วัดปราสาท (อำเภอเมืองเชียงใหม่)

วัดในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดปราสาท เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดปราสาท
แผนที่
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา
วิหาร

ประวัติ

แก้

ตามข้อความศิลาจารึกของวัดตโปทาราม ได้กล่าวถึงเจ้าอาวาสวัดปราสาท ชื่อ พระมหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า ได้รับอาราธนาจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไปร่วมสังฆกรรมสวด แสดงในฐานะพระเถรชั้นผู้ใหญ่ แผ่นศิลาจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13–16 ว่า "มหาสามาญาณสมโพธิป่าแดง มหาสุรสี มหาโพธิ์ มหาเถรธรรมเสนาปติเจ้า มหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า" คำว่าปราสาทเจ้า น่าจะหมายถึงว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ประทับของเจ้านาย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2035 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2040 พระยาหลวงแสนคำได้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยถวายไว้ที่วัดปราสาทเมื่อ พ.ศ. 2133 ซึ่งปรากฏจารึกข้อความไว้ที่ฐานพระองค์นี้ด้วย

พ.ศ. 2366 ในสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกาได้มีการบูรณะวัดปราสาท โดยโปรดฯ ให้พระยาหลวงสามล้านสร้างวิหารขึ้น ต่อมากรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนด ขอบเขตวิหารวัดปราสาทในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 167 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2522[1]

 
ซุ้มโขงประดิษฐานพระประธานภายในวิหาร
 
พระประธานภายในวิหาร

อาคารเสนาสนะ

แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารศิลปะล้านนา มีฐานรากเป็นก่ออิฐถือปูน ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก มีเสาพระวิหารเรียงรายภายในเป็นเสากลมลงรักปิดทองเพื่อทำหน้าที่รับขื่อประธานและขื่อคัดเสาทุกด้าน ในวิหารมีซุ้มโขงขนาดใหญ่ประดิษฐานพระประธาน ซุ้มโขงมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปหงส์คู่ตั้งอยู่ด้านข้าง มีพญานาคขมวดเป็นหางวน ขดเป็นลวดลายกระหนกขึ้นด้านบนและมีรูปลายกนกเป็นแบบลวดลายพระจันทร์แผ่กระจายรัศมีอยู่ตรงกลาง อุโบสถไม่ทราบว่ามีทรงเดิมเป็นอย่างไร บูรณะในสมัยพระยาสามล้าน ต่อมา พ.ศ. 2520 ท่านพระครูชินวงศานุวัตร์อดีตเจ้าอาวาสได้เป็นประธานในการซ่อมแซม ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย สูง 114 เซนติเมตร พระพุทธรูปมีอายุตามจารึกที่ฐานของพระพุทธรูป เมื่อปี พ.ศ. 2133

เจดีย์ศิลปะผสมระหว่างเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมศรีสัชนาลัย ผสมผสานกับเจดีย์ทรงกลมของเมืองเชียงใหม่ จากหลักฐานบันทึกของพระยาหลวงสามล้านปรากฏว่า ท่านเป็นประธานในการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2366 ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2526[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดปราสาท กับจิตรกรรมฝาผนังลายคำ เชียงใหม่".
  2. "วัดปราสาท ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-24. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.