วัดต้าม่อน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่

วัดต้าม่อน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดต้าม่อน, วัดม่อน, วัดหลวงเวียงต้ามอน
ที่ตั้งตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดต้าม่อนตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2445 ปรากฏชื่อในใบลานความว่า "...ไชยเทพภิกขุลิขิตตะแล ปางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดม่อน เมืองต้า..." (จาร พ.ศ. 2446)"[1] เมืองต้าเป็นเมืองที่มีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะในช่วงที่เข้ามาเป็นแรงงานการทำป่าไม้ให้เจ้าผู้ครองนครลำปาง ก่อนหน้านี้วัดต้าม่อนเป็นวัดร้าง ต่อมาได้รับการบูรณะโดยหม่องโพส่วย (พ่อเฒ่าฮ้อยหลวง) ชาวพม่าจากเมืองนครเชียงตุง

เจ้าน้อยบุญหลง มณีวงศ์ เจ้านายเมืองนครลำปาง ซึ่งเป็นบุตรเขยของหม่องโพส่วย ได้นำไม้สักจัดสร้างวิหาร โดยมีหม่องผิ่ว ชาวพม่าจากเมืองนครเชียงตุง เป็นหัวหน้าช่าง เรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดม่อน หรือ "วัดต้าม่อน"

วิหารเป็นศิลปะพม่า พร้อมกับสร้างพระพุทธรูปพม่าศิลปะมัณฑะเลย์ ด้วยเส้นหวายสานลงรักปิดทองที่เมืองนครเชียงตุง เรียกพระนามว่า พระเจ้าแสนหวาย โดยได้อัญเชิญพระเจ้าแสนหวายบรรทุกหลังช้างจากเมืองนครเชียงตุงมาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในวิหารวัดต้าม่อน และวาดรูปแต้มภายในวิหาร[2] รวมถึงภาพอินายสีเวย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นโมนาลิซาแห่งเมืองไทย[3] รูปแต้มในวิหารสันนิษฐานว่ามีลูกมือช่างวาดรูปแต้มจากกลุ่มช่างที่วาดในวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน รูปแต้มวิหารวัดต้าม่อนจัดเป็นศิลปะล้านนา สกุลช่างกลุ่มน่านผสมผสานศิลปะรัตนโกสินทร์ ภาพที่วาดอื่น ได้แก่ วาดชาดกนอกนิบาตจากปัญญาสชาดก เรื่องเจ้ารัตนแสงเมือง และเจ้าก่ำกาดำ ภายหลังภาพในวิหารเหล่านี้ได้ถูกรื้อ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ได้ขอผาติกรรมไปจัดเก็บรักษา แสดงไว้ภายในหอคำน้อยของอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2531

วิหารหลังใหม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2543[4] มีลักษณะสถาปัตยกรรมของไทใหญ่ อาคารประกอบ ในบริเวณวัดกว่า 6 ไร่ ด้วยงบประมาณซึ่งรวมถึงการวาดภาพจิตรกรรมทั้งสิ้น 11 ล้านบาท

อ้างอิง แก้

  1. ภูเดช แสนสา.(อ่าน).จารึกท้ายคัมภีร์ทศพร พบที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่, อักษรธรรมล้านนา, จาร พ.ศ. 2446
  2. ภูเดช แสนสา (มกราคม–มิถุนายน 2564). "รูปแต้มวัดต้าม่อน เมืองต้าวัดพม่าปลายแดนด้านทิศตะวันออกเมืองนครลำปาง". วารสารข่วงผญา. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. 15 (1).
  3. "วัดต้าม่อนฟื้นตำนานโมนาลิซ่าแห่งเมืองไทย : ข่าวสดหลาก&หลาย". ข่าวสด.
  4. "วัดต้าม่อน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.