอระฆังก่ออิฐฉาบปูน ทรงปราสาท หลังคาทรงจตุรมุข ยอดมงกุฎ ตั้งอยู่บนฐานบัวย่อมุมไม้สิบสอง ตัวหอระฆังโปร่งคั่นด้วยลูกกรงเตี้ย ๆ ส่วนหลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระพุทธรูป

อ้างอิง แก้

  1. "วัดลาดศรัทธาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดลาดศรัทธาราม". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. ""วัดท่าหมูสี" วัดเก่าที่บ้านลาด". วารสารเมืองโบราณ.