วัดทองบางเชือกหนัง

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดทองบางเชือกหนัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ภายในมีอาคารเรียนพระปริยัติธรรม

วัดทองบางเชือกหนัง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดทองบางเชือกหนัง, วัดทอง
ที่ตั้งเลขที่ 17 ซอยราชพฤกษ์ 8 ถนนราชพฤกษ์ แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดทองบางเชือกหนังสร้างโดยนายทอง ธูปทอง เมื่อราว พ.ศ. 2390 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มาเสร็จเรียบร้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ากันว่านายทองเป็นหนึ่งในพี่น้อง 3 คน เมื่อเสร็จจากการปราบข้าศึก พี่น้องแต่ละคนจึงสร้างวัดเพื่อชำระจิตใจให้สะอาด คนหนึ่งสร้างวัดเกตุ อีกคนหนึ่งสร้างวัดสิงห์ ส่วนนายทองสร้าง วัดทอง ทั้งสามวัดอยู่ติดกัน มีวัดทองอยู่ตรงกลาง ภายหลังวัดเกตุและวัดสิงห์ได้ร้างไป[1] และชาวบ้านนิยมเรียกวัดทองว่า "วัดทองบางเชือกหนัง" อุโบสถหลังใหม่ของวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2546[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถเดิมเป็นอาคารทรงไทย กว้าง 6 เมตร ยาว 14 เมตร ซ่อมแซม พ.ศ. 2514[3] ภายในมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตัก 1.5 เมตร ศิลปะแบบสมัยอยุธยา เช่นเดียวกับพระอัครสาวกที่ประดิษฐานอยู่ด้วยกัน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ที่ประตูอุโบสถ แสดงเรื่องราวในชาดก[4]

อุโบสถหลังใหม่สร้างประชิดอุโบสถเดิมด้านทิศใต้ เริ่มสร้าง พ.ศ. 2536 เป็นอุโบสถ 2 ชั้น หน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ผนังบุกระเบื้อง ก่อสร้างด้วยแรงงานของพระสงฆ์ในวัดเป็นหลัก ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ทางวัดจัดสร้างขึ้นใหม่

อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ ศาลาการเปรียญซึ่งเป็นของเดิม ซ่อมแซมใน พ.ศ. 2476 และ พ.ศ. 2547 วิหารกระจาดทองซึ่งประดิษฐานรูปเหมือนพระครูปราจิณมุนี (อดีตเจ้าอาวาส) เจดีย์ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงกลม กุฏิสงฆ์ซึ่งเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ราว 10 หลัง หอระฆังซึ่งสร้างขึ้นใหม่ หลังคาเป็นหน้าจั่ว 2 ด้าน ก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นไม้ มีลวดลายเทพนม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และศาลาซึ่งประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง พระสังกัจจายน์ หลวงปู่แจ้ง และหลวงปู่เอม (อดีตเจ้าอาวาส)[5]

อ้างอิง แก้

  1. ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549. หน้า 125.
  2. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
  3. ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514. หน้า 105
  4. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. หน้า 184
  5. "วัดทอง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.