วัดปากน้ำ (จังหวัดสมุทรสงคราม)

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดปากน้ำ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านปากน้ำ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

วัดปากน้ำ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดปากน้ำ, วัดอมรวิมลจันทร์
ที่ตั้งเลขที่ 62 หมู่ที่ 6 ทางหลวงชนบท สส.4013 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดปากน้ำหรือ วัดอมรวิมลจันทร์ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสันนิษฐานได้จากโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่ มีรอยพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์เป็นต้น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เพิ่งขอตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2458 และได้รับวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน วัดมีความเจริญสูงสุดเมื่อพระครูวิมลศีลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส และท่านเป็นเจ้าคณะอำเภออัมพวาด้วย มีความเจริญทางด้านการศึกษา ทั้งด้านศาสนาและการศึกษาสามัญ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาทอดพระเนตรวัดนี้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458[1]

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสี ลดชั้น 2 ชั้น ซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ ด้านหน้าและด้านหลังมีประตูทางเข้าด้านละ 1 ประตู ซุ้มประตูปูนปั้นตกแต่งด้วยเศษเครื่องถ้วย เป็นรูปพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ มีมังกรดั้นเมฆเลื้อยอยู่ด้านบน และมีอักษรระบุศักราช 2458[2] ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัย และยังมีพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางอุ้มบาตรเป็นของเก่าคู่มากับวัด

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์เป็นโบราณสถานแห่งชาติ มีภาพผนังนูนปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบฝีมืองดงามมาก วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธฉาย ก่อสร้างด้วยไหโบราณ วิหารที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอย พระปรางค์ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีระเบียงล้อมรอบ ฐานพระปรางค์เป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน 3 ชั้น เรือนธาตุมีซุ้มหน้านางซ้อนกันด้านละ 2 ซุ้มทั้งสี่ด้านยอดปรางค์[3] นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่น ๆ ของวัดที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ ได้แก่ ศาลาท่าน้ำเก่า วิหารน้อย เรือนไทยไม้สักทรงปั้นหยาขนมปังขิง ศาลาการเปรียญไม้สักทรงไทย และกุฏิเก๋งจีน[4] วัดมีพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจประทับนั่งปางมารวิชัย สีเหลืองทององค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองหน้าวัด[5]

วัตถุมงคล แก้

วัตถุมงคลที่สร้างโดยเกจิอาจารย์ หลวงพ่อช่วงหรือพระครูวิมลศิลาจารย์ ที่ได้รับความนับถือมากคือตะกรุดและเหรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2463 หลวงพ่อช่วงได้สร้างเหรียญหล่อเป็นรูปหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และเมื่อปี พ.ศ 2471 ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อช่วงได้ขออนุญาตหลวงพ่อช่วงสร้างเหรียญที่ระลึกในการทำบุญอายุหลวงพ่อช่วง อายุครบ 6 รอบ 72 ปี เป็นเหรียญปั๊มรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ด้านหลัง เป็นรูปพระปิดตา และมียันต์ล้อมรอบ พุทธคุณเด่นทางด้านมหาอุด แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม[6]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดปากน้ำ(อมรวิมลจันทร์)". กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น.[ลิงก์เสีย]
  2. "พระอุโบสถ วัดปากน้ำ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "พระปรางค์ วัดปากน้ำ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "วัดปากน้ำ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  5. "หลวงพ่อทันใจ วัดปากน้ำ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  6. "หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำแควอ้อม". ข่าวสด. 24 พฤษภาคม 2563.