วัดมโนภิรมย์

วัดในจังหวัดมุกดาหาร

วัดมโนภิรมย์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณปากห้วยชะโนด ในตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

วัดมโนภิรมย์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดมโนภิรมย์ จากบันทึกระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2230 มีโบราณสถานที่สำคัญคือ วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2296 โดยช่างชื่อ อาจารย์โชติ อาจารย์ขะ และอาจารย์โมข ช่างมาจากเวียงจันทน์ อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2445 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2525[1]

เสนาสนะ

แก้

วิหารหรือสิม มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีหลังคาชั้นเดียวเดิมมุงกระเบื้องดินเผา มีหน้าจั่วแหลมชันและงอนขึ้นมีซุ้มประตูด้านหน้าหนึ่งซุ้ม ประดับประดาด้วยลายปูนปั้นอันวิจิตรตระการตา ด้านนอกทั้งสองข้างของซุ้มประตูเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวชีวิตผู้คนในสังคมอีสานสมัยโบราณ ปัจจุบันลบเลือนจนแทบมองไม่เห็นแล้ว รอบวิหารทั้งสองข้างมีคันทวยที่ใหญ่มากค้ำตั้งแต่ฐานวิหารไปจนถึงชายคา คันทวยดังกล่าวทำด้วยไม้แกะสลักและลงสีด้วยลวดลายง่าย ๆ จากฝีมือช่างชาวบ้าน แต่ก็มีความสวยงามแบบศิลปะอีสาน ซึ่งคาดว่าทำขึ้นในสมัยหลัง ด้านหน้าวิหารมีบันไดสามด้าน ซี่งด้านข้างทั้งสองทำเป็นรูปจระเข้ ส่วนบันไดตรงหน้าประตูวิหารนั้นทำเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยายมีตัว เป็นมังกรหัวเป็นยักษ์หมอบเฝ้าอยู่คู่หนึ่ง ด้านบนส่วนหน้าของวิหารเป็นไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกบ้าง เขียนสีบ้าง ถึงแม้กระจกและทองดังกล่าวจะหลุดออกไปเกือบหมดแล้วก็ตาม ภายในวิหารประดิษฐานพระประธาน ชื่อว่า พระประทาย หรือ พระองค์หลวง[2] ศิลปะลาว เป็นพระพุทธรูปนาคปางมารวิชัย และภายในวิหารยังมีวัตถุโบราณอื่น ๆ อีกมากมาย

ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารโถงชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย ๆ ไม่มีใต้ถุน ก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ภายในอาคารด้านทิศตะวันออกยกพื้นเป็นอาสนะสงฆ์และแท่นพระประธาน ก่อผนังปิดทึบ ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่ว 2 ชั้น ทำปีกยื่นคลุมตัวอาคารทั้ง 4 ด้าน มุงกระเบื้องดินเผา ไม่มีเครื่องประดับส่วนหลังคา หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2296 เป็นอาคารคอนกรีต กุฏิสงฆ่ จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารไม้ และศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตร สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นอาคารไม้[3]

รายนามเจ้าอาวาส

แก้
  • พระบุญ
  • พระลัง
  • พระบุ
  • พระแพง
  • พระพรหม
  • พระสังข์
  • พระลัง
  • พระจันทร์
  • พระคูณ
  • พระขาว
  • พระมา
  • พระชู
  • พระหมุน
  • พระอินทร์
  • พระกัณหา
  • พระล้ำ
  • พระปรีชา โกวิโท
  • พระผดุง
  • พระจำปา
  • พระคำต้น
  • พระบรรทม
  • พระสมนีก กันตะสีโล
  • พระหมุน สิริจันโท
  • พระพัด พุทธะญาโณ

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดมโนภิรมย์". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. ปิ่น บุตรี. ""วัดมโนภิรมย์"มนต์เมืองมุก สุขเมื่อได้ชม". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "วัดมโนภิรมย์". สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น.