วัดนางกุย

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดนางกุย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

วัดนางกุย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานองค์หลวงพ่อศิลาแลงนาคปรก
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดนางกุยตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2130 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2190[1] ผู้ที่สร้างวัดนางกุย คือ นางกุย เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย เป็นวัดที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ในพระนครศรีอยุธยา วัดนางกุยเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะในส่วนต่าง ๆ เช่น อุโบสถ ที่หน้าบันมีรูปนารายณ์ทรงครุฑและใบเสมาคู่รอบอุโบสถ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี ปางสมาธิ เรียกกันว่า องค์หลวงพ่อศิลาแลงนาคปรก[2] และ หลวงพ่อยิ้ม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ จากคำบอกเล่า หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาประดิษฐานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายในวัดยังมีศาลแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลต้นตะเคียนใหญ่อายุกว่า 400 ปี และได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้นำมาแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อมาสักการะบูชา[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดนางกุย". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดนางกุย กราบบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรหลวงพ่อยิ้ม จ.พระนครศรีอยุธยา".
  3. "โบราณสถานวัดนางกุย". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).