วัดบางรักใหญ่

วัดในจังหวัดนนทบุรี

วัดบางรักใหญ่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านคลองบางรักใหญ่ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี วัดตั้งอยู่ริมคลองบางรักใหญ่ มีถนนรัตนาธิเบศร์อยู่ทางทิศเหนือของวัด

วัดบางรักใหญ่
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางรักใหญ่, วัดโพธาราม
ที่ตั้งเลขที่ 56 หมู่ที่ 3 ซอยบางรักใหญ่ 1 ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูนนทกิจจานุกูล (สังวาลย์ ศรีโสภา)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดบางรักใหญ่เป็นวัดโบราณ พระพุทธรูปศิลาในวิหารเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าวัดบางรักใหญ่ว่ามีมาตั้งแต่สมัยอโยธยาก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หรือสมัยอยุธยาตอนต้น อีกทั้งการสร้างอุโบสถหันหน้าสู่ลำน้ำเป็นคติการสร้างอุโบสถที่ถือกันอย่างเคร่งครัดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น การหันหน้าอุโบสถไปทางลำน้ำอ้อมซึ่งเป็นทิศใต้ ไม่ได้หันหน้าอุโบสถไปทางทิศตะวันออก สามารถบอกอายุของวัดได้ว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดมีสภาพเป็นวัดร้างในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และได้รับการบูรณะอีกครั้งโดยชาวมอญซึ่งอพยพมาอยู่พื้นที่นี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในสมัยที่หลวงปู่สาย (พระครูนนทการประสิทธิ์) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้มีการบูรณะและพัฒนาวัดบางรักใหญ่อีกครั้ง

เดิมนั้นมีชื่อวัดว่า วัดโพธาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อไปเรียกตามชื่อชุมชนหรือตำบลที่ตั้งวัด การเปลี่ยนชื่อวัดนั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ตามรายชื่อของวัดที่พิมพ์ไว้ในหนังสือทำเนียบคณะสงฆ์ของกระทรวงธรรมการ ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2448) ปรากฏว่าวัดนี้มีชื่อว่า "วัดบางรักใหญ่"[1]

อาคารเสนาสนะ

แก้

วิหารจัตุรมุขประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา เป็นพระพุทธรูปโบราณ สมัยอโยธยาหรือสมัยอยุธยาตอนต้น จำนวน 16 องค์ แต่ละมุขมีหลังคาลด 3 ชั้น แบบหลังคาจั่ว มีตับหลังคาเอน 3 ตับ มุงกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดเต่าสีส้มออกแดง มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์เป็นปูนปั้นประดับกระจกสีทอง

อุโบสถหลังใหม่ มีหลังคาลด 3 ชั้น มีตับหลังคา 3 ตับ มีคันทวยที่ยึดติดกับเสาอิงรองรับอีกชั้นหนึ่ง ด้านหน้าและด้านหลังเป็นมุข หลังคามุงกระเบื้อง เกล็ดเต่าสีส้มออกแดง เครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระจกสีทอง หน้าบันประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ล้อมด้วยกนกก้านขดยอดกลับ หน้าบันคอสองเป็นลายกนกก้านขด หน้าบันปีกนกเป็นลายช่อกระหนกภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าในปัจจุบันมีสภาพชำรุดมาก ผนังด้านข้างหายหมด[2]

รายนามเจ้าอาวาส

แก้
  • หลวงปู่ปาน
  • พระอาจารย์แก่น
  • พระอาจารย์พรหม
  • พระครูจอน
  • พระอาจารย์พรหม
  • พระปลัดเมร
  • พระอาจารย์แจ่ม
  • พระครูนนทการประสิทธิ์ (หลวงปู่สาย ปภาโส)
  • พระครูนนทการโกศล (บุญมา สิริมังคโล)
  • พระครูนนทกิจจานุกูล (สังวาลย์ ศรีโสภา)

อ้างอิง

แก้
  1. พิศาล บุญผูก (2551). วัดในอำเภอบางบัวทอง (PDF). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. p. 79–91. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-02-05.
  2. ปัทมา เจริญกรกิจ. "พระอุโบสถและพระวิหารสมัยอยุธยาตอนปลาย - รัตนโกสินทร์ตอนต้น ในพื้นที่คลองอ้อมนนท์ จังหวัดนนทบุรี" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 128.