วัดมณฑป (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดมณฑป เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของคลองบางระมาด ในแขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร งานประจำปีของวัดมณฑป คือ งานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง ในช่วงเดือนมกราคมหรือเดือนเมษายน

วัดมณฑป
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมณฑป, วัดมดป, วัดมะดป, วัดปะดป
ที่ตั้งเลขที่ 35 ซอยฉิมพลี 3 ถนนฉิมพลี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสมุห์ชุมพล จนฺทโชโต
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดมณฑปเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2371 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2376 เดิมชาวบ้านเรียก วัดมดป ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "วัดมณฑป" แต่บางคนก็อาจเรียก วัดมะดป หรือ วัดปะดป[1]

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถหลังใหม่สร้างแทนหลังเดิม มีหน้าบันปูนปั้น ประดับกระจกเป็นรูปมณฑป มีเทวดาคุกเข่าพนมมือทั้ง 2 ด้าน ตอนล่างทำเป็นซุ้ม 5 ช่อง แต่ละช่องมีรูปพราหมณ์นั่งคุกเข้าพนมมือ ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากหินทรายแดงปูนปั้นหุ้ม ลงรักปิดทอง ภายนอกมีใบเสมาเป็นหินแกรนิตสีเทา จำหลักลายปักเป็นใบคู่ ลักษณะเป็นเสมาแบบสมัยธนบุรีหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น มณฑปพระพุทธบาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2543

ศาลาต่าง ๆ ของวัดได้แก่ ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ด้านหน้ามีศาลาสามัคคีธรรมปลูกขวางอยู่ สร้างใน พ.ศ. 2477 ศาลาท่าน้ำมีหลายหลัง ศาลาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือ ศาลา ส.ก. เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น อยู่ด้านหน้าเขตสังฆาวาส ศาลาจตุรมุข อยู่ด้านทิศเหนือของศาลาเฉลิมพระเกียรติ ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสและรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)[2]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระครูจริยาภิรมย์ (หลวงปู่ทัศ)
  • พระอธิการเนตร
  • พระอธิการรุ่ง สุวณฺณสโร
  • พระมหาเผื่อน
  • พระอธิการศิริ สุขกาโม
  • พระปลัดผ่อง กิตติสทฺโธ
  • พระผ่อง จิรปุณฺโณ รักษาการ
  • พระครูพิบูลพัฒน์ (แสวง ปุญฺญาทีโป)
  • พระครูสมุห์ชุมพล จนฺทโชโต พ.ศ. 2546–ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549. หน้า 75.
  2. "วัดมณฑป". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.