วัดบ้านแพน

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดบ้านแพน เป็นวัดราษฏร์ ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำน้อย เลขที่ 125 หมู่ที่ 1 ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

วัดบ้านแพน พระนครศรีอยุธยา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบ้านแพน
ที่ตั้งเลขที่ 125 หมู่ 1 ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย (เถรวาท)
พระประธานพระพุทธรูปศิลาแลงศิลปะอู่ทอง
เจ้าอาวาสพระครูเสนาคุณวัฒน์ (สมพิศ ปมฺุตฺโต)
เวลาทำการเปิดทุกวัน
จุดสนใจสักการบูชา หลวงพ่อเพชร พระประธานศิลปะอู่ทองในอุโบสถ, สักการะสรีระสังขารพระมงคลวุฒาจารย์ (ทองพูน ฐิตสีโล)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

อาณาเขต แก้

บริเวณพื้นที่ตั้งวัดบ้านแพนแต่เดิมนั้นเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำน้อย มีเนื้อที่ 34 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 15300 มีมีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 14 แปลง เนื้อที่ 151 ไร่ 2 งาน 21 ตารางวา มีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับทางสาธารณะ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับคลองสามกอ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำน้อย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำปลายนาเก่า

ประวัติ แก้

เดิมชื่อวัดจันทรคูหาวาส สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ราวปีพ.ศ. 2280 ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2310 แล้ว วัดบ้านแพนคงได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้อยู่บนเส้นทางเดินทัพของกองทัพพม่า เวลาต่อมาเมื่อพระยาตาก ได้กอบกู้เอกราช และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงธนบุรี ก็ทรงเร่งฟื้นฟูทำนุบำรุงบ้านเมืองเป็นการใหญ่ ทั้งในส่วนของกรุงธนบุรี ที่ทรงใช้เป็นพระนครหลวงราชธานีแห่งใหม่ และในส่วนของกรุงศรีอยุธยาเดิม วัดบ้านแพนก็เช่นเดียวกัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อพ.ศ. 2320 ในสมัยกรุงธนบุรี แต่มิได้ระบุไว้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ ภายหลังเมื่อย้ายพระนครมายังกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพ.ศ. 2325 ปัจจุบันสิ่งที่ยังหลงเหลือมาจากอดีต คือ พระประธานในอุโบสถ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ศิลปะอู่ทอง

พื้นที่ตั้งวัด  บริเวณที่ตั้งวัดแต่เริ่มสร้างเป็นที่ราบลุ่ม  อยู่ริมแม่น้ำแควน้อย  แขวงขุนเสนา  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการแบ่งขอบเขตพื้นที่การปกครองแขวงเสนา  ออกเป็น แขวงเสนาใหญ่  และแขวงเสนาน้อย  โดยพื้นที่อำเภอเสนาเป็นส่วนหนึ่งของแขวงเสนาใหญ่   ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2438  ในสมัยรัชกาลที่  5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  สมัยเริ่มระยะแบ่งการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ทรงดำริเห็นว่าแขวงเสนา  มณฑลกรุงเก่า  ถึงแม้จะแบ่งขอบเขตแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังปรากฏว่ามีพลเมืองมาก  ท้องที่กว้าง จึงให้ผู้รักษากรุงในขณะนั้น จัดแบ่งเขตพื้นที่เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงแบ่งพื้นที่แขวงเสนาใหญ่  ออกเป็น 2  ตอน  คือ ตอนเหนือ  เรียกว่า  อำเภอเสนาใหญ่ ต่อมาเป็นอำเภอผักไห่ และตอนใต้  เรียกว่าอำเภอเสนากลาง  ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเสนา   ปัจจุบันวัดบ้านแพน  ตั้งอยู่เลขที่  125  หมู่ที่  1  ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชื่อบ้านนามเมือง แก้

มูลเหตุของการตั้งชื่อวัดนั้น ตำนานเก่าแก่ของท้องถิ่นบอกเล่าไว้ว่า แต่เดิมมีสำเภาใหญ่ล่องมาทางคลองรางจระเข้โดยหารู้ไม่ว่า บริเวณปากคลองนี้มีกระแสน้ำวนเชี่ยวกราก เรือสำเภาจึงเสียการทรงตัว กระแทกเข้าริมตลิ่ง แล้วบ่ายหัวไปอีกทาง สำเภากระแทกเข้ากับทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างไร้ทิศทาง จนเรือล่วงเข้าสู่ท้ายคลองจึงจมลงอย่างสงบนิ่ง มีเพียงเสากระโดงโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ส่วนข้าวของและสัมภาระที่ติดมากับเรือต่างลอยกระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ ต่างเข้าช่วยเหลือตามกำลัง ส่วนหนึ่งลากเอาเสื่อลำแพนที่ลอยไปติดเนินดินขึ้นตากแดดจนแห้ง ภายหลังจึงเรียกชื่อแห่งนั้นว่า “บ้านแพน”ส่วนกกที่ลอยไปติดใกล้โคกใหญ่ชาวบ้านได้ช่วยกันนำตากบนโคก จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกเสื่อ” ส่วนพ่อค้าสำเภา หลังจากเรืออับปาง ก็ตัดสินใจสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเตือนใจในสัจธรรมของชีวิต และนำเสากระโดงเรือตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ แล้วขนานนามวัดว่า “วัดเสากระโดงทอง” บริเวณที่นำเสื่อลำแพนไปตากนั้น เป็นพื้นที่ในการครอบครองของวัดจันทรคูหาวาส ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดบ้านแพน” ส่วนเนินดินนั้นเมื่อสายน้ำเปลี่ยนทิศทางผ่านมายังจุดนั้น จึงกลายเป็นชุมทางเรือและการค้าขาย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเสนา

เสนาสนะ แก้

  • อุโบสถ
  • หอไตร
  • ศาลาการเปรียญ
  • หอสวดมนต์
  • หมู่กุฏิสงฆ์
  • มณฑปบุรพาจารย์
  • โรงเรียนพระปริยัติธรรม
  • ศาลารับรองสงฆ์

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

ลำดับเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
1 หลวงพ่อแช่ม พ.ศ. 2320 -
2 หลวงพ่อนิล - -
3 พระอุปัชฌาย์สี - -
4 พระอุปัชฌาย์จ้อย จนฺทโชโต - พ.ศ. 2457
5 พระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺส) พ.ศ. 2457 พ.ศ. 2488
6 พระครูปริยัติคุณูปการ (วาสน์ ธมฺมโชโต) พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2527 พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ด้วยเหตุชราภาพ
7 พระมงคลวุฒาจารย์ (ทองพูน ฐิตสีโล) พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2562 มรณภาพ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562
8 พระครูเสนาคุณวัฒน์ (สมพิษ ปมุตฺโต) พ.ศ. 2562 ปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

อ้างอิง แก้

1.http://www.thailandtemples.org/watbanpan/index.html