วัดญาณเสน (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดญาณเสน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดญาณเสน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดญาณเสน, วัดยานุเสน
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดญาณเสนไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมชื่อ วัดยานุเสน กรมการศาสนาระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1920 ซึ่งเป็นช่วงอยุธยาตอนต้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1930 ปรากฏหลักฐานว่า ได้มีการสร้างร่องน้ำหรือทางชักน้ำใต้กำแพงวัดญาณเสน ที่เรียกว่า ช่องมหาเถรไม้แช่ เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำลพบุรีลงใต้กำแพง ผ่านใต้ถนนป่าตะกั่วไปลงคลองขุด จากคลอดขุดไปลงบึงพระราม ทำให้บึงพระรามมีน้ำที่สะอาดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไปร่องน้ำใต้กำแพงนี้ถูกทับถมจนไม่อาจใช้เป็นทางน้ำได้อีก

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2584[1] เมื่อกรมศิลปากรรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2487 ได้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายชิ้น ที่สำคัญคือ แผ่นทองคำรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นศิลปะอยุธยา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งพบทั้งที่เป็นของสมัยลพบุรีและสมัยอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

โบราณสถาน

แก้

เจดีย์ประธานก่ออิฐ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่ด้านทั้งสี่ออกเก็จรับมุขทิศทั้งสี่ มีฐานประทักษิณ ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม มีความกว้างด้านละประมาณ 24 เมตร ทำเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่ ฐานหน้ากระดานล่างแผ่ยื่นออกมาจากชั้นบัวคว่ำประมาณ 1 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ประมาณ 34.5 เมตร มุมบนฐานประทักษิณประดิษฐานเจดีย์มุม มีบันไดทางขึ้นเจดีย์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกขึ้นสู่ลานประทักษิณและห้องมุข ภายในมุขทำเป็นช่องทางเดินเข้าสู่ครรภคูหาซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 2.80 x 2.72 เมตร ด้านบนก่ออิฐเป็นลักษณะสามเหลี่ยมสอบขึ้นไป พื้นกลางห้องมีช่องสี่เหลี่ยม ขนาด 50 x 55 เซนติเมตร ลึกลงไป

เจดีย์รายมี 5 องค์ ทางทิศตะวันออก 4 องค์ และทิศตะวันตกอีก 1 องค์ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพังทลาย คงเหลือเพียงองค์เดียวที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

อุโบสถตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ประธาน สร้างขึ้นบนฐานรากอุโบสถเดิมเมื่อ พ.ศ. 2487 มีเค้าโครงศิลปะอยุธยา ลักษณะโค้งแบบท้องสำเภา รวมทั้งผนังทำเป็นลูกกรงช่องแสงแทนช่องหน้าต่าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ เหนือช่องแสงมีซุ้มพระทำเป็นซุ้มสามเหลี่ยมลึกเข้าไปในผนัง ในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กปางต่าง ๆ แต่มีไม่ครบทุกซุ้ม[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดญาณเสน วัดมรดกโลกอันลึกลับ".
  2. "วัดญาณเสน". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.