วัดทรงเสวย
วัดทรงเสวย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา
วัดทรงเสวย | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดทรงเสวย, วัดบ้านหนองแค |
ที่ตั้ง | ตำบลหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดทรงเสวยตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2430 เดิมมีนามว่า วัดบ้านหนองแค ตามชื่อบ้าน ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจสอบลำน้ำเก่าโดยทางรถไฟถึงจังหวัดนครสวรรค์ แล้วเสด็จประทับเรือครุฑเหินเห็จ เพื่อตรวจลำแม่น้ำมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) และทรงเสวยพระกระยาหารที่บริเวณวัดทรงเสวย ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมใจจัดเตรียมพระกระยาหารเพื่อนำไปถวาย พระองค์จึงโปรดให้เรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดเสวย" แต่ชาวบ้านได้เติมคำว่า "ทรง" เข้าไปด้วย ต่อมาวัดได้รับการบูรณะเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช หลังสิ้นพระชนม์ด้วยวัย 17 พรรษา พระองค์ได้ ถวายของที่ระลึกแด่พระอธิการคล้อย ซึ่งเป็นของที่ระลึกงานพระศพ ได้แก่ บาตร ฝาบาตรมีตราสีทองรูปวงรี มีข้อความว่า ร.ศ. 128 งานพระศพพระเจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ปิ่นโตขนาดใหญ่ที่ฝาปิ่นโตมีข้อความ เช่นเดียวกับฝาบาตร พระขรรค์ ตาลปัตรใบลาน ตะเกียงลาน เรือสำปั้น ป้านน้ำชา 1 ชุด ของเหล่านี้ในปัจจุบันได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดทรงเสวย[1]
วัดทรงเสวยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2470 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 72 เมตร ยาว 90 เมตรทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2490 มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการตั้งอยู่ที่วัดนี้ด้วย
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ศาลาการเปรียญกว้าง 18 เมตร ยาว 33 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2486 เป็นอาคารไม้ หอสวดมนต์กว้าง 9 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2498 เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์ จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ หอระฆัง และฌาปนสถาน สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงจีวรลายดอกพิกุลขนาดพระเพลากว้าง 1 ศอก รอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ในมณฑป และรูปหล่อของหลวงพ่อย้อย และหลวงปู่คล้อย[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดทรงเสวย". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ "วัดทรงเสวย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.