วัดมุจลินทวาปีวิหาร

วัดในจังหวัดปัตตานี

วัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

วัดมุจลินทวาปีวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมุจลินทวาปีวิหาร, วัดตุยง
ที่ตั้งตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมุจลินทวาปีวิหารตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2388 เดิมชื่อ วัดตุยง สร้างโดยพระยาวิเชียรสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิก แต่เดิมเจ้าเมืองได้สร้างศาลาพักสงฆ์ท่ายะลอ ได้นิมนต์พระอาจารย์พรหม ธมฺมสโรซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านสมัยอยู่เมืองยะหริ่งมาจำพรรษา แต่เนื่องจากสถานที่ไม่มีความสะดวกหลายประการจึงย้ายที่ตั้งแห่งใหม่ ตามประวัติเล่ากันว่าท่านได้เดินทางไปพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่ง มีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัดและเห็นเสือใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ตำนานกล่าวว่าต่อมาเสือตัวนั้นได้หายไป) ท่านทั้งสองจึงถือเอานิมิตดังกล่าวเลือกเอาสถานที่นี้เป็นที่สร้างวัด ตั้งชื่อวัดว่า "วัดตุยง" ตามนามของหมู่บ้าน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2390[1]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้และได้เสด็จมาถึงเมืองหนองจิก เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 ได้ทรงทราบว่าวัดตุยงเป็นหนึ่งในวัดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของราชการในสมัยนั้น ทรงทราบว่าพระอุโบสถและเสนาสนะยังทรุดโทรมอยู่หลายหลัง พระองค์จึงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์เป็นเงินจํานวน 80 ชั่ง ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถและได้พระราชทานนามชื่อวัดใหม่ว่า "วัดมุจลินทวาปีวิหาร" เพื่อให้สอดคล้องกับนามเมืองหนองจิก (มุจลินท์หมายถึงไม้จิก และวาปีหมายถึงหนองน้ำ)

พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ได้ ทรงทราบว่าพระอุโบสถยังไม่มีพระประธาน จึงได้อัญเชิญ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน หน้าตักกว้าง 1 เมตร 4 นิ้ว ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัยและหัวเมืองฝ่ายเหนือ ลงมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจําพระอุโบสถ วัดได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520[2]

จุดเด่นของวัดคือวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสรูปที่ 5 นั้น เป็นที่เลื่องลือถึงคุณความดีของท่าน[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดมุจลินทวาปีวิหาร". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดมุจลินทวาปีวิหาร (Wat Mujjalintawapeeviharn)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  3. "วัดมุจลินทวาปีวิหาร". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).